Category Archives: ความรู้เพื่อการปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมมุ่งให้เราหลุดพ้นจากวัฏจักร

เมื่อใดก็ตามที่เราจะปฏิบัติธรรม เราจะต้องมุ่งให้การปฏิบัติธรรมของเราเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระปณิธานไว้ ว่าเพื่อให้เราหลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพื่อให้พ้นจากวัฏจักร เพื่อตัดกระแสของวัฏจักร

ด้วยเหตุนี้ เบื้องแรกของการประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะต้องตั้งใจให้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยไว้ กิเลสอื่นๆ จะค่อยๆ ถอยหลังไป

แต่หากเราไปปรารถนาอย่างโน้นอย่างนี้เสียแล้วกิเลสกลับจะวิ่งนำหน้ามาเลย ที่เราปฏิบัติอยู่ก็จะมิใช่เพื่อพ้นจากวัฏจักร แต่กลายเป็นปฏิบัติธรรมเพื่อลาภสักการะหรืออย่างอื่น

จากหนังสือ
พระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์แทน
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

ปัจจัย ๔ ประการ เพื่อความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

ปัจจัย ๔ ประการ เพื่อความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

การจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จะต้องมีปัจจัย ๔ ประการต่อไปนี้ อยู่พร้อมมูลตั้งแต่ต้น

ประการแรก ผู้ปฏิบัติธรรมจำเป็นที่จะต้องเข้าหาและฝากตนเป็นศิษย์ แก่วิปัสสนาจารย์ที่แท้จริง ผู้ซึ่งสามารถสั่งสอนธรรมมะได้อย่างถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ นี้คือ “สัปปุริสสังเสวะ” ไม่แน่ว่าบุคคลที่เราเข้าไปขอคำแนะนำ จะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้เสมอไป หากเราพบกับคนที่สามารถให้คำแนะนำอย่างถูกต้องได้ บุคคลผู้นี้ก็จะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เรา

ประการที่สอง ผู้ปฏิบัติธรรมพึงตั้งใจฟังแนวทางการปฏิบัติ และคำแนะนำที่ถูกต้องนั้น หรือหาโอกาสอ่านเพิ่มเติม นี้คือ “สัทธัมมสวนะ” หรือการศึกษาธรรมะอย่างถูกต้อง

ประการที่สาม หลังจากนั้นการน้อมนำคำสอนนั้นเข้าสู่จิตใจจะตามมาโดยธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องพยายามรักษาพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ซื่อตรง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือระหว่างการอบรมกรรมฐาน นี้คือ “โยนิโสมนสิการ” คือการทำจิตให้แยบคายและมั่นคงในทุกสถานการณ์

ประการที่สี่ การตั้งปณิธานว่า “เราจะปฏิบัติตามพระธรรมดังที่ได้สดับมา” นี้เรียกว่า “ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ” คือการปฏิบัติตามหลักธรรม

ปัจจัยเหล่านี้ต้องมีอยู่พร้อมในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมศึกษาพระธรรมวินัย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ความงามแห่งจิต

พระปัณฑิตาภิวงศ์ (อู บัณฑิตาภิวังสะ)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หากในขณะที่เจริญภาวนาอยู่ มีอารมณ์สองอย่างหรือหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในขณะเดียวกัน

๐ ปุจฉา
หากในขณะที่เจริญภาวนาอยู่ มีอารมณ์สองอย่างหรือหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในขณะเดียวกัน เช่น อาการปวดหลัง กับอาการพอง-ยุบของท้อง จึงดูเหมือนว่ามีอารมณ์ให้เลือกที่จะใส่ใจกำหนดจดจ่อลงไป ตราบเท่าที่อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถสภาวะ มิใช่บัญญัติอารมณ์ จะสำคัญไหม ว่าเราจะต้องเลือกกำหนดรู้อารมณ์ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาธิของผู้ปฏิบัติมีความตั้งมั่นและสามารถจะดำรงอยู่กับอารมณ์ใดก็ได้ตามแต่ผู้ปฏิบัติจะต้องการ

๐ วิสัชชนา
ตามธรรมนิทเทส หรือพระธรรมเทศนาในพระคัมภีร์รวมทั้งคำสอนของท่านอาจารย์มหาสีสยาดอ มีคำกล่าวว่า “ใช้อารมณ์ที่ชัดเจน เป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ” ขณะที่นั่ง อาการพอง-ยุบของท้องจะเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มเจริญภาวนา จึงใช้พอง-ยุบเป็นอารมณ์หลักในการเจริญภาวนา

คำถามก็คือ “เราจำเป็นต้องกำหนดรู้อารมณ์เพียงอารมณ์เดียวหรือไม่” หากมีอารมณ์อื่นปรากฏชัดเจน เช่น อาการคัน ความเจ็บปวด ความคิด ฯลฯ หากอารมณ์ใหม่ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้ปฏิบัติก็สามารถทิ้งอารมณ์ที่เป็นหลักในการเจริญภาวนาเพื่อไปกำหนดรู้อารมณ์ที่ชัดเจนดังกล่าวได้

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติทิ้งอารมณ์หลักแล้วก็ไม่กำหนดอารมณ์ใหม่ที่เด่นชัดด้วยก็นับว่า ผู้ปฏิบัติพลาดที่จะกำหนดรู้ หรือ ขาดสติไปแล้ว ดังนั้นหากอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดรู้อารมณ์ดังกล่าวได้ และเมื่ออารมณ์นั้นจางคลายหรือหมดสิ้นไป ผู้ปฏิบัติก็พึงกลับไปกำหนดรู้อารมณ์หลักที่เด่นชัด คือ พอง-ยุบอีก หากไม่มีอารมณ์เด่นชัดอื่นใดปรากฏขึ้น ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดรู้อารมณ์หลัก คือ พอง-ยุบไปได้เรื่อย ๆ

กำหนดรู้อารมณ์ใดก็ได้ที่เด่นชัดที่สุด
เมื่อสมาธิมีความตั้งมั่น และปัญญาญาณของผู้ปฏิบัติเจริญขึ้น ผู้ปฏิบัติจะระลึกรู้เพียง “สภาวะ” ของอารมณ์ต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นขณะที่กำหนดรู้อาการพอง-ยุบ ผู้ปฏิบัติก็จะระลึกรู้ “สภาวลักษณะ” อันได้แก่ ความเคร่งตึง ผ่อนคลาย หรือเคลื่อนไหว เป็นต้น ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติก็จะระลึกรู้ “สามัญลักษณะ” ทั้งสามประการด้วย (คืออนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา)

หากผู้ปฏิบัติสามารถระลึกรู้อารมณ์ได้ในลักษณะนี้อย่างราบรื่น และเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์หลัก โดยไม่ต้องกำหนดรู้อารมณ์อื่น แม้ว่าจะมีอารมณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ขณะที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อารมณ์หลัก และมีอารมณ์อื่นที่เด่นชัดเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกอารมณ์ใดก็ได้ที่เด่นชัดที่สุดเป็นอารมณ์ภาวนา หากอารมณ์หลักและอารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่มีความเด่นชัดพอๆ กัน ผู้ปฏิบัติจะกำหนดรู้อารมณ์ใดก็ได้ตามสมควร

ระลึกรู้ด้วยใจ
เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญภาวนาเรื่อยไปโดยราบรื่น ผู้ปฏิบัติจะสามารถกำหนดรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมเป็นเพียงการระลึกรู้ด้วยใจ การภาวนาจะมีพลังขับเคลื่อนไปเองตามธรรมชาติ ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้สึกอยากจะเปลี่ยนอารมณ์ภาวนา ราวกับว่าจิตของผู้ปฏิบัติเกาะติดอยู่กับอารมณ์อย่างแนบแน่นไปเอง

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่กำหนดรู้อาการพอง-ยุบ ผู้ปฏิบัติจะระลึกรู้ความเคร่งตึงเคลื่อนไหวต่างๆ ของท้องได้อย่างเด่นชัดมาก ลักษณาการของจิตเช่นนี้จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อผู้ปฏิบัติเข้าถึงวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นไป ดังเช่น “สังขารุเบกขาญาณ” ซึ่งเป็นสภาวะแห่งการระลึกรู้สังขารธรรมทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง จิตของผู้ปฏิบัติจะอ่อนโยน นุ่มนวลและลุ่มลึกอย่างยิ่ง ขนาดที่แม้ผู้ปฏิบัติจะพยายามส่งจิตออกไประลึก จดจำ หรือคิด ใคร่ครวญถึงกามคุณอารมณ์ใดๆ จิตของผู้ปฏิบัติก็จะไม่ออกไปเสวยอารมณ์ดังกล่าว แต่จะกลับมาตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ราวกับการหมุนกลับมาเองของบูมเมอแรงเมื่อถูกขว้างออกไปฉันนั้น

ไม่เลือกอารมณ์ภาวนา
ผู้ปฏิบัติบางคนอาจต้องการเลือกกำหนดรู้เฉพาะอารมณ์ภาวนาที่ตนเองชอบ อาตมาไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เพราะไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การเจริญภาวนาจะต้องดำเนินไปตามวิถีแห่งอริยมรรคทั้งแปด เมื่อเราเจริญมรรคมีองค์แปดอยู่นั้น หากการปฏิบัติของเรายังไม่มีพลังเพียงพอ เราก็ต้องเสริมกำลังให้เจริญภาวนามีความเข้มแข็ง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติไม่ควรกังวลว่าจะต้องเลือกกำหนดรู้อารมณ์ใด อะไรก็ตามที่ปรากฏขึ้นในการรับรู้ให้ถือเสียว่าเรากำลังเจริญอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ หากผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินไปตามวิถีแห่งมรรคทั้งแปดได้ การเจริญภาวนาของผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะถูกต้อง

เจริญภาวนาตามวิถีแห่งมรรค ๘
การเจริญภาวนาตามวิถีแห่งมรรคมีองค์แปดคืออย่างไรเล่า ตราบเท่าที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของอารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏเด่นชัดได้อย่างถูกตรง ก็ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเจริญศีลมรรคอย่างครบถ้วน เมื่อสมาธิและสติของผู้ปฏิบัติหยั่งลึกและมั่นคงมากขึ้น ก็เรียกว่า ผู้ปฏิบัติกำลังเจริญสมาธิมรรคอยู่ และเมื่อการกำหนดรู้ของผู้ปฏิบัติเท่าทันปัจจุบันอารมณ์จนผู้ปฏิบัติประจักษ์แจ้งธรรมชาติอันแท้จริงของอารมณ์ทั้งปวง ก็เท่ากับผู้ปฏิบัติเจริญปัญญามรรคอยู่แล้ว

ดังนั้น ในขณะที่ผู้ปฏิบัติเจริญภาวนาอยู่ ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะใช้อารมณ์ภาวนาอันใด ตราบเท่า ที่ผู้ปฏิบัติดำ เนินอยู่ในวิถีแห่งมรรคมีองค์แปดข้างต้น (ซึ่งสรุปรวมได้สามกลุ่มคือ ศีล สมาธิ และปัญญา) ก็นับว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

เมื่อผู้ปฏิบัติเลือกอารมณ์ภาวนาเพื่อกำหนดรู้นั้น สิ่งที่อาจเกิดขึ้นลึกๆ ในจิตใจของผู้ปฏิบัติ คือความรู้สึกปฏิเสธผลักไสอารมณ์ต่างๆ

หากเราปรารถนาอารมณ์ดีๆ หรืออารมณ์ที่เราชอบ ก็เทียบเท่ากับความอยาก (โลภะ) ที่จะได้อารมณ์ดีๆ นั้น ซึ่งเป็นภาวะจิตที่เป็นอกุศล

ในทางตรงกันข้าม หากมีอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจปรากฏขึ้น และเราก็รู้สึกไม่พอใจ ความไม่พึงพอใจก็คือ โทสะหรือพยาบาทอีกรูปแบบหนึ่ง

ดังนั้นไม่ว่าจะมีอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือกำหนดรู้สภาวะที่แท้ของอารมณ์เหล่านั้นด้วยความเที่ยงตรง โดยไม่เลือก ไม่วิเคราะห์ไตร่ตรองใดๆ ไม่ว่าจะกำหนดรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งชอบใจหรือไม่ชอบใจให้กำหนดรับรู้อารมณ์เหล่านั้นไปตามสภาวะที่เป็นจริง ผู้ปฏิบัติต้องเพียรพยายามดำเนินไปตามทางแห่งมรรคมีองค์แปดอยู่เสมอ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 
จากหนังสือ ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนา
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ดาวน์โหลดหนังสือ “ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา”

หนังสือปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ

ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ >>> ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หนังสือ “ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา” นี้เรียบเรียงมาจากธรรมบรรยายของพระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ แห่งสำนักวิปัสสนากรรมฐานบัณฑิตาราม ประเทศสหภาพพม่า คำถามคำตอบที่ปรากฏในหนังสือนี้เป็นเพียงส่สนหนึ่งของธรรมบรรยาย ที่หลวงพ่ออูบัณฑิตาแสดงแก่โยคีที่เข้าอบรมสติปัฏฐานภาวนา ที่สำนักของท่านเมือปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำนักฯ จะจัดโครงการอมรมวิปัสสนากรรมฐานให้แก้โยคีชาวต่างประเทศเป็นประจำทุกปี

ข้อความ จากคำนำ
พิชิต-วิธัญญา ภัทรวิมลพร
ตุลาคม ๒๕๔๖
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การกำหนดรู้สภาวธรรม จะรู้ได้ว่า ไม่มีอัตตา

นักปฏฺิบัติที่พัฒนาวิปัสสนาปัญญา โดยการกำหนดรู้สภาวธรรมจะรู้ได้ว่า ไม่มีอัตตา มีเพียงความเป็นไปของรูปนามเท่านั้น จึงเป็นอิสระจากอัตตทิฏฐิ แต่ก็ได้เฉพาะช่วงที่เจริญวิปัสสนาอยู่เท่านั้น เมื่อใดที่เลิกกำหนดรู้การเกิดดับของรูปนาม อัตตทิฏฐิก็จะกลับมาครอบงำอีก เพราะยังรู้สึกว่ามีตัวเราที่เคลื่อนไหวร่างกาย กระทำอากัปกิริยาต่างๆ อยู่

จากหนังสืออนัตตลักขณสูตร
พระมหาสีสยาดอ

กำหนดครั้งหนึ่ง ธรรม ๖ อย่างปรากฏ

กำหนดครั้งหนึ่งเราได้อะไรจากการกำหนดนั้น (ธรรม ๖ อย่างปรากฏ)

ขณะที่เรากำหนดครั้งหนึ่ง ธรรมะ ๖ ประการจะปรากฏแก่เรา ไม่ว่าจะรู้ไม่รู้ จะเห็นไม่เห็น เขาก็ปรากฏ อุปมาง่ายๆสมมติว่าเรายกมือขึ้น กำหนดว่ายกหนอ อาการที่ยกขึ้นมานี้เป็นอาการของธาตุอะไร

โยคีตอบว่า : เป็นอาการของธาตุลม
หลวงพ่อถาม : แล้วธาตุลมที่ปรากฏนี้เป็นของจริงหรือของไม่จริง

โยคีตอบว่า : เป็นของจริง อันนี้คือของจริงปรากฏใช่ไหม ?

หลวงพ่ออธิบายว่า :
ประการแรกก็คือ “ความจริงปรากฏ” การที่เราไปรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ชื่อว่าเราเห็นถูกหรือเห็นผิด เห็นถูกนะ เราเห็นตามความเป็นจริงหรือไม่จริง เห็นจริงนะ เป็นสัมมาทิฏฐิหรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง)

ประการที่ ๒ ก็คือ “รู้ตามความเป็นจริง” นี่ถูกต้องตามพุทธประสงค์ที่ต้องการให้เราเห็นตามความเป็นจริง
๑. ของจริงปรากฏ ๒. รู้ตามความเป็นจริง

ประการที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร “สามารถละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้” “สตฺตูปลทฺธึ ปชหติ”

ที่เราดูธาตุลมคือการเคลื่อนไหวนี่ ในการเคลื่อนไหวนี่มีคำว่าผู้หญิงผู้ชายคนสัตว์มีไหม ไม่มี นี่ไง สามารถละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้ทันที คำว่าผู้หญิงผู้ชาย แม่ พ่อ พี่น้อง ไม่มีนะ มีแต่ธาตุลมอย่างเดียว “อตฺต สญฺญํ อุคฺฆาเฏนฺติ” “สามารถถอนความรู้สึกเป็นเราได้ทันที” ตรงนี้มีคำว่าเรา อย่างโน้นอย่างนี้มีไหม ไม่มีนะ

นี่ไง ได้มาเท่าไรแล้ว ๑.ความจริงปรากฏ ๒.รู้ตามความเป็นจริง ๓.ละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้ ๔.ถอนความรู้สึกเป็นเราได้

๕.”สามารถขจัดความมืดคืออวิชชาได้” ขจัดได้อย่างไร
ปกติธาตุเขาปรากฏอยู่ แต่ว่าโมหะคืออวิชชา ทำให้เราเห็นธาตุโดยความเป็นคน เห็นทีไรเป็นอะไร เป็นมือ เห็นไหม ธาตุมีอยู่มองไม่เห็น แต่เห็นทีไรเป็นอะไร เป็นมือ อันนี้มันบังทำให้เราไม่เห็นความจริง แต่พอเราเจาะเข้าไปดูอาการของธาตุจริงๆ ตอนนี้ มันกันได้อยู่ไหม ไปเห็นอาการของธาตุลมปรากฏ เป็นของแท้ เราทะลุเข้าไปเลย ตัวที่โมหะที่มันบังไม่ให้เห็นธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม มันถูกขจัด ตัวขจัดความมืดนี้เอาอะไรไปขจัด เอาปัญญา ที่เรารู้ตามความเป็นจริงนั่นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปญฺญา โลกสฺมึ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” ฉะนั้น ปัญญาตัวนี้สามารถเกิดทันที กำหนดได้ทันที ขจัดความมือคืออวิชชาคือโมหะได้ทันที

ประการที่ ๖ เป็นไง “กันกระแสของอกุศลที่เกิดกับเรา” ทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับนี้ พอกำหนดอย่างนี้ปุ๊บ กระแสถูกตัดขาด ไม่ให้มีโอกาสสืบต่อกันได้อีก ช่วงที่กำหนดเท่านั้นนะ ถ้าไม่กำหนดเป็นไง ก็เหมือนเดิม เพราะอะไร เพราะเรายังไม่สามารขจัดอะไรได้สักอย่าง อันนี้แหละ เราจะกำหนดกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ปวดหนอ เห็นหนอ ยินหนอ อะไรก็แล้วแต่ ธรรม ๖ อย่างปรากฏทันที

ฉะนั้น เราจะรู้ไม่รู้ เราจะแยกเป็นแยกไม่เป็น เขาก็ปรากฏ ไม่ต้องไปคิดแยกเขา เขาปรากฏเลย ที่แยกนี้ก็เพื่อให้เราเห็นว่า โอ้ เรากำหนดครั้งหนึ่งไม่ใช่ไม่ได้อะไรนะ ได้เต็มที่ธรรม ๖ อย่าง ฉะนั้นให้มั่นใจตนเอง ดีใจตนเองว่าเราได้ ไม่ใช่ไม่ได้อะไร เข้าใจนะ ฉะนั้นไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจอะไร ว่าเอ..ไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่ใช่ เข้าใจนะ

………………………………
สรุป ธรรม ๖ อย่างปรากฏ

กำหนดครั้งหนึ่ง จะได้ธรรมอยู่ ๖ อย่าง คือ

๑. ความจริงปรารฏ
๒. รู้ตามความเป็นจริง
๓. ละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้
๔. ถอดความรู้สึกว่าเป็นเราได้
๕. สามารถขจัดความมืดคืออวิชชาได้
๖. กันกระแสอกุศลไม่ให้ได้โอกาสเกิด (สร้างกุศล ทำกุศลให้เจริญ กันอกุศล)

ที่มา : ธรรมบรรยายหลวงพ่อประจาก

แนวทางปฏิบัติ ๔ อย่าง

การบรรลุธรรมด้วยประสบการณ์ของตนเอง

การระลึกถึงพระพุทธองค์หรือพระพุทธคุณเป็นสิ่งงดงามและสำคัญ แต่การได้เห็นธรรมเท่านั้นจึงจะทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นพระพุทธองค์ได้อย่างแท้จริง

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นตถาคต”

การเจริญพุทธานุสสติที่แท้จริง หมายถึง การเจริญรอยตามพระยุคลบาท ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเท่านั้น จึงจะเป็นการสนองเจตนารมณ์อันเปี่ยมด้วยพระกรุณาธิคุณของพระพุทธองค์

เพื่อให้ได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัย ผู้ปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติตามแนวทาง ๔ อย่าง ที่แสดงไว้ในพระบาลีว่า

๑. สัปปุริสสังเสวะ : การคบหากับกัลยาณมิตร (มิตรดี ได้แก่ วิปัสสนาจารย์ และเพื่อนสหธรรมิก เป็นต้น) ผู้มีความรู้และสามารถสั่งสอนพระธรรม

๒. สัทธัมมัสสวนะ : การรับฟังพระธรรม คำสั่งสอนที่ถูกต้อง

๓. โยนิโสมนสิการ : การกระทำไว้ในใจอย่างแยบคาย รวมถึงการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการธำรงรักษาพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามในทุกๆ สถานการณ์

๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ : ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ทุกวันนี้คนจำนวนมากยังไม่คุ้นเคยกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และยังนำพระธรรมไปปฏิบัติได้อย่างไม่ถูกต้อง บุคคลเหล่านี้จึงตกไปจากหนทางที่ถูกต้อง

หากผู้ปฏิบัติยึดแนวทางทั้ง ๔ ข้างต้น อย่างระมัดระวัง การปฏิบัติธรรมก็จะส่งผลอย่างคุ้มค่า หาไม่แล้วผู้ปฏิบัติอาจสูญเสียโอกาสอันล้ำค่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ไปอย่างน่าเสียดาย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ “ความงามแห่งจิต”
สยาดอ อู บัณฑิตะ

ประโยชน์ของการเก็บวาจา

ความเงียบ หรือ “การเก็บวาจา” เป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งของการอบรมกรรมฐาน

การไม่พูดเป็นส่วนหนึ่งของ “วาจา” ที่บริสุทธิ์ ที่เป็นประโยชน์มากในการลดความวุ่นวาย ความเดือดร้อนภายในจิต ซึ่งเป็นความหมายของความบริสุทธิ์ภายใน

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การมีสติกำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความสงบภายใน

สยาดอ อู บัณฑิตะ
จากหนังสือ “ความงามแห่งจิต”
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ก่อนที่ความตายจะมาฉุดคร่าเอาชีวิตไป

ความพยายามให้มีอายุยืนด้วยการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมต่อไปได้นานกว่าอายุขัยปกติ ถือว่าไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะถ้าหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ เขาก็จะตัดความยึดมั่นถือมั่นผูกพันต่างๆ แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยความขยันขันแข็งอย่างเต็มที่

แต่ก็มีพวกที่เชื่อว่าหากตนจะมีชีวิตยืนยาวก็จะสามารถปฏิบัติธรรมด้วยจิตที่สงบ ในเรื่องนี้มีความเห็นต่างๆ กัน แต่เราไม่เชื่อว่าการทำให้ชีวิตยืนยาว จะทำให้สามารถปฏิบัติธรรมได้นานขึ้น ทั้งนี้เพราะว่า บุคคลที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในปัจจุบันเพราะหวั่นเกรงความตายที่จะมาถึงอยู่ทุกขณะ จะพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อให้บรรลุธรรมโดยเร็วก่อนที่ความตายจะมาฉุดคร่าเอาชีวิตไป แต่ถ้าคนเรามีอายุยืนเป็นพันปี ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจที่จะอุทิศตนพยายามปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

คนบางพวกแม้ในขณะที่ปฏิบัติธรรมก็ไม่ตั้งใจอย่างเต็มที่ กลับปล่อยใจให้คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องต่างๆ เช่น สิ่งที่จะทำหลังออกกรรมฐาน และเงินทองทรัพย์สมบัติที่จะได้มาจากการประกอบธุรกิจ เป็นต้น ทำให้ต้องเสียเวลาอันมีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์

ภิกษุที่พากันปีนหน้าผาขึ้นไปบนยอดเขา ได้ผลักพะองที่เป็นบันไดขึ้นให้ตกหน้าผาไป ให้เหลือเพียงวิธีเดียวที่จะรอดชีวิต คือ ต้องปฏิบัติธรรมอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเพื่อให้บรรลุมรรคผล มิฉะนั้น ก็จะต้องตายอยู่บนยอดเขานั้น ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุอรหันต์ พร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

กำหนดรู้สภาวธรรมโดยเริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ชัดก่อน

สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่อาจไม่สามารถกำหนดสภาวธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด จึงควรกำหนดสภาวธรรมที่เห็นได้ชัดก่อน ดังข้อความว่า

“ยถาปากฏฺ วิปสฺสนาภินิเวโส.”
“ควรเจริญวิปัสสนา ตามอารมณ์ที่ปรากฏชัดเจน”

เราสามารถกำหนดรู้สภาวธรรมโดยเริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ชัดก่อน โดยทั่วไปการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ปรากฏชัด เห็นได้ง่าย ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า ควรเริ่มกำหนดรู้รูป (กาย) ก่อน ให้เริ่มจาก มหาภูตรูป ๔ ที่ประกอบอยู่ในร่างกาย โดยกำหนดรู้รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในมหาภูตรูป ๔ ก็ได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในสติปัฏฐานสูตร ได้แสดงถึงการกำหนดวาโยธาตุไว้ว่า “คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ” เป็นต้น จึงควรเริ่มด้วยการกำหนดรู้วาโยธาตุ คือธาตุลมเป็นอันดับแรก

เวลานั่งอยู่นิ่งๆ ก็กำหนดรู้ว่า “นั่งหนอ” โดยรับรู้ความตึงของวาโยธาตุ ที่ทำให้ร่างกายตั้งตรงอยู่ได้ แต่หากกำหนดรู้การนั่งเพียงอย่างเดียว สมาธิก็จะมีกำลังมากกว่าวิริยะ และทำให้วิริยะอ่อนลง จึงขอแนะนำว่าในขณะนั่งกรรมฐาน แทนที่จะกำหนดรู้การนั่งเพียงอารมณ์เดียว ผู้ปฏิบัติควรกำหนด การพองและยุบของท้องซึ่งเกิดจากความกดดันของลมในท้องร่วมไปด้วย

ดังนั้น เมื่อท้องพองขึ้น ให้กำหนดว่า “พองหนอ” เมื่อท้องยุบลง ให้กำหนดว่า “ยุบหนอ” ควรกำหนดโดยบริกรรมในใจ ไม่ต้องออกเสียง จุดประสงค์คือให้ผู้ปฏิบัติรับรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้น เราอาจใช้คำว่า “กำหนดรู้” “ระลึกรู้” “รู้” หรือ “ใส่ใจ” ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกัน

บางคนตั้งกฎเกณฑ์ว่า “ไม่ควรบริกรรมอย่างนั้น” หรือ “ควรบริกรรมอย่างนี้” แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ “ให้รับรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้น” การบริกรรมว่า “รู้หนอ” เพื่อแสดงการรับรู้ หรือ หากจะบริกรรมว่า “พิจารณาหนอ” ก็เพื่อแสดงการรับรู้เหมือนกัน การบริกรรมเป็นการแสดงถึงการรับรู้ ถ้าบริกรรมว่า “คิดหนอ” ก็เป็นการรับรู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้น คำเหล่านี้มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ในที่นี้ เราจะใช้คำว่า “กำหนดรู้” เพื่อให้เข้าใจง่าย

เมื่อท้องพองให้กำหนดรู้ว่า “พองหนอ” ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดการพอง และเมื่อท้องยุบให้กำหนดรู้ว่า “ยุบหนอ” ไม่พึงบังคับจังหวะการหายใจให้เปลี่ยนไป ควรหายใจปกติ ไม่พึงหายใจให้ช้าลง หรือเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องหายใจแรงๆ แต่พึงหายใจตามปกติ เพียงกำหนดรู้ตามไปในขณะที่หายใจเท่านั้น

การปฏิบัติวิปัสสนาหมายถึง ไม่กำหนดรู้สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยสร้างหรือทำให้เกิดขึ้น แต่หมายถึงเป็นการกำหนดรู้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและดับไปตามปกติ

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะกำหนดรู้สภาวะพองขึ้นของท้องในขณะท้องพอง และสภาวะของยุบในขณะท้องยุบ หากจิตล่องลอยไป ในขณะกำหนดรู้ ก็ให้กำหนดรู้การล่องลอยของจิตด้วยการกำหนดว่า “ใจลอยหนอ” ถ้าใจลอยไปถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ให้กำหนดว่า “คิดถึงหนอ” ถ้าคิดวางแผนก็ให้กำหนดว่า “วางแผนหนอ” หรือ “คิดหนอ” การกำหนดรู้ทำได้ไม่ยากเลย เรียกว่า “จิตตานุปัสสนา” หลังจากนั้นให้มากำหนดรู้สภาวะพองยุบของท้องต่อไป

หากรู้สึกเมื่อย ร้อน หรือ เจ็บปวด ก็ให้กำหนดความรู้สึกนั้นๆ ด้วย ถ้าเมื่อยให้กำหนดว่า “เมื่อยหนอ” โดยพุ่งจิตไปยังจุดที่ๆ รู้สึกเมื่อย ถ้ารู้สึกร้อนให้กำหนดว่า “ร้อนหนอ” ส่งใจไปยังบริเวณที่รู้สึกร้อน ถ้ารู้สึกเจ็บให้กำหนดว่า “เจ็บหนอ” นี้เรียกว่า “เวทนานุปัสสนา” หลังกำหนดรู้เช่นนั้นแล้ว ให้กลับมากำหนดสภาวะพองยุบของท้องอย่างเดิม

ถ้าได้ยินเสียงให้กำหนดว่า “ได้ยินหนอ” แล้วกลับมากำหนด สภาวะพองยุบของท้องต่อไป

การกำหนดเพียงอารมณ์เท่านี้ในการนั่งเพียงชั่วครู่ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีที่นั่งกรรมฐานตลอดทั้งวัน ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดสภาวะเหยียดหรือคู้ และสภาวะเคลื่อนไหวอื่นๆ ของร่างกายด้วย พึงกำหนดรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด การกำหนดรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นขณะนั่งแต่ละครั้งนี้ เป็นเพียงการลิ้มรสธรรมะเท่านั้น คล้ายกับการลิ้มรสเกลือ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หมายเหตุ :
มหาภูตรูป คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานของรูปทั้งหลาย มี ๔ ได้แก่ ธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) ธาตุน้ำ(อาโปธาตุ) ธาตุไฟ (เตโชธาตุ) ธาตุลม (วาโยธาตุ)

หนังสือ สอบอารมณ์ ส่งอารมณ์

หนังสือ สอบอารมณ์ ส่งอารมณ์
คู่มือเพื่อความเข้าใจในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
พระครูภาวนาสมณวัตร วิ. (ประจาก สิริวณฺโณ)
ดาวน์โหลด : >>> คลิกที่นี่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อนุโมทนากถา

เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่า การสอบอารมณ์นั้นจะเป็นเหตุให้ นักปฏิบัติต้องเกิดความวิตกกังวลหวาดกลัวต่อการสอบอารมณ์

เมื่อก่อนได้แต่นึกว่า นักปฏิบัติคงเข้าใจเกี่ยวกับการน้อมใจ ส่งใจไปดูอาการต่างๆ ของกายของธาตุแล้ว

เมื่อก่อนนึกในใจว่า นักปฏิบัติคงเข้าใจเกี่ยวกับระยะการเดิน จงกรมว่านำเอาอะไรมาจัดเป็นระยะ๑ เป็นต้นแล้ว

ภายหลังได้ทราบความเป็นจริงว่านักปฏิบัติหาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีการสอบอารมณ์ใหม่ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม

อาศัยความเมตตาของท่านอาจารย์พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโตที่มีต่อนักปฏิบัติธรรม จึงได้ทำการถอดเทปในการสอบอารมณ์ออก มาจัดเป็นรูปเล่มหนังสือแจกจ่ายแก่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ศึกษาไว้ก่อนการปฏิบัติ จะได้ช่วยให้นักปฏิบัติได้เกิดความเบาใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง

อนุโมทนากถา และได้อาศัยความเมตตาปรารถนาดีจากคุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา และคณะ ได้ทำการเรียบเรียงออกมาพร้อมทั้งได้ช่วยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดพิมพ์อีกด้วย

จึงขออนุโมทนาสาธุการในกุศลเจตนาอันดีงามของท่านทั้งหลายไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ขอให้ท่านทั้งหลายผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ให้สำเร็จด้วยกำลังกาย-ใจ และกำลังทรัพย์ จงเป็นผู้รู้ธรรม เห็นธรรม บรรลุธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาบุคคล รู้ได้ไว สะดวกสบายด้วยกันทุกๆ ท่านเทอญ

ปญฺญา โลกสฺมึ ปชฺโชโต

พระครูภาวนาสมณวัตร วิ.
(ประจาก สิริวณฺโณ)

…………………………………………………….

บทนำ

ผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ๆ มักจะสงสัยคำว่า ‘สอบอารมณ์’ และ ‘ส่งอารมณ์’ ว่าคืออะไร เขาทำอะไรกัน เมื่อไม่รู้ก็พาลจะกังวลวุ่นวายใจ แม้แต่บางคนที่พอรู้คร่าวๆ ก็กังวลหนักใจ ใจเต้นจนไม่เป็นอันปฏิบัติ เพราะกลัวการ ‘สอบอารมณ์’ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ปฏิบัติมือเก่า แล้วแต่ยังส่งอารมณ์ไม่เป็นก็มีอยู่ไม่น้อยเลย จึงได้ดำริจัดทำหนังสือ เล่มน้อยนี้ขึ้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าใจว่า ที่เรามา ‘สอบอารมณ์’ นี้เป็นอย่างไร จะได้ไม่ต้องหนักใจ เกิดความ เบาใจในเรื่องการสอบอารมณ์เสียที

คำว่า ‘ส่งอารมณ์ เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะมา รายงานการปฏิบัติของตนเองให้ครูบาอาจารย์ฟัง โดยเล่าตามที่ เราประพฤติปฏิบัติมา ว่าขณะที่ปฏิบัตินี้เราไปรู้ไปเห็นมาอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนเราไปเห็นปากกามาด้ามหนึ่ง แล้วเล่าต่อให้เพื่อนฟังว่า “ปากกา มีรูปร่างเป็นแท่งกลมๆ มี ๒ สี สีขาวใสกับสีม่วงมีที่เปิดอยู่ข้างบน ที่ปิดอยู่ด้านข้าง” ที่เราสามารถเล่าให้เพื่อนฟังได้ ก็เพราะเราเคยเห็นมาแล้ว จึงไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องเล่าให้เพื่อนฟัง

เช่นเดียวกันกับการที่เราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ตามดูอาการเคลื่อนไหวของเท้า ยกขึ้นมารู้สึกหนักเบาอย่างไร เวลาย่างรู้สึก มีลมพัดผ่านอย่างไร เหยียบลงสัมผัส รู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็งอย่างไรเราก็เล่าตามที่เราไปรู้ไปเห็นมาให้ครูบาอาจารย์ฟัง ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไร

ฉะนั้น การส่งอารมณ์จึงไม่ใช่เรื่องต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องที่เราไปรู้ไปเห็นมา แล้วมาเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังเท่านั้นเอง

คำว่า ‘สอบอารมณ์ เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์ ท่านจะสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติของโยคีว่าเป็นอย่างไร กำหนดอย่างไร กำหนดแล้วมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง ครูบาอาจารย์จะสอบถาม เพื่อสอบทานว่าเราปฏิบัติได้ถูกผิดอย่างไร จะได้ช่วยแก้ไขหรืออธิบายเพิ่มเติม หากเรายังเข้าใจไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ก็เพื่อเกื้อหนุนการปฏิบัติของเรานั่นเอง เมื่อครูบาอาจารย์สอบถามมา เราก็ตอบท่านไป มีเท่านั้นเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อิทรีย์ ๕

อินทรีย์ ๕

ความหมายของ อินทรีย์

คำว่า อินฺทริย มีรูปวิเคราะห์ (คำจำกัดความ) ว่า อินฺทสฺส กมฺมํ อินฺทริยํ (การกระทำของผู้เป็นใหญ่ ชื่อว่า อินทรีย์) การกระทำของผู้เป็นใหญ่ คือ การกระทำของผู้ควบคุมจิตของตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่สามารถควบคุมจิตหรือผู้ที่เป็นใหญ่แก่จิตของตน ส่วนผู้ที่ยอมแพ้ต่ออำนาจของกิเลส ไม่สามารถควบคุมจิตได้ ก็จะไม่อาจบำเพ็ญธรรมทั้ง ๕ ประการนั้นได้ กล่าวคือ

– ไม่อาจเจริญศรัทธา เพราะประกอบด้วยความไม่เชื่อถือ
– ไม่อาจเจริญความเพียรเพราะมีความเกียจคร้าน
– ไม่อาจเจริญสติ เพราะคิดถึงอารมณ์ที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ไม่อยากอยู่กับปัจจุบัน
– ไม่อาจเจริญสมาธิ เพราะชอบการซัดส่ายฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ
– ไม่อยากที่จะเจริญปัญญา เพราะพอใจที่จะถูกความหลงครอบงำจิตของตน

อินทรีย์ ๕ เหล่านี้เปรียบเหมือนพระราชา พระราชาเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในสมัยก่อนเป็นสมัยที่พระราชาปกครองประเทศ ทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้พระราชอำนาจ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน หากเข้าถึงความเป็นอินทรีย์ คือ เข้าถึงความเป็นใหญ่ในในขณะใด ขณะนั้นก็เหมือนพระราชาปกครองประเทศ เพราะมีกำลังมากในการประกอบกิจของตน เช่น

๐ ศรัทธาที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (ศรัทธินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการเชื่อมั่นเลื่อมใสในคุณของ พระรัตนตรัย กรรม และผลกรรม โดยไม่หวั่นไหวหรือเกิดความสงสัยสิ่งเหล่านั้น

๐ วิริยะที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (วิรยินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในความเพียรที่ไม่ย่อท้อ ไม่ให้เกิดความเกียจคร้านในการปฏบัติธรรม

๐ สติที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (สตินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการยังจิตให้รู้ทันสภาวธรรมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

๐ สมาธิที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (สมาธินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการตั้งมั่นในสภาวธรรมปัจจุบัน ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่นจากอารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่

๐ ปัญญาที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (ปัญญินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่หลงงมงายในสภาวธรรมเหล่านั้น

จิตที่ไม่ประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ ก็เปรียบเหมือนประเทศที่ขาดพระราชาปกครอง ย่อมเป็นประเทศที่ไม่มีความสงบมีสงครามอยู่เสมอ แต่จิตที่มีอินทรีย์ ๕ เหล่านี้เหมือนประเทศที่มีพระราชาปกครอง ย่อมมีแต่ความสงบร่มเย็นจิตที่ประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะเป็นจิตที่สงบร่มเย็น ไม่ถูกกิเลสต่างๆ รบกวนจิต ส่วนจิตที่ไม่มีอินทรีย์เหล่านี้ย่อมถูกกิเลสต่างๆ รบกวน อุปมาเหมือนการโดยสารเรือข้ามฟาก ถ้าเรือรั่ว น้ำก็จะไหลเข้าในเรือ เรือก็จะจมลง น้ำเหมือนกิเลสที่ไหลเข้ามาในเรือ และเรือก็คือ “จิต”

“เมื่อกิเลสครอบงำจิต ย่อมทำให้จิตตกต่ำ เหมือนเรือที่จมลงไม่อาจข้ามฟากได้”

อินทรีย์ ๕
จากหนังสือ โพธิปักขิยธรรม
โดยพระคันธสาราภิวงศ์

เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ

รื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ
สำคัญที่ว่า…จะเตรียมรับมือกับมันอย่างไร
โดย…ปิยสีโลภิกขุ – พระภูวดล ปิยสีโล

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้ความผันแปร ไม่มีอะไรที่เราจะวางใจได้อย่างแท้จริง ผู้มีปัญญาจึงหมั่นฝึกใจตนเองให้พร้อมรับมือกับทุกสิ่ง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งอาจจู่โจมเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ วิกฤตการณ์ต่างๆ ความผิดหวังและสูญเสียอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีใครเชื้อเชิญ

แต่เราสามารถเลือกได้ว่า จะจมอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ หรือพยายามยอมรับมันให้ได้ แล้วใช้ชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข

ทักษะในการยอมรับความผิดหวังสูญเสีย ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีการฝึกฝน บางคราวก็อาจต้องฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรืออาจต้องฝึกจนตัวเรารู้สึกเบื่อว่าจะฝึกกันไปทำไมมากมาย

แต่แล้วจู่ๆ เราก็ได้พบว่าสิ่งที่ฝึกเอาไว้นั้น ช่วยประคับประคองใจเราได้จริงๆ และในช่วงเวลานี้เองที่เราจะได้ค้นพบ ….

“ความหมายลึกซึ้งของการปฏิบัติธรรม”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ที่มา : เพจปิยสีโลภิกขุ – พระภูวดล ปิยสีโล

ในร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ

ในร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ

ในขณะปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรมควรเจริญสติอยู่ตลอดเวลา การเจริญสติปัฏฐานเหมือนเดินมุ่งหน้าไปสู่พระนิพพานทีละก้าว ทุกขณะที่เราย่างเท้าด้วยสติ เราได้มุ่งหน้าไปสู่พระนิพพานอยู่เสมอ ดังนั้น การเจริญสติจึงไม่มีการพักหยุดกำหนด อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติธรรมพักผ่อนในเวลา ๕ โมงเย็น มีประโยชน์เพื่อให้ทำอิริยาบถย่อยแทนการเดินและนั่งตลอด ๓ ชั่วโมงในช่วงบ่าย มิฉะนั้นแล้วจะรู้สึกเหนื่อยจนเกินไปอย่างไรก็ตาม แม้ในเวลาพักดื่มน้ำปานะและอาบน้ำ ก็ต้องเจริญสติตามรู้สภาวธรรมปัจจุบันตลอดเวลา

การเจริญสติเป็นการรับรู้สภาวธรรมปัจจุบัน ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรใส่ใจต่อการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่อารมณ์กรรมฐาน ในสมัยก่อนมีพระเถระรูปหนึ่งนำไม้ไปเขี่ยอุจจาระของท่าน ไม่ทราบว่าควานหาอะไรอยู่โยมอุปัฏฐากถามว่า “ท่านอาจารย์ทำอะไรอยู่” ท่านตอบว่า “อาตมกำลังแสวงหาความเกิดดับในสิ่งนี้อยู่” ความจริงความเกิดดับซึ่งเป็นไตรลักษณ์นั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้แสวงหาในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ไม่ใช่ไปแสวงหาภายนอกร่างกาย เพราะอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เกิดขึ้นภายในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ไม่ได้เกิดภายนอกร่างกายของเรา กล่าวคือ

๑. ทุกข์ สภาวะที่ไร้แก่นสาร คือ ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในร่างกายนี้

๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดของทุกข์ คือ ตัณหา ที่เกิดขึ้นในใจของเรา เป็นความพอใจเพลิดเพลินติดใจในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖

๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ คือ ความดับแห่งสภาวธรรมทางกายและใจทั้งหมด กล่าวคือ ตราบใดที่นั่งกรรมฐานแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถรับรู้สภาวะตึงหย่อนของท้อง หรือรับรู้สภาวะเบา ผลักดัน และหนักในขณะเดินจงกรมก่อน ต่อมาสภาวธรรมทางกายและใจทั้งหมดได้ถึงความดับสูญ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมได้รับรู้ถึงความดับสูญนั้น การรับรู้อย่างนี้เป็นทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ ปรากฏอยู่ภายในร่างกายนี้เช่นเดียวกัน

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นภายในร่างกายนี้ เพราะเราจะต้องเจริญศีล สมาธิ ปัญญา โดยเจริญสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เป็นต้น ภายในร่างกายนี้เท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใดที่บุคคลยังไม่อาจหยั่งรู้อริยสัจ ตราบนั้นเขาจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ ดังพระพุทธดำรัสในสังยุตตนิกาย มหาวรรค (สํ. มหา. ๑๙.๑๐๙๑.๓๗๖) ว่า

จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา เอวมิทํ ทีฆมทฺธานํ สนฺธาวิตํ สํสริตํ มมญฺ เจวตุมฺหากญฺ จ.

ระยะทางอันยาวไกลอย่างนี้ อันเราและท่านเร่ร่อนไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว เพราะมิได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การเจริญสติเพื่ออยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ

การเจริญสติเพื่ออยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ

ผู้ประสงค์เป็นศิษย์ผู้ฉลาดหลักแหลมเหมือนสุเมธ จะต้องปฏิบัติด้วยการเจริญสติระลึกรู้รูปนามในปัจจุบันขณะ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติมาก่อน พึงปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ ซึ่งจะเป็นไปตามข้อความในอริยาวาสสูตรว่า

อิธ ภิกฺขเว ภิกขุ สตารกฺเขน เจตสา สมนฺนาคโต โหติ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยใจ ที่คุ้มครองด้วยสติ

ในทุกขณะที่มีความคิดผุดขึ้นในใจ จะต้องมีสติคุ้มครองจิต การมีสติอยู่เสมอจะเสมือนว่าท่านกำลังอยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ หรือมีธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ กล่าวคือมีความปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ มาแผ้วพาน ทุกครั้งที่ความคิดเกิดขึ้นในจิต จะต้องกำหนดรู้ และถ้าสามารถกำหนดรู้ได้เท่าทันทุกครั้งที่คิด ก็เท่ากับได้อยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ ซึ่งจะคุ้มครองให้พ้นจากอันตรายที่จะต้องตกไปในอบาย และถ้าสามารถกำหนดรู้ได้อย่างต่อเนื่องก็จะบรรลุอริยมรรค ซึ่งจะปกป้องให้พ้นจากความทุกข์ และภัยอันตรายในสังสารวัฏ

ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ความคิดที่เกิดขึ้นทุกครั้งด้วยสติ ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่บรรลุอริยมรรค เขาก็จะพ้นจากทุกข์ภัยในอบายทั้งสี่ ถ้าหากต้องสิ้นชีวิตลงในขณะกำลังเจริญสติ ก็จะไม่ตกไปในอบายภูมิอย่างแน่นอน การมีสติกำหนดรู้ความคิดที่เกิดขึ้นอย่างระมัดระวังอยู่ทุกขณะนี้เรียกว่า “อริยาวาสะ” คือ ที่อยู่ของพระอริยะ

“จงเจริญสติ กำหนดรู้จิตทุกขณะ” เป็นคติพจน์ที่ขอมอบให้ทุกท่าน อธิบายความได้ว่า ทุกครั้งที่จิตรับรู้การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ก็ให้กำหนดรู้จิตนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สิ่งที่จิตรับรู้เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน

การเจริญสติไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ยากเลย ทุกขณะที่เรารู้ตัวว่ายืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ เคลื่อนไหวร่างกายอยู่ รู้ตัวว่าเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส นึกคิด ก็จัดว่าเจริญสติแล้ว

จิตของเรา เหมือนแก้วน้ำมีฝุ่นธุลีขุ่นอยู่ ถ้าตั้งแก้วน้ำไว้นิ่งๆ น้ำจะใสเอง ในกรณีเดียวกัน ถ้าเราเฝ้าดูอาการปรากฏทางกายกับจิตด้วยสติที่วางใจเป็นกลางไม่ปรุงแต่ง เมื่อนั้น จิตก็จะเกิดสมาธิตั้งมั่นเอง แม้ว่าเราจะกำหนดจิตอยู่ที่ปัจจุบัน แต่จิตเราไม่อยู่นิ่ง มักซัดส่ายเคลื่อนไปเหมือนการฉายภาพสไลด์ บางภาพเป็นเหตุการณ์ในอดีต บางภาพเป็นความคิดในอนาคต

ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งที่จิตรับรู้ที่เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน จำแนกได้ดังนี้

๑. ปัจจุบัน คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะ อดีตนั้นไม่มีจริงเหมือนความฝัน อนาคตก็เป็นจินตนาการที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ ความจริงของชีวิตจึงมีปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น เปรียบดั่งคนที่แหงนหน้ามองท้องฟ้าเมื่อสายฟ้าแลบออกอยู่ จะเห็นประจักษ์ความแปรปรวนนั้นได้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ตามรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันว่า อดีตดับไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง จึงไม่ควรคำนึงถึงอดีต ไม่มุ่งหวังอนาคต พึงเจริญวิปัสสนาญาณที่รู้แจ้งสภาวธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ อันไม่ถูกตัณหาทิฏฐิฉุดรั้ง และไม่วิบัติ [เพราะตัณหาทิฏฐิ]

ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นอยู่จะสักแต่เห็นเมื่อได้ยินอยู่จะสักแต่ได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย จะสักแต่รู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ จะสักแต่รู้อารมณ์ทางใจ

๒. อารมณ์ภายใน คือ อาการปรากฏทางกายกับจิตภายในร่างกายที่ ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ สิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่าคนสัตว์นั้นมีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วน คือ

ก) อาการปรากฏทางกาย (รูป) คือ ธาตุทั้ง ๔ อันได้แก่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบรวมกันเข้าเป็นร่างกาย

ข) อาการปรากฏทางจิต (นาม) แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ

– จิต คือ ธาตุรู้ที่รับรู้อารมณ์ ๖ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ (มโนสัมผัส) นั่นคือ การเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส และนึกคิด จิตเหมือนคนอยู่ในบ้านที่ดูสิ่งนอกบ้านโดยผ่านประตูที่เรียกว่า ทวาร ๖ ช่อง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (มโนทวาร)

– เจตสิก คือ สภาวะที่เกิดร่วมกับจิตอันได้แก่ความรู้สึกรัก ชัง ดีใจ เสียใจ ศรัทธาเลื่อมใส เป็นต้น เจตสิกต่างๆ เหมือนสี ทำหน้าที่แสดงภาพให้ปรากฏ จิตเหมือนน้ำ ทำหน้าที่ซึมซับให้สีติดอยู่กับแผ่นผ้า อารมณ์ที่จิตกับเจตสิกรับรู้เหมือนแผ่นผ้า พระพุทธองค์ทรงแนะนำการเจริญสติภายในกายของตนเท่านั้น

ดังมี พระพุทธวจนะว่า

ดูกรภิกษุ ภิกษุในศาสนานี้ย่อมเล่าเรียนธรรม…ไม่ทอดทิ้งที่เงียบสงัด เพียรเจริญความสงบแห่งจิตภายในตน ดูกรภิกษุ ภิกษุชื่อว่าผู้ประพฤติธรรมอย่างนี้ พวกเธอจงหยั่งรู้กายนี้ จงกำหนดรู้อยู่เสมอ เมื่อรู้เห็นสภาวะในกายแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

๓. สภาวธรรม (ปรมัตถ์) คือ สิ่งที่มีอยู่จริงโดยสภาวะ โดยปกติคนทั่วไปมักคิดว่าสมมุติบัญญัติคือมือ เท้า เป็นต้น มีจริง แต่เมื่อพิจารณาดูจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงเลย มีเพียงหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ผูกรวมกันเป็นอวัยวะน้อยใหญ่ที่มีธาตุทั้ง ๔ รวมอยู่เป็นกลุ่ม ทำให้สำคัญผิดว่ามีจริง เปรียบเสมือนเงานกที่บินไป ในน้ำ มีเพียงเงาปรากฏขึ้นเท่านั้น ไม่มีตัวนกอยู่จริงๆ

ธาตุทั้ง ๔ นั้นรวมอยู่เป็นกลุ่มในทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต คือ ธาตุดิน มีลักษณะแข็ง-อ่อน ธาตุน้ำ มีลักษณะไหล-เกาะกุม ธาตุไฟ มีลักษณะเย็น-ร้อน ธาตุลม มีลักษณะหย่อน-ตึง ธาตุดินมีคุณสมบัติทั้งอ่อนทั้งแข็งอยู่ในตัวมัน ธาตุอื่นก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ วัตถุที่แข็งเช่นไม้ ย่อมจะมีความแข็งมากกว่าความอ่อนส่วนวัตถุที่อ่อนเหมือนน้ำ มีความอ่อนมากกว่าความแข็ง ในโต๊ะตัวหนึ่งไม่ใช่มีเพียงธาตุดินอย่างเดียว แต่มีธาตุทั้ง ๔ ประกอบอยู่ร่วมกัน คือ ลักษณะแข็งเป็นธาตุดิน ลักษณะเกาะกุมเป็นรูปโต๊ะ เป็นธาตุน้ำ ลักษณะเย็น เป็นธาตุไฟ ลักษณะตึง เป็นธาตุลม

สรุปความว่า สิ่งที่นักปฏิบัติพึงสังเกตรู้ คืออาการปรากฏทางกายกับจิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อคลายความยึดมั่นในตัวตน โดยทั่วไปความทุกข์ มักเกิดจากความยึดมั่น หาใช่เกิดจากอารมณ์ภายนอกที่มากระทบจิตไม่ตัวอย่างเช่น ถ้าไฟไหม้บ้านของเรา เราจะเดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ถ้าไหม้บ้านคนที่ไม่ชอบหรือไม่รู้จัก เรามักวางเฉยไม่เดือดร้อน

ดังนั้น ความทุกข์ทั้งหมดจึงเกิดจากความยึดมั่นในตัวตน ขณะเจริญสติเฝ้าดูอาการทางกายกับจิต จะรู้สึกว่ามีเพียงสภาวธรรมทางกายกับจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่มีตัวเรา ของเรา อยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้น และสภาพธรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ความรู้สึกเช่นนี้คือการคลายความยึดมั่นในตัวตนอย่างแท้จริง

พระพุทธองค์ตรัสสอนให้เพิกถอนความยึดมั่นในตัวตนไว้ว่า

ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะ พึงเจริญสติพากเพียรเพื่อคลายความยึดมั่นในตัวตน เหมือนดั่งบุคคลที่ถูกหอกแทงและถูกไฟเผาศีรษะ

จิตที่อบรมแล้วจนกระทั่งบรรลุความสงบสุข ย่อมจะเป็นอิสระพ้นจากกิเลสได้ชั่วขณะ เหมือนคนมีหนี้แล้วปลดเปลื้องได้ ย่อมจะได้รับความสบายใจ และเมื่อปัญญาพัฒนาจนบรรลุอริยมรรคที่ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง จิตของเราจะเป็นอิสระพ้นจากกิเลสตลอดกาล และหลุดพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสาร

โคลนตมเกิดจากน้ำ ย่อมถูกชำระล้างด้วยน้ำ ฉันใด
กิเลสเกิดจากจิต ย่อมถูกชำระให้หมดจดด้วยการอบรมจิต ฉันนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
พระคันธสาราภิวงศ์

กำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง เท่าทัน ตรงอาการ

หลักการเจริญสติปัฏฐานนั้น เน้นวิธี “กำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง เท่าทัน ตรงอาการ” มีความหมายดังนี้

๑. กำหนด คือ การเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตหรือใฝ่ฝันอนาคต เปรียบเสมือนบุรุษผู้ถือ หม้อน้ำมันเดินมา ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้น้ำมันไหลหก

๒. จดจ่อ คือ การจ้องจับอารมณ์อย่างแนบแน่น ไม่กำหนดรู้อย่างผิวเผิน เหมือนการเล็งธนูแล้วยิงให้พุ่งเข้าไปสู่เป้าด้วยกำลังแรงจนธนูปักตรึงอยู่กับที่

๓. ต่อเนื่อง คือ การมีสติไม่ขาดช่วงในขณะยืน เดิน นั่ง นอน และเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย โดยเริ่มจากเวลาตื่นนอนเรื่อยไปจนกระทั่งหลับสนิท ทั้งขณะอยู่ในห้องกรรมฐานและนอกห้องกรรมฐาน แม้กระทั่งขณะล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ทานอาหาร ฯลฯ

การมีสติอย่างต่อเนื่องเปรียบเหมือนการหมุนอย่างต่อเนื่องของพัดลมที่ค่อยๆ มีกำลังแรงขึ้น และไม่เหมือนกิ้งก่าที่หยุดชะงักเป็นช่วงๆ ก่อนจะจับเหยื่อ นอกจากนี้ พึงตามรู้อาการปรากฏตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุดในแต่ละอาการ คือ พอง ยุบ ยก ย่าง เหยียบ คู้ เหยียด เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่ควรหยุดเคลื่อนไหวเป็นช่วงๆ ซึ่งจะทำให้สติขาดช่วงไม่ต่อเนื่อง

๔. เท่าทัน คือ การกำหนดอารมณ์ทุกอย่างได้ทันท่วงทีในปัจจุบันขณะ ไม่ปล่อยให้เผลอสติลืมกำหนดรู้ อารมณ์ทุกอย่างนั้นเหมือนผ้าขาวสะอาดที่ปรากฏแก่จิต ส่วนจิตเหมือนมือที่ยื่นไปจับผ้า ถ้าจิตมีสติกำหนดรู้เท่าทัน จะรับอารมณ์นั้นไว้ด้วยความสะอาดคือปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง แต่ถ้าสติกำหนดรู้ไม่ทัน จิตจะรับไว้ด้วยความสกปรกคือความหลงไม่รู้จริง (โมหะ) ความไม่ละอายต่อบาป (อหิริกะ) ความไม่เกรงกลัวต่อผลบาป (อโนตตัปปะ) และความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) อยู่เสมอ

๕. ตรงอาการ คือ การสังเกตดูอาการทางกายกับจิตตรงตามสภาวะนั้นๆ โดยที่จิตรับรู้สภาวะจริงๆไม่สักแต่บริกรรมท่องในใจ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
พระคันธสาราภิวงศ์

การอบรมจิตด้วยการเจริญสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง

ศาสนาพุทธสอนให้ชาวโลกบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ด้วยการไม่ทำชั่ว ทำความดี และ ทำใจให้ผ่องใสการทำใจให้ผ่องใส คือการอบรมจิตด้วยการเจริญสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง

โดยปกติมนุษย์มักอยู่กับความคิด คิดไปในอดีตหรือคิดไปในอนาคต ไม่มีเราอยู่ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับสนิท เราอยู่ในภาพลวงตาของอดีตและอนาคตตลอดเวลา เหตุที่เป็นดังนี้ ก็เพราะว่าจิตของเราผูกพันกับอดีต ใฝ่ฝันอนาคต

นอกจากนี้ เมื่อมนุษย์ได้รับการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มักใส่ใจต่อทุกสิ่งที่มากระทบสัมผัส ตามวิถีที่ตนถนัด ตอบสนองด้วยกิเลสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ และเกิดผลเป็นความทุกข์ทางใจ มีอาการเครียด เป็นต้น จิตของเราจึงมีแต่ความเศร้าหมอง เร่าร้อน วิตกกังวลอยู่เสมอ

ในขณะที่เราเจริญสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ความคิดถูกแทนที่ด้วย “การระลึกรู้” จิตจึงมีความสงบไม่ซัดส่ายเป็นสุข และเมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสก็นำเอาปัญญาเข้าไปรับรู้ ส่งผลให้ไม่ตอบสนองด้วยกิเลส

ปัญญาดังกล่าวนี้เรียกว่า วิปัสสนา คือปัญญาหยั่งเห็นที่เกิดจากการเจริญสติจนกระทั่งมีสมาธิตั้งมั่นแล้วจึงเกิดปัญญา หาใช่ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้หรือวิเคราะห์ตามทฤษฎีไม่

สมจริงดังพระพุทธวจนะว่า

“สมาธิที่อบรมด้วยศีล มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่อบรมด้วยสมาธิ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตที่อบรมด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

การเจริญสตินั้นเป็นการเรียนรู้ความจริงของชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์ ด้วยการสำรวจตัวเราเอง ความจริงดังกล่าว คืออาการปรากฏทางกายกับจิต เมื่อใด เรารับรู้ว่ามีรูปกับนามเท่านั้นที่เกิดตามเหตุปัจจัยในแต่ละขณะ ไม่มีบุคคล ตัวเราของเรา เมื่อนั้น สติจะเห็นธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ นั่นคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน

สิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการเจริญสติ สติทำให้เราเห็นว่าสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ว่าเป็นทุกข์และทุกสิ่งไม่จีรังยั่งยืน สติในการปฏิบัติธรรมเป็นการสังเกตดูสภาวะล้วนๆ (Bare Attention) เห็นสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตตามความเป็นจริง โดยปราศจากการตัดออก ต่อเติม โยกย้าย หรือวิเคราะห์ทางทฤษฎี เช่นกับคนดูสายน้ำที่สักแต่ดูการไหลของสายน้ำที่เร็วบ้าง ช้าบ้าง บางครั้งเป็นน้ำใสสะอาด บางครั้งมีสิ่งสกปรกเจือปน เขาพึงวางใจเป็นกลางไม่ปรุงแต่งสายน้ำให้เป็นไปตามความต้องการของตน

สตินำไปสู่ความเห็นแก่ตัวไม่ได้ เพราะสติไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ของเรา จึงไม่เห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม สติมองดูตัวเรา เตือนเราให้หลีกออกมาระลึกรู้เท่าทันความต้องการ ความเกลียดชัง ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้และรู้จักตัวเอง เมื่อมีสติ เราจะเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง โดยไม่โกหกตัวเอง เห็นความเห็นแก่ตัว ความทุกข์ และเหตุเกิดทุกข์ เห็นว่าเราทำให้คนอื่นเจ็บปวดบ้าง โกหกตัวเองบ้าง สติจึงก่อให้เกิดปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิต

ผู้ที่เจริญสติอย่างบริบูรณ์ จะเป็นอิสระไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลก หลุดพ้นจากความอ่อนแอของมนุษย์ มีใจมั่นคง ไม่โลเล สติจะป้องกันและทำลายอุปสรรคทั้งหมดที่เกิดในตัวเรา เราจะยืนหยัดในโลกด้วยความสุขโดยไม่ถูกกระทบจากอารมณ์ภายนอกใดๆ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
พระคันธสาราภิวงศ์

ถ้าสามารถรักษาเพียงสิ่งหนึ่งได้ ก็จะไม่มีอะไรที่ต้องคอยระวังอีก

ภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐี

ในสมัยพุทธกาล มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งได้ไปหาพระเถระที่ตนเคารพ และอุปัฏฐากอยู่เป็นประจำ แล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมใครจะพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ อยากจะบรรลุพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ดับกิเลสและทุกข์ทั้งมวล กระผมควรปฏิบัติเช่นไร”

พระเถระจึงแนะนำให้เขาถวายภัตตาหารและจีวร เป็นต้น และทำกุศลอื่นๆ อีก เมื่อเขาได้ปฏิบัติตามแล้วได้ไปหาพระเถระอีก กล่าวว่า “กระผมได้ถวายทานและทำกุศลอื่นๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่พบธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์”

พระเถระจึงให้เขารับไตรสณคมน์ และรักษาศีลห้า หลังจากรักษาศีลห้าแล้วก็ไปหาพระเถระอีก กล่าวว่า “กระผมได้รักษาศีลห้าด้วยความเคารพ แต่ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์”

พระเถระจึงให้รักษาศีลสิบ และแม้ว่าจะได้ประกอบกุศลทั้งหมดนี้แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์ พระเถระจึงแนะนำให้ออกบวช

เมื่อบวชแล้ว ภิกษุนั้นต้องเปลี่ยนจากเสื้อผ้าของคฤหัสถ์ ต้องโกนผมและหนวด ครองผ้ากาสาวพัสตร์ตามหลักพระวินัย พระอุปัชฌาย์สอนข้อวินัยต่างๆ พระอาจารย์อีกรูปหนึ่งสอนพระสูตร อีกรูปหนึ่งสอนพระอภิธรรม และสอนให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

พอท่านเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ก็ถูกแนะนำให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด กฏเกณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย ทำให้ภิกษุนั้นคิดว่า

“ช่างยากเย็นจริงหนอ เราบวชเพื่อให้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ แต่กลับมาเจอกฏระเบียบที่เข้มงวดมาก จนแทบกระดิกตัวไม่ได้ (ไม่มีอิสระที่จะคิดทำอะไรได้) มาจนมุมเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถอยู่ เป็นพระต่อไปได้ เราสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ แล้วพยายามให้ทาน รักษาศีล ก็อาจจะพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏได้”

โชคดีที่เกิดเหตุในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ได้ยินว่าเขาจะลาสิกขา จึงพาภิกษุนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดแล้ว พระองค์ตรัสถามสาเหตุที่จะลาสิกขา

ภิกษุนั้นได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องจดจำกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายทั้งวินัยและอภิธรรม ข้าพระองค์เป็นทุกข์ทั้งกายและใจ ไม่อาจขยับเขยื้อนแม้แต่น้อย เพราะพระวินัยนั้นเข้มงวดกวดขันมาก ข้าพระองค์จึงตกลงใจจะลาสิกขากลับไปเป็นคฤหัสถ์ พระเจ้าข้า”

ภิกษุนั้นคงเกิดความกังวล และรู้สึกถึงความยากลำบากที่จะต้องคอยระวัง เพราะกลัวว่าจะทำผิดวินัย และจะเป็นอันตรายต่อสมาธิและวิปัสสนาปัญญา

เมื่อพระพุทธองค์ได้สดับตำตอบของเขา จึงตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าเธอสามารถรักษา เพียงสิ่งหนึ่งได้เท่านั้น ก็จะไม่มีอะไรที่ต้องคอยระวังอีก” ภิกษุนั้นทูลถามว่า “สิ่งนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “เธอจะสามารถรักษาเฉพาะจิตของเธอได้ไหม” ภิกษุนั้นทูลตอบว่า “รักษาได้ พระพุทธเจ้าข้า” เพราะคิดว่าหากต้องระวังเพียงจิตของเขา ก็ไม่มากเกินกว่าจะดูแลได้ เมื่อเทียบกับวินัยของภิกษุ

พระพุทธองค์จึงประทานจิตตานุปัสสนากรรมฐาน ด้วยคาถาดังต่อไปนี้

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถกามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.

“จิตเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก มักใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่ ผู้มีปัญญาจึงควรควบคุมจิตไว้ให้ดี เพราะจิตที่ควบคุมได้แล้วนำสุขมาให้”

ความหมายคือ ผู้มีปัญญาพึงเฝ้ารักษาจิตที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมักโน้มเอียงไปในอารมณ์ที่มากระทบ จิตที่สามารถระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ ย่อมมีคุณสมบัติที่จะนำผู้นั้นไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หลังจากได้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานตามเนื้อความของคาถาไม่นาน ภิกษุนั้นก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ คนทั่วไปเห็นว่าพระวินัยมีกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมากเกินไป และในการเจริญสมถกรรมฐาน จะต้องป้องกันจิตไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ ดังนั้น คนทั่วไปจึงอาจคิดว่า การเจริญสมถกรรมฐานก็เป็นการปฏิบัติที่เข้มงวดเกินไป

มีอีกเรื่องเล่าว่า ภิกษุรูปหนึ่งได้เทศน์เรื่องวิปัสสนากรรมฐานแก่ทายกของตน และสอนให้กำหนดรู้จิต ที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะ และจะต้องกำหนดทุกครั้งที่มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส เดิน เคลื่อนไหว และคิดนึก โดยสอนว่า วิปัสสนาปัญญาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกำหนดรู้อย่างนี้

ทายกตอบว่า ตนไม่สามารถกำหนดรู้ตามที่สอนได้ เพราะสิ่งที่ต้องกำหนดรู้นั้นมีมากมายหลายประการเกินไป และในการปฏิบัติวิปัสสนายังต้องกำหนดรู้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ให้ขาดช่วง ดังนั้น จึงมีคนสรุปว่า การเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติที่เข้มงวดมากเกินไป

พระบรมศาสดา ทรงสอนการปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีที่ทรงแสดง ก็ไม่อาจหวังได้เลยว่าจะสามารถก้าวหน้าไปถึงขั้นพ้นจากภัยในอบายภูมิ แม้ว่าจะให้ทาน และรักษาศีลอย่างบริบูรณ์แล้วก็ตาม หากผู้นั้นยังไม่บรรลุมรรคผล ก็ยังไม่พ้นจากการเกิดในอบายภูมิ ในกรณีที่อกุศลวิบากในอดีตได้โอกาสส่งผล

ดังนั้น จึงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรารักษาศีล เจริญสมาธิและปัญญา เพื่อให้พ้นจากอบายภูมิทั้งสี่ และหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ

คำสอนของพระองค์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์ รวมถึงเทวดาและพรหม ซึ่งได้สั่งสมบารมีมาเพียงพอที่จะมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพเป็นต้นมา

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

หากเราพิจารณาดูงานที่ทำกันทางโลก จะพบว่างานที่ทำในปัจจุบันสำคัญที่สุด แม้การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน

คนที่กำลังกินข้าวอยู่ การกินข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาด้วยการระลึกรู้สภาวธรรมรูปนามที่ปรากฏในขณะกินข้าวด้วยสติ และหยั่งเห็นสภาวธรรมนั้นด้วยปัญญา การกินข้าวนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องรอให้ว่าง ถ้าเราตั้งใจจริงทุกขณะคือการปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติระลึกรู้ปัจจุบัน เพื่อการหลีกเลี่ยงจากบาป และสั่งสมบุญอยู่ตลอดเวลา

ในกรณีเดียวกัน คนที่กำลังหุงข้าวอยู่ การหุงข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาเข้าไปด้วย การหุงข้าวของเขาก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แม้คนที่กำลังเดินอยู่ ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาเข้าไปในขณะเดิน การเดินของเขาก็เป็นการปฏิบัติธรรม

บางท่านที่เคยเข้ากรรมฐานมาแล้ว พอกินข้าวคนเดียวก็จะกำหนดตลอดเวลา เธอรู้สึกว่ามีความสุขในขณะเจริญสติระลึกรู้สภาวะเบาหนักที่ปรากฏในขณะยกมือ เหยียดมือ ฯลฯ บางคนหุงข้าว ถูบ้าน ฯลฯ ก็สามารถกำหนดได้ด้วยความสุข

ดังนั้น ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่เราตลอดเวลา ทุกขณะจึงเป็นเวลาที่เจริญสติปัฏฐานได้ แม้ว่าการปฏิบัติในขณะอยู่บ้านจะไม่ต่อเนื่องเหมือนเวลาที่อยู่ในคอร์สปฏิบัติ ก็เป็นการสั่งสมสติทีละน้อยเพื่อก่อให้เกิดมหาสติในโอกาสต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หมั่นสีไม้ให้เกิดเปลวไฟ

หมั่นสีไม้ให้เกิดเปลวไฟ

การเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันด้วยการเดินจงกรม การนั่งกรรมฐาน และตามรู้อิริยาบถย่อย มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เรารับรู้สภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยวางใจเป็นกลางปราศจากการปรุงแต่งหรือคิดถึงอดีตอนาคต เมื่อสติดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นนี้สมาธิคือความตั้งมั่นในสภาวธรรมก็จะปรากฏขึ้น แล้วปัญญาที่หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนการสีไม้สองท่อนอย่างต่อเนื่อง จะเกิดความร้อนและเปลวไฟ การสีไม้เหมือนสติ ความร้อนเหมือนสมาธิ และเปลวไฟเหมือนปัญญา

ปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติธรรมนี้ มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การรับรู้สภาวธรรมเบาหนักนั่นคือปัญญาขั้นแรก แล้วต่อไปปัญญานี้จะพัฒนามากขึ้นจนกระทั่งหยั่งเห็นความเกิดดับของสภาวธรรมเบาหนักได้ นั่นคือเราได้สั่งสมเมล็ดพันธุ์แห่งวิปัสสนาไว้ในกระแสจิต เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป

การเจริญสตินั้นเหมือนการเดินบนสะพานแคบๆ กว้างเพียงหนึ่งฝ่ามือ ถ้าคนเดินไม่ระมัดระวังก็อาจเดินตกสะพานได้ ผู้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนคนเดินบนสะพาน ถ้าขาดสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันก็จะเกิดความฟุ้งซ่านครอบงำจิตทันที เมื่อใด จิตประกอบด้วยสติ เมื่อนั้นกิเลสจะเกิดขึ้นรบกวนจิตไม่ได้ เพราะจิตมีสภาวะรับรู้อารมณ์เดียวในขณะเดียว เหมือนเมื่อปรากฏแสงสว่าง ความมืดก็จะปรากฏขึ้นไม่ได้

การกำหนดรู้อิริยาบถย่อยที่นอกเหนือจากอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ อันได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอน คือการเหยียด คู้ ขึ้น ลง เป็นต้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้อิริยาบถย่อยน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้น และผู้ปฏิบัติธรรมจะพูดกับตัวเองอยู่เสมอ ความฟุ้งซ่านนี้เปรียบเสมือนน้ำที่รั่วเข้ามาในเรือ ผู้ปฏิบัติธรรมเหมือนคนที่พายเรือไปด้วย วิดน้ำที่รั่วเข้ามาในเรือไปด้วย ส่งผลให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะการทำอิริยาบถย่อยดีย่อมส่งผลให้การเดินจงกรมมีคุณภาพ การเดินจงกรมที่มีคุณภาพย่อมส่งผลให้การนั่งมีคุณภาพ แล้วการนั่งที่มีคุณภาพก็ส่งผลให้การทำอิริยาบถย่อยมีคุณภาพไปด้วยเช่นเดียวกัน

ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมจิต จัดว่าเป็นการฝึกฝนตนเพื่อสำรวจตัวเราเองอย่างแท้จริง เมื่อเรารู้จักตัวเราแล้วก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นจนเกินพอดี และเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส ไม่เห็นกิเลสโดยความเป็นตัวตน

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสกิเลสที่เพลิดเพลินกับอารมณ์ที่ดีที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราจึงต้องอดทน แล้วฝึกตนที่ฝึกได้ยาก ดังพระพุทธดำรัสใน คัมภีร์ธรรมบท (ขุ. ธ. ๒๕.๑๕๙.๔๕) ว่า อตฺตาหิ กิร ทุทฺทโม (ตัวเองฝึกได้ยากโดยแท้)

นอกจากนี้เราต้องอดทนกับการกำหนดความฟุ้งซ่านโดยไม่หงุดหงิด อดทนต่อการกำหนดทุกขเวทนาด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากให้หายหรือไม่อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับที่พึ่งซึ่งได้รับโดยยาก คือ พระนิพพาน ดังสาวกภาษิตในคัมภีร์เถรคาถา (ขุ. เถร. ๒๖.๑๑๗๔.๔๒๒) ว่า

นยิทํ สิถิลมารพฺภ นยิทํ อปฺเปน ถามสา
นิพฺพานมธิคนฺตพฺพํ สพฺพคนฺถปโมจนํ.

พระนิพพานที่ปลดเปลื้องเครื่องร้อยรัดทุกอย่างนี้ จะบรรลุด้วยความเพียรที่ย่อหย่อน ด้วยความบากบั่นเพียงเล็กน้อย หาได้ไม่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีบุรุษคนหนึ่งถูกหอก ๓๐๐ เล่มแทงร่างกายตลอด ๑๐๐ ปี ถ้าเขาอดทนต่อความทุกข์ในการโดนหอกแทง แล้วบรรลุพระนิพพานได้ การอดทนของเขานับว่าคุ้มค่า เพราะว่าสังสารวัฏน่ากลัวและเป็นทุกข์มากกว่าการถูกหอก ๓๐๐ เล่มแทงตลอด ๑๐๐ ปี

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

โยคีบางท่านกำหนดใจซ้อนกันก็มี ส่งใจไปกำหนดขวาย่างหนอ ใจหนึ่งก็จะไปดูรูปธรรมอยู่แล้ว อีกใจหนึ่งก็ยังแอบไปดูว่าใจที่เราส่งไปมันถึงหรือเปล่า กลายเป็น๒ อย่างซ้อนกันไปเลย ผลที่สุดปวดสมอง เกิดอาการเครียด ทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่าไปทำ มันซ้อนกัน

ถ้าเราจะไปดูรูปธรรมก็ไปดูอาการขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อาการของรูปธรรมเลย อย่าไปตามนามธรรม คือใจที่เราส่งไปกลัวมันจะไปไม่ถึงบ้าง อย่าไปดูใจที่ตามไปหา ตามไปดูรูปธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการเครียดขึ้นมา ทีนี้อาการที่โยคีบางท่านเป็นอยู่ เช่น กำหนด ๆ ไปเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา เสร็จแล้วก็ขึ้นมาบนหัว มาเวียนหัว อาเจียน สาเหตุที่ให้เกิดอาการอย่างนี้ เหตุใหญ่ ๆ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑) โยคีพยายามบังคับใจให้อยู่กับอาการ เช่น ขวาย่างหนอ ใจของเราก็ส่งไปที่เท้าอยู่ อีกส่วนหนึ่งต้องการจะให้ใจมันอยู่ที่เท้า กลัวมันจะฟุ้งออกไปข้างนอก คือไประแวง ตัวหนึ่งอยากให้ใจอยู่ตรงนี้ อีกใจก็ระแวง กลัวใจจะฟุ้งออกไปข้างนอก ทำให้ทำงาน ๒ อย่าง พอมันทำ งาน ๒ อย่าง มันก็เกิดอาการเครียดขึ้นมา เมื่อความเครียดมันไล่ ๆ ขึ้นมาข้างหลัง ทำให้เวียนหัวและอาเจียนได้

๒) เมื่อเรายืนแล้วเราลดสายตาประมาณวาหนึ่ง พอสายตาไปตกตรงไหน โยคีบางท่านไม่เข้าใจจ้องพื้นใหญ่เลย บางทีเห็นเป็นรูปร่างอะไรต่ออะไร ถ้าไปจ้องอย่างนั้นก็จะเกิดอาการเวียนหัวขึ้นมาทันที อย่าไปทำอย่างนั้น เวลากำหนด อย่าไปบังคับใจให้อยู่กับอาการถ้าไปบังคับเขาจะเกิดปฏิกิริยาปวด เวียนหัว อาเจียน ถ้าเป็นอยู่ให้รีบแก้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

วิธีส่งใจในการกำหนด

วิธีส่งใจในการกำหนด

การกำหนดเป็นหัวใจในการปฏิบัติ ให้ส่งใจไปกำหนดดูอาการความเป็นไปของกาย เวทนา จิต และธรรม ฟังแล้วดูเหมือนง่าย ๆ แต่ว่าเวลาทำจริง ๆ มันไม่ค่อยถึง การส่งใจถ้าไม่ถึงอาการแล้ว มันก็ไม่สามารถรู้สภาวะนั้นได้ชัด

วิธีการส่งใจอุปมาให้เห็นง่าย ๆ เหมือนอย่างที่เรานั่งอยู่บ้านหรืออยู่ที่วัด นั่งคุยกับเพื่อนเรื่องอะไรต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับกรรมฐาน เกิดมีอะไรตกข้าง ๆ เรา เราไม่สนใจแล้วคู่สนทนา หรือเรื่องราวที่สนทนาอยู่เราก็ไม่สนใจ หันไปเลยว่าอะไรตกมา ส่งใจไปเต็มที่เลย วิธีส่งใจก็คือย่างนี้เอง ในตัวเราจะมีหัว มีตัว มีขา อะไรก็แล้วแต่ เราละทิ้งความสนใจสิ่งเหล่านั้น

ขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็มุ่งน้อมใจไปหาอาการของท้องที่พอง-ยุบ ที่ปรากฏอยู่ ส่งใจไปให้แนบอยู่กับอาการจริง ๆ พอเริ่มพองขึ้นมาก็บริกรรมพองหนอ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น เวลาเขาเริ่มยุบก็บริกรรมยุบหนอจนสุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เช่นเดียวกัน คอเราจะมี แขน หรือขาเราจะมีก็ตามเราไม่ใส่ใจ ให้เราส่งใจไปดูอาการของเท้าที่กำลังยกขึ้น ที่กำลังเคลื่อนไป ที่กำลังเหยียบลงอย่างนี้ ส่งใจไปแนบอยู่กับอาการนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

ประเภทของโยคี

ประเภทของโยคี

ขณะที่โยคีรับประทานอาหารโดยไม่กำหนดรู้ เมื่อรับรู้ว่าอาหารอร่อย กิเลสย่อมเกิดขึ้น โยคีเดินทางมาจากแดนไกล ควรปฏิบัติธรรมให้ไดรับประโยชน์อย่างเต็มที่ กล่าวคือโยคีต้องมีความเพียรจึงจะได้รับรสแห่งพระธรรม ถ้าโยคีพยายามอย่างหนัก แม้ในเวลาเพียง 2-3 วัน หรือแม้ 1-2 สัปดาห์ ก็ก้าวหน้าได้ แต่ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ โดยขาดความเพียรพยายามก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จากการปฏิบัติธรรม

ตัวอย่างเช่นคนป่วยไข้ก็ต้องกินยา ถ้ากินแล้วไม่หายป่วยอาจคิดว่ายาไม่ดีพอ เช่นเดียวกับโยคี ถ้ามีความเพียรไม่พอ การฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ก็จะเกิดความสงสัยในวิธีการปฏิบัติ ดังนั้นคนป่วยต้องกินยาตามแพทย์แนะนำ เช่นเดียวกันกับโยคีที่เดินทางมาจากแดนไกล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องปฏิบัติด้วยความเพียรตามคำแนะนำของวิปัสสนาจารย์อย่างเคร่งครัด

โยคีอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. โยคีโดยชื่อ คือโยคีที่ไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ปฏิบัติให้ละเอียดลึกซึ้งตามคำแนะนำ จึงเกิดความสงสัยในวิธีการปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะประสบการณ์จะเกิดจากการปฏิบัติมิใช่เกิดจากความนึกคิดเอาเอง

2. โยคีท่าดีทีเหลว คือโยคีที่ปฏิบัติอย่างช้าๆ อย่างขยันขันแข็ง แต่ขาดการมีสติตามรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ จึงไม่ประสบความสำเร็จ

3. โยคีที่ดี คือ ผู้ฟังคำแนะนำอย่างตั้งอกตั้งใจ มีความเพียรจดจ่ออยู่ที่รูปหรือนามอย่างต่อเนื่อง และรายงาน (ส่งอารมณ์) ให้วิปัสสนาจารย์อย่างซื่อสัตย์ทั้งจุดอ่อนหรือจุดแข็ง ก็จะมีประสบการณ์ในเวลาอันสั้น

จากปกรณ์และการปฏิบัติกล่าวได้ว่า โยคีคือผู้ที่ตั้งเป้าหมายปฏิบัติอย่างพากเพียร ที่จะกำหนดรู้อารมณ์ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับสนิท โดยใช้เวลาทุกเสี้ยววินาทีในการมีสติตามรู้รูปและนามอย่างต่อเนื่อง เล่นโยคีมีสติกำหนดรู้อาการพองหรือยุบ จะต้องมีความเพียรให้สติพุ่งตรงไปที่พองหรือยุบ ด้วยความตั้งใจ จิตที่กำหนดรู้จะแนบแน่นกับพองหรือยุบ ซึ่งเป็นอารมณ์หลัก ทำให้จิตบริสุทธิ์ จิตจะพัฒนาขึ้นโยคีจะเห็นการเกิดดับของรูปนาม ความรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้เรียกว่า “ภาวนา” ความเพียรจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญสติ เพราะสติที่เกิดขึ้นจะป้องกันมิให้กิเลสเกิด เมื่อสมาธิแก้กล้า จะทำให้เกิดปัญญา โยคีพึงพัฒนาจิตให้ก้าวหน้าขึ้นไป

แต่ถ้าโยคีขาดสติ เพราะปฏิบัติแบบง่ายๆ ขาดความเพียร จะปราศจากกุศลจิตและปัญญา เช่น ถ้าขาดสติใน 1 วินาที ก็จะขาดกุศลจิตและปัญญา 1 ครั้ง ภายใน 5 นาที ก็จะขาดกุศลจิตและปัญญา 300 ครั้ง ดังนั้น โยคีจึงต้องมีความเพียรให้มากและต่อเนื่อง ถ้ามีความเพียรมากแม้ปัญญาไม่เกิด แต่กุศลจิตก็จะพัฒนาขึ้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ๖๐ ชั่วโมงกับเทศนาธรรม
ของพระกัมมัฏฐานาจริยะ พระปัณฑิตาภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ละกิเลส ดินพอกหางหมู

ละกิเลส ดินพอกหางหมู

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน คือ รูปนามตามความเป็นจริง โดยสังเกตดูว่ามีสภาวธรรมใดปรากฏในปัจจุบันขณะ วิธีเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นแนวทางในการรับรู้ว่าสิ่งที่พบอยู่คืออะไร ไม่ใช่การรู้ว่าเหตุใดจึงมีสิ่งนั้นปรากฏขึ้น

โดยทั่วไปเมื่อบุคคลรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยการเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และนึกคิดเรื่องราวต่างๆเขามักตอบสนองด้วยความยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา ที่กำลังเห็นหรือได้ยินสิ่งเหล่านั้นอยู่ อีกทั้งพยายามควบคุมให้เป็นไปตามใจของตน มีความพอใจสิ่งที่ชอบ และไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบ การตอบสนองด้วยความยึดมั่นนี้ทำให้กิเลสเพิ่มพูนมากขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นวิธีละความยึดมั่นในตัวตนเมื่อพบกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ

วิธีเจริญสตินี้ไม่ใช่ความคิดด้วยการเรียนรู้ แต่เป็นการรู้จากโลกทัศน์ภายในของตน ไม่ใช่การเรียนรู้จากโลกทัศน์ภายนอก อีกทั้งไม่ใช่การคิดรู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อได้รับข้อมูลใหม่

ความจริงแล้วการรู้เห็นโดยประจักษ์นี้ต้องมาจากประสบการณ์ของตนเท่านั้น เหมือนการไปดูสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ผู้ดูต้องไปดูด้วยตนเอง จึงจะเห็นประจักษ์ได้ ลำพังการอ่านหนังสือหรือคิดถึงสถานที่นั้นไม่อาจทำให้ผู้ดูเห็นประจักษ์อย่างแท้จริง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การภาวนาทำจิตที่กระด้างให้อ่อนโยนลง

ทำจิตที่กระด้างให้อ่อนโยนลง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “การเจริญภาวนาสามารถทำให้เกิดความรู้และปัญญามั่นคงและยิ่งใหญ่ดั่งพื้นพสุธาได้” ปัญญาดังกล่าวจะซึมซับเข้าสู่จิตใจ เปิดใจให้กว้างและเบิกบาน หากปราศจากการภาวนาแล้ว จิตก็จะคับแคบและแข็งกระด้าง ถูกครอบงำด้วยกิเลสตลอดเวลา ทุก ๆขณะที่เราขาดสติ กิเลสก็จะแทรกซึมเข้าสู่จิตใจ ทำให้รู้สึกคับข้องใจ ตึงเครียด และกระวนกระวาย

อารมณ์ที่ถาโถมเข้ามากระทบผ่านอายตนะทั้งหกนี้ บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดี บางครั้งน่ายินดี บางครั้งไม่พึงปรารถนา เมื่อเราเห็นสิ่งที่น่ายินดี จิตที่ขาดสติจะเปี่ยมไปด้วยความทะยานอยาก และเข้าไปยึดมั่นร้อยรัดอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อจิตถูกครอบงำด้วยความตึงเครียด และความกระวนกระวายเช่นนี้ จิตก็จะมุ่งแต่คิดหาทางให้ได้มาซึ่งอารมณ์อันน่าถึงปรารถนายิ่งขึ้น เมื่อความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในใจ การกระทำทางกายและวาจาก็อาจเกิดตามมาด้วย

ถ้าหากอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนามากระทบในขณะที่จิตขาดสติ ความรู้สึกปฏิเสธผลักไสย่อมจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในทำนองเดียวกันจิตใจก็จะเกิดความกระวนกระวาย และอาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นเช่น ใบหน้าที่ยิ้มแย้มอาจกลายเป็นงอง้ำ หรือเปลี่ยนเป็นคำพูดที่รุนแรงร้ายกาจ หรือแม้แต่การกระทำรุนแรงต่าง ๆ

เมื่อเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีหรือยินร้าย หากจิตขาดสติคุ้มครอง ความหลงจะเข้าครอบงำจิตใจ ทำให้ไม่อาจมองเห็นความเป็นจริงได้ ในเวลานั้น จิตก็จะตึงเครียด และแข็งกระด้างเช่นเดียวกัน

คงเป็นการไม่ฉลาดที่จะคิดว่าเราจะสามารถกำจัดอารมณ์ที่พึงปรารถนา ไม่พึงปรารถนาหรือความรู้สึกเฉย ๆ ให้หมดไปจากชีวิตเราได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องรักษาจิตใจให้อยู่กับอารมณ์เหล่านี้ได้ด้วยดี

บางคนอาจคิดว่าเราอาจจะอุดหูด้วยสำลี เอาผ้าปิดตา แล้วคลำทางไปในขณะรักษาใจให้เป็นสมาธิ แต่แน่นอนว่า เราไม่อาจปิดรูจมูก หรือบังคับลิ้นมิให้รู้รส หรือร่างกายมิให้รับรู้ความร้อน หนาว และความรู้สึกอื่น ๆ ได้ ในขณะนั่งสมาธิ แม้ว่าเราจะพยายามรักษาใจให้อยู่กับอารมณ์หลักเพียงอย่างเดียว แต่เราก็ยังได้ยินเสียงและความรู้สึกต่าง ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างเด่นชัดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าเราจะพยายามอย่างดีที่สุดอย่างไร เราก็ยังเผลอได้เป็นครั้งคราวและความคิดก็อาจเตลิดไปโดยเราไม่สามารถยับยั้งได้เลย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
โดย..ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

รักษาความต่อเนื่องของสติ

การเจริญภาวนาไม่จำเป็นต้องสิ้นสุดลงหลังจากการนั่งสมาธิแล้วหนึ่งชั่วโมง แต่อาจปฏิบัติสืบเนื่องต่อไปตลอดวัน เมื่อเราลุกจากนั่งสมาธิ เราจะต้องกำหนดอย่างระมัดระวัง ตั้งแต่เริ่มแรกที่เกิดความอยากที่จะลืมตา “อยาก (ลืมตา) หนอ อยากหนอ…ลืม (ตา) หนอ…ลืม(ตา) หนอ” เข้าไปรู้สึกความต้องการทางใจที่จะลืมตาและความรู้สึกทางกายของเปลือกตาที่ค่อยๆ เปิดขึ้น

กำหนดรู้ต่อไปอย่างเอาใจใส่และแม่นยำ ด้วยพลังแห่งการกำหนดที่เต็มเปี่ยมตลอดการเปลี่ยนแปรของอิริยาบถจนยืนขึ้นตรงและเมื่อเริ่มจะเดิน เราควรระลึกรู้ และกำหนดการกระทำและอิริยาบถทุกอย่างตลอดวัน เช่น การยืดและงอแขน จับช้อน ใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน ปิดประตู เปิดประตู หลับตา รับประทานอาหาร เป็นต้น

เว้นไว้เพียงช่วงเวลาที่เราหลับสนิทไปแล้ว นอกจากนั้น เราควรรักษาความต่อเนื่องของสติตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ อันที่จริงการกระทำเช่นนี้มิใช่งานที่หนักหนา แต่เป็นเพียงการนั่งและการเดินอย่างต่อเนื่องโดยตามระลึกรู้สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางกายทางใจเท่านั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๑ การอบรมศีลและเจริญภาวนาเบื้องต้น
โดย..ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จะรู้ได้อย่างไรว่าการกำหนดรู้ถูกต้องดีแล้ว

ปุจฉา : จะรู้ได้อย่างไรว่าการกำหนดรู้ถูกต้องดีแล้ว

วิสัชนา : เมื่อกำหนดรู้ได้ดี ผู้ปฏิบัติธรรมจะรู้สึกว่า รู้อารมณ์ได้เองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องพยายามมองหาอารมณ์นั้น คล้ายกับเล่นเปียโน ผู้เล่นจะก้าวหน้าถึงขั้นที่ไม่ต้องมีคนคอยแนะนำ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ความงามแห่งจิต
พระปัณฑิตาภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การปฏิบัติ อย่าไปปรารถนา อย่าไปอยาก

การปฏิบัติ อย่าไปปรารถนา อย่าไปอยาก พยายามตั้งใจกำหนด โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร

สิ่งที่เราควรจะทำให้ดีที่สุด คือ ทำกุศลให้เกิดขึ้น กุศลตัวนี้เขาจะแปรสภาพของเขาเอง ต่อไปเราไม่ต้องไปมัวกังวลว่ารู้อะไร หรือไม่เห็นอะไร พยายามต้อยติดกับปัจจุบันอารมณ์ที่จะเป็นอยู่ ให้ตามติดตัวนั้นให้ได้

อ่านต่อ >>> คลิกที่นี่

การกำหนดในการนั่ง

การกำหนดในการนั่ง

หลักการกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ”
๑. ดูอาการของท้องพองกับท้องยุบเป็นหลัก
๒. อาการพองยาว-ยุบยาว
๓. อาการพองสั้น-ยุบสั้น
๔. อาการพอง-ยุบ ไวๆ
๕.อาการตีแน่นขึ้นหน้าอก

อ่านรายละเอียด >>> คลิกที่นี่

หลักการกำหนด “นั่งหนอ ถูกหนอ”
๑. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กรณี “พองยุบ” หายไป
๒. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กับผู้ที่ทำอาณาปานสติมาก่อน
๓. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กับพองยุบ ที่ทิ้งช่วง

อ่านรายละเอียด >>> คลิกที่นี่

คนอย่างเราจะเจริญกรรมฐานได้หรือ?

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มักจะคิดว่า คนอย่างเราจะเจริญกรรมฐานได้หรือ ความเห็นจะแตกออกเป็นสองฝ่ายนะ

๐ ฝ่ายหนึ่งว่าคนเช่นเรานี่ไม่จำเป็นต้องเข้ากรรมฐาน ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยคิดร้าย ไม่เคยโกรธ ไม่เคยทำอะไรคนอื่นเค้าเลย อิจฉาริษยาเราก็ไม่มี ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องทำกรรมฐาน คนที่ไปทำคือคนที่มีจิตใจไม่ปกติ อันนี้ประเภทหนึ่งนะ

๐ ประเภทที่สองนี่ก็กลัวกรรมฐาน กลัวว่าคนอย่างเรานี้จะทำกรรมฐานได้หรือ นึกกลัวกรรมฐานซะก่อน

พออาจารย์ได้ทราบก็เลยต้องปรับ ต้องทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย

อ่านต่อ >>> คลิกที่นี่

ใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

ใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

โยคีต้องจำไว้ว่า ปกติใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่ ฉะนั้นวันแรก 2 วัน ใจจะต้องดิ้นรนมาก เมื่อมันดิ้นรนเราก็ไม่ต้องกลัว มันเป็นสภาวะหนึ่ง เป็นธรรมดาของใจเรา เพราะว่าเราปล่อยเขามามาก จู่ๆ เราจะมากักขังเขาให้อยู่ เขาจะไม่อยู่อย่างที่เราตั้งใจ เพราะกำลังสติ สมาธิของเรามันน้อย เมื่อน้อยอยู่เอาเขาไม่อยู่ แต่ไม่ต้องหงุดหงิด ไม่ต้องหิ้วกระเป๋า กลับบ้าน ไม่ต้องเอาญาณม้วนเสื่อกลับบ้าน

จะบอกล่วงหน้าให้รู้ไว้ก่อนว่า ถ้าเข้าวันที่ 3 ไปแล้วมันจะดี วันที่ 1 วันที่ 2 จะเป็นนักปฏิบัติเก่า นักปฏิบัติใหม่ก็แล้วแต่ 2 วันนี่จะเป็นวันที่ใจเราจะดิ้นรนกระวนกระวายมาก บอกให้รู้ก่อน เพราะใจมันคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

อ่านต่อ >>> คลิกที่นี่

หัวใจสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

หัวใจสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

ความจดจ่อและความต่อเนื่องมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม มีคำอธิบายว่า

๐ ความจดจ่อ คือ การตั้งใจรับรู้สภาวธรรมอย่างบริบูรณ์ ไม่ขาด ไม่เกิน เช่น การรับรู้เบื้องต้นและที่สุดของสภาวะยก ย่าง เหยียบ เป็นต้น รวมไปถึงการบริกรรมว่า ยก ย่าง เหยียบ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอากัปกิริยานั้นๆ

๐ ความต่อเนื่อง คือ การดำรงสติไม่ให้ขาดช่วงเช่น เมื่อเดินจงกรมแล้วมานั่งกรรมฐาน ก็พยายามประคองสติไว้โดยละเอียด ด้วยการย่อตัวลงนั่งช้าๆ จึงจะทำให้สมาธิที่ได้รับจากการเดินจงกรมสามารถเอื้อประโยชน์แก่การนั่งกรรมฐานได้ หรือการทำอิริยาบถย่อย ก็พยายามทำช้าๆ เพื่อให้รับรู้สภาวะเบาหนักอย่างชัดเจนเหมือนในเวลาเดินจงกรมหรือยกมือและวางมือ

ความจดจ่อและความต่อเนื่องทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญมาก เป็นหัวใจที่ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมประสบความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย..พระคันธสาราภิวงศ์

ความรู้ทางทฤษฎี

ความรู้ทางทฤษฎี

คำถามที่ ๑๓ : กระผมตระหนักดีว่า ความรู้ที่ได้มาจากตำราเรียน สามารถเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม มีส่วนใดบ้างที่สามารถอ่านได้ในระหว่างที่กลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน?

ตอบ : ถูกแล้ว ความรู้ที่ได้มาจากตำราเรียนนั้น บางครั้งก็เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เป็นเพราะเราอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสภาวะที่เป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติ กับที่มีอิบายไว้ในตำรา มันนำเราไปสู่ความคิดพิจารณาวิเคราะห์วิจารณ์ แล้วเราก็สูญเสียความมีสติที่จะกำหนดรู้สิ่งที่กำลังประสบอยู่เฉพาะหน้า

ถ้าเธอรู้ตัวว่านี่เป็นความคิดนึก เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์หาเหตุผล นี่กำลังสาธยายธรรมะอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค เป็นตัวทำลายสมาธิได้เท่า ๆ กับเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดปัญญาญาณ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เธอต้องรีบกำหนด เฝ้าดูมัน เมื่อสามารถทำได้ดังนี้แล้ว อุปสรรคตัวทำลายสมาธิก็จะหมดไป เพราะมีความรู้เท่าทันธรรมชาติของอุปสรรคเหล่านี้

เธอสามารถตัดบทได้โดยไม่ไปคิดถึงความรู้ที่ประสบมาหรือไม่ ไปคิดถึงเทคนิคของวิปัสสนา ด้วยความสามารถในการตกลงใจได้เช่นนั้น เธอก็จะสามารถปฏิบัติวิปัสสนาฝ่าด่านอุปสรรคนี้ออกมาได้ ถึงแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในใจเธอ เธอก็จะสามารถเอาชนะมันได้โดยง่าย โดยการมุ่งเอาใจใส่กำหนด

อันตรายของผู้ปฏิบัติธรรมก็คือความไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือ อุปสรรค ตัวฉุดรั้งความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าเธอไม่ตระหนักว่าจะต้องเพียรเฝ้าดูมันทันทีที่เกิดขึ้นในใจ มันก็จะกลายเป็นตัวอุปสรรคขึ้นมาทันที ถ้าเธอเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือตัวกันไม่ให้สำเร็จ และเธอไม่รับมันมาไว้ในใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอกำหนดรู้เท่าทันหมด แล้วมันก็จะหายไปเอง

ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาอะไร ในการกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน เธอต้องพยายามปฏิบัติต่อที่บ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความรู้จากหนังสือนี้เป็นสุตมยปัญญา เรียนรู้แล้วไปคิดต่อเป็นจินตมยปัญญา เธอต้องไม่นำไปประยุกต์ใช้ต่อในขณะปฏิบัติอยู่ เวลาใดที่ว่างจากการปฏิบัติวิปัสสนา เธอก็สามารถหยิบหนังสือนั้นขึ้นมาอ่านตรวจตราดูผลการปฏิบัติได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
คำถามที่ ๑๓ จากภาค ๒ คำถามและคำตอบ
ในหนังสือ เมตตาภาวนา (ทารุกขันโธปมสูตร)
โดย ท่านเชมเย สยาดอ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การคิดไม่ใช่ศัตรู : การคิดคือเพื่อนของโยคีทุกคน

การคิดไม่ใช่ศัตรู

ไม่ควรถือว่าการคิดเป็นศัตรู ตรงกันข้าม การคิดคือเพื่อนของโยคีทุกคน เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติรังเกียจการคิด ให้รู้ไว้ว่าเผลอไปยึดติดมันเข้าแล้ว เพราะทุกครั้งที่คิด ผู้ปฏิบัติจะเสียใจ ผิดหวัง “..โธ่..คิดอีกแล้ว…สมาธิมันถึงไม่ดีสักที…” แบบนี้ ก็ไปยึดติดการคิดในรูปของความเกลียด ผู้ปฏิบัตินึกว่าเกลียดการคิด แต่ที่จริงแล้วกลับชอบ การคิดนั้นจึงมาเยี่ยมผู้ปฏิบัติบ่อยขึ้นๆ…

ให้ทำความเข้าใจใหม่ว่าการคิดไม่ใช่ศัตรูของการปฏิบัติ แต่เป็นเพื่อน ถ้าไม่มีการคิด ผู้ปฏิบัติก็ไม่มีโอกาสฝึกกำหนดรู้ให้ทันการคิดจนเข้าไปเห็นแจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของการคิดได้ หากยังไม่สามารถเข้าไปเห็นแจ้งว่าการคิดนั้นเป็นเพียงอาการของจิตที่ ไม่เที่ยง ไม่คงทน…เป็นทุกข์ ไม่น่าพึงพอใจ… และ ไม่มีตัวตน บุคคล วิญญาณ ใดๆ ผู้ปฏิบัติก็จะยังหลงยึดถือไปว่า มีเรา ตัวตนของเรา ที่กำลังคิดอยู่…” ฉันกำลังคิด..ฉันชอบความคิดนี้”…

ขอเพียงกำหนดรู้การคิดให้ทัน ก็จะเข้าไปเห็นแจ้งและประจักษ์ว่าการคิดเป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ ตัวตน บุคคล ที่ไหนทั้งนั้น

+–+–+–+–+–+–++–+–+–+–+–+–+

ผู้ปฏิบัติจึงควรเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการคิดให้ถูกต้อง มองการคิดอย่างมิตร เพราะหากเห็นการคิดเป็นศัตรู จะเกิดการต่อต้าน และกำหนดรู้อย่างรังเกียจ รัวเร็วถี่ยิบว่า “คิดหนอ..คิดหนอ..คิดหนอ”….

ที่ถูกแล้ว ทุกๆครั้งที่การคิดมาเยือน เราควรยินดีต้อนรับการคิดอย่างเป็นมิตร ด้วยความสงบหนักแน่น มั่นคง และกำหนดรู้จนการคิดนั้นดับไป แล้วจึงกลับมากำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานหลักตามปกติต่อไป

แน่นอน การคิดจะมาเยี่ยมเยือนเราอีกบ่อยๆ เราก็เพียงแต่กำหนดรู้ให้ทัน จดจ่อ หนักแน่น เที่ยงตรงแล้วการคิดนั้นๆก็จะดับไปเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐานไม่ยากอย่างที่คิด
โดย ท่านเชมเย สยาดอ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เหตุแห่งทุกข์ (โลภะ การยึดติด)

เหตุแห่งทุกข์

อะไรคือเหตุแห่งทุกข์? โลภะ-การยึดติด คือเหตุแห่งทุกข์ แม้กระทั่งการยึดติดกับประสบการณ์ดีๆจากการปฏิบัติธรรมก็คือทุกข์

กรรมฐานคือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติเข้าไปประสบและเรียนรู้ แต่ไม่พึงยึดติด หากเผลอไปเกาะเกี่ยวยึดติดกับประสบการณ์ดีๆ การปฏิบัติเมื่อวันก่อน พอมาวันนี้ การปฏิบัติไม่น่าพึงพอใจ สมาธิอ่อนลง ผู้ปฏิบัติก็เสียอกเสียใจแทบร้องไห้ พาลหงุดหงิดเพราะอยากได้ประสบการณ์ดีๆ แบบวันก่อนอีกครั้ง แต่ยิ่งพยายามมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งฟุ้งซ่านหงุดหงิดมากขึ้น เกิดทุกข์มากขึ้น ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ประสบในกรรมฐาน แต่เกิดจากความเกาะเกี่ยวยึดติด ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การเกาะเกี่ยวยึดติดคือ สมุทะยะสัจจะ (สมุทัย แปลว่า ที่มา หรือ ต้นเหตุ, สัจจะ แปลว่า ความจริง รวมแปลว่า ความจริงว่าด้วยต้นเหตุแห่งทุกข์นั่นเอง )

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.ศ. 2533)

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐานไม่ยากอย่างที่คิด
โดย ท่านเชมเย สยาดอ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

โยคีควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกว่าประสบการณ์ภาวนาของตนชะงักงันไม่ก้าวหน้าเป็นเวลานานและศรัทธาของตนก็เริ่มเสื่อมถอยลง

๐ ปุจฉา
โยคีควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกว่าประสบการณ์ภาวนาของตนชะงักงันไม่ก้าวหน้าเป็นเวลานานและศรัทธาของตนก็เริ่มเสื่อมถอยลง

๐ วิสัชชนา
การปฏิบัติจะก้าวหน้าหรือไม่มิใช่หน้าที่ของโยคีที่จะตัดสิน การนึกคิดดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่โยคีควรกระทำ สิ่งที่โยคีพึงกระทำคือ ต้องตระหนักว่าโยคีสามารถกำหนดรู้หรือมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ ขณะที่เจริญสติโยคีสามารถสังเกตุอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ สติของโยคีมีพลังหรือมีคุณภาพในระดับใด แม้โยคีจะคิดว่าการภาวนาของตนกำลังเป็นไปด้วยดี วิปัสสนาจารย์ก็อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกับโยคีก็ได้ หรือแม้โยคีคิดว่าการปฏิบัติของตนไม่ก้าวหน้าเลย วิปัสสนาจารย์ก็อาจเห็นเป็นอย่างอื่นได้

จุดมุ่งหมายของสติปัฏฐานภาวนา
ไมว่าจะทำอะไรเราต้องทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย ในการภาวนาก็เช่นเดียวกัน จุดมุ่งหมายของการเจริญสติปัฏฐานภาวนาคือ การล่วงพ้นจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง เมื่อสิ่งเศร้าหมองหรือความไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ปรากฏขึ้นในจิตใจ ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ หากเราปรารถนาความสุขและความบริสุทธิ์หมดจดแห่งจิตใจ เราก็เพียงแต่ขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์เหล่านี้ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นสำรวมระวังกายใจหรือต่อสู้เอาชนะจนกระทั่งสามารถกำจัดเครื่องเศร้าหมอง ต่างๆ ได้อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามใคร่ครวญถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวนั้นไม่ควรให้เกิดขึ้น ในขณะปฏิบัติภาวนา เพียงแต่ให้มีไว้ก่อนปฏิบัติได้

หน้าที่ของโยคี
นอกจากนี้ โยคีไม่ควรจดจ่อหรือตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติมากเกินไป หากโยคีมีความรู้สึกเช่นนี้โยคีควรกำหนดรู้ความรู้สึกนี้ด้วย

บ่อยครั้งโยคี อาจจะคิดหรือวิเคราะห์มากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติของตน โดยเฉพาะโยคีที่ต้องการความก้าวหน้า อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อโยคีพากเพียรปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าโยคีก็มักจะเสียใจ ท้อใจ จนอาจถึงกับหมดศรัทธาที่จะปฏิบัติต่อไป ความรู้สึกเช่นนี้แก้ไขได้ด้วยการมีสติเข้าไปกำหนดความรู้สึกนั้นๆ

หากเราพยายามวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบว่าเรากำลังก้าวหน้าในการภาวนาหรือไม่ ทัศนคติเช่นนี้ จะทำให้การปฏิบัติของเราล่าช้า หรืออาจถึงกับทำลายการปฏิบัติของเราได้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่โยคีต้องกระทำคือ กำหนดรู้อารมณ์ที่เด่นชัดในปัจจุบันขณะอย่างเที่ยงตรงและมีพลัง นอกนั้นก็ไม่มีอะไรอื่นที่โยคีจะต้องทำ หากโยคีสามารถทำเช่นนี้ได้จริงๆ กล่าวคือสามารถกำหนดรู้อารมณ์ทุกอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพโยคีย่อมประสบความก้าวหน้าในการเจริญภาวนา

การเจริญภาวนา เหมือนการลับมีดบนแผ่นหิน
การเจริญสมาธิและปัญญานั้น อุปมาเหมือนการลับมีดที่ทื่อให้คมบนแผ่นหิน มีสองสิ่งที่ ต้องกระทำคือ วางมีดในตำแหน่งที่ทำมุมพอดีกับแผ่นหิน และใส่พลังเข้าไปอย่างสม่ำเสมอในการลับมีด หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราก็ไม่อาจลับมีดให้คมได้เช่น ตั้งมีดไม่ถูกกับตำแหน่งหิน หรือใส่พลังไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นต้น

การเจริญภาวนาก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องสังเกตและ ระลึกรู้อารมณ์ต่างๆ โดยมีใจจดจ่อที่อารมณ์นั้นอย่างเที่ยงตรงและพากเพียรรักษาความจดจ่อ ต่อเนื่องในการระลึกรู้ หากปราศจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราก็มิอาจลับปัญญาญาณให้แหลมคมได้ ถ้าขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างแม้จะปฏิบัติจนตลอดชีวิตก็ไม่สามารถจะเจริญก้าวหน้าได้

การเจริญภาวนาที่ก้าวหน้าอยู่เสมอ
อันที่จริงโยคีสามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า โยคีมีความก้าวหน้าในการภาวนาหรือไม่ หากโยคีสามารถกำหนดรู้อารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เริ่มจากอารมณ์หลักในการภาวนา เช่น การพอง-ยุบ ของท้อง หรืออารมณ์อื่นใดที่ปรากฏเด่นชัดในความรู้สึกในขณะนั้น หากโยคีมีสติระลึกรู้อารมณ์ ต่างๆ โดยตลอด และตระหนักได้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของอารมณ์เหล่านั้น ก็นับว่าใช้ได้ ไม่ต้องห่วงหรือกังวลเลยว่า การปฏิบัติภาวนาก้าวหน้าหรือไม่ หากมีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างถูกต้อง โยคีก็กำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

การเจริญภาวนานั้นคือ การพัฒนา หรือปลูกฝัง พฤติกรรมทางกาย วาจา ใจให้บริสุทธ์หมดจด ละเมียดละไม อ่อนโยนและงดงาม การรักษาตนให้บริสุทธิ์ปราศจากความด่างพร้อยนับเป็นการเกื้อกูลผู้อื่นด้วย เนื่องจากเราจะมิได้ก่อเวรภัยให้แก่ใคร นอกจากนี้ มีสิ่งที่ควรปฏิบัติ ซึ่งจะสนับสนุนให้การเจริญภาวนาของโยคีก้าวหน้า ไดแก่ การฟัง (ธรรมหรือคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์) อย่างตั้งใจ และการพากเพียรปฏิบัติด้วยความเคารพ และเอาใจใส่

โยคี ๔ ประเภท
ประสบการณ์ในชีวิตการเป็นครูผู้สอนและเป็นผู้เจริญภาวนากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อาตมาอยู่ที่สำนักรรมฐานและประพฤติปฏิบัติตามโอวาทของท่านอาจารยมหาสีสยาดอ ผู้มีพระคุณอย่างสูงยิ่งนั้นอาตมาได้พบโยคี ๔ ประเภท คือ

๑.โยคีที่พูดเก่งและชัดเจน คือ โยคีเหล่านี้จะเจริญภาวนาด้วยความเคารพและระมัดระวัง ไม่จงใจคิดวิเคราะห์ใดๆ และสามารถรายงานผลการปฏิบัติได้ชัดเจน อาตมาถือว่า เป็นโยคีที่ดีที่สุด มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนาและสามารถจะได้รับข่าวดีภายในเวลาเพียง ๓ สัปดาห์

๒.โยคีที่พูดเก่งแต่ไม่ชัดเจน คือรายงานผลการปฏิบัติสับสนไม่ชัดเจน โยคีเหล่านี้ไม่สามารถรายงานผลการปฏิบัติได้อย่างกระจ่างชัด แม้จะก้าวหน้าในการเจริญสมาธิและปัญญาไปด้วยดีก็ตาม

๓. โยคีที่พูดน้อยแต่ชัดเจน คือ แม้จะพูดน้อยแต่สามารถรายงานผลการปฏิบัติได้ชัดเจน โยคีเหล่านี้จะรายงานผลการเจริญภาวนาได้ชัดเจนดีมากและอาจได้ยินข่าวดีในการปฏิบัติภายใน ๖-๙ สัปดาห์ สำหรับโยคีประเภทนี้ ครูบาอาจารย์จะไม่มีภาระที่จะต้องแนะนำมาก เพราะจะสามารถแก้ไขวิธีการปฏิบัติของโยคีได้ง่ายและหากโยคีปฏิบัตตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ โยคีก็จะสามารถพัฒนาการปฏิบัติของตนต่อไปได้

๔. โยคีที่พูดน้อยและรายงานผลการปฏิบัติสับสน โยคีเหล่านี้จะให้คำแนะนำได้ยากลำบากมาก

ดังนี้ โยคีทั้งหลายคงสามารถแจกแจงได้ว่าตนเองเป็นโยคีประเภทใด อย่างไรก็ตามโปรดระลึกว่าโยคีไม่ควรตั้งความปรารถนาในความก้าวหน้ามากเกินไป สิ่งที่โยคีต้องทำมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ มีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้การเกิดขึ้นของอารมณ์ในทุกๆ ขณะนี่คือหน้าที่หรือความรับผิดชอบประการเดียวของโยคี

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 
จากหนังสือ ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนา
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การกำหนดทุกขเวทนา

การกำหนดทุกขเวทนา

กล่าวถึงวิธีการกำหนดทุกขเวทนา มีวิธีการกำหนดอย่างไร พระวิปัสสนาจารย์ได้ให้คำแนะนำในเชิงปฏิบัติการไว้ว่า

๑. “ปฏิบัติการแบบขุนพลประจัญบาน” ขุนพลประจัญจานที่ออกไปรบ เจอข้าศึกแล้วก็ไม่หลบเลี่ยงเลย ยิงกราดรัวเปรี้ยง ๆ ใครดีใครอยู่สู้กันชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ตายกันไปข้างหนึ่ง การกำหนดทุกขเวทนาก็ดังนั้น คือกำหนดอย่างไม่ลดราวาศอกไม่ให้คลาดสายตาแบบซึ่งหน้าชนกันจะๆ อย่างถนัดถนี่ ปะทะกันจัง ๆ ไม่ยั้งมือ กำหนดอาการปวดอย่างหนัก เน้นว่า “ปวดหนอ ๆ ๆ”

๒. “ปฏิบัติการแบบกองโจร” หน่วยลาดตระเวนออกไปสำรวจพื้นที่ พบข้าศึกศัตรูก็แอบซุ่มเหมือนกองโจร คอยดูลาดเลายังไม่เข้าไปโจมตีในทันทีทันใด แน่ใจแล้วจึงเรียกกองกำลังหนุนบุกเข้าไปโจมตี เข้าไปโจมตีแล้วเห็นท่าไม่ดีก็ถอยฉากออกมาหลบซุ่มหาทางเข้าบุกโจมตีใหม่ สู้บ้างถอยบ้าง การกำหนดทุกขเวทนาก็ดังนั้น คือกำหนดบ้าง ถอยบ้าง ออกมาดูบ้าง กำหนดห่าง ๆ แบบทิ้งระยะว่า “ปวดหนอ…ปวดหนอ…” แต่ว่าคอยดูอยู่ ไม่เบี่ยงเบนความสนใจไปที่อื่น

๓. “ปฏิบัติการแบบคุมเชิง” นักกีฬาลงสู่สนาม จะมีโค้ชอยู่นอกสนามคอยดูคุมเกมการเล่นของนักกีฬา ไม่เข้าไปร่วมแข่งขันด้วย การกำหนดทุกขเวทนาก็ดังนั้น จะไม่เข้าไปคลุกวงในกับทุกขเวทนา อยู่วงนอกคอยดูว่าจะเป็นอย่างไร จะปวดขนาดไหน ไม่กำหนดคำว่า “ปวดหนอ ๆ” สำทับเข้าไป เพียงแต่ดูตามอาการปวดที่ก่อตัวขึ้นมาเท่านั้น

ทั้ง ๓ ประการนี้ ให้เลือกใช้ตามแต่กรณีพอเหมาะแก่ความหนักเบาของทุกขเวทนา ถ้าทุกขเวทนามาเบาแบบบาง ๆ ก็กำหนดแบบขุนพลประจัญบาน ถ้าทุกขเวทนามาแรงพอทนไหวก็กำหนดแบบกองโจร ถ้าทุกขเวทนา กล้ามาอย่างหนักหน่วง ทนไม่ไหว ก็กำหนดแบบคุมเชิง

จากหนังสือวิปัสสนาวิถี
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์

เมื่อเดินอยู่ก็รู้ว่าเดินอยู่ ที่ถอนอัตตสัญญา

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐาน โดยพระมหาสีสยาดอ

เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ว่าเดินอยู่

พระพุทธดำรัสว่า “เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ว่าเดินอยู่” แสดงถึงการรับรู้สภาวะเดิน ที่เป็นการยกย่างและเหยียบ ซึ่งเกิดในปัจจุบันขณะ โดยปราศจากตัวตน เรา ของเรา

ความจริงแล้วคนทั่วไปที่มิได้เจริญสติปัฏฐาน หรือแม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขป่า เป็นต้น ก็รู้ตัวว่าเดิน แต่รับรู้ในลักษณะอัตตาตัวตน เป็นเราที่เดินอยู่ การเดินมีความเที่ยงไม่แปรปรวน เพราะกิริยาเดินดำรงอยู่เหมือนเดิม มิได้ปรากฏความเป็นสภาวธรรม คือ รูปที่กำลังเคลื่อนไหว จิตที่รับรู้สภาวะเคลื่อนไหว และสภาวะเกิดดับของรูปที่เคลื่อนไหวพร้อมทั้งจิตที่กำหนดรู้

ความรู้สึกของคนทั่วไป และสัตว์ดิรัจฉานจึงมีอัตตสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นตัวตน ความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่กรรมฐาน ในความหมายที่ว่า “ที่ตั้งแห่งการเจริญภาวนา” เพราะไม่จัดเป็นวิปัสสนาที่หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่กรรมฐานในความหมายว่า “การเจริญภาวนาที่เป็นเหตุใกล้แห่งภาวนายิ่งๆ ขึ้นไป” เพราะไม่ก่อให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ


**************************************************************

จากอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=131&p=3

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ถึงสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา.

แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูปลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา.

ความจริง การรู้นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาการรู้สึกตัวอย่างนี้ว่า ใครเดิน? การเดินของใคร? เดินเพราะเหตุอะไร? ถึงในการยืนก็นัยนี้เหมือนกัน.

ใครเดิน ความว่า ไม่ใช่สัตว์ตัวไหนหรือคนคนไหนเดิน.
การเดินของใคร ความว่า ไม่มีการเดินของสัตว์ตัวไหน
เดินเพราะเหตุอะไร ความว่า เดินไป โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต

**************************************************************

การตามรู้สภาวะพองยุบของท้องจัดเป็น “ธาตุกรรมฐาน”

พองยุบ

การตามรู้สภาวะพองยุบของท้องที่สอนกันแพร่หลายในปัจจุบันนั้น จัดเป็น “ธาตุกรรมฐาน” เพราะสภาวะพองยุบเป็นลักษณะตึงหย่อนของลมในท้องนอกสำไส้ที่เรียกว่า “กุจฉิสยวาโย” ความจริงลมหายใจที่สูดเข้าไปในปอดมิได้เคลื่อนไปในท้องดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

การหายใจนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อกะบังลม ทรวงอก และกระดูกซี่โครง กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องอกและช่องท้อง โดยอยู่ด้านล่างของปอด

ตามปกติเมื่อเราหายใจเข้า กะบังลมจะหดตัวกดอวัยวะในช่องท้องส่งผลให้ลมในท้องพองออกมา และเมื่อหายใจออก กะบังลมจะยืดขึ้น ส่งผลให้ลมในท้องยุบลงพร้อมกับดันลมจากปอด

ดังนั้น สภาวะพองยุบจึงเป็นลมในท้องที่มีอยู่เดิม และเป็นอารมณ์กรรมฐานอย่างหนึ่งตามหลัก “กายานุปัสสนา”

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร
โดย พระมหาสีสยาดอ

อารมณ์ที่พึงกำหนดรู้

อารมณ์ที่เป็นอดีตหรืออนาคตไม่ใช่สิ่งที่นักปฎิบัติพึงกำหนดรู้ เพราะอดีตเหมือนความฝันไม่มีจริง อนาคตก็เป็นเหมือนจินตนาการที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ความจริงของชีวิตมีปรากฏในปัจจุบันขณะเท่านั้น เปรียบดั่งคนที่แหงนหน้ามองท้องฟ้าเมื่อสายฟ้าแลบอยู่ ฉะนั้น

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร
พระมหาสีสยาดอ