Category Archives: ประกายส่องใจ

ในร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ

ในร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ

ในขณะปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรมควรเจริญสติอยู่ตลอดเวลา การเจริญสติปัฏฐานเหมือนเดินมุ่งหน้าไปสู่พระนิพพานทีละก้าว ทุกขณะที่เราย่างเท้าด้วยสติ เราได้มุ่งหน้าไปสู่พระนิพพานอยู่เสมอ ดังนั้น การเจริญสติจึงไม่มีการพักหยุดกำหนด อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติธรรมพักผ่อนในเวลา ๕ โมงเย็น มีประโยชน์เพื่อให้ทำอิริยาบถย่อยแทนการเดินและนั่งตลอด ๓ ชั่วโมงในช่วงบ่าย มิฉะนั้นแล้วจะรู้สึกเหนื่อยจนเกินไปอย่างไรก็ตาม แม้ในเวลาพักดื่มน้ำปานะและอาบน้ำ ก็ต้องเจริญสติตามรู้สภาวธรรมปัจจุบันตลอดเวลา

การเจริญสติเป็นการรับรู้สภาวธรรมปัจจุบัน ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรใส่ใจต่อการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่อารมณ์กรรมฐาน ในสมัยก่อนมีพระเถระรูปหนึ่งนำไม้ไปเขี่ยอุจจาระของท่าน ไม่ทราบว่าควานหาอะไรอยู่โยมอุปัฏฐากถามว่า “ท่านอาจารย์ทำอะไรอยู่” ท่านตอบว่า “อาตมกำลังแสวงหาความเกิดดับในสิ่งนี้อยู่” ความจริงความเกิดดับซึ่งเป็นไตรลักษณ์นั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้แสวงหาในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ไม่ใช่ไปแสวงหาภายนอกร่างกาย เพราะอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เกิดขึ้นภายในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ไม่ได้เกิดภายนอกร่างกายของเรา กล่าวคือ

๑. ทุกข์ สภาวะที่ไร้แก่นสาร คือ ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในร่างกายนี้

๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดของทุกข์ คือ ตัณหา ที่เกิดขึ้นในใจของเรา เป็นความพอใจเพลิดเพลินติดใจในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖

๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ คือ ความดับแห่งสภาวธรรมทางกายและใจทั้งหมด กล่าวคือ ตราบใดที่นั่งกรรมฐานแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถรับรู้สภาวะตึงหย่อนของท้อง หรือรับรู้สภาวะเบา ผลักดัน และหนักในขณะเดินจงกรมก่อน ต่อมาสภาวธรรมทางกายและใจทั้งหมดได้ถึงความดับสูญ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมได้รับรู้ถึงความดับสูญนั้น การรับรู้อย่างนี้เป็นทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ ปรากฏอยู่ภายในร่างกายนี้เช่นเดียวกัน

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นภายในร่างกายนี้ เพราะเราจะต้องเจริญศีล สมาธิ ปัญญา โดยเจริญสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เป็นต้น ภายในร่างกายนี้เท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใดที่บุคคลยังไม่อาจหยั่งรู้อริยสัจ ตราบนั้นเขาจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ ดังพระพุทธดำรัสในสังยุตตนิกาย มหาวรรค (สํ. มหา. ๑๙.๑๐๙๑.๓๗๖) ว่า

จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา เอวมิทํ ทีฆมทฺธานํ สนฺธาวิตํ สํสริตํ มมญฺ เจวตุมฺหากญฺ จ.

ระยะทางอันยาวไกลอย่างนี้ อันเราและท่านเร่ร่อนไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว เพราะมิได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

หากเราพิจารณาดูงานที่ทำกันทางโลก จะพบว่างานที่ทำในปัจจุบันสำคัญที่สุด แม้การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน

คนที่กำลังกินข้าวอยู่ การกินข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาด้วยการระลึกรู้สภาวธรรมรูปนามที่ปรากฏในขณะกินข้าวด้วยสติ และหยั่งเห็นสภาวธรรมนั้นด้วยปัญญา การกินข้าวนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องรอให้ว่าง ถ้าเราตั้งใจจริงทุกขณะคือการปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติระลึกรู้ปัจจุบัน เพื่อการหลีกเลี่ยงจากบาป และสั่งสมบุญอยู่ตลอดเวลา

ในกรณีเดียวกัน คนที่กำลังหุงข้าวอยู่ การหุงข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาเข้าไปด้วย การหุงข้าวของเขาก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แม้คนที่กำลังเดินอยู่ ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาเข้าไปในขณะเดิน การเดินของเขาก็เป็นการปฏิบัติธรรม

บางท่านที่เคยเข้ากรรมฐานมาแล้ว พอกินข้าวคนเดียวก็จะกำหนดตลอดเวลา เธอรู้สึกว่ามีความสุขในขณะเจริญสติระลึกรู้สภาวะเบาหนักที่ปรากฏในขณะยกมือ เหยียดมือ ฯลฯ บางคนหุงข้าว ถูบ้าน ฯลฯ ก็สามารถกำหนดได้ด้วยความสุข

ดังนั้น ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่เราตลอดเวลา ทุกขณะจึงเป็นเวลาที่เจริญสติปัฏฐานได้ แม้ว่าการปฏิบัติในขณะอยู่บ้านจะไม่ต่อเนื่องเหมือนเวลาที่อยู่ในคอร์สปฏิบัติ ก็เป็นการสั่งสมสติทีละน้อยเพื่อก่อให้เกิดมหาสติในโอกาสต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หมั่นสีไม้ให้เกิดเปลวไฟ

หมั่นสีไม้ให้เกิดเปลวไฟ

การเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันด้วยการเดินจงกรม การนั่งกรรมฐาน และตามรู้อิริยาบถย่อย มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เรารับรู้สภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยวางใจเป็นกลางปราศจากการปรุงแต่งหรือคิดถึงอดีตอนาคต เมื่อสติดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นนี้สมาธิคือความตั้งมั่นในสภาวธรรมก็จะปรากฏขึ้น แล้วปัญญาที่หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนการสีไม้สองท่อนอย่างต่อเนื่อง จะเกิดความร้อนและเปลวไฟ การสีไม้เหมือนสติ ความร้อนเหมือนสมาธิ และเปลวไฟเหมือนปัญญา

ปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติธรรมนี้ มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การรับรู้สภาวธรรมเบาหนักนั่นคือปัญญาขั้นแรก แล้วต่อไปปัญญานี้จะพัฒนามากขึ้นจนกระทั่งหยั่งเห็นความเกิดดับของสภาวธรรมเบาหนักได้ นั่นคือเราได้สั่งสมเมล็ดพันธุ์แห่งวิปัสสนาไว้ในกระแสจิต เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป

การเจริญสตินั้นเหมือนการเดินบนสะพานแคบๆ กว้างเพียงหนึ่งฝ่ามือ ถ้าคนเดินไม่ระมัดระวังก็อาจเดินตกสะพานได้ ผู้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนคนเดินบนสะพาน ถ้าขาดสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันก็จะเกิดความฟุ้งซ่านครอบงำจิตทันที เมื่อใด จิตประกอบด้วยสติ เมื่อนั้นกิเลสจะเกิดขึ้นรบกวนจิตไม่ได้ เพราะจิตมีสภาวะรับรู้อารมณ์เดียวในขณะเดียว เหมือนเมื่อปรากฏแสงสว่าง ความมืดก็จะปรากฏขึ้นไม่ได้

การกำหนดรู้อิริยาบถย่อยที่นอกเหนือจากอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ อันได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอน คือการเหยียด คู้ ขึ้น ลง เป็นต้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้อิริยาบถย่อยน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้น และผู้ปฏิบัติธรรมจะพูดกับตัวเองอยู่เสมอ ความฟุ้งซ่านนี้เปรียบเสมือนน้ำที่รั่วเข้ามาในเรือ ผู้ปฏิบัติธรรมเหมือนคนที่พายเรือไปด้วย วิดน้ำที่รั่วเข้ามาในเรือไปด้วย ส่งผลให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะการทำอิริยาบถย่อยดีย่อมส่งผลให้การเดินจงกรมมีคุณภาพ การเดินจงกรมที่มีคุณภาพย่อมส่งผลให้การนั่งมีคุณภาพ แล้วการนั่งที่มีคุณภาพก็ส่งผลให้การทำอิริยาบถย่อยมีคุณภาพไปด้วยเช่นเดียวกัน

ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมจิต จัดว่าเป็นการฝึกฝนตนเพื่อสำรวจตัวเราเองอย่างแท้จริง เมื่อเรารู้จักตัวเราแล้วก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นจนเกินพอดี และเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส ไม่เห็นกิเลสโดยความเป็นตัวตน

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสกิเลสที่เพลิดเพลินกับอารมณ์ที่ดีที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราจึงต้องอดทน แล้วฝึกตนที่ฝึกได้ยาก ดังพระพุทธดำรัสใน คัมภีร์ธรรมบท (ขุ. ธ. ๒๕.๑๕๙.๔๕) ว่า อตฺตาหิ กิร ทุทฺทโม (ตัวเองฝึกได้ยากโดยแท้)

นอกจากนี้เราต้องอดทนกับการกำหนดความฟุ้งซ่านโดยไม่หงุดหงิด อดทนต่อการกำหนดทุกขเวทนาด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากให้หายหรือไม่อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับที่พึ่งซึ่งได้รับโดยยาก คือ พระนิพพาน ดังสาวกภาษิตในคัมภีร์เถรคาถา (ขุ. เถร. ๒๖.๑๑๗๔.๔๒๒) ว่า

นยิทํ สิถิลมารพฺภ นยิทํ อปฺเปน ถามสา
นิพฺพานมธิคนฺตพฺพํ สพฺพคนฺถปโมจนํ.

พระนิพพานที่ปลดเปลื้องเครื่องร้อยรัดทุกอย่างนี้ จะบรรลุด้วยความเพียรที่ย่อหย่อน ด้วยความบากบั่นเพียงเล็กน้อย หาได้ไม่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีบุรุษคนหนึ่งถูกหอก ๓๐๐ เล่มแทงร่างกายตลอด ๑๐๐ ปี ถ้าเขาอดทนต่อความทุกข์ในการโดนหอกแทง แล้วบรรลุพระนิพพานได้ การอดทนของเขานับว่าคุ้มค่า เพราะว่าสังสารวัฏน่ากลัวและเป็นทุกข์มากกว่าการถูกหอก ๓๐๐ เล่มแทงตลอด ๑๐๐ ปี

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ละกิเลส ดินพอกหางหมู

ละกิเลส ดินพอกหางหมู

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน คือ รูปนามตามความเป็นจริง โดยสังเกตดูว่ามีสภาวธรรมใดปรากฏในปัจจุบันขณะ วิธีเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นแนวทางในการรับรู้ว่าสิ่งที่พบอยู่คืออะไร ไม่ใช่การรู้ว่าเหตุใดจึงมีสิ่งนั้นปรากฏขึ้น

โดยทั่วไปเมื่อบุคคลรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยการเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และนึกคิดเรื่องราวต่างๆเขามักตอบสนองด้วยความยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา ที่กำลังเห็นหรือได้ยินสิ่งเหล่านั้นอยู่ อีกทั้งพยายามควบคุมให้เป็นไปตามใจของตน มีความพอใจสิ่งที่ชอบ และไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบ การตอบสนองด้วยความยึดมั่นนี้ทำให้กิเลสเพิ่มพูนมากขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นวิธีละความยึดมั่นในตัวตนเมื่อพบกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ

วิธีเจริญสตินี้ไม่ใช่ความคิดด้วยการเรียนรู้ แต่เป็นการรู้จากโลกทัศน์ภายในของตน ไม่ใช่การเรียนรู้จากโลกทัศน์ภายนอก อีกทั้งไม่ใช่การคิดรู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อได้รับข้อมูลใหม่

ความจริงแล้วการรู้เห็นโดยประจักษ์นี้ต้องมาจากประสบการณ์ของตนเท่านั้น เหมือนการไปดูสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ผู้ดูต้องไปดูด้วยตนเอง จึงจะเห็นประจักษ์ได้ ลำพังการอ่านหนังสือหรือคิดถึงสถานที่นั้นไม่อาจทำให้ผู้ดูเห็นประจักษ์อย่างแท้จริง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สนิมใจ

สนิมใจ

ทุกขณะเราใช้จิตทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับงานบ้านหน้าที่ ธุรกิจ ครอบครัว ญาติพี่น้อง สังคม ฯลฯ เช่น พอมีงานบ้านเกิดขึ้นเราก็ใช้จิตทำงาน เมื่อมีหน้าที่หรือธุรกิจเป็นต้นที่จำเป็นต้องทำ เราก็ใช้จิตนี้ทำงานเช่นเดียวกัน แม้ในขณะสร้างบุญบารมี ก็ใช้จิตเหมือนกัน กระทั่งขณะที่เรานอนหลับสนิท จิตนี้ก็ทำงานตลอดเวลา จึงทำให้สมองทำงานได้ตามปกติ

เมื่อเราใช้จิตทำงานตลอดเวลาเช่นนี้ จิตของเราก็เกิดสนิมซึ่งเหมือนกับภาวะที่จิตอ่อนแอ วิตกกังวลหวาดกลัว เร่าร้อน วุ่นวาย สิ่งที่ขัดสนิมใจได้ก็คือ “สมาธิ”

สมาธินั้นจะทำให้จิตสงบไม่ซัดส่าย เมื่อจิตสงบเราก็จะได้รับสุข และปัญญาที่เกิดจากความสงบ เหมือนน้ำใสเมื่อตะกอนนอนก้นแล้ว

ทุกๆ วันเราต้องล้างจานและซักเสื้อผ้าหลังใช้งานแล้ว การซักล้างนั้นก็ไม่ได้ใช้น้ำเปล่า ต้องใช้น้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้าผสม เพื่อให้จานหรือผ้าสะอาด แต่วันหนึ่งๆ เราไม่ค่อยได้ขัดสีสนิมใจของตัวเอง ปล่อยให้มันสกปรกไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาหมดอายุขัยของตน

ดังนั้น จงขัดสนิมใจให้สะอาด จะเห็นได้ว่า ผ้าสะอาดย่อมเหมาะแก่การรับน้ำย้อม ฉันใด จิตที่สะอาดย่อมเหมาะแก่การบรรลุธรรม ฉันนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ขณิกสมาธิ

ใครว่าขณิกสมาธิเกิดเพียงชั่วขณะไม่ตั้งมั่น

สมาธิในวิปัสสนานี้มีกำลังเทียบเท่า อุปจารสมาธิ คือ สมาธิใกล้จะแนบแน่นของสมถภาวนา จึงสามารถข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ แต่สมาธิดังกล่าวเรียกว่า ขณิกสมาธิ หรือ สมาธิชั่วขณะ เพราะหมายถึงมีอารมณ์กรรมฐานที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาในแต่ละปัจจุบันขณะ กล่าวคือรูปนามที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อยู่เป็นสภาวะใหม่อยู่เสมอ ดังข้อความในคัมภีร์อรรถกถา (วิสุทธิ. ๒.๓๐๔, ปฏิสํ. อ. ๑.๒๗๕) ว่า

นิจฺจนวาว หุตฺวา สงฺขารา อุปฏฺฐหนฺติ.
สังขารทั้งหลายเป็นของใหม่อยู่เสมอย่อมปรากฏ

ดังนั้น แม้ขณิกสมาธิจะมีกำลังเทียบเท่าอุปจารสมาธิ เพราะสามารถข่มนิวรณ์ได้เหมือนอุปจารสมาธิ ก็มีชื่อเฉพาะว่า “ขณิกสมาธิ” ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ หาใช่เพราะเป็นสมาธิที่เกิดเพียงชั่วขณะไม่ แต่เป็นสมาธิที่มีอารมณ์เพียงชั่วขณะดังที่กล่าวมาแล้ว

วิปัสสนาภาวนาที่ประกอบด้วยขณิกสมาธิย่อมสามารถละกิเลสได้ชั่วขณะ เรียกว่า ตทังคปหาน คือการละได้ชั่วขณะในเวลาที่กำหนดรู้อยู่ และสมาธิที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ทำหน้าที่ข่มกิเลสเป็น วิกขัมภนปหาน คือ การละด้วยการข่มไว้ การละกิเลสทั้งสองอย่างนั้นเหมือนการตัดกิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้ทำให้ต้นไม้อ่อนกำลังไม่มั่นคง ส่วนขณะที่เกิดมรรคปัญญาที่ละกิเลสโดยเด็ดขาดซึ่งเรียกว่า สมุจเฉทปหาน เหมือนการตัดรากเหง้าของต้นไม้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่เสมอเพื่อสั่งสมอุปนิสัยปัจจัยอันจะทำให้เกิดมรรคปัญญาในโอกาสต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย…พระคันธสาราภิวงศ์

หัวใจสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

หัวใจสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

ความจดจ่อและความต่อเนื่องมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม มีคำอธิบายว่า

๐ ความจดจ่อ คือ การตั้งใจรับรู้สภาวธรรมอย่างบริบูรณ์ ไม่ขาด ไม่เกิน เช่น การรับรู้เบื้องต้นและที่สุดของสภาวะยก ย่าง เหยียบ เป็นต้น รวมไปถึงการบริกรรมว่า ยก ย่าง เหยียบ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอากัปกิริยานั้นๆ

๐ ความต่อเนื่อง คือ การดำรงสติไม่ให้ขาดช่วงเช่น เมื่อเดินจงกรมแล้วมานั่งกรรมฐาน ก็พยายามประคองสติไว้โดยละเอียด ด้วยการย่อตัวลงนั่งช้าๆ จึงจะทำให้สมาธิที่ได้รับจากการเดินจงกรมสามารถเอื้อประโยชน์แก่การนั่งกรรมฐานได้ หรือการทำอิริยาบถย่อย ก็พยายามทำช้าๆ เพื่อให้รับรู้สภาวะเบาหนักอย่างชัดเจนเหมือนในเวลาเดินจงกรมหรือยกมือและวางมือ

ความจดจ่อและความต่อเนื่องทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญมาก เป็นหัวใจที่ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมประสบความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย..พระคันธสาราภิวงศ์

บุญที่เราสั่งสมไว้ เป็นสิ่งที่เราได้รับดีแล้วหนอ

สงฺขารา มม สงฺกนฺตา วโยวุทฺธิคตา ปุน
ปุรา มรามิ ปุญฺญ ตํ สุลทฺธํ ปสุตํ วต.

สังขารของเราล่วงเลยไป
ถึงความเจริญวัยอีกปีหนึ่ง
ก่อนที่เราจะตาย
บุญที่เราสั่งสมไว้นั้น
เป็นสิ่งที่เราได้รับดีแล้วหนอ

จากคำนำ ในหนังสือประกายส่องใจ ๓
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

บุคคลผู้กลืนกินกาลเวลา

บุคคลผู้กลืนกินกาลเวลา

กาลเวลาที่เราทั้งหลายต้องประสบพบอยู่ตลอดเวลานี้ มีทั้งคุณและโทษ โดยขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง เหมือนกระจกเงาที่มี ๒ หน้า หน้าหนึ่งใส สะท้อนภาพได้ อีกหน้าหนึ่งทึบ กาลเวลาก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์สำหรับผู้ที่รู้จักคุณค่า และบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนาภาวนาซึ่งเหมือนกับเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมรรคผลต่อไป

ส่วนคนที่ปล่อยกาลเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มิได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน กาลเวลาก็เปรียบเสมือนพยัคฆ์ร้ายที่กลืนกินเขาไปทุกๆ ขณะ วินาทีกินนาที นาทีกินชั่วโมง ชั่วโมงกินวัน วันกินเดือน เดือนกินปี บุคคลที่หลุดพ้นจากการกลืนกินของกาลเวลาได้ มีเพียงพระอรหันต์เท่านั้น ผู้กระทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่พึงกระทำเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านจึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดของกาลเวลา

พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ชาดก (ขุ. ชา. ๒๗.๑๙๐.๗๑) ว่า

กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา
โย จ กาลฆโส ภูโต ส ภูตปจินึ ปจิ.

กาลเวลาย่อมกลืนกินเหล่าสัตว์ พร้อมทั้งตนเองโดยแท้ บุคคลใดเป็นผู้กลืนกินกาลเวลา บุคคลนั้นได้เผาตัณหาที่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ได้แล้ว

ในสมัยหนึ่งมีสองสามีภรรยาต้องการจะเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างหมู่บ้าน จึงออกจากบ้านเดินทางไป พวกเขามิได้นำเสบียงกรังติดตัวไปเพราะคิดว่า จะเดินทางไปถึงในเวลาเช้า ในระหว่างทางพบทางสองแพร่ง จึงเดินไปทางแยกด้านซ้ายมือ พวกเขาเดินทางผิดอย่างนี้จึงหลงทางอยู่ในป่า ทั้งหิวกระหาย ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สักครู่หนึ่งพบต้นไม้จึงไปนั่งพัก บังเอิญผลไม้หล่นมา พวกเขาไม่รู้ว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร ผลไม้เป็นอย่างไร คิดว่าจะเอาผลไม้เป็นเสบียงในระหว่างทาง พอพักหายเมื่อยแล้วจึงออกเดินทางต่อ คนหนึ่งเอาผลไม้ทูนหัวเดินไป คนหนึ่งแบกขึ้นบ่าไป เมื่อเดินสักระยะหนึ่งก็หิว จึงทุบผ่าผลไม้ แต่พบเพียงเปลือกหนา ไม่มีเนื้อหรือน้ำเลย ยิ่งเดินไปเรื่อยๆ แดดร้อนมากขึ้น พวกเขาเห็นพยับแดดก็สำคัญว่าเป็นน้ำ เมื่อวิ่งไปหาก็ไม่พบอะไร ตกค่ำลงได้ยินเสียงคำรามพวกเขาไม่ทราบว่าเป็นสัตว์อะไร ก็พบว่าเป็นเสือร้ายในที่สุดทั้งสองคนถูกเสือกิน ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้สำเร็จ

ผู้ที่เดินทางอยู่ในสังสารวัฏบางคนก็เหมือนกับสามีภรรยาคู่นี้ คือ มิได้สะสมเสบียงคือทานในการเดินทางไกลอย่างเพียงพอ และเดินทางผิดที่เหมือนกับการไม่ประพฤติศีลอย่างหมดจด การไปพักใต้ต้นไม้ที่ไม่รู้จักชื่อ ก็เหมือนการเกิดในภพที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่รู้คุณค่าของภพที่สั่งสมบารมีได้ ผลไม้ที่มีแต่เปลือกที่คู่สามีภรรยาทั้งแบกทั้งหามเป็นเวลานานเหมือนทรัพย์สมบัติและเกียรติคุณที่ชาวโลกยกย่องให้ความสำคัญ

เมื่อถึงเวลาใกล้ตายจึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แก่นสารในชีวิตของเรา เพราะติดตามไปสู่ภพหน้าไม่ได้ ส่วนการพบกับเสือร้ายเหมือนกับการตกไปในอบายภูมิอันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ได้รับความทุกข์ทรมานในภพเหล่านั้นเพราะการไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล และสำคัญสิ่งที่ไม่มีแก่นสารว่ามีแก่นสาร

จะเห็นได้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์ได้พบกับพระพุทธศาสนามีคุณค่าเป็นอันมาก ทำให้เรามีสติรู้จักคุณประโยชน์ของกาลเวลา และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรม คือ ทาน ศีล และภาวนา อันเปรียบเหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นน้ำฝนในฤดูฝน ทำให้ไม่เปียกน้ำได้รับความทุกข์ในขณะฝนตก

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ฉตฺตํ มหนฺตํ ยถ วสฺสกาเล
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ
น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี.
(เนตฺติ. หน้า ๔๕)

ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ในฤดูฝน ข้อนี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ

จากหนังสือประกายส่องใจ
โดยพระคันธสาราภิวงศ์

การเจริญวิปัสสนาเป็นการอบรมจิตให้หมดจดจากนิวรณ์ ๕

นิวรณ์ ๕

การเจริญวิปัสสนาเป็นการอบรมจิตให้หมดจดจากนิวรณ์ที่ทำให้จิตขุ่นมัว ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันทะ ความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “ชอบหนอ” หรือ “โลภหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ผสมสีต่างๆ

๒. พยาบาท ความหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ปองร้าย ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “โกรธหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ถูกต้มจนเดือดมีฟองผุดขึ้น

๓. ถีนมิทธะ ความง่วงซึมเซา ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “ง่วงหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ถูกจอกแหนปกคลุมอยู่

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “คิดหนอ” “ฟุ้งหนอ” หรือ “ร้อนใจหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดจนเกิดคลื่นเป็นระลอก

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “สงสัยหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำในที่มืดและผสมด้วยโคลนตม

นิวรณ์เหล่านี้เป็นเครื่องกั้นความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็จริง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมสามารถกำหนดรู้เท่าทันได้ ก็จะทำให้สติต่อเนื่อง ไม่ถูกรบกวนด้วยนิวรณ์เหล่านี้ ข้อสำคัญ คือ ผู้ปฏิบัติธรรมควรเจริญสติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ นิวรณ์ก็จะเกิดขึ้นครอบงำจิตไม่ได้ เพราะจิตมีธรรมชาติรู้อารมณ์เดียวในขณะเดียวเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเราคิดถึงเรื่องอย่างเดียวในขณะเดียว ไม่มีใครคิดเรื่องสองเรื่องในขณะเดียวกันได้

โดยเหตุที่จิตเกิดดับเร็วมากถึงแสนโกฏิขณะ ดังนั้น คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าสภาวะเห็นและได้ยินเกิดร่วมกัน ความจริงสภาวะทั้งสองเกิดทีละขณะกันเมื่อสภาวะหนึ่งดับไปแล้วจึงเกิดสภาวะอื่นขึ้นแทนที่ เหมือนกระแสไฟเข้าสู่หลอดนีออน ๔๘ ครั้งต่อ ๑ วินาทีแต่คนทั่วไปไม่อาจรู้เห็นความเกิดดับของกระแสไฟได้เพราะมีความรวดเร็วมาก

จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย พระคันธสาาราภิวงศ์

ธรรมเป็นเครื่องอนุเคราะห์ ๕ ประการ

สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาที่ได้รับอนุเคราะห์จากธรรม ๕ ประการย่อมมีผลเป็นเจโตวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นทางใจ อันได้แก่สมาธิในอรหัตตผล และปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นทางปัญญา อันได้แก่ ปัญญาในอรหัตตผล

ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อนุคคหิตธรรม คือ ธรรมเป็น เครื่องอนุเคราะห์ ตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย อนุคคหิตสูตร (องฺ. ปญฺจก. ๒๒.๒๕.๑๘) มี ๕ ประการ คือ

๑. ศีล การสำรวมกายและวาจาเพื่อมิให้เบียดเบียนตนและผู้อื่น ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีใจผ่องใสไม่เศร้าหมองด้วยการผิดศีล เหมือนรั้วกั้นไม่ให้สัตว์เข้ามากินเมล็ดพืชในไร่

๒. การสดับ ส่งผลให้เข้าใจหลักการปฏิบัติเหมือนการรดน้ำต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้ดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงลำต้นและส่วนอื่นๆ

๓. สากัจฉา คือ การสนทนาธรรม การสอบอารมณ์ ส่งผลให้ขจัดความสงสัยและเกิดกำลังใจในการปฏิบัติ เหมือนการพรวนดิน

๔. สมถะ คือ การทำใจให้สงบ ส่งผลให้จิตมีสมาธิที่เกื้อหนุนให้วิปัสสนาก้าวหน้าได้เร็ว เหมือนการกำจัดศัตรูพืชคือนิวรณ์

๕. วิปัสสนา คือ การหยั่งเห็นสภาวธรรมรูปนาม ส่งผลให้เกิดปัญญารู้แจ้งไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง เหมือนการปัดกวาดหยากไย่ของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดและอากาศเต็มที่เพื่อการเติบโตต่อไป

จากหนังสือประกายส่องใจ
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

ฝึกว่ายน้ำก่อนจะจมน้ำ

ในชีวิตหนึ่งของทุกคน เราต้องจมน้ำ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานในเวลาเสียชีวิต ขณะที่จิตจะเคลื่อนจากภพนี้ไปภพหน้า จิตมีลักษณะเหมือนนกแร้งขย่มต้นตาลก่อนจะบินขึ้นไป โดยทั่วไปต้นตาลที่นกแร้งอาศัยอยู่มักเหี่ยวเฉาตายไป เพราะนกแร้งมักขย่มต้นตาลก่อนจะบินขึ้นเสมอ

คนส่วนใหญ่จึงมักได้รับความเจ็บปวดในเวลาใกล้ตาย แม้คนที่ตายอย่างกระทันหันด้วยอุบัติเหตุจะได้รับความเจ็บปวดไม่นาน แต่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ทราบว่าเวลาไม่กี่วินาทีของคนธรรมดา คนป่วยจะรู้สึกยาวนานมาก

ดังนั้น เราทุกคนต้องฝึกว่ายน้ำก่อนจะจมน้ำ นั่นคือการเจริญสติปัฏฐานเพื่ออดทนต่อทุกขเวทนาในเวลาใกล้เสียชีวิต เพื่อไม่ให้จิตเศร้าหมองได้รับความทุกข์ทรมานในเวลานั้น มีผู้หญิงท่านหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง ท่านตะโกนโวยวายว่าฉันไม่อยากตาย ต่อมาถูกหามเข้าห้องไอซียูแล้วเสียชีวิตในที่นั้น ด้วยเหตุนี้ การเจริญสติปัฏฐานจึงมีคุณค่ามากต่อชีวิตของทุกคน

นอกจากนั้น การเจริญสติปัฏฐานยังเป็นการสั่งสมเมล็ดพันธุ์แห่งวิปัสสนาในกระแสจิต ซึ่งจะผลิดอกออกผลเป็นมรรคผลนิพพานต่อไป บุคคลผู้มิได้เจริญสติปัฏฐานย่อมไม่อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารได้ ในคัมภีร์อรรถกถา (ที. อ. ๑.๑๕๑) เรียกว่า “วัฏฏขาณุ” แปลว่า “ตอแห่งวัฏฏะ” หมายถึง ตอไม้ที่แห้งตายไม่เจริญงอกงามเป็นต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญการปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเกิดปัญญาหยั่งเห็นความเกิดดับว่าทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ แม้มีชีวิตอยู่วันเดียวก็ดีเลิศกว่าคนที่มีชีวิตอยู่ร้อยปีโดยมิได้ปฏิบัติธรรม ดังพระพุทธดำรัสว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.
(ขุ. ธ. ๒๕.๑๑๓.๓๗)

ผู้หยั่งเห็นความเกิดดับแห่งสังขาร มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปีของผู้ไม่หยั่งเห็น

จากหนังสือประกายส่องใจ
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

สุขทุกข์อยู่ที่ใจ

ใจของทุกคนมักตอบสนองสิ่งที่มากระทบในเชิงลบหรือบวกโดยมีการปรุงแต่งว่าดีหรือไม่ดีซึ่งมีตัวเราเป็นแกนกลาง ถ้าตอบสนองในเชิงบวกก็จะรู้สึกว่าเป็นสุข หรือถ้าตอบสนองในเชิงลบ ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์

ที่จริงแล้วคำว่าสุข และทุกข์ มาจาก สุ หรือ ทุ + ข ศัพท์ สุ แปลว่า ดี ส่วน ทุ แปลว่า ไม่ดี ศัพท์ว่า ข แปลว่า เสวย, รู้สึก ดังนั้น สุข จึงแปลว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าดี ส่วนทุกข์ แปลว่า สิ่งที่เรารู้สึกไม่ดี นั่นคือ เราตอบสนองโดยมีตัวเองเป็นแกนกลางว่าดีหรือไม่ดี ก็เป็นสุขและทุกข์ตามความรู้สึกของเราเอง

แต่ถ้าเรารักษาใจให้สงบ ไม่รู้สึกยินดีหรือยินร้ายต่อสิ่งที่มากระทบใจ เมื่อนั้น จะไม่เกิดเวทนาเพราะผัสสะ คือ เมื่อเกิดสุขเวทนา ก็มีความโลภประกอบร่วม เมื่อเกิดทุกขเวทนา ก็มีความโกรธประกอบร่วม หรือเมื่อมีอุเบกขาเวทนา ก็มีความโลภติดตามมา เพราะทุกคนอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น จึงเกิดตัณหาติดตามมาทันที

และเมื่อมีตัณหา ก็มีอุปาทาน มีภพคือการทำกรรมที่ดีหรือไม่ดีเพื่อให้ครอบครองสิ่งที่ตนต้องการ หรือเพื่อรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ ตลอดไป ส่งผลให้เกิดชาติ ชรา และมรณะเป็นต้นต่อไป

ดังนั้น จงหยุดใจอยู่ที่ผัสสะ สักแต่รู้สิ่งที่กระทบด้วยสติ ไม่ปรุงแต่งว่าดีหรือไม่ดี และไม่ตอบสนองในเชิงลบหรือบวก ก็จะทำให้ เราไม่ถูกโลกธรรมคือสุขทุกข์กระทบจนโอนไปเอนมา เกิดความรู้สึกผิดหวังเสียใจ ไม่สบายใจ เครียด โกรธ เกลียด ปองร้าย ฯลฯ

จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

กิเลสเกิดจากใจ ละได้ด้วยใจ

กิเลสเกิดจากใจ ละได้ด้วยใจ

กิเลสเกิดจากใจของเราที่คิดปรุงแต่งด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ ถ้าเราปรุงแต่งด้วยความพอใจ ความโลภย่อมเกิดขึ้น ถ้าเราปรุงแต่งด้วยความไม่พอใจ ความโกรธย่อมเกิดขึ้น แต่ถ้ามีอารมณ์มากระทบแล้วเราสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่รับรู้ โดยกำหนดว่า “เห็นหนอ” หรือ “ได้ยินหนอ” นั่นคือการเจริญสติอย่างแท้จริง

แม้กิเลสจะเกิดจากใจของเรา ก็เป็นสิ่งที่ละได้ด้วยใจของเราเอง เปรียบเสมือนตมเกิดจากน้ำ ย่อมถูกล้างให้สะอาดด้วยน้ำ ดังข้อความที่โบราณาจารย์กล่าวว่า

ชเลน ภวติ ปงฺกํ ชเลเนว วิสุชฺฌติ
จิตฺเตน ภวติ ปาปํ จิตฺเตเนว วิสุชฺฌติ.
(มณิทีป. หน้า ๓๖)

ตมเกิดจากน้ำ ย่อมสะอาดด้วยน้ำ ฉันใด
บาปเกิดจากจิต ย่อมสะอาดด้วยจิต ฉันนั้น

จากหนังสือ ประกายส่องใจ
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

สติคุ้มครองจิต..

สติคุ้มครองจิต..

ทุกขณะที่จิตของเราไม่ประกอบด้วยสติ กิเลสที่เหมือนกบฎ โจร หรือขโมย จะเข้าแทรกเข้าในจิตทันทีเพื่อรบกวนให้ขุ่นมัว คนที่ไม่เข้าใจสภาวธรรมมักมัวโทษคนอื่นว่า เราไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือผิดหวังเพราะคนนั้นคนนี้ แต่ความจริงตัวเราเป็นหลักสำคัญ คนอื่นเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ถ้าเรารักษาจิตด้วยสติไม่ได้ เราจะไม่รู้จักวิธีทำใจให้สบาย ตราบเท่าที่กิเลสยังรบกวนจิตอยู่ แม้เราจะปรารถนาว่า ขอให้เราเป็นสุข พ้นทุกข์ ก็ไม่อาจสมหวังได้ตามต้องการ

ดังนั้น เราต้องคุ้มครองจิตด้วยสติ จึงจะอยู่อย่างสบายใจ เพราะจิตของเราไม่เป็นสุขตามธรรมชาติที่ไหลลงต่ำสู่กิเลส 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
<> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <>

อ่านเพิ่มเติม >> ภาวนาสูตร

จิตไม่หลุดพ้นจากอาสวะแม้จะพึงปรารถนา เพราะเหตุไร
จิตหลุดพ้นจากอาสวะแม้จะไม่พึงปรารถนา เพราะเหตุไร
<> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <>