Category Archives: ปกิณกะธรรม

สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้ว
พึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้

แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ
มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย
มีจิตพยาบาท มีความดำริ แห่งใจชั่วร้าย
มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว
มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด
ไม่สำรวมอินทรีย์

โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว
และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม
เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้
แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา
ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย
ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย
มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
สำรวมอินทรีย์

โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว
และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม
เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา

บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น ยังเป็นไปตามตัณหา ดับความเร่าร้อนไม่ได้ แม้หากว่าพึงเป็นผู้ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้

ผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วไซร้ บุคคลนั้นผู้กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี เพียงในที่ไกลเท่านั้น ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต รู้ธรรมด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ธรรมอันยิ่ง เป็นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ สงบระงับ เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ไม่มีลมฉะนั้น บุคคลนั้นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ผู้ไม่กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ปราศจากความกำหนัดยินดี ในที่ใกล้แท้

เราจะต้องทำงานนี้ให้ลุล่วง

พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทุกข์ทางใจเกิดจากกิเลส และไม่มีกิเลสตัวใดหายไปได้เอง การละกิเลสจะสำเร็จด้วยการปฏิบัติตามอริยมรรคเท่านั้น หากคำสอนนี้เป็นสัจธรรม ยิ่งเราเร่งรีบ ตั้งใจปฏิบัติเร็วเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องทำงานนี้ให้ลุล่วง

ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็ต้องเป็นพรุ่งนี้ ถ้าไม่ใช่พรุ่งนี้ก็วันมะรืน ถ้าไม่ใช่วันมะรืนก็สัปดาห์หน้า ถ้าไม่ใช่สัปดาห์หน้าก็เป็นเดือนหน้า ถ้าไม่ใช่เดือนหน้าก็ปีหน้า ถ้าไม่ใช่ปีหน้าก็ปีถัดไป ถ้าไม่ใช่ชาตินี้ก็ชาติหน้า

ในเมื่อไม่มีหลักประกันว่าสุขภาพของเราจะดีตลอดไป เราจะยังเข้าถึงคำสอนได้ง่ายอย่างนี้หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่าเราจะได้เกิดเป็นมนุษย์อีกไหม เราจึงควรขวนขวายปฏิบัติธรรมในขณะที่หลายสิ่งหลายอย่างยังเอื้ออำนวย เวลาเป็นสิ่งล้ำค่า เราพึงใช้เวลาอย่างชาญฉลาด

พระอาจารย์ชยสาโร
ทีมา FB Page : คลิก

เส้นทางปฏิบัติธรรม

การลงมือปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเส้นทางชีวิตของเราจะราบรื่น การเดินทางบนเส้นทางนั้นต่างหากที่จะราบรื่น ลองนึกถึงเส้นทางบนเขาที่เต็มไปด้วยหลุมขรุขระ การเดินทางด้วยรถบรรทุกคันเก่าคร่ำคร่าที่ไม่มีระบบกันกระแทก กับรถขับเคลื่อนสี่ล้อปรับอากาศที่แล่นอย่างนุ่มนวลย่อมแตกต่างกัน

ในกรณีเช่นนี้ พาหนะต่างหากที่มีความสำคัญ ไม่ใช่เส้นทาง และพาหนะที่สำคัญที่สุดที่เรามี คือ จิตใจของเราเอง

พระอาจารย์ชยสาโร
ทีมา FB Page >> คลิก

เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่กระตุ้นกิเลส

เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่กระตุ้นกิเลส

ไม่ว่าสภาพแวดล้อมของเราจะน่ายินดีหรือสะดวกสบายเพียงใด ก็จะมีเหตุที่รูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัสมากระตุ้นโทสะในจิตใจได้เสมอ

ไม่ว่าสภาพแวดล้อมของเราจะไม่น่ายินดีหรือไม่สะดวกสบายเพียงใด ก็จะมีเหตุที่รูป รส กลิ่น เสียงหรือสัมผัสมากระตุ้นโลภะในจิตใจได้เสมอ

ไม่ว่าสภาพแวดล้อมของเราจะเป็นอย่างไร จะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี ก็จะมีเหตุที่รูป รส กลิ่น เสียงหรือสัมผัสมากระตุ้นให้เราลืมความรู้สึกผิดชอบชั่วดี กุศลหรืออกุศล และความเหมาะสมหรือความไม่เหมาะสมได้เสมอ

การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันฝึกให้เราพร้อมรับมือกับความท้าทายทั้งปวง เราตัดสินใจแน่วแน่ว่าวันนี้

“ข้าพเจ้าจะไม่ให้โลภะครอบงำจิตใจ เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่กระตุ้นโลภะ”
“ข้าพเจ้าจะไม่ให้โทสะครอบงำจิตใจ เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่กระตุ้นโทสะ”
“ข้าพเจ้าจะไม่ให้โมหะครอบงำจิตใจ เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่กระตุ้นโมหะ”

ความตั้งใจแน่วแน่นี้เป็นเงื่อนไขที่เกื้อหนุนให้เกิดสติ เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ชักชวนให้เราตอบสนองด้วยกิเลสเสมอ เป็นสิ่งที่เราแก้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการฝึกฝนและพัฒนาความสามารถในการปฏิเสธคำชักชวนของกิเลสอย่างสงบและสุภาพ

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิตอลฯ
ที่มา FB Page >> คลิก

สิ่งใดเป็นกิจต้องทำ

ยมุหิ กิจฺจํ ตทปวิทฺธํ อกิจฺจํ ปน กรียติ
อุนฺนฬานํ ปมตฺตานํ เตสํ วฑฺฒนุติ อาสวา

สิ่งใดเป็นกิจของตนซึ่งต้องทำ กลับทอดทิ้งสิ่งนั้นเสีย ไปทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่
คนเหล่านั้นเป็นผู้ประมาทเชิดชูตนด้วยมานะ อาสวะ (กิเลส) ของพวกเขาย่อมเจริญขึ้นพอกพูนขึ้น

พุทธสุภาษิต

เรามีความตายเป็นธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น ความตายไปได้”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย “ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ” เมื่อเขาพิจารณาฐานะ นั้นอยู่เนืองๆ ย่อม “ละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า “เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้”

ฐานะสูตร >> อ่านเพิ่มเติม

ทำความเพียรเสียในวันนี้

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผลัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแล ว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

จาก ภัทเทกรัตตสูตร

อธิษฐานในความหมายของพระพุทธศาสนา

อธิษฐานในความหมายของพระพุทธศาสนา

อธิษฐานในความหมายของพระพุทธศาสนา เป็นบารมีอย่างหนึ่ง คือความตั้งใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นให้สำเร็จตั้งจุดมุ่งหมายที่ดีขึ้นมา แล้วก็มุ่งทำการนั้นแน่วไป ไม่ใช่อธิษฐานเพื่อจะได้ แต่อธิษฐานเพื่อจะทำ คนไทยนี่อธิษฐานเพื่อจะได้ แต่ของพระ เป็นการอธิษฐานเพื่อจะทำ

พระพุทธเจ้าอธิษฐานพระทัย ก็ทรงบำเพ็ญบารมี คือ พากเพียรทำความดีอย่างสูงสุด เพื่อจะบรรลุโพธิญาณ อธิษฐานในที่นี้คืออย่างนั้น เป็นการให้ชาวพุทธฝึกหัดที่จะมีจิตใจเข้มแข็ง มีความตั้งใจจริงในการทำอะไรๆ อันนี้จะสำทับการฝึกสมาธิ

หนังสือ : หลักชาวพุทธ
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ หน้า ๔๒

สามารถอ่านหนังสือเพิ่มเติม
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน

ได้ที่
http://book.watnyanaves.net/index.php?floor=general

โอวาทธรรม สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

เพื่อผลักดันไม่ให้กิเลสมันไหลเข้ามาทับถมจิตใจเรา ก็ต้องหมั่นมาปฎิบัติและเจริญกรรมฐานกันบ่อยๆ จิตใจของเราก็จะค่อยๆ ห่างเหินจากกิเลสทั้งหลาย เป็นจิตที่มีแต่มหากุศลคือความดีโดยถ่ายเดียว เพราะฉะนั้นจึงขอให้ทุกท่านได้หมั่นมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อนำพาตนให้พ้นจากสังสารทุกข์ คือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ 

โอวาทธรรม สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย

สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ
ยํ เว หิตญฺจ สาธุญฺจ ตํ เว ปรมทุกฺกรํ.

กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย
กรรมใดแลเป็นประโยชน์แก่ตนและดี กรรมนั้นแล ทำยากอย่างยิ่ง.

กรรมเหล่าใดไม่ดี คือมีโทษและเป็นไปเพื่ออบาย ชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเพราะทำนั่นแล กรรมเหล่านั้นทำง่าย ฝ่ายกรรมใด ชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ตนเพราะทำ และชื่อว่าดี ด้วยอรรถว่าหาโทษมิได้ คือเป็นไปเพื่อสุคติ และเป็นไปเพื่อพระนิพพาน กรรมนั้นทำแสนยาก ราวกับทดน้ำแม่คงคาอันไหลไปทิศตะวันออก ทำให้ไหลกลับฉะนั้น

อรรถกถา ขุททกนิกาย
คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ.

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะบุคคล มีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่ง อันบุคคลได้โดยยาก.

บุคคลตั้งอยู่ในตน คือสมบูรณ์แล้วด้วยตน สามารถจะทำกุศลแล้วถึงสวรรค์ หรือเพื่อยังมรรคให้เจริญ หรือทำให้แจ้งซึ่งผลได้ เพราะเหตุนั้นแหละ ตนแลพึงเป็นที่พึ่งของตน. คนอื่นใครเล่า? พึงเป็นที่พึ่งของใครได้ เพราะบุคคลมีตนฝึกดีแล้ว คือมีความเสพผิดออกแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งบุคคลได้โดยยาก

กล่าวคือพระอรหัตผล. คำว่า “นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ” นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาพระอรหัต

อรรถกถา ขุททกนิกาย
คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒

นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ

เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่
การสมมติว่าสัตว์ย่อมมี ฉันนั้น

ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด
ทุกข์ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ

วชิราภิกษุณี ภิกษุณีสังยุต

อธิบายอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ

อธิบายอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ
ข้อความจาก คัมภีร์ วิสุทธิมรรค
……………………………………………………………

อธิบายอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ

ประการสุดท้ายในเมตตาภาวนานี้ ที่ว่าโยคีบุคคลผู้เมตตาวิหารี ย่อมหวังได้ซึ่ง อานิสงส์แห่งเมตตาเจโตวิมุติ ๑๑ ประการนั้น มีอรรถาธิบายโดยพิสดาร ดังต่อไปนี้

๑. อานิสงส์ประการที่ ๑ ที่ว่า นอนเป็นสุข นั้น อธิบายว่า ชนทั้งหลายจำพวกที่ไม่ได้สำเร็จเมตตาเจโตวิมุติ เมื่อนอนก็ไม่นอนอยู่แต่ข้างขวาทางเดียว นอนกลิ้งกลับไปกลับมารอบตัว และนอนกรน คือขณะเมื่อหายใจเข้าทำเสียงดังอยู่โครก ๆ เช่นนี้ ชื่อว่านอนเป็นทุกข์ ส่วนเมตตาวิหารีบุคคลนี้ไม่นอนเหมือนอย่างนั้น ชื่อว่า นอนเป็นสุข แม้เมื่อนอนหลับสนิทแล้วก็มีอาการเหมือนกับคนเข้าสมาบัติ

๒. ประการที่ ๒ ที่ว่า ตื่นเป็นสุข นั้น อธิบายว่า ชนเหล่าอื่นที่ไม่ได้สำเร็จเมตตาเจโตวิมุตินั้น โดยเหตุที่นอนเป็นทุกข์ไม่ได้ความสุขในขณะที่หลับอยู่ เมื่อตื่นขึ้นมาจึงถอดถอนหายใจใหญ่ สยิ้วหน้า บิดไปบิดมาข้างโน้นข้างนี้ ดังนี้ ชื่อว่า ตื่นเป็นทุกข์ ฉันใด ส่วนเมตตาวิหารีบุคคลนี้ ตื่นขึ้นมาแล้วไม่เป็นทุกข์อย่างนั้น ตื่นขึ้นมาอย่างสบายไม่มีอาการอันน่าเกลียด ชื่นบานเหมือนกับดอกประทุมที่กำลังแย้มบาน

๓. ประการที่ ๓ ที่ว่า ไม่ฝันร้าย นั้น อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคลเมื่อฝันเห็นสุบินนิมิต ก็เห็นแต่สุบินนิมิตที่ดี ๆ ทั้งนั้น เช่นฝันว่าได้ไปไหว้พระเจดีย์ ได้ไปทำการบูชาพระรัตนตรัย หรือได้ฟังพระธรรมเทศนา ส่วนชนเหล่าอื่นที่ไม่ได้สำเร็จเมตตาเจโตวิมุติย่อมฝันเห็นนิมิตอันน่าเกลียดน่ากลัวต่าง ๆ เช่นฝันว่า ตนถูกพวกโจรมารุมล้อมถูกพวกสุนัขป่าไล่ขบกัด หรือตกลงไปในเหว ฉันใด เมตตาวิหารีบุคคลไม่ฝันเห็นสุบินนิมิตอันเลวร้ายเช่นนั้น

๔. ประการที่ ๔ ที่ว่า เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย นั้น อธิบายว่าเมตตาวิหารีบุคคลย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย เหมือนสร้อยไข่มุกที่พาดอยู่ที่หน้าอก หรือเหมือนดอกไม้ที่ปักอยู่บนศีรษะ ย่อมเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย ฉะนั้น

๕. ประการที่ ๕ ที่ว่า เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย นั้น อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคลย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของพวกมนุษย์ ฉันใด ก็ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจแม้ของอมนุษย์ ฉันนั้น เช่น พระวิสาขเถระเป็นตัวอย่าง

เรื่องพระวิสาขเถระ

มีเรื่องเล่าว่า พระวิสาขเถระนั้น เดิมเป็นคหบดีชั้นกุฏุมพีอยู่ในเมืองปาฏลีบุตรในชมพูทวีป เมื่อเขาอยู่ในเมืองปาฏลีบุตรนั่นแล ได้ยินข่าวเล่าลือมาว่า ลังกาทวีปนั้น เป็นประเทศที่ประดับประดาสง่างามไปด้วยระเบียบพระเจดีย์ มีความรุ่งเรืองเหลืองอร่ามไปด้วยผ้ากาวสาวพัสตร์ ในลังกาทวีปนั้น ใครๆ ก็ตามสามารถที่จะนั่งหรือจะนอนได้อย่างสบายปลอดภัยในที่ตนต้องประสงค์ และสัปปายะทุก ๆ อย่าง คือ อากาสสัปปายะ เสนาสนสัปปายะ บุคคลสัปปายะ ธรรมสวนสัปปายะ เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายดายในลังกาทวีปนั้น

กุฏุมพีวิสาขะ จึงได้ตัดสินใจมอบกองโภคสมบัติของตนให้แก่บุตรภริยา มีทรัพย์ขอดติดชายผ้าอยู่เพียงกหาปณะเดียวเท่านั้น ออกจากบ้านไปคอยเรืออยู่ทีท่ามหาสมุทรประมาณเดือนหนึ่ง โดยที่กุฏุมพีวิสาขะเป็นคนฉลาดในเชิงโวหาร เขาได้ซื้อสิ่งของ ณ ที่นี้ไปขาย ณ ที่โน้น รวบรวมทรัพย์ได้ถึงพันกหาปณะภายในระหว่าเดือนหนึ่งนั้น ทั้งนี้ด้วยการค้าขายอันชอบธรรม เขาได้ไปถึงวัดมหาวิหารในลังกาทวีปโดยลำดับ ครั้นแล้วก็ได้ขอบวชทันที

เมื่อพระอุปัชฌาย์พาเขาไปยังสีมาเพื่อจะทำการบวชให้นั้น เขาได้ทำห่อทรัพย์พันกหาปณะนั้นให้ร่วงจากภายในเกลียวผ้าตกลงไปที่พื้น พระอุปัชฌาย์จึงถามว่า นั่นอะไร เขาเรียนว่า ทรัพย์จำนวนหนึ่งพันกหาปณะขอรับผม พระอุปัชฌาย์จึงแนะนำว่า อุบาสกทรัพย์นี้นับแต่เวลาที่บวชแล้ว เธอไม่อาจจะใช้จ่ายได้ จงใช้จ่ายเสียเดี๋ยวนี้ วิสาขะอุบาสกจึงคิดในใจว่า คนทั้งหลายที่มาในงานบวชของวิสาขะ จงอย่าได้มีมือเปล่ากลับไปเลย ครั้นแล้วก็แก้ห่อทรัพย์นั้นหว่านโปรยทานไปในโรงอุโบสถ แล้วจึงบรรพชาอุปสมบท

วิสาขะภิกษุนั้น เมื่อบวชได้พรรษา ๕ ก็ท่องจำมาติกาทั้งสองได้อย่างคล่องแคล่ว ปวารณาออกพรรษาแล้วได้เรียนเอากรรมฐานอันเป็นที่สบาย เหมาะแก่อัธยาศัยของตนแล้วก็ไป ๆ มา ๆ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปอยู่วัดละ ๔ เดือน

เมื่อพระวิสาขเถระเที่ยวผลัดเปลี่ยนไปอยู่ในวัดต่าง ๆ อย่างนั้น วันหนึ่งได้เห็นสถานที่ระหว่างป่าอันเป็นรมณียสถานน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง จึงได้นั่งเข้าสมาบัติอยู่ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่งในระหว่างป่านั้น ครั้นออกจากสมาบัติแล้วขณะที่ยืนอยู่ระหว่างป่า ได้พิจารณาดูคุณสมุทัยของตนด้วยความปีติโสมนัสเมื่อจะบันลือสีหนาทจึงได้กล่าวเถรภาษิตนี้ ความว่า :-

ตลอดเวลาที่เราได้อุปสมบทแล้วมา ตลอดเวลาที่ เราได้มาอยู่ ณ ที่นี้ ความประมาทพลาดพลั้งของเราในระหว่างนี้ไม่มีเลย ช่างเป็นลาภของเธอแท้ ๆ หนอ ท่านผู้เนียรทุกข์

พระวิสาขเถระ เมื่อเดินทางไปยังวัดจิตตลบรรพต ครั้นไปถึงตรงทางแยก ๒ แพร่ง ได้ยืนคิดอยู่ว่า ทางที่จะไปวัดจิตตลบรรพตนั้น จะเป็นทางนั้นหรือทางนี้หนอ ขณะรุกขเทวดาที่สิงอยู่ ณ ที่ภูเขาได้เหยียดหัตถ์ออกแล้วชี้บอกแก่พระเถระว่า ทางนี้เจ้าข้า พระเถระไปถึงวัดจิตตลบรรพตแล้วก็ได้อยู่ ณ ที่นั้นจนครบ ๔ เดือน ในคืนสุดท้ายได้ตั้งใจไว้ว่า พรุ่งนี้เราจักต้องไปแต่เช้า ดังนี้แล้ว จึงเตรียมตัวจำวัด รุกขเทวดาตนหนึ่งซึ่งสิงอยู่บนต้นแก้ว ตรงที่ปลายทางจงกรม ได้มานั่งร้องไห้อยู่ที่ขั้นบันได

พระเถระจึงถามว่านั่นใคร ? เทวดาเรียนตอบว่า ดิฉันมณิลิยา เจ้าข้า พระเถระซักว่า เธอร้องไห้ทำไม? เทวดาเรียนว่า เพราะอาศัยที่พระผู้เป็นเจ้าจะจากไป เจ้าข้า พระเถระจึงถามว่า เมื่อฉันอยู่ ณ ที่นี้ เป็นคุณประโยชน์อะไรแก่พวกเธอหรือ ?

เทวดาจึงเรียนตอบว่า ท่านคะ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ ที่นี้ พวกเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ได้มีเมตตาอารีแก่กันและกัน เจ้าค่ะ แต่บัดนี้เมื่อพระผู้เป็นเจ้าจะจากไปเสียแล้ว พวกเทวดาและอมนุษย์ก็คงจักทำการทะเลาะวิวาท จักกล่าวคำหยาบแก่กันและกันเป็นแน่ เจ้าค่ะ

พระเถระจึงได้บอกแก่เทวดาว่า ถ้าฉันอยู่ ณ ที่นี้ ความอยู่ผาสุกสำราญย่อมมีแก่พวกเธอ ฉันดีใจมาก ดังนี้ แล้วได้อยู่ ณ วัดนั้นต่อไป จนครบ ๔ เดือนอีก

ครั้นครบ ๔ เดือนแล้วก็ได้คิดจะไปเหมือนอย่างเดิมอีก แม้เทวดามณิลิยานั้นก็ได้ไปร้องไห้เหมือนนั้นอีก โดนอุบายนี้พระเถระเลยอยู่ ณ ที่วัดนั้นและปรินิพพาน ณ ที่วัดนั้นนั่นแล

เมตตาวิหารีบุคคล ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของอมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

๖. ประการที่ ๖ ที่ว่า เทวดาทั้งหลายคอยเฝ้ารักษา นั้น อธิบายว่า เทวดาทั้งหลาย ย่อมคอยเฝ้ารักษาเมตตาวิหารีบุคคลเสมือนบิดามารดาคอยเฝ้ารักษาบุตร ฉะนั้น

๗. ประการที่ ๗ ที่ว่า ไฟ, ยาพิษ, หรือศัตรา ไม่กล้ำกรายในตัวของเขา นั้น อธิบายว่า ไฟไม่กล้ำกรายเข้าไปในกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่นอุบาสิกาชื่ออุตตราเป็นตัวอย่าง หรือยาพิษไม่กำซาบเข้าไปในร่างกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่น อุบาสิกาชื่ออุตตรา เป็นตัวอย่าง หรือยาพิษไม่กำซาบเข้าไปในร่างกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่น พระจูฬสีวเถระผู้ชำนาญสังยุตตนิกายเป็นตัวอย่าง หรือศัสตราไม่บาดร่างกายของเมตตาวิหารีบุคคล เช่น สังกิจจสามเณรเป็นตัวอย่าง เฉพาะข้อว่าศัสตราไม่บาดนี้ ควรยกเรื่องแม่โคนมมาแสดง เป็นตัวอย่างประกอบดังนี้

ได้ยินว่า มีแม่โคนมอยู่ตัวหนึ่งกำลังยืนให้น้ำนมแก่ลูกอยู่ ขณะนั้นนายพรานคนหนึ่งตกลงใจว่า เราจักแทงมันดังนี้ แล้วได้ตวัดมือพุ่งหอกเข้าใส่ทันที แต่หอกนั้นพอไปจรดลำตัวของแม่โคนมนั้น ก็ม้วนพับเหมือนกับใบตาล นี้ไม่ใช่เป็นด้วยกำลังแห่งอุปจารสมาธิหรือไม่ใช่ด้วยกำลังแห่งอัปปนาสมาธิเลย แต่เพราะความมีใจรักลูกอันมีกำลังรุนแรงอย่างเดียว เมตตามีอานุภาพอันยิ่งใหญ่อย่างนี้แล

๘. ประการที่ ๘ ที่ว่า จิตเป็นสมาธิเร็ว นั้น อธิบายว่า เมื่อพิจารณากรรมฐาน จิตของเมตตาวิหารีบุคคลย่อมเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็วทีเดียว ไม่มีความเฉื่อยชาเลย

๙. ประการที่ ๙ ที่ว่า ผิวหน้าผ่องใส นั้น อธิบายว่า ใบหน้าของเมตตาวิหารีบุคคลนี้ ย่อมมีผิวพรรณผ่องใสเหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ ๆ ฉะนั้น

๑๐. ประการที่ ๑๐ ที่ว่า ไม่หลงทำกาลกิริยา นั้น อธิบายว่า การตายด้วยความหลงย่อมไม่มีแก่เมตตาวิหารีบุคคล คือ เมตตาวิหารีบุคคลไม่หลงทำกาลกิริยาเลย เมื่อตายเป็นเสมือนคนนอนหลับ ฉะนั้น

๑๑. ประการที่ ๑๑ ที่ว่า เมื่อไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก นั้น อธิบายว่า เมตตาวิหารีบุคคลเมื่อยังไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งพระอรหัตอันเป็นชั้นสูงยิ่งกว่าเมตตาสมาบัติ ครั้นเคลื่อนจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็จะเข้าถึงพรหมโลกทันที เป็นเสมือนหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนี้

ก็แหละอานิสงส์ทั้งหลายมีนอนเป็นสุขเป็นต้นในเมตตาภาวนานี้ แม้โยคีบุคคลทั้งหลายผู้ได้สำเร็จฌานด้วยอำนาจกรรมฐานอื่นนอกไปจากพรหมวิหารกรรมฐานนี้ ก็ย่อมได้ประสพแม้โดยแท้ สมด้วยคาถาประพันธ์อันพระโบราณาจารย์แสดงไว้ มีอาทิว่า

มุนีทั้งหลายผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในอารมณ์กรรมฐานในภายใน ย่อมนอนเป็นสุข พระสาวกทั้งหลายของ พระโคดมพุทธเจ้า ย่อมตื่นชนิดที่ตื่นด้วยดี ในกาลทุกเมื่อ ฉะนี้

แต่แม้กระนั้น ผู้ที่ได้สำเร็จพรหมวิหารกรรมฐานทั้งหลาย ย่อมได้ประสบอานิสงส์ครบทั้งหมดนี้โดยไม่มีเศษเหลือ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าพรหมวิหารธรรม ๔ เป็นข้าศึกโดยตรงของนิวรณกิเลสทั้งหลายมีพยาบาทเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระพุทธโอวาทไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค….มีอาทิว่า :-

ดูก่อนอาวุโส ก็เมตตาเจโตวิมุติ นี้นั้น เป็นธรรม เครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาท ฉะนี้

อนึ่ง โทษทั้งหลายมีนอนเป็นทุกข์เป็นต้น ย่อมบังเกิดแก่หมู่สัตว์ ก็ด้วยอำนาจนิวรณกิเลสมีพยาบาทเป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณกิเลส มีพยาบาทเป็นต้นนั้น อันโยคีบุคคลบำเพ็ญปฏิบัติให้สำเร็จแล้ว อานิสงส์ทั้งหลายมีนอนเป็นสุขเป็นต้น ก็เป็นอันอยู่ในเงื้อมมือแล้วนั่นเทียว

 

มหาทุกขักขันธสูตร

ธรรมบรรยาย
มหาทุกขักขันธสูตร
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ
:
:
มหาทุกขักขันธสูตร
2 กันยายน 2550

หลักธรรม
๐ อะไรเป็น คุณของกาม
๐ อะไรเป็น โทษของกาม
๐ อะไรเป็น การถ่ายถอนของกาม

เริ่องเล่าประกอบธรรม
๐ กามคุณอารมณ์ 5 (รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์)
๐ มุทุลักขณชาดก (ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด)
:

:
:
กามคุณอารมณ์ เรื่องเสียงและกลิ่น
4 กันยายน 2550

เริ่องเล่าประกอบธรรม
๐ มหาโมรชาดก เรื่องของพญานกยูง
๐ เรื่องพระภิกษุ ผู้มีกลิ่นหอมออกจากปากเหมือนกลิ่นดอกบัว (อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต)
:

:
:
กามคุณอารมณ์ เรื่องรสและการสัมผัส
5 กันยายน 2550

เรื่องเล่าประกอบธรรม
๐ วาตมิคชาดก ว่าด้วยอำนาจของรส
๐ มาติกะมารดา (อรรถกถา คาถาธรรมบท จิตตวรรค)
๐ นางปัญจปาปี หญิงไม่งาม 5 อย่าง
:

:
:
คุณ โทษ และการถ่ายถอนกามคุณอารมณ์
7 กันยายน 2550

หลักธรรม
๐ คุณ โทษ และการถ่ายถอนของรูป
๐ คุณ โทษ และการถ่ายถอนของเวทนา
:

:
:

ทำความดีเพื่อความดี

การบำเพ็ญบารมีอย่างยากลำบากนี้มิได้ทรงทำเพื่อพระองค์เอง แต่ทรงปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายพ้นจากวัฏจักร ทรงสร้างความดีเพื่อพวกเขาแท้ๆ แต่พวกเขากลับไม่เห็นดีเห็นชอบด้วย

ดังนั้น เวลาที่เราทำความดีอย่างใดก็ตาม จงตั้งใจว่าจะทำความดีเพื่อความดี จะได้ไม่หวั่นไหว ถ้าเราทำความดีเพื่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ หากผลลัพธ์ออกมาไม่สมกับที่เราคาดหวังไว้ เราก็จะไม่สบายใจ เป็นทุกข์ใจ

หากเราตั้งใจไว้ให้ถูกต้องว่าจะทำความดีเพื่อความดี เราจะไม่หวั่นไหว เราจะไปได้สบาย ทำได้สบาย เผชิญอุปสรรคใดๆ ก็จะไม่ท้อถอย

จากหนังสือ
พระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์แทน
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

โสดาปัตติผลที่ประเสริฐ

การที่ไปเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา อินทร์ พรหม ประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ทั้งโลก ไม่มีใครเหนือกว่า แต่โสดาปัตติผลมีค่ามากกว่านั้น เพราะการได้ไปเกิดในที่ต่างๆ การเป็นเจ้าใหญ่นายโตกว่าคนทั้งโลกนั้น แม้จะไม่มีใครเหนือกว่า แต่ก็ยังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายสมบัติเหล่านั้นไม่เที่ยง ตัวของพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่เที่ยง สมบัติต่างๆก็ไม่เที่ยง มนุษย์ทั้งหลายก็ไม่เที่ยง

ฉะนั้น โสดาปัตติผลจึงประเสริฐกว่า เพราะเป็นมรรคแรกที่จะทำให้เราพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายเมื่อได้บรรลุอรหัตมรรคเข้าถึงปรินิพพานแล้วเราก็จะไม่มีการเกิด แก่เจ็บ ตาย ทั้งนี้เพราะไม่มีการเกิดอีกต่อไป

จากหนังสือ
พระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์แทน
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

ปฏิบัติธรรมมุ่งให้เราหลุดพ้นจากวัฏจักร

เมื่อใดก็ตามที่เราจะปฏิบัติธรรม เราจะต้องมุ่งให้การปฏิบัติธรรมของเราเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระปณิธานไว้ ว่าเพื่อให้เราหลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพื่อให้พ้นจากวัฏจักร เพื่อตัดกระแสของวัฏจักร

ด้วยเหตุนี้ เบื้องแรกของการประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะต้องตั้งใจให้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยไว้ กิเลสอื่นๆ จะค่อยๆ ถอยหลังไป

แต่หากเราไปปรารถนาอย่างโน้นอย่างนี้เสียแล้วกิเลสกลับจะวิ่งนำหน้ามาเลย ที่เราปฏิบัติอยู่ก็จะมิใช่เพื่อพ้นจากวัฏจักร แต่กลายเป็นปฏิบัติธรรมเพื่อลาภสักการะหรืออย่างอื่น

จากหนังสือ
พระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์แทน
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

พระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์แทน

หนังสือพระพุทธเจ้าองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์แทน
พระครูภาวนาสมณวัตร วิ. (ประจาก สิริวณฺโณ)
ดาวน์โหลด : >>> คลิกที่นี่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

พระพุทธเจ้าองค์จริง หมายความว่า ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดเราเห็นรูปนามตามความเป็นจริง โดยเริ่มแรกทีเดียวจะเป็นปัญญาเห็นแยกรูปแยกนาม เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ขณะนั้นเปรียบเสมือนเราได้เริ่มเห็นชายจีวรพระพุทธเจ้ารำไรๆ เมื่อวิปัสสนาญาณสูงขึ้นไป ก็ชัดขึ้นๆ นี่เองที่แสดงว่าตัวพระพุทธเจ้าองค์จริงก็คือ วิปัสสนาญาณ อรหัตมรรค อรหัตผล เมื่อญาณปัญญาถึงที่สุดแล้วจึงจะเป็นพระพุทธเจ้าเต็มรูปแบบ หากยังเป็นญาณอื่นๆ ที่ไม่ใช่ อรหัตมรรค อรหัตผลก็ยังไม่เต็มองค์

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าองค์จริงจะได้มาก็ต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราสามารถจะพบพระพุทธเจ้าองค์จริงได้หากเราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

ตามที่อาตมาได้กล่าวไปแล้วว่า พระพุทธเจ้าองค์แทนนี้เองที่จะส่งเราไปถึงพระพุทธเจ้าองค์จริงได้ ฉะนั้น ที่เรามาศึกษากัน ที่ครูบาอาจารย์มาสอนกันอยู่นี้ หาได้เป็นธรรมะของครูบาอาจารย์ไม่ เพราะเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า พระธัมมัสสามี หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของธรรม ดังนั้น พระสารีบุตรหรือ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น แม้ได้บรรลุธรรมก็มิใช่ธรรมะของท่านเอง ท่านเป็นอนุพุทธ บรรลุรู้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ท่านอุปมาไว้ในอรรถกถาว่า “เหมือนอำมาตย์ที่นำราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินมาอ่านให้ราษฎรฟัง” ราชโองการนั้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ผู้ที่นำมาอ่านคืออำมาตย์หรือเสนาโองการนั้นมิได้เป็นของอำมาตย์ ในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าใครจะแสดงธรรม ตั้งแต่พระสารีบุตรลงมาจนถึงใครก็สุดแล้วแต่ ธรรมที่แสดงก็หาได้เป็นของบุคคลผู้นั้น แต่อาศัยการศึกษาพระพุทธเจ้าองค์แทนมา แล้วนำมาเผยแพร่ต่อ

ฉะนั้น ที่เราได้รับการอบรมได้รับการศึกษากันอยู่นี้ เราอาศัยพระพุทธเจ้าองค์แทน คือพระไตรปิฎกธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันไม่สามารถประเมินค่าได้ เพราะธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้นั้น กว่าที่พระองค์จะทรงสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ต้องทรงสร้างบารมีทรงเสียสละทั้งสมบัติภายนอก ทรงทิ้งความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงสละความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเศรษฐี ทรงสละทั้งเลือดเนื้อ และชีวิตของพระองค์เอง เพื่อแลกกับการได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

ด้วยเหตุนี้ ธรรมแต่ละบทจึงมีค่าหาประมาณมิได้ เทียบไม่ได้แม้กับแผ่นดินหลายๆ ประเทศรวมกัน เพราะสิ่งที่ทรงเสียสละเพื่อให้ได้มามีค่ามากกว่าสิ่งเหล่านี้มากมายนัก ฉะนั้น ขอให้เราภูมิใจว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่ล้ำค่าที่สุดหาประมาณมิได้

หนังสือพรหมวิหาร

หนังสือ “พรหมวิหาร”
โดย.. พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ >>>> หนังสือพรหมวิหาร

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

บทนำ

วันนี้เป็นวันเพ็ญ เดือน ๘ จุลศักราช ๑๓๒๗ (ตรงกับพุทธศักราช ๒๕๐๘) เป็นวันแรกของการแสดงธรรมเทศนาเรื่องพรหมวิหาร ในคำว่า พรหมวิหาร นี้ พรหม แปลว่า ประเสริฐ ส่วนคำว่า วิหาร แปลว่า ความประพฤติ ดังนั้น คำว่า พรหมวิหาร จึงหมายความว่า ความประพฤติอันประเสริฐด้วยการทำประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น หรือมีความหมายว่า การประพฤติอย่างพรหม โดยเป็นความประพฤติของผู้อบรมจิตด้วยการเจริญเมตตาเป็นต้น

พรหมวิหารมี ๔ อย่าง คือ
๑. เมตตา ความเป็นมิตร, ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ
๒. กรุณา ความสงสารต่อผู้อื่นที่ตกต่ำกว่าตนเมื่อเขาได้รับความทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยยินดีต่อผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าตน
๔. อุเบกขา ความวางเฉย หรือวางใจเป็นกลางต่อความสุข หรือความทุกข์ของผู้อื่นโดยคิดว่าเป็นกรรมของเหล่าสัตว์

ทั้งสี่ประการนี้คือพรหมวิหาร ซึ่งในมหาโควินทสูตร ๓ เรียกว่าพรหมจรรย์ ดังนั้น พรหมวิหารจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า พรหมจรรย์ซึ่งหมายถึง ความประพฤติอันประเสริฐนั้นเอง นอกจากนั้น หากกล่าวตามอภิธรรมเทศนา พรหมวิหารนี้ก็คือ อัปปมัญญา ๔ ซึ่งหมายความว่า ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ เนื่องจากการเจริญเมตตาเป็นต้นเป็นการแผ่ความปรารถนาดีออกไปให้ทั่วถึงกันยังสัตว์โลกทั้งหลาย โดยไม่จำกัดขอบเขต ไม่มีประมาณ

สัมมัปปทาน ๔

สัมมัปปทาน หมายถึง ความเพียรโดยชอบ คือ ความเพียรที่ต่อเนื่องไม่ลดละ มีความหมายเหมือน “สัมมาวายามะ” ในอริยมรรคมีองค์ ๘

สัมมัปปทาน ๔ ประกอบด้วย

๑. ความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่
๒. ความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า
๓. ความเพียรทำอกุศลใหม่
๔. ความเพียรเพิ่มพูนกุศลเก่า

<><><><><><><><><><><>><><><><>><><>

บทสรุป สัมมัปปทาน ๔ :
จากหนังสือ โพธิปักขิยธรรม
โดยพระคันธสาราภิวงศ์
***********************

บุคคลที่จะเจริญสติปัฏฐาน ตามรู้สภาวธรรมปัจจุบัน ต้องเพียบพร้อมด้วยสัมมัปปทาน ๔ เพราะสัมมัปปทาน ๔ จัดเป็นความเพียร ผู้ที่ไม่มีความเพียรจะแจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ขณะที่ “กำหนดรู้” สภาวะพองยุบ สภาวะเคลื่อนไหวของเท้า เวทนา จิต หรือสภาวธรรม จัดว่า

๐ มีความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า เพราะในขณะนั้นเราไม่ได้ทำอกุศลเก่า คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ฯลฯ

๐ มีความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ เพราะในขณะนั้นเราไม่ได้ทำอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เมื่อความโลภหรือความโกรธเกิดขึ้น นักปฏิบัติควรกำหนดว่า “โลภหนอ” หรือ “โกรธหนอ” เมื่อนักปฏิบัติรับรู้สภาวะของความโลภหรือความโกรธตามความเป็นจริงว่า “ความโลภเป็นสภาวะพอใจ” “ความโกรธเป็นสภาวะดุร้าย” ก็จะไม่ถูกความโลภหรือความโกรธครอบงำ

๐ ความเพียรเพื่อทำกุศลใหม่เพราะการเจริญสติปัฏฐานเป็นกุศลที่เราไม่เคยบำเพ็ญมาก่อน

๐ มีความเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า เพราะนักปฏิบัติย่อมประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ตามลำดับของวิปัสสนาขั้นต่างๆ จัดว่าได้เพิ่มพูน ภาวนากุศลที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งสม “สติ” “สมาธิ” และ “ปัญญา” ให้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม

อานันทสูตร : การฟังธรรมที่ไม่หลงลืม

ดูกรท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

๐ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
๐ เธอย่อมแสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ย่อมบอกสอนธรรมที่ได้ฟังมาได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
๐ ย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ ฟังมาได้เรียนมาโดยพิสดาร
๐ ย่อมตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมา
๐ ย่อมจำพรรษาอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุผู้เถระเป็นพหูสูตชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ ย่อมเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้นโดยกาล อันควร แล้วไต่ถามสอบสวนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของภาษิตนี้อย่างไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยภาษิตที่ยังไม่แจ่มแจ้ง ย่อมทำภาษิตที่ยากให้ง่ายแก่เธอ และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีประการต่างๆ

ดูกรท่านสารีบุตร ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุจึงได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง ธรรมทั้งหลายที่เธอได้ฟังแล้วย่อมไม่ถึงความหลงลืม ธรรมทั้งหลายที่เธอได้เคยถูกต้องด้วยใจในกาลก่อน ย่อมขึ้นใจ และเธอย่อมทราบชัดธรรมที่ยังไม่ทราบชัด ฯ

อ่านเพิ่มเติม คลิก >>> อานันทสูตร

หนทางดับทุกข์ มีอยู่

“การเกิดในภพใหม่เป็นความทุกข์ การแตกทำลายไปของสรีระกายในที่ที่เกิดแล้วก็เป็นความทุกข์เช่นกัน”

ตัวเราต้องพบกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ควรที่เราจะแสวงหาหนทาง อันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีความทุกข์ มีความสุข เยือกเย็น เป็นทางสายเดียวที่จักพ้นจากภพต่างๆ นำไปสู่ความดับ (นิพพาน) ทุกข์ น่าจะมีอยู่แน่นอน

เมื่อทุกข์มีอยู่ สุขก็ต้องมีอยู่ในโลก ฉันใด, เมื่อภพมีอยู่ ความปราศจากภพก็ต้องมีอยู่ ฉันนั้น, เมื่อความร้อนมีอยู่ ความเย็นอันสยบความร้อนก็ต้องมี ฉันใด, เมื่อไฟ ๓ กอง (ราคะ โทสะ โมหะ) มีอยู่ แม้ความดับไปแห่งไฟ ก็ต้องมีอยู่ ฉันนั้น

……………………………….
ความคิดของ สุเมธบัณฑิต
จากหนังสือ ตามรอยพระพุทธประวัติ ๘๐ พระพรรษา
เรียบเรียงโดย อาจารย์ปัญญา ใช้บางยางและคณะ

หนังสือโอกาสอันทรงค่าของชีวิต

หนังสือโอกาสอันทรงค่าของชีวิต
แปลจากบทนำของหนังสือ โพธิปักขิยทีปนี
ซึ่งรจนาโดย…พระอาจารย์ แลดี สยาดอ อัครมหาบัณฑิต
ดาวน์โหลด >>> คลิกที่นี่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัญญา

เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา ได้แก่ การเจริญสติให้เกิดความเห็นแจ้งเข้าใจในรูป (สภาวธรรมทางกาย), นาม (สภาวธรรมทางจิต), ขันธ์ (ส่วนประกอบ ๕ อย่างที่ประชุมรวมเข้าเป็นชีวิต), อายตนะ (แดนต่อหรือแดนเกิดของความรับรู้), ธาตุ (สภาพรู้), สัจจะ (ความจริง), ปฏิจจสมุปปบาท (การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันและกัน จึงเกิดมีขึ้น) และการเจริญปัญญาให้เห็นแจ้งแทงทะลุในไตรลักษณ์ของสรรพสิ่ง อันได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยงแท้ถาวร), ทุกขัง (ความเป็นทุกข์ ไม่น่าพึงพอใจ) และอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตน)

ในบรรดาเมล็ดพันธุ์ของมัคคญาณและผลญาณทั้ง ๓ ดังกล่าวมานี้ ศีลและสมาธิเปรียบเสมือนเครื่องประดับที่แต่งแต้มโลกให้งดงามยิ่งขึ้น ศีลและสมาธิยังคงมีอยู่แม้ในช่วงสุญญกัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก บุคคลจึงสามารถเก็บเกี่ยวสั่งสมเมล็ดพันธุ์แห่งศีลและสมาธิได้ทุกเมื่อที่ปรารถนา ซึ่งแตกต่างจากเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่ว่าด้วยรูป (สภาวธรรมทางกาย), นาม (สภาวธรรมทางจิต), ขันธ์ (ส่วนประกอบ ๕ อย่างที่ประชุมรวมเข้าเป็นชีวิต), อายตนะ (แดนต่อหรือแดนเกิดของความรับรู้), ธาตุ (สภาพรู้), สัจจะ (ความจริง), ปฏิจจสมุปปบาท (การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันและกัน จึงเกิดมีขึ้น) เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาจะสั่งสมได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาเท่านั้น

เมื่อมิได้พบพระพุทธศาสนา บุคคลนั้นจะไม่มีโอกาสได้ยินถ้อยคำแม้สักคำเดียวที่เกี่ยวเนื่องด้วยปัญญา ไม่ว่าสุญญกัปอันเนิ่นนานราวไม่รู้จบนั้นจะยาวนานสักเพียงใดก็ตาม

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หนังสือ โอวาทวันปิดการอบรม

หนังสือ โอวาทวันปิดการอบรม
พระครูภาวนาสมณวัตร วิ. (ประจาก สิริวณฺโณ)
ดาวน์โหลด : >>> คลิกที่นี่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ตราบใดที่อกุศลยังอยู่ เราจะไม่ทิ้งการปฏิบัติ

วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราได้มีโอกาสมาเข้าประพฤติปฏิบัติและทำตามคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ เมื่อเรารู้หลักการแล้ว ต่อไปภายหน้าเมื่อเริ่มอีกครั้งการประพฤติปฏิบัติของเราก็น่าจะราบรื่นขึ้น ติดขัดน้อยลง ไม่ต้องแก้ไขอะไรกันมากมายและแก้ไขได้โดยไม่ยาก เพราะส่วนหนึ่งเราเริ่มเข้าใจกันมาบ้างแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อได้เรียนรู้วิธีการขององค์สมเด็จพ่อไปแล้วก็อย่าปล่อยทิ้งไว้กลางทาง อย่าได้ออกจากสำนักนี้ไปแล้วปล่อยทิ้งเสียเลย พึงตั้งจิตให้มั่นคงว่าตราบใดที่อกุศลยังไม่หมดไปจากหัวใจเรา ตราบนั้นเราจะไม่ทิ้งความพยายาม ตราบใดที่อกุศลยังอยู่เราจะไม่ทิ้งการปฏิบัติ ถึงแม้จะกลับไปอยู่บ้านเราก็จะไม่ทอดทิ้งการปฏิบัติ

กระนั้นก็ตาม การปฏิบัติเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านก็คงค่อนข้างลำบากอยู่สักหน่อย ไม่เหมือนกับการมาปฏิบัติในสำนักซึ่งทำได้เต็มที่ เพราะเราสละภารกิจการงานทุกอย่างมาแล้ว จึงทำได้ง่ายและเต็มที่ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ไม่มีใครรบกวนเรา แต่เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน เราจะต้องทำกรรมฐานพร้อมกับการทำงาน ต้องติดต่อกับผู้คน ต้องวุ่นวายกับธุระมากมาย จึงค่อนข้างจะยากกว่าในสำนัก

…………………………………………………………

ใครประกาศอิสระภาพ

หลังจากที่เราปฏิบัติธรรมจนครบกำหนดเวลาแล้วนี้ กลับมิใช่ตัวเราที่ได้โอกาสประกาศอิสรภาพ หากแต่เป็นกิเลสต่างหากที่ได้โอกาสประกาศอิสรภาพ กิเลสรู้ดีว่านักปฏิบัติจะออกจากกรรมฐานกันวันนี้จึงตั้งท่าตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ยังไม่ทันจะได้ลากรรมฐานเลยก็ดีอกดีใจประกาศอิสรภาพ เมื่อใดก็ตามที่กิเลสประกาศอิสรภาพเราก็ตกเป็นทาสกิเลสอีกเหมือนเดิม

เราพร้อมเสมอที่จะตกเป็นทาส พร้อมเสมอที่จะเปิดโอกาสให้กิเลสเกิดได้เต็มที่ กิเลสคงสบายใจ จะทำอะไรจะดูอะไรก็ตามใจตัวเองได้แล้ว เพราะตอนกำลังปฏิบัติอยู่นั้น รู้สึกทำตามใจตัวเองไม่ได้เลยสักอย่างเดียว การจราจรหน้าสำนักเราในวันปิดการอบรมคงจะติดขัดมาก เพราะกิเลสพากันเอากลองยาวมาแห่รับนักปฏิบัติกลับไป กิเลสของพระก็แห่พาพระกลับวัด กิเลสของโยมก็แห่พาโยมกลับบ้าน

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 

ปัญญาในพระพุทธศาสนา

ความแตกต่างระหว่างปัญญาในพระพุทธศาสนาและทิฏฐิ ลัทธิความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา

ความแตกต่างที่สำคัญคือ ปัญญาในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปรัชญา ตรรกะ ทิฏฐิ หรือทรรศนะที่เกิดจากการคิดและการตีความจากประสบการณ์

หากเป็นการเห็นแจ้งความจริงของธรรมชาติ เป็นปัญญาที่เกิดจากการตรัสรู้ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยอันบริสุทธิ์ ปราศจากโลภ โกรธ หลง

เป็นปัญญาที่มีศีลและสมาธิเป็นพื้นฐาน ปัญญาในพระพุทธศาสนาจึงยังจิตให้ถึงความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้

จากบทเรียนพระสูตรทางไปรษณีย์ (ชุดที่ ๑)
อาจารย์ทองสุข ทองกระจ่าง
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัจจัย ๔ ประการ เพื่อความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

ปัจจัย ๔ ประการ เพื่อความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

การจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จะต้องมีปัจจัย ๔ ประการต่อไปนี้ อยู่พร้อมมูลตั้งแต่ต้น

ประการแรก ผู้ปฏิบัติธรรมจำเป็นที่จะต้องเข้าหาและฝากตนเป็นศิษย์ แก่วิปัสสนาจารย์ที่แท้จริง ผู้ซึ่งสามารถสั่งสอนธรรมมะได้อย่างถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ นี้คือ “สัปปุริสสังเสวะ” ไม่แน่ว่าบุคคลที่เราเข้าไปขอคำแนะนำ จะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้เสมอไป หากเราพบกับคนที่สามารถให้คำแนะนำอย่างถูกต้องได้ บุคคลผู้นี้ก็จะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เรา

ประการที่สอง ผู้ปฏิบัติธรรมพึงตั้งใจฟังแนวทางการปฏิบัติ และคำแนะนำที่ถูกต้องนั้น หรือหาโอกาสอ่านเพิ่มเติม นี้คือ “สัทธัมมสวนะ” หรือการศึกษาธรรมะอย่างถูกต้อง

ประการที่สาม หลังจากนั้นการน้อมนำคำสอนนั้นเข้าสู่จิตใจจะตามมาโดยธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องพยายามรักษาพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ซื่อตรง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือระหว่างการอบรมกรรมฐาน นี้คือ “โยนิโสมนสิการ” คือการทำจิตให้แยบคายและมั่นคงในทุกสถานการณ์

ประการที่สี่ การตั้งปณิธานว่า “เราจะปฏิบัติตามพระธรรมดังที่ได้สดับมา” นี้เรียกว่า “ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ” คือการปฏิบัติตามหลักธรรม

ปัจจัยเหล่านี้ต้องมีอยู่พร้อมในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมศึกษาพระธรรมวินัย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ความงามแห่งจิต

พระปัณฑิตาภิวงศ์ (อู บัณฑิตาภิวังสะ)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จงเป็นผู้ไม่ประมาท

วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล อันดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใด จักเป็นผู้ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสารแล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

จากมหาปรินิพพานสูตร

แผ่เมตตา อุทิศบุญกุศล และคำอธิษฐาน หลวงพ่อประจาก

แผ่เมตตา อุทิศบุญกุศล และคำอธิษฐาน
หลวงพ่อประจากนำกล่าวในวันปิดการอบรม


:
:
แผ่เมตตา
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอแผ่เมตตา

ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ

ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย
มีมนุษย์ สมุททเทวดา ภุมมัฏฐเทวดา รุกขเทวดา อารักขเทวดา อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่รักษาบ้าน เทวดาที่รักษาเมือง เทวดาที่รักษาวัดวาศาสนา และเทวดาที่รักษา……………แห่งนี้ สัมมาเทวดา มิจฉาเทวดาทั้งหลาย

ตลอดถึงเปรตทั้งหลาย เดรัจฉานทั้งหลาย

ที่อยู่ใกล้ตัวข้าพเจ้าก็ดี ที่อยู่ไกลตัวข้าพเจ้าก็ดี

ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น
จงอยู่ร่วมกัน ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
จงมีความสุขกายสุขใจ
รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

อุทิศบุญกุศล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมอุทิศบุญกุศล ที่ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้

มีบุญกุศลที่เกิดจาก การให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ดี ได้แผ่เมตตาก็ดี

แด่สรรพสัตว์ทั้งหลาย มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ

[มีบุญกุศลที่เกิดจากการถวายผ้ากฐิน กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ และบุญกุศลที่เกิดจากการรักษาศีล บุญกุศลที่เกิดจากการรำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พร้อมทั้งบุญกุศลที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้แผ่เมตตา ขออุทิศน้อมบุญกุศลเหล่านี้ แด่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ]

ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย
มีมนุษย์ สมุททเทวดา ภุมมัฏฐเทวดา รุกขเทวดา อารักขเทวดา อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่รักษาบ้าน เทวดาที่รักษาเมือง เทวดาที่รักษาวัดวาศาสนา และเทวดาที่รักษา……………แห่งนี้ สัมมาเทวดา มิจฉาเทวดาทั้งหลาย

ตลอดถึงเปรตทั้งหลาย เดรัจฉานทั้งหลาย

ที่อยู่ใกล้ตัวข้าพเจ้าก็ดี ที่อยู่ไกลตัวข้าพเจ้าก็ดี

เมื่อท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้รับรู้แล้ว จงอนุโมทนาในส่วนแห่งบุญกุศล ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้น้อมอุทิศให้แล้วนี้

หากท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ถึงทุกข์ ก็ขอให้พ้นจากทุกข์ หากท่านทั้งหลายเหล่านั้น ประสพสุข ก็ขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

คำอธิษฐาน
ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศล
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้วนี้
จงเป็นพลวะปัจจัย เป็นนิสัยตามส่ง
ให้เกิดปัญญาญาณทั้งชาตินี้ และชาติหน้า
ตลอดชาติอย่างยิ่ง
ตลอดถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพาน

ตราบใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร
ชื่อว่า ความอดอยาก
ชื่อว่า ความลำบาก
ชื่อว่า ความขาดแคลนใดๆ
อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ทั้งในปัจจุบันภพนี้ และอนาคตภพ
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายยังต้องเกิดนั้นๆ เทอญ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หากในขณะที่เจริญภาวนาอยู่ มีอารมณ์สองอย่างหรือหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในขณะเดียวกัน

๐ ปุจฉา
หากในขณะที่เจริญภาวนาอยู่ มีอารมณ์สองอย่างหรือหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในขณะเดียวกัน เช่น อาการปวดหลัง กับอาการพอง-ยุบของท้อง จึงดูเหมือนว่ามีอารมณ์ให้เลือกที่จะใส่ใจกำหนดจดจ่อลงไป ตราบเท่าที่อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถสภาวะ มิใช่บัญญัติอารมณ์ จะสำคัญไหม ว่าเราจะต้องเลือกกำหนดรู้อารมณ์ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาธิของผู้ปฏิบัติมีความตั้งมั่นและสามารถจะดำรงอยู่กับอารมณ์ใดก็ได้ตามแต่ผู้ปฏิบัติจะต้องการ

๐ วิสัชชนา
ตามธรรมนิทเทส หรือพระธรรมเทศนาในพระคัมภีร์รวมทั้งคำสอนของท่านอาจารย์มหาสีสยาดอ มีคำกล่าวว่า “ใช้อารมณ์ที่ชัดเจน เป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ” ขณะที่นั่ง อาการพอง-ยุบของท้องจะเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มเจริญภาวนา จึงใช้พอง-ยุบเป็นอารมณ์หลักในการเจริญภาวนา

คำถามก็คือ “เราจำเป็นต้องกำหนดรู้อารมณ์เพียงอารมณ์เดียวหรือไม่” หากมีอารมณ์อื่นปรากฏชัดเจน เช่น อาการคัน ความเจ็บปวด ความคิด ฯลฯ หากอารมณ์ใหม่ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้ปฏิบัติก็สามารถทิ้งอารมณ์ที่เป็นหลักในการเจริญภาวนาเพื่อไปกำหนดรู้อารมณ์ที่ชัดเจนดังกล่าวได้

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติทิ้งอารมณ์หลักแล้วก็ไม่กำหนดอารมณ์ใหม่ที่เด่นชัดด้วยก็นับว่า ผู้ปฏิบัติพลาดที่จะกำหนดรู้ หรือ ขาดสติไปแล้ว ดังนั้นหากอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดรู้อารมณ์ดังกล่าวได้ และเมื่ออารมณ์นั้นจางคลายหรือหมดสิ้นไป ผู้ปฏิบัติก็พึงกลับไปกำหนดรู้อารมณ์หลักที่เด่นชัด คือ พอง-ยุบอีก หากไม่มีอารมณ์เด่นชัดอื่นใดปรากฏขึ้น ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดรู้อารมณ์หลัก คือ พอง-ยุบไปได้เรื่อย ๆ

กำหนดรู้อารมณ์ใดก็ได้ที่เด่นชัดที่สุด
เมื่อสมาธิมีความตั้งมั่น และปัญญาญาณของผู้ปฏิบัติเจริญขึ้น ผู้ปฏิบัติจะระลึกรู้เพียง “สภาวะ” ของอารมณ์ต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นขณะที่กำหนดรู้อาการพอง-ยุบ ผู้ปฏิบัติก็จะระลึกรู้ “สภาวลักษณะ” อันได้แก่ ความเคร่งตึง ผ่อนคลาย หรือเคลื่อนไหว เป็นต้น ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติก็จะระลึกรู้ “สามัญลักษณะ” ทั้งสามประการด้วย (คืออนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา)

หากผู้ปฏิบัติสามารถระลึกรู้อารมณ์ได้ในลักษณะนี้อย่างราบรื่น และเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ ผู้ปฏิบัติก็สามารถกำหนดรู้อยู่กับอารมณ์หลัก โดยไม่ต้องกำหนดรู้อารมณ์อื่น แม้ว่าจะมีอารมณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ขณะที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อารมณ์หลัก และมีอารมณ์อื่นที่เด่นชัดเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกอารมณ์ใดก็ได้ที่เด่นชัดที่สุดเป็นอารมณ์ภาวนา หากอารมณ์หลักและอารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่มีความเด่นชัดพอๆ กัน ผู้ปฏิบัติจะกำหนดรู้อารมณ์ใดก็ได้ตามสมควร

ระลึกรู้ด้วยใจ
เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญภาวนาเรื่อยไปโดยราบรื่น ผู้ปฏิบัติจะสามารถกำหนดรู้อารมณ์ต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมเป็นเพียงการระลึกรู้ด้วยใจ การภาวนาจะมีพลังขับเคลื่อนไปเองตามธรรมชาติ ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้สึกอยากจะเปลี่ยนอารมณ์ภาวนา ราวกับว่าจิตของผู้ปฏิบัติเกาะติดอยู่กับอารมณ์อย่างแนบแน่นไปเอง

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่กำหนดรู้อาการพอง-ยุบ ผู้ปฏิบัติจะระลึกรู้ความเคร่งตึงเคลื่อนไหวต่างๆ ของท้องได้อย่างเด่นชัดมาก ลักษณาการของจิตเช่นนี้จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อผู้ปฏิบัติเข้าถึงวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นไป ดังเช่น “สังขารุเบกขาญาณ” ซึ่งเป็นสภาวะแห่งการระลึกรู้สังขารธรรมทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง จิตของผู้ปฏิบัติจะอ่อนโยน นุ่มนวลและลุ่มลึกอย่างยิ่ง ขนาดที่แม้ผู้ปฏิบัติจะพยายามส่งจิตออกไประลึก จดจำ หรือคิด ใคร่ครวญถึงกามคุณอารมณ์ใดๆ จิตของผู้ปฏิบัติก็จะไม่ออกไปเสวยอารมณ์ดังกล่าว แต่จะกลับมาตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ราวกับการหมุนกลับมาเองของบูมเมอแรงเมื่อถูกขว้างออกไปฉันนั้น

ไม่เลือกอารมณ์ภาวนา
ผู้ปฏิบัติบางคนอาจต้องการเลือกกำหนดรู้เฉพาะอารมณ์ภาวนาที่ตนเองชอบ อาตมาไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น เพราะไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การเจริญภาวนาจะต้องดำเนินไปตามวิถีแห่งอริยมรรคทั้งแปด เมื่อเราเจริญมรรคมีองค์แปดอยู่นั้น หากการปฏิบัติของเรายังไม่มีพลังเพียงพอ เราก็ต้องเสริมกำลังให้เจริญภาวนามีความเข้มแข็ง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติไม่ควรกังวลว่าจะต้องเลือกกำหนดรู้อารมณ์ใด อะไรก็ตามที่ปรากฏขึ้นในการรับรู้ให้ถือเสียว่าเรากำลังเจริญอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ หากผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินไปตามวิถีแห่งมรรคทั้งแปดได้ การเจริญภาวนาของผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะถูกต้อง

เจริญภาวนาตามวิถีแห่งมรรค ๘
การเจริญภาวนาตามวิถีแห่งมรรคมีองค์แปดคืออย่างไรเล่า ตราบเท่าที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของอารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏเด่นชัดได้อย่างถูกตรง ก็ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเจริญศีลมรรคอย่างครบถ้วน เมื่อสมาธิและสติของผู้ปฏิบัติหยั่งลึกและมั่นคงมากขึ้น ก็เรียกว่า ผู้ปฏิบัติกำลังเจริญสมาธิมรรคอยู่ และเมื่อการกำหนดรู้ของผู้ปฏิบัติเท่าทันปัจจุบันอารมณ์จนผู้ปฏิบัติประจักษ์แจ้งธรรมชาติอันแท้จริงของอารมณ์ทั้งปวง ก็เท่ากับผู้ปฏิบัติเจริญปัญญามรรคอยู่แล้ว

ดังนั้น ในขณะที่ผู้ปฏิบัติเจริญภาวนาอยู่ ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะใช้อารมณ์ภาวนาอันใด ตราบเท่า ที่ผู้ปฏิบัติดำ เนินอยู่ในวิถีแห่งมรรคมีองค์แปดข้างต้น (ซึ่งสรุปรวมได้สามกลุ่มคือ ศีล สมาธิ และปัญญา) ก็นับว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

เมื่อผู้ปฏิบัติเลือกอารมณ์ภาวนาเพื่อกำหนดรู้นั้น สิ่งที่อาจเกิดขึ้นลึกๆ ในจิตใจของผู้ปฏิบัติ คือความรู้สึกปฏิเสธผลักไสอารมณ์ต่างๆ

หากเราปรารถนาอารมณ์ดีๆ หรืออารมณ์ที่เราชอบ ก็เทียบเท่ากับความอยาก (โลภะ) ที่จะได้อารมณ์ดีๆ นั้น ซึ่งเป็นภาวะจิตที่เป็นอกุศล

ในทางตรงกันข้าม หากมีอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจปรากฏขึ้น และเราก็รู้สึกไม่พอใจ ความไม่พึงพอใจก็คือ โทสะหรือพยาบาทอีกรูปแบบหนึ่ง

ดังนั้นไม่ว่าจะมีอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือกำหนดรู้สภาวะที่แท้ของอารมณ์เหล่านั้นด้วยความเที่ยงตรง โดยไม่เลือก ไม่วิเคราะห์ไตร่ตรองใดๆ ไม่ว่าจะกำหนดรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งชอบใจหรือไม่ชอบใจให้กำหนดรับรู้อารมณ์เหล่านั้นไปตามสภาวะที่เป็นจริง ผู้ปฏิบัติต้องเพียรพยายามดำเนินไปตามทางแห่งมรรคมีองค์แปดอยู่เสมอ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 
จากหนังสือ ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนา
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ดาวน์โหลดหนังสือ “ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา”

หนังสือปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ

ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ >>> ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หนังสือ “ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนาภาวนา” นี้เรียบเรียงมาจากธรรมบรรยายของพระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ แห่งสำนักวิปัสสนากรรมฐานบัณฑิตาราม ประเทศสหภาพพม่า คำถามคำตอบที่ปรากฏในหนังสือนี้เป็นเพียงส่สนหนึ่งของธรรมบรรยาย ที่หลวงพ่ออูบัณฑิตาแสดงแก่โยคีที่เข้าอบรมสติปัฏฐานภาวนา ที่สำนักของท่านเมือปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำนักฯ จะจัดโครงการอมรมวิปัสสนากรรมฐานให้แก้โยคีชาวต่างประเทศเป็นประจำทุกปี

ข้อความ จากคำนำ
พิชิต-วิธัญญา ภัทรวิมลพร
ตุลาคม ๒๕๔๖
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๑. ๒. ๓.

บทพรรณนาพระพุทธคุณ
เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๑

โย สพฺพโลกมหิโต กรุณาธิวาโส
โมกฺขากโร รวิกุลมฺพรปุณฺณจนฺโท
เญยฺโยทธึ สุวิปุลํ สกลํ วิพุทฺโธ
โลกุตฺตมํ นมถ ตํ สิรสา มุนินฺทํ.

พระจอมมุนีที่ชาวโลกทั้งปวงบูชา ทรงเพียบพร้อมด้วยพระกรุณา เป็นบ่อเกิดแห่งความหลุดพ้น เปรียบดั่งพระจันทร์เพ็ญท่ามกลางนภาอันเป็นอาทิตยวงศ์ ทรงตรัสรู้เญยยธรรมทั้งหมดอันไพศาลดั่งมหาสมุทร เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระจอมมุนีผู้ประเสริฐในโลก พระองค์นั้น

บทพรรณนาพระธรรมคุณ
เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒

โสปานมาล’มมลํ ติทสาลยสฺส
สํสารสาครสมุตฺตรณาย เสตุง
สพฺพาคติภยวิวชฺชิตเขมมคฺคํ
ธมฺมํ นมสฺสถ สทา มุนินา ปณีตํ.

เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระธรรมอันพระมุนีตรัสสอน เป็นขั้นบันไดอันหมดจดแห่งสวรรค์ ประดุจสะพานข้ามมหาสมุทรคือสงสาร และเป็นทางเกษมปลอดจากทุคคติภัยทั้งมวลทุกเมื่อ

บทพรรณนาพระสังฆคุณ
เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๓

เทยฺยํ ตทปฺป’มปิ ยตฺถ ปสนฺนจิตฺตา
ทตฺวา นรา ผล’มุลารตรํ ลภนฺเต
ตํ สพฺพทา ทสพเลนปิ สุปฺปสตฺถํ
สํฆํ นมสฺสถ สทามิตปุญฺญเขตฺตํ.

เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระสงฆ์ ผู้เป็นนาบุญหาประมาณมิได้ ซึ่งแม้พระทศพลก็ทรงสรรเสริญเป็นนิตย์ ที่มหาชนมีใจเลื่อมใสแล้วถวายไทยธรรม แม้เล็กน้อยแล้วได้รับผลบุญอันโอฬาร

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒๖

นิจฺจาตุรํ ชคทิทํ สภยํ สโสกํ
ทิสฺวา จ โกธมทโมหชราภิภูตํ
อุพฺเพคมตฺตมปิ ยสฺส น วิชฺชตี เจ
โส ทารุโณ น มรโณ วต ตํ ธิรัตฺถุ.

หากบุคคลใดปราศจากแม้มาตรว่าความสะดุ้งกลัว
เพราะเห็นโลกนี้มีทุกข์ภัยเศร้าโศกอยู่เสมอ
ถูกความโกรธ ความหลงมัวเมา และความแก่ครอบงำแล้ว
บุคคลนั้นเป็นผู้โหดร้ายเอง หาใช่ความตายไม่
น่าตำหนิเขาจริงๆ

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒๖

ดาวน์โหลดหนังสือ “เตลกฏาหคาถา”

หนังสือเตลกฏาหคาถา
ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ >>> เตลกฏาหคาถา
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เตลกฏาหคาถา แปลว่า “บทร้อยกรองที่กล่าวในกะทะน้ำมัน” เป็นวรรณกรรมบาลีประเภทร้อยกรอง มีคาถา 100 บท แต่เป็นวสันตดิลก 14 พยางค์ล้วนๆ

ท่านผู้ประพันธ์ได้ตกแต่งเสียงและความหมายไว้อย่างไพเราะสละสลวย มีเสียงราบรื่นคล้องจองสัมผัสเป็นเสาวพจน์ จัดเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ และเป็นแบบฉบับในการแต่งบาลีของอนุชนรุ่นหลัง

คัมภีร์นี้กล่าวถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ การระลึกถึงความตาย พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดจนโทษของการทำบาป โดยท่านผู้ประพันธ์มุ่งเตือนสติชาวพุทธไม่ให้ประมาทในการบำเพ็ญคุณงามความดี

ความเป็นมาของคาถามีปรากฏในคัมภีร์รสวาหินี ดังนี้

พระเจ้ากัลยาณิยติสสะ ครองเมืองกัลยาณี ณ ประเทศศรีลังกา ระหว่างพุทธศักราช 237 – 238 ทรงมีพระอนุชาเป็นอุปราชซึ่งได้ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของพระกัลยาณิยะเถระ และเขียนลายพระหัตถ์คล้ายคลึงกับลายมือของพระเถระ เมื่อในหลวงทรงทราบว่าพระอนุชาเกิดความสิเนหาในพระมเหสีจึงมีรับสั่งให้ตามจับพระอนุชาซึ่งเสด็จหนีไป

ต่อมาพระอนุชาให้คนปลอมตัวเป็นพระถือสาส์นรักไปเฝ้าพระมเหสี พระปลอมถือโอกาสติดตามพระกัลยาณิยะเถระ เข้าพระราชวัง เมื่อพระปลอมฉันภัตตาหารแล้วก่อนจะลุกกลับไป ได้แอบโยนสาส์นรักไปให้พระมเหสี แต่บังเอิญพระราชาทอดพระเนตรเห็น และเข้าใจว่าเป็นสาส์นของพระเถระ จึงรับสั่งให้จับพระเถระโยนใส่กะทะน้ำมันที่เดือดพล่าน

ในขณะนั้นมีแก้วอินทนิลผุดขึ้นมาเป็นที่นั่งรองรับในกะทะน้ำมัน พระเถระได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุอรหันตผล เมื่อได้พิจารณากรรมเก่าของตนจึงทราบว่าในชาติก่อนเคยเกิดเป็นเด็กเลี้ยววัวและได้โยนแมลงวันตัวหนึ่งเข้าไปในน้ำนมที่เดือดพล่าน ครั้งนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกรรมได้ ท่านจึงกล่าวคาถาเพื่อสั่งสอนชาวพุทธไม่ให้มัวเมาประมาท ก่อนที่จะปรินิพพานในที่นั้น

เนื่องจากท่านกล่าวคาถาในกะทะน้ำมัน จึงปรากฏนามว่า “เตลกฏาหคาถา” คือ “บทร้อยกรองที่กล่าวในกะทะน้ำมัน”

ข้อความจาก อารัมภบท
โดยพระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๑๐

โอกาส’มชฺช นตฺถิ สุเว กริสฺสํ
ธมฺมํ อิตีหลสตา กุสลปฺปโยเค
นาลํ ติยทฺธสุ ตถา ภุวนตฺตเย จ
กามํ น จตฺถิ มนุโช มรณา ปมุตฺโต

ความเกียจคร้านในการบำเพ็ญความดีไม่พึงมี
โดยเราคิดว่าเราไม่มีโอกาสในวันนี้
เราจักประพฤติธรรมในวันพรุ่ง

เพราะนรชนผู้พ้นจากความตาย
ย่อมไม่มีในกาล ๓ และ ภูมิ ๓ โดยแท้

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๑๐

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒๑

พุทฺธาปิ พุทฺธกมลามลจารุเนตฺตา
พาตฺตึสลกฺขณวิราชิตรูปโสภา
สพฺพาสวกฺขยกราปิ จ โลกนาถา
สมฺมทฺทิตา มรณมตฺตมหาคเชน.

แม้พระพุทธเจ้าผู้มีพระเนตรงามหมดจดดั่งบัวบาน
มีพระรูปกายบรรเจิดด้วยพระลักษณะ ๓๒ ประการ
ทรงกำจัดอาสวะทั้งปวงแล้ว
ก็ถูกพญาคชสารตกมัน คือ มฤตยู ย่ำยีแล้ว

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒๑

การกำหนดรู้สภาวธรรม จะรู้ได้ว่า ไม่มีอัตตา

นักปฏฺิบัติที่พัฒนาวิปัสสนาปัญญา โดยการกำหนดรู้สภาวธรรมจะรู้ได้ว่า ไม่มีอัตตา มีเพียงความเป็นไปของรูปนามเท่านั้น จึงเป็นอิสระจากอัตตทิฏฐิ แต่ก็ได้เฉพาะช่วงที่เจริญวิปัสสนาอยู่เท่านั้น เมื่อใดที่เลิกกำหนดรู้การเกิดดับของรูปนาม อัตตทิฏฐิก็จะกลับมาครอบงำอีก เพราะยังรู้สึกว่ามีตัวเราที่เคลื่อนไหวร่างกาย กระทำอากัปกิริยาต่างๆ อยู่

จากหนังสืออนัตตลักขณสูตร
พระมหาสีสยาดอ

เป็นดุจดวงจันทร์

ดวงจันทร์โคจรอยู่บนท้องฟ้า ไม่ทำความคุ้นเคย ความเยื่อใย ความรักใคร่ ความปรารถนาหรือความพยายามกับใคร. แต่จะไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของมหาชนก็หามิได้ฉันใด.

แม้พวกเธอก็เป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก เพราะไม่ทำความคุ้นเคยเป็นต้นกับใคร เป็นดุจดวงจันทร์ เข้าไปสู่ตระกูล ๔ มีตระกูลกษัตริย์เป็นต้นฉันนั้น.

จากอรรถกถา จันทูปมสูตร

กำหนดครั้งหนึ่ง ธรรม ๖ อย่างปรากฏ

กำหนดครั้งหนึ่งเราได้อะไรจากการกำหนดนั้น (ธรรม ๖ อย่างปรากฏ)

ขณะที่เรากำหนดครั้งหนึ่ง ธรรมะ ๖ ประการจะปรากฏแก่เรา ไม่ว่าจะรู้ไม่รู้ จะเห็นไม่เห็น เขาก็ปรากฏ อุปมาง่ายๆสมมติว่าเรายกมือขึ้น กำหนดว่ายกหนอ อาการที่ยกขึ้นมานี้เป็นอาการของธาตุอะไร

โยคีตอบว่า : เป็นอาการของธาตุลม
หลวงพ่อถาม : แล้วธาตุลมที่ปรากฏนี้เป็นของจริงหรือของไม่จริง

โยคีตอบว่า : เป็นของจริง อันนี้คือของจริงปรากฏใช่ไหม ?

หลวงพ่ออธิบายว่า :
ประการแรกก็คือ “ความจริงปรากฏ” การที่เราไปรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ชื่อว่าเราเห็นถูกหรือเห็นผิด เห็นถูกนะ เราเห็นตามความเป็นจริงหรือไม่จริง เห็นจริงนะ เป็นสัมมาทิฏฐิหรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง)

ประการที่ ๒ ก็คือ “รู้ตามความเป็นจริง” นี่ถูกต้องตามพุทธประสงค์ที่ต้องการให้เราเห็นตามความเป็นจริง
๑. ของจริงปรากฏ ๒. รู้ตามความเป็นจริง

ประการที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร “สามารถละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้” “สตฺตูปลทฺธึ ปชหติ”

ที่เราดูธาตุลมคือการเคลื่อนไหวนี่ ในการเคลื่อนไหวนี่มีคำว่าผู้หญิงผู้ชายคนสัตว์มีไหม ไม่มี นี่ไง สามารถละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้ทันที คำว่าผู้หญิงผู้ชาย แม่ พ่อ พี่น้อง ไม่มีนะ มีแต่ธาตุลมอย่างเดียว “อตฺต สญฺญํ อุคฺฆาเฏนฺติ” “สามารถถอนความรู้สึกเป็นเราได้ทันที” ตรงนี้มีคำว่าเรา อย่างโน้นอย่างนี้มีไหม ไม่มีนะ

นี่ไง ได้มาเท่าไรแล้ว ๑.ความจริงปรากฏ ๒.รู้ตามความเป็นจริง ๓.ละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้ ๔.ถอนความรู้สึกเป็นเราได้

๕.”สามารถขจัดความมืดคืออวิชชาได้” ขจัดได้อย่างไร
ปกติธาตุเขาปรากฏอยู่ แต่ว่าโมหะคืออวิชชา ทำให้เราเห็นธาตุโดยความเป็นคน เห็นทีไรเป็นอะไร เป็นมือ เห็นไหม ธาตุมีอยู่มองไม่เห็น แต่เห็นทีไรเป็นอะไร เป็นมือ อันนี้มันบังทำให้เราไม่เห็นความจริง แต่พอเราเจาะเข้าไปดูอาการของธาตุจริงๆ ตอนนี้ มันกันได้อยู่ไหม ไปเห็นอาการของธาตุลมปรากฏ เป็นของแท้ เราทะลุเข้าไปเลย ตัวที่โมหะที่มันบังไม่ให้เห็นธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม มันถูกขจัด ตัวขจัดความมืดนี้เอาอะไรไปขจัด เอาปัญญา ที่เรารู้ตามความเป็นจริงนั่นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปญฺญา โลกสฺมึ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” ฉะนั้น ปัญญาตัวนี้สามารถเกิดทันที กำหนดได้ทันที ขจัดความมือคืออวิชชาคือโมหะได้ทันที

ประการที่ ๖ เป็นไง “กันกระแสของอกุศลที่เกิดกับเรา” ทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับนี้ พอกำหนดอย่างนี้ปุ๊บ กระแสถูกตัดขาด ไม่ให้มีโอกาสสืบต่อกันได้อีก ช่วงที่กำหนดเท่านั้นนะ ถ้าไม่กำหนดเป็นไง ก็เหมือนเดิม เพราะอะไร เพราะเรายังไม่สามารขจัดอะไรได้สักอย่าง อันนี้แหละ เราจะกำหนดกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ปวดหนอ เห็นหนอ ยินหนอ อะไรก็แล้วแต่ ธรรม ๖ อย่างปรากฏทันที

ฉะนั้น เราจะรู้ไม่รู้ เราจะแยกเป็นแยกไม่เป็น เขาก็ปรากฏ ไม่ต้องไปคิดแยกเขา เขาปรากฏเลย ที่แยกนี้ก็เพื่อให้เราเห็นว่า โอ้ เรากำหนดครั้งหนึ่งไม่ใช่ไม่ได้อะไรนะ ได้เต็มที่ธรรม ๖ อย่าง ฉะนั้นให้มั่นใจตนเอง ดีใจตนเองว่าเราได้ ไม่ใช่ไม่ได้อะไร เข้าใจนะ ฉะนั้นไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจอะไร ว่าเอ..ไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่ใช่ เข้าใจนะ

………………………………
สรุป ธรรม ๖ อย่างปรากฏ

กำหนดครั้งหนึ่ง จะได้ธรรมอยู่ ๖ อย่าง คือ

๑. ความจริงปรารฏ
๒. รู้ตามความเป็นจริง
๓. ละความรู้สึกเป็นคนเป็นสัตว์ได้
๔. ถอดความรู้สึกว่าเป็นเราได้
๕. สามารถขจัดความมืดคืออวิชชาได้
๖. กันกระแสอกุศลไม่ให้ได้โอกาสเกิด (สร้างกุศล ทำกุศลให้เจริญ กันอกุศล)

ที่มา : ธรรมบรรยายหลวงพ่อประจาก

ความเบื่อโลก 2 ชนิด

ความเบื่อโลก 2 ชนิด
โดย พศิน อินทรวงค์

ความเบื่อโลกที่เราพูดๆ กันนั้นมีอยู่สองแบบ

1. เบื่อโลกเพราะอำนาจกิเลส (เบื่อแล้วรู้สึกหดหู่)

ลักษณะคือ จะเบื่อเมื่อการงานไม่ดี เบื่อเมื่อทะเลาะเบาะแวงกับผู้อื่น เบื่อเมื่อเจ็บป่วย เบื่อเมื่อผิดหวังในความรัก เบื่อเมื่อเสียเงิน หรือเบื่อในเวลาที่รู้สึกไม่ได้อย่างใจ แต่เมื่อเจอสิ่งที่รู้สึกพอใจเมื่อไหร่ใจก็จะฟูขึ้นมาอีก เมื่อเจอคนที่คิดว่าใช่ เมื่อได้เงินเพิ่ม เมื่อได้กินอาหารอร่อยๆ จากที่เบื่อๆ ความรู้สึกดีก็จะพุ่งสูงขึ้นมาอีก

ความเบื่อทำนองนี้ล้วนมีอยู่ในคนทั่วไป ที่จริงไม่ใช่อาการเบื่อโลก แต่เป็นอาการเบื่อชีวิตที่ไม่ได้ดังใจเสียมากกว่า ความเบื่อชนิดนี้ เมื่อเบื่อแล้วก็จะหาทางแก้เบื่อไปเรื่อยๆ เช่นออกไปเที่ยว ฟังเพลง ดูหนัง หาเพื่อนคุยด้วย ทำสิ่งบันเทิงต่างๆ เป็นความเบื่อที่มีผลทำให้จิตใจขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งเบื่อยิ่งพุ่งชนกิเลส ไม่ได้เป็นความเบื่อโลกที่ทำให้เข้าหาธรรมะแต่อย่างใด

2. เบื่อโลกเพราะอำนาจปัญญา (เบื่อแล้วรู้สึกเบิกบาน)

ลักษณะคือ จะรู้สึกเห็นโลกไปตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดๆ ล้วนไม่มีความแน่นอน ได้มาวันนี้ก็เสียไปวันหน้า ดีใจวันนี้ก็ทุกข์ใจวันหน้า ถูกชื่นชมวันนี้ก็อาจถูกนินทาในวันข้างหน้า เมื่อมีความผูกพันกับสิ่งใด ก็เห็นโทษของการเอาจิตไปผูกกับสิ่งนั้น

ความเบื่อในลักษณะนี้เป็นความเบื่อที่เกิดจากปัญญารู้แจ้ง จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ นำความจริงของชีวิตมาพิจารณาบ่อยๆ หรือเกิดจากการทำวิปัสสนาบ่อยๆ จนเกิดนิพพิทาญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ทำให้มนุษย์เห็นโทษภัยของการเวียนว่ายตายเกิด

เมื่อมนุษย์ผู้หนึ่ง เกิดความเบื่อหน่ายในระดับปัญญาแล้ว อารมณ์ต่างๆ ของบุคคลนั้น จะไม่ขึ้นสูงสุด ไม่ลงต่ำสุด แต่จะมั่นคงอยู่ในความเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ ไม่มีการลุกขึ้นไปทำสิ่งใดเพื่อหลบหลีความเบื่อหน่าย แต่จะใช้สติพิจารณาถึงที่มาที่ไป จนเห็นความจริงว่า จิตที่เคยหลงยึดสิ่งต่างๆ ได้คลายตัวเบาบางลงไป

ความเบื่อด้วยปัญญานี้ไม่ได้ทำให้เกิดความหดหู่ แต่ทำให้เกิดความเบิกบานใจว่าตนเองได้วางใจอยู่เหนือโลก พระพุทธเจ้าเรียกว่า เป็นผู้มีจิตตื่นจากโลก ความเบื่อโลกด้วยปัญญานี้ นำมาซึ่งความสนใจทางธรรม ทำให้บุคคลผู้นั้นมีกำลังใจในการปฏิบัติภาวนามากขึ้น ทำให้มีโอกาสยุติภพชาติได้ในภายหน้า

ความเบื่อแบบแรก ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าทำให้เกิด หรือเกิดน้อยที่สุด

ความเบื่อแบบที่สอง เป็นความเบื่อที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้ทำให้เกิดเพราะเมื่อเกิดแล้ว ก็จะมีความเท่าทันโลก ทำให้มีโอกาสได้พบกับความสุขที่แท้จริงต่อไป…

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ที่มา : เพจพศิน อินทรวงศ์

แนวทางปฏิบัติ ๔ อย่าง

การบรรลุธรรมด้วยประสบการณ์ของตนเอง

การระลึกถึงพระพุทธองค์หรือพระพุทธคุณเป็นสิ่งงดงามและสำคัญ แต่การได้เห็นธรรมเท่านั้นจึงจะทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นพระพุทธองค์ได้อย่างแท้จริง

ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นตถาคต”

การเจริญพุทธานุสสติที่แท้จริง หมายถึง การเจริญรอยตามพระยุคลบาท ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเท่านั้น จึงจะเป็นการสนองเจตนารมณ์อันเปี่ยมด้วยพระกรุณาธิคุณของพระพุทธองค์

เพื่อให้ได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัย ผู้ปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติตามแนวทาง ๔ อย่าง ที่แสดงไว้ในพระบาลีว่า

๑. สัปปุริสสังเสวะ : การคบหากับกัลยาณมิตร (มิตรดี ได้แก่ วิปัสสนาจารย์ และเพื่อนสหธรรมิก เป็นต้น) ผู้มีความรู้และสามารถสั่งสอนพระธรรม

๒. สัทธัมมัสสวนะ : การรับฟังพระธรรม คำสั่งสอนที่ถูกต้อง

๓. โยนิโสมนสิการ : การกระทำไว้ในใจอย่างแยบคาย รวมถึงการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการธำรงรักษาพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามในทุกๆ สถานการณ์

๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ : ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ทุกวันนี้คนจำนวนมากยังไม่คุ้นเคยกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และยังนำพระธรรมไปปฏิบัติได้อย่างไม่ถูกต้อง บุคคลเหล่านี้จึงตกไปจากหนทางที่ถูกต้อง

หากผู้ปฏิบัติยึดแนวทางทั้ง ๔ ข้างต้น อย่างระมัดระวัง การปฏิบัติธรรมก็จะส่งผลอย่างคุ้มค่า หาไม่แล้วผู้ปฏิบัติอาจสูญเสียโอกาสอันล้ำค่าที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ไปอย่างน่าเสียดาย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ “ความงามแห่งจิต”
สยาดอ อู บัณฑิตะ

เมื่ออยู่ในดงของกิเลส

ถ้าอกุศลอันใดอะไรเกิดขึ้นมาอย่าไปพุ่งออกไปข้างนอก รีบระงับกำหนดให้มันดับ ดับแล้วค่อยพูดค่อยทำ ช่วงที่อกุศลมันกำเริบอยู่นี่อย่าไปพูด อย่าไปทำ อย่าไปคิดต่อ ต้องระงับก่อน เราต่างคนต่างอยู่ในวงของนักปฏิบัติด้วยกัน เราก็ไม่มีการทะเลาะวิวาทเบาะแว้ง ไม่ได้ไปโกรธคนนี้เพราะต่างคนต่างพยายามข่มกิเลสของตัวเอง สร้างสติให้เกิดกับตัวเอง ฉะนั้นการทะเลาะเบาะแว้งไม่มีโอกาส เพราะเราทะเลาะเบาะแว้งกับกิเลสของเรา วันๆ หมดไป ไม่ต้องไปทะเลาะกับคนอื่น

แต่ว่าเราออกไปจากนี้ต้องเข้าใจว่าเราไปสู่ดงของกิเลส ในครอบครัวของเราก็ตาม ในที่ทำงานก็ตาม คนที่เราไปอยู่ด้วยมีกิเลสด้วยกัน ถ้าเขาได้รับการอบรม ก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนไม่ได้รับการอบรมมีเยอะ เวลาเขาจะแสดงออกมาเขาก็จะแสดงเต็มที่ มีอะไรแสดงออกมาเต็มที่

ที่นี้ของเราได้รับการอบรม เราไปอยู่กับกิเลสของคนที่ไม่ได้รับการอบรม ยิ่งถ้าเราไม่ระวังตัวให้ดี ระวังเราจะตามกิเลสเขาไป เราต้องรู้ว่าออกไปนี่เราต้องไปสู่ดงกิเลส แต่กิเลสของเขากับกิเลสของเรา กิเลสของเราดีกว่าเขาหน่อย กิเลสของเขาไม่ดี กิเลสของเราดีกว่าเขา เพราะกิเลสของเราได้รับการอบรม ว่านอนสอนง่าย กิเลสของเขาหยาบ เพราะไม่ได้รับการอบรม มีอะไรมันก็ออกมาเต็มที่เลย

แต่ของเราพอเกิดขึ้นปุ๊บเรารีบระงับเลย โกรธหนอๆ ไม่พอใจหนอๆ จนดับพร้อมกัน พอดับแล้วเราสงบแล้ว เราเยือกเย็นแล้ว คนอื่นที่อยู่กับเราจะร้อนไหม ไม่ร้อน

แต่ถ้าร้อนแล้วเป็นไง เราก็ร้อนเขาก็ร้อนไปด้วย แต่ถ้าเราสงบเยือกเย็นแล้ว ไม่มีอะไรร้อนไปกับเรา เพราะเราสงบเยือกเย็น แต่ของคนอื่นเขาไม่ระงับนี่ มีอะไรก็ชี้หน้าว่า ฉอดๆๆๆ อย่างนี้ เสร็จเลย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

ตั้งสติตั้งแต่ตื่นจนถึงเราหลับ

ฉะนั้น อาจารย์ให้คติแก่โยคีว่ากลับไป เรามาฝึกอบรมใจ จุดสำคัญที่สุดในตัวของบุคคลเราก็คือ ใจ

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็รักษาใจของเราโดยการสร้างสติตามในสติปัฏฐานสี่ อย่างทิ้งการกำหนด เราออกไป
แล้ว เราจะต้องไปสู่ในกลุ่มของบุคคลที่มีกิเลสด้วยกัน เราต้องระวัง

ระวังตั้งแต่ตื่นมา ตั้งสติตั้งแต่ตื่นมา จนถึงเราหลับ เราตั้งไว้ก่อน รู้จุดสำคัญมันอยู่ตรงนี้ อันนี้คิดว่าโยคีทั้งหลายคงจะนำธรรมะที่ได้จากการปฏิบัติ และแนวทางที่องค์สมเด็จได้ทรงตรัสไว้ นำไปเป็นหลักชีวิต ประพฤติปฏิบัติแล้วต่อไปเราก็จะได้ทำจิตใจของเราให้สูงขึ้น ผลที่สุดเราก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ตามความตั้งใจของเราเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

จงเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส อย่าเห็นกิเลสโดยความเป็นคน

เราไปกิเลสโดยความเป็นคน มันถึงยุ่ง ถ้าเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลสละไม่ยุ่ง เพราะอะไร

เพราะเราดูว่าโทสะที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าเกิดกับเรากับเขามันก็มีสภาพเหมือนกัน มันไม่ได้ต่างกัน แต่ตอนนี้กิเลสโทสะได้โอกาสเกิดกับรูปนามนั้นมันก็ต้องแสดงกาย วาจา ใจ ไปตามลักษณะของเขา เวลาคนอื่นเขาโกรธ เขาด่าฉอดๆๆๆ

นี่เราเห็นว่าเขาไม่ดีแต่เวลาที่เราโกรธขึ้นมา เราด่าคนอื่นฉอดๆๆ เราว่ายังไง ว่าเราดีนะ ” แหม เขาด่าคำเราด่าสอง เราเก่งกว่าเขาอีก ” คนในโลกเขาถือกันอย่างนั้นนะ

ที่นี้พอเรารู้จักธรรมะแล้วว่า อ๋อ สภาพของกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ความอิจฉา ความริษยา ก็แล้วแต่ ได้โอกาสเกิดกับใคร มันก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น มันต้องทำให้จิตใจ รูปนามของคนนั้นเป็นไปอย่างนั้น เกิดกับเราก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเราต้องเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส อย่าเห็นกิเลสโดยความเป็นคน

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

ประโยชน์ของการเก็บวาจา

ความเงียบ หรือ “การเก็บวาจา” เป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งของการอบรมกรรมฐาน

การไม่พูดเป็นส่วนหนึ่งของ “วาจา” ที่บริสุทธิ์ ที่เป็นประโยชน์มากในการลดความวุ่นวาย ความเดือดร้อนภายในจิต ซึ่งเป็นความหมายของความบริสุทธิ์ภายใน

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การมีสติกำหนดรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความสงบภายใน

สยาดอ อู บัณฑิตะ
จากหนังสือ “ความงามแห่งจิต”
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จงออกไปประจัญหน้ากับศตรูและต่อสู้เถิด

อาตมาอยากเตือนผู้เข้ากรรมฐานว่า

ท่านทั้งหลายกำลังอยู่ในแนวหน้าของสงครามแห่งการเผชิญหน้าอยู่กับกิเลส หากไม่ต่อสู้ก็คงจะถูกกิเลสย่ำยีเอาได้ ดังนั้นในฐานะแม่ทัพ อาตมาจึงขอกล่าวว่า

“จงออกไปประจัญหน้ากับศตรูและต่อสู้เถิด”

สยาดอ อู บัณฑิตะ
จากหนังสือ “ความงามแห่งจิต”
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

พลังแห่งอินทรีย์สังวร

พลังแห่งอินทรีย์สังวร

การเจริญอินทรียสังวรเป็นเครื่องมือต่อสู้กับกิเลสที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ อินทรียสังวรมิได้หมายถึง การทำชีวิตให้ด้านชาหรือเป็นดั่งคนที่ตายแล้ว แต่เป็นการเฝ้าระวังอายตนะทั้งหกให้ดี เพื่อมิให้จิตใจโลดแล่นออกไปสู่ความฝันเฟื่อง ความคิด การวางแผนงานใหญ่น้อยทั้งหลาย

ความจริงสติก็คือเหตุที่ทำให้อินทรียสังวรเกิดขึ้นนั่นเอง ทุก ๆ ขณะที่เรามีสติ จิตใจจะได้รับการป้องกันมิให้ความโลภ ความโกรธ และความหลงพลุ่งพล่านขึ้นได้ หากเราระมัดระวัง ในที่สุดจิตก็จะอ่อนโยนลง และพึงพอใจที่จะไม่โลดแล่นออกไปสู่อันตรายจากการจู่โจมของกิเลสได้

ทั้งนี้เราต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่ออารมณ์มากระทบ เราก็ต้องกำหนดอารมณ์นั้นทันทีตามความเป็นจริง เราต้องทำให้การเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน สัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส รู้รสก็สักแต่ว่ารู้รส และคิดก็สักแต่ว่าอาการคิด

กระบวนการรับรู้เหล่านี้ควรที่จะชัดเจน ง่ายๆ และไม่มีการคิดนึกปรุงแต่ง หรือถูกครอบงำด้วยกิเลส หากสติสมบูรณ์ อารมณ์จะกระทบแล้วผ่านไป โดยไม่มีความคิด หรือปฏิกิริยาใด ๆ มีแต่กระบวนการตามธรรมชาติของอารมณ์เท่านั้น ไม่ว่าเราจะต้องกระทบกับอารมณ์อย่างไร เราจะปลอดภัยจากความชอบหรือความชัง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ข้อความจากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๕ วิปัสสนาฌาน
โดย… ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ

ปัจจุบันสำคัญที่สุด

ประสบการณ์จากชาดกเรื่องฤๅษีเตมีย์ใบ้

ชาดกเรื่องเตมีย์ เป็นเรื่องของพระโอรสกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า เตมีย์ เจ้าชายผู้นี้ไม่เคยตรัสถ้อยคำใดๆ เลยตั้งแต่ประสูตรมา พระบิดาจึงทรงรู้สึกอับอายที่มีพระโอรสใบ้ ถึงกับมีรับสั่งให้สารถีราชรถผู้หนึ่งนามว่า สุนันทะ นำพระโอรสออกไปจากพระนครแล้วให้ประหารเสีย

เมื่อออกมาภายนอกพระนครแล้วเจ้าชายเตมีย์ทอดพระเนตรเห็นสารถีนั้นกำลังขุดหลุมจะฝังพระองค์ จึงทรงพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะต้องแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าพระองค์มิได้ทรงเป็นใบ้ จึงเสด็จเข้าไปตรัสกับสารถีให้เดินทางกลับไปเสียเถิด แล้วให้กราบทูลความจริงเรื่องนี้กับพระราชบิดาและพระราชมารดาด้วย ส่วนพระองค์เองก็เสด็จต่อเข้าไปยังป่าลึกผนวชเป็นฤๅษี แล้วเจริญสมาธิในป่านั้น

สี่วันต่อมา พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ได้เสด็จเข้ามายังป่านั้นเพื่อพบพระโอรส ทั้งสองพระองค์ได้พบเจ้าชายเตมีย์ในชุดฤๅษี ที่ทรงผ้าหยาบๆ ประทับอยู่หน้ากระท่อมเล็กๆ ที่มุงด้วยใบไม้ ฤๅษีเตมีย์ได้นำผักสดและผลไม้ซึ่งเป็นอาหารที่ฤๅษีพอจะหาได้ในป่าออกมาถวายแด่พระราชบิดาพระราชมารดา ทั้งสอง

พระองค์ทรงพิจารณาทั้งอาหารและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของพระฤๅษี แล้วกลับไม่เข้าพระทัยว่า เหตุใดใบหน้าของฤาษีกลับอิ่มเอิบด้วยความสุขและแสดงถึงสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์

ทั้งสองพระองค์จึงตรัสถามว่า “ลูกรัก เหตุใดหลังจากเสวยอาหารที่ขาดความประณีตและไม่มีประโยชน์เช่นนี้ ลูกกลับมีใบหน้าอิ่มเอิบ เปี่ยมด้วยความสุข สดชื่น และผ่องใสเช่นนี้เล่า”

คำตอบของฤาษีเตมีย์นั้นควรแก่การจดจำเป็นอย่างยิ่ง

ฤๅษีเตมีย์ได้ทูลตอบเป็นภาษาบาลีว่า

อตีตํ นานุโสจามิ นปฺปชปฺปามนาคตํ
ปจจุปฺปนฺเนน ยาเปมิ เตน วณฺโณ ปสีทติ.

แปลว่า :

“ข้าพระองค์ไม่เคยนึกถึงเรื่องราวในอดีตด้วยความกังวลเศร้าสลดหรือทุกข์ร้อนอันใด และไม่เคยนึกถึง อนาคตด้วยความคาดหวัง ไขว่คว้าทะยานอยาก หรือรอคอย ข้าพระองค์เพียงดำรงชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ แล้วปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ ร่างกายของข้าพระองค์จึงมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดี ใบหน้าจึงผ่องใส อิ่มเอิบ”

ฤาษีเตมีย์ดำรงชีวิตตามวิถีทางดังกล่าวนี้ด้วยโยนิโสมนสิการ มีมุมมองชีวิตที่ถูกต้อง แล้วปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี จึงดูสดชื่น ผ่องใส และแข็งแรง

 

ผู้มิได้อบรม ไม่สามารถคิดเช่นนั้นได้ จึงไร้ความสุข

ฤาษีเตมีย์ได้กล่าวต่อไปเป็นภาษาบาลีว่า

อนาคตปฺปชปฺปาย อตีตสฺสานุโสจนา
เอเตน พาลา สุสฺสนฺติ นโฬว หริโต ลุโต

แปลว่า :

ผู้มิได้อบรมไม่สามารถจะอยู่กับปัจจุบันได้ จึงมักหลงอยู่กับอดีตด้วยความกังวลเศร้าสลดเสียใจ และหลงไปกับอนาคตด้วยความหมกมุ่นคาดหวังตามแรงปรารถนา ด้วยเหตุนั้น เขาจึงดูอ่อนแอ ไร้ความสุข

ปัจจุบันสำคัญที่สุด

แต่บางครั้ง การคำนึงถึงปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาในอดีต แล้วใช้เป็นบทเรียนสำหรับการวางแผน อนาคต ก็เป็นสิ่งพึงกระทำเพื่อความไม่ประมาท แต่เราไม่ควรมกมุ่นครุ่นคิดถึงอดีตด้วยความเศร้าสลดหดหู่ใจกับความน่าจะมีหรือน่าจะเป็น หรือวาดหวังกับอนาคตด้วยความมุ่งมาดปรารถนาถึงสิ่งที่อยากให้มีให้เป็นในวันหน้า

พึงระลึกไว้เสมอว่า“วันนี้” สำคัญยิ่งกว่า “วันวาน” หรือ“วันพรุ่งนี้” ดังนั้น การคิดในแง่บวกหรือมองโลกในแง่ดีจึงสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้

พึงจำไว้เสมอว่า “จงอยู่กับวันนี้” หรือ “พึงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน”เสมอ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ เห็นถูกเป็นสุขได้
พระอาจารย์เชมเย สยาดอ

โลภะ ไม่มีขอบเขต

โลภะหรือความทะยานอยากของ มนุษย์นั้นมักไม่มีขอบเขต หากเราปล่อยให้ความ ปรารถนาอยากมีอยากได้ของเราเกิดขึ้นโดยไม่ใส่ใจระมัดระวังแล้ว ความทะยานอยากนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ อย่างไร้การควบคุม เมื่อนั้น ความพึงพอใจ ความพอเพียง และความสุขย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องพึงพอใจแต่เฉพาะ สิ่งที่มี จนนิ่งดูดาย ไม่ขวนขวายทำชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม คือ ไม่มีความกระตือรือร้นหรือความมุ่งมั่นใดๆทั้งสิ้น

ที่ถูกต้องแล้ว เราควรพอใจในสิ่งที่เราพึงมีพึงได้ตามสถานะ เมื่อเราได้พากเพียรพยายามอย่างดีที่สุดแล้วเท่านั้น

คนเราต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพอยู่ตลอดทั้งชีวิต จึงไม่มีใครรอดพ้นจากโลภะได้อย่างแท้จริง ความดิ้นรนทะยานอยากที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็แตกต่างกันไป ตามสถานการณ์ของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม คนเราก็ควรจะจำกัดขอบเขตความโลภนี้ไว้ อย่าให้ล่วงล้ำออกไปเกินความเหมาะสมได้ หากเพียงแต่เราจะเริ่มเรียนรู้ที่จะ ควบคุมความทะยานอยากไว้ มิให้มากเกินความพอดี และพยายามพึงพอใจในสิ่งที่เราทำได้หาได้ เพียงเท่านี้เรา ก็พบกับความสุขได้แล้ว

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ เห็นถูกเป็นสุขได้
พระอาจารย์เชมเย สยาดอ

พึงใส่ใจกับการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

การอยู่กับปัจจุบัน…หนึ่งในวิถีสู่ความสุข

อีกวิธีหนึ่งที่จะนำความสันติสุขมาสู่ชีวิตก็คือ
๐ ไม่พึงคำนึงถึงอดีตด้วยความเศร้าหมอง
๐ ไม่พึงคาดหวังกับอนาคตมากจนเกินไป
๐ พึงใส่ใจกับการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

กล่าวโดยสรุป การดำรงชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่าง เหมาะสม เป็นหนทางหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความพึงพอใจใน สิ่งที่ตนมีและความสุขในชีวิต

มนุษย์ทุกคนได้ดำเนินชีวิตผ่านอดีตมาแล้วและ ยังมีอนาคตรอคอยอยู่เบื้องหน้า แต่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น ที่เรากำลังดำรงชีวิตอยู่จริงๆ

สำหรับคนส่วนใหญ่ ความทรงจำถึงอดีตอาจเต็มไปด้วยความขมขื่นและขวากหนาม แล้วก็มักจะฝังใจจำแต่อดีตที่ขื่นขมนั้น ขณะเดียวกัน หนทางในอนาคตก็ยังไม่ แน่นอน ปราศจากความมั่นใจว่าชีวิตจะราบรื่น

เมื่อหวนคิดถึงอดีต คนเรามักจะจดจำแต่เฉพาะช่วงเวลาที่ขมขื่น เป็นทุกข์มากกว่าจะคิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุข และเมื่อคาดหวังถึงอนาคต คนเราก็มักวาดฝันอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้จะวางแผนอนาคตไว้อย่างรอบคอบปานใด ก็ไม่มีทางที่ใครจะรับประกันได้ว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตรงตามแผนการทั้งหมด

ความกังวลกับสิ่งเหล่านี้ย่อมนำทุกข์มาให้ ซ้ำร้าย เมื่ออนาคตยังมาไม่ถึง ไม่มีอะไรที่ชัดเจน ความกังวลอยู่ กับสิ่งที่ไม่มีทางรู้ได้ย่อมก่อให้เกิดทุกข์

 

พึงใส่ใจกับการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด

เราอาจจะถามตัวเองก็ได้ว่า การดำเนินชีวิตในปัจจุบันนี้ของเราปลอดโปร่งจากอุปสรรคและปัญหาใดๆ หรือไม่ หากเราพิจารณากระบวนการตามธรรมชาติของ โลก (ชีวิต) แล้ว เราก็จะพบว่าคนส่วนมากมีชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหา

เมื่อชีวิตประกอบด้วยปัญหา เราย่อมไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา หรือหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงควรพยายาม จัดการกับปัญหาที่ต้องเผชิญอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความกล้าหาญ และด้วยความพากเพียรอดทน อีกทั้งพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ เพื่อให้ปัญหานั้นลุล่วงไปได้อย่างดีที่สุด

การรู้จักเผชิญปัญหาด้วยท่าทีที่ชาญฉลาดเช่นนี้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะวิกฤติขนาดไหน เราก็สามารถจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดก็ตาม การวางใจว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายย่อมยังมีสิ่งดีๆ ปะปนอยู่ จะช่วยให้สถานการณ์ดูดีขึ้นได้ และช่วยให้เราอดทนฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปได้ด้วยดี

ธรรมนี้ในภาษาบาลีเรียกว่า โยนิโสมนสิการคือ การวางใจโดยแยบคาย หมายถึง การมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง กระบวนการของความคิดแบบนี้จะช่วยให้เรารู้จักมองเห็นด้านดีของสรรพสิ่ง อันจะช่วยให้เรารู้สึกเป็นสุขยิ่งขึ้น ความคิดหรือมุมมองโลกแบบนี้จะช่วยให้เราอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น และเป็นสุขมากขึ้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ เห็นถูกเป็นสุขได้
พระอาจารย์เชมเย สยาดอ

บุคคล ๔ จำพวก : ฟ้าร้อง ฝนตก

บุคคล ๔ จำพวก

๐ บุคคลเหมือนฟ้าร้องฝนไม่ตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้พูดแต่ไม่ทำ อย่างนี้เป็นคนเหมือนฟ้าร้องฝนไม่ตก ฟ้านั้นร้องแต่ฝนไม่ตก แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น

๐บุคคลเหมือนฝนตกฟ้าไม่ร้อง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทำแต่ไม่พูด อย่างนี้เป็นคนเหมือนฝนตกฟ้าไม่ร้อง ฝนตกฟ้าไม่ร้องแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น

๐บุคคลเหมือนฟ้าร้องฝนตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้พูดด้วยทำด้วย อย่างนี้เป็นคนเหมือนฟ้าร้องฝนตก ฟ้าร้องฝนตกแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น

๐ บุคคลเหมือนฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดไม่ทำ อย่างนี้เป็นคนเหมือนฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก ฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตกแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระอภิธรรมปิฎก
ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์

ไม่กล่าวเท็จแม้เพราะใคร่จะเล่น

ผู้กล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่จะไม่ทำบาปไม่มี
ฉะนั้นเธอพึงศึกษาว่า

เราจักไม่กล่าวเท็จ
แม้เพราะหัวเราะ
แม้เพราะใคร่จะเล่น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จูฬราหุโลวาทสูตร

บุคคลไม่พึงแลดูกิจของชนอื่น

บุคคลไม่พึงใส่ใจคำแสลงหูของชนเหล่าอื่น
ไม่พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของชนเหล่าอื่น

พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
คาถาธรรมบท
ปุปผวรรค

พาลวรรค : ผู้ใดเป็นพาล

ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้
ด้วยเหตุนั้น ผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง

ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นพาล

ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต
เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้น

ถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง
ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น…

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากคาถาธรรมบท
พาลวรรค

ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ก่อนที่ความตายจะมาฉุดคร่าเอาชีวิตไป

ความพยายามให้มีอายุยืนด้วยการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมต่อไปได้นานกว่าอายุขัยปกติ ถือว่าไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธองค์ เพราะถ้าหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ เขาก็จะตัดความยึดมั่นถือมั่นผูกพันต่างๆ แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยความขยันขันแข็งอย่างเต็มที่

แต่ก็มีพวกที่เชื่อว่าหากตนจะมีชีวิตยืนยาวก็จะสามารถปฏิบัติธรรมด้วยจิตที่สงบ ในเรื่องนี้มีความเห็นต่างๆ กัน แต่เราไม่เชื่อว่าการทำให้ชีวิตยืนยาว จะทำให้สามารถปฏิบัติธรรมได้นานขึ้น ทั้งนี้เพราะว่า บุคคลที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในปัจจุบันเพราะหวั่นเกรงความตายที่จะมาถึงอยู่ทุกขณะ จะพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อให้บรรลุธรรมโดยเร็วก่อนที่ความตายจะมาฉุดคร่าเอาชีวิตไป แต่ถ้าคนเรามีอายุยืนเป็นพันปี ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจที่จะอุทิศตนพยายามปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง

คนบางพวกแม้ในขณะที่ปฏิบัติธรรมก็ไม่ตั้งใจอย่างเต็มที่ กลับปล่อยใจให้คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องต่างๆ เช่น สิ่งที่จะทำหลังออกกรรมฐาน และเงินทองทรัพย์สมบัติที่จะได้มาจากการประกอบธุรกิจ เป็นต้น ทำให้ต้องเสียเวลาอันมีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์

ภิกษุที่พากันปีนหน้าผาขึ้นไปบนยอดเขา ได้ผลักพะองที่เป็นบันไดขึ้นให้ตกหน้าผาไป ให้เหลือเพียงวิธีเดียวที่จะรอดชีวิต คือ ต้องปฏิบัติธรรมอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเพื่อให้บรรลุมรรคผล มิฉะนั้น ก็จะต้องตายอยู่บนยอดเขานั้น ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุอรหันต์ พร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

กำหนดรู้สภาวธรรมโดยเริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ชัดก่อน

สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่อาจไม่สามารถกำหนดสภาวธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด จึงควรกำหนดสภาวธรรมที่เห็นได้ชัดก่อน ดังข้อความว่า

“ยถาปากฏฺ วิปสฺสนาภินิเวโส.”
“ควรเจริญวิปัสสนา ตามอารมณ์ที่ปรากฏชัดเจน”

เราสามารถกำหนดรู้สภาวธรรมโดยเริ่มจากสิ่งที่เห็นได้ชัดก่อน โดยทั่วไปการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ปรากฏชัด เห็นได้ง่าย ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า ควรเริ่มกำหนดรู้รูป (กาย) ก่อน ให้เริ่มจาก มหาภูตรูป ๔ ที่ประกอบอยู่ในร่างกาย โดยกำหนดรู้รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในมหาภูตรูป ๔ ก็ได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในสติปัฏฐานสูตร ได้แสดงถึงการกำหนดวาโยธาตุไว้ว่า “คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ” เป็นต้น จึงควรเริ่มด้วยการกำหนดรู้วาโยธาตุ คือธาตุลมเป็นอันดับแรก

เวลานั่งอยู่นิ่งๆ ก็กำหนดรู้ว่า “นั่งหนอ” โดยรับรู้ความตึงของวาโยธาตุ ที่ทำให้ร่างกายตั้งตรงอยู่ได้ แต่หากกำหนดรู้การนั่งเพียงอย่างเดียว สมาธิก็จะมีกำลังมากกว่าวิริยะ และทำให้วิริยะอ่อนลง จึงขอแนะนำว่าในขณะนั่งกรรมฐาน แทนที่จะกำหนดรู้การนั่งเพียงอารมณ์เดียว ผู้ปฏิบัติควรกำหนด การพองและยุบของท้องซึ่งเกิดจากความกดดันของลมในท้องร่วมไปด้วย

ดังนั้น เมื่อท้องพองขึ้น ให้กำหนดว่า “พองหนอ” เมื่อท้องยุบลง ให้กำหนดว่า “ยุบหนอ” ควรกำหนดโดยบริกรรมในใจ ไม่ต้องออกเสียง จุดประสงค์คือให้ผู้ปฏิบัติรับรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้น เราอาจใช้คำว่า “กำหนดรู้” “ระลึกรู้” “รู้” หรือ “ใส่ใจ” ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกัน

บางคนตั้งกฎเกณฑ์ว่า “ไม่ควรบริกรรมอย่างนั้น” หรือ “ควรบริกรรมอย่างนี้” แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ “ให้รับรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้น” การบริกรรมว่า “รู้หนอ” เพื่อแสดงการรับรู้ หรือ หากจะบริกรรมว่า “พิจารณาหนอ” ก็เพื่อแสดงการรับรู้เหมือนกัน การบริกรรมเป็นการแสดงถึงการรับรู้ ถ้าบริกรรมว่า “คิดหนอ” ก็เป็นการรับรู้ว่ามีความคิดเกิดขึ้น คำเหล่านี้มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ในที่นี้ เราจะใช้คำว่า “กำหนดรู้” เพื่อให้เข้าใจง่าย

เมื่อท้องพองให้กำหนดรู้ว่า “พองหนอ” ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดการพอง และเมื่อท้องยุบให้กำหนดรู้ว่า “ยุบหนอ” ไม่พึงบังคับจังหวะการหายใจให้เปลี่ยนไป ควรหายใจปกติ ไม่พึงหายใจให้ช้าลง หรือเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องหายใจแรงๆ แต่พึงหายใจตามปกติ เพียงกำหนดรู้ตามไปในขณะที่หายใจเท่านั้น

การปฏิบัติวิปัสสนาหมายถึง ไม่กำหนดรู้สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยสร้างหรือทำให้เกิดขึ้น แต่หมายถึงเป็นการกำหนดรู้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและดับไปตามปกติ

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะกำหนดรู้สภาวะพองขึ้นของท้องในขณะท้องพอง และสภาวะของยุบในขณะท้องยุบ หากจิตล่องลอยไป ในขณะกำหนดรู้ ก็ให้กำหนดรู้การล่องลอยของจิตด้วยการกำหนดว่า “ใจลอยหนอ” ถ้าใจลอยไปถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ให้กำหนดว่า “คิดถึงหนอ” ถ้าคิดวางแผนก็ให้กำหนดว่า “วางแผนหนอ” หรือ “คิดหนอ” การกำหนดรู้ทำได้ไม่ยากเลย เรียกว่า “จิตตานุปัสสนา” หลังจากนั้นให้มากำหนดรู้สภาวะพองยุบของท้องต่อไป

หากรู้สึกเมื่อย ร้อน หรือ เจ็บปวด ก็ให้กำหนดความรู้สึกนั้นๆ ด้วย ถ้าเมื่อยให้กำหนดว่า “เมื่อยหนอ” โดยพุ่งจิตไปยังจุดที่ๆ รู้สึกเมื่อย ถ้ารู้สึกร้อนให้กำหนดว่า “ร้อนหนอ” ส่งใจไปยังบริเวณที่รู้สึกร้อน ถ้ารู้สึกเจ็บให้กำหนดว่า “เจ็บหนอ” นี้เรียกว่า “เวทนานุปัสสนา” หลังกำหนดรู้เช่นนั้นแล้ว ให้กลับมากำหนดสภาวะพองยุบของท้องอย่างเดิม

ถ้าได้ยินเสียงให้กำหนดว่า “ได้ยินหนอ” แล้วกลับมากำหนด สภาวะพองยุบของท้องต่อไป

การกำหนดเพียงอารมณ์เท่านี้ในการนั่งเพียงชั่วครู่ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีที่นั่งกรรมฐานตลอดทั้งวัน ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดสภาวะเหยียดหรือคู้ และสภาวะเคลื่อนไหวอื่นๆ ของร่างกายด้วย พึงกำหนดรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด การกำหนดรู้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นขณะนั่งแต่ละครั้งนี้ เป็นเพียงการลิ้มรสธรรมะเท่านั้น คล้ายกับการลิ้มรสเกลือ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หมายเหตุ :
มหาภูตรูป คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานของรูปทั้งหลาย มี ๔ ได้แก่ ธาตุดิน (ปฐวีธาตุ) ธาตุน้ำ(อาโปธาตุ) ธาตุไฟ (เตโชธาตุ) ธาตุลม (วาโยธาตุ)

หนังสือ สอบอารมณ์ ส่งอารมณ์

หนังสือ สอบอารมณ์ ส่งอารมณ์
คู่มือเพื่อความเข้าใจในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
พระครูภาวนาสมณวัตร วิ. (ประจาก สิริวณฺโณ)
ดาวน์โหลด : >>> คลิกที่นี่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อนุโมทนากถา

เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่า การสอบอารมณ์นั้นจะเป็นเหตุให้ นักปฏิบัติต้องเกิดความวิตกกังวลหวาดกลัวต่อการสอบอารมณ์

เมื่อก่อนได้แต่นึกว่า นักปฏิบัติคงเข้าใจเกี่ยวกับการน้อมใจ ส่งใจไปดูอาการต่างๆ ของกายของธาตุแล้ว

เมื่อก่อนนึกในใจว่า นักปฏิบัติคงเข้าใจเกี่ยวกับระยะการเดิน จงกรมว่านำเอาอะไรมาจัดเป็นระยะ๑ เป็นต้นแล้ว

ภายหลังได้ทราบความเป็นจริงว่านักปฏิบัติหาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีการสอบอารมณ์ใหม่ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม

อาศัยความเมตตาของท่านอาจารย์พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโตที่มีต่อนักปฏิบัติธรรม จึงได้ทำการถอดเทปในการสอบอารมณ์ออก มาจัดเป็นรูปเล่มหนังสือแจกจ่ายแก่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ศึกษาไว้ก่อนการปฏิบัติ จะได้ช่วยให้นักปฏิบัติได้เกิดความเบาใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง

อนุโมทนากถา และได้อาศัยความเมตตาปรารถนาดีจากคุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา และคณะ ได้ทำการเรียบเรียงออกมาพร้อมทั้งได้ช่วยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดพิมพ์อีกด้วย

จึงขออนุโมทนาสาธุการในกุศลเจตนาอันดีงามของท่านทั้งหลายไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ขอให้ท่านทั้งหลายผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ให้สำเร็จด้วยกำลังกาย-ใจ และกำลังทรัพย์ จงเป็นผู้รู้ธรรม เห็นธรรม บรรลุธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาบุคคล รู้ได้ไว สะดวกสบายด้วยกันทุกๆ ท่านเทอญ

ปญฺญา โลกสฺมึ ปชฺโชโต

พระครูภาวนาสมณวัตร วิ.
(ประจาก สิริวณฺโณ)

…………………………………………………….

บทนำ

ผู้ปฏิบัติธรรมใหม่ๆ มักจะสงสัยคำว่า ‘สอบอารมณ์’ และ ‘ส่งอารมณ์’ ว่าคืออะไร เขาทำอะไรกัน เมื่อไม่รู้ก็พาลจะกังวลวุ่นวายใจ แม้แต่บางคนที่พอรู้คร่าวๆ ก็กังวลหนักใจ ใจเต้นจนไม่เป็นอันปฏิบัติ เพราะกลัวการ ‘สอบอารมณ์’ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ปฏิบัติมือเก่า แล้วแต่ยังส่งอารมณ์ไม่เป็นก็มีอยู่ไม่น้อยเลย จึงได้ดำริจัดทำหนังสือ เล่มน้อยนี้ขึ้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าใจว่า ที่เรามา ‘สอบอารมณ์’ นี้เป็นอย่างไร จะได้ไม่ต้องหนักใจ เกิดความ เบาใจในเรื่องการสอบอารมณ์เสียที

คำว่า ‘ส่งอารมณ์ เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะมา รายงานการปฏิบัติของตนเองให้ครูบาอาจารย์ฟัง โดยเล่าตามที่ เราประพฤติปฏิบัติมา ว่าขณะที่ปฏิบัตินี้เราไปรู้ไปเห็นมาอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนเราไปเห็นปากกามาด้ามหนึ่ง แล้วเล่าต่อให้เพื่อนฟังว่า “ปากกา มีรูปร่างเป็นแท่งกลมๆ มี ๒ สี สีขาวใสกับสีม่วงมีที่เปิดอยู่ข้างบน ที่ปิดอยู่ด้านข้าง” ที่เราสามารถเล่าให้เพื่อนฟังได้ ก็เพราะเราเคยเห็นมาแล้ว จึงไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องเล่าให้เพื่อนฟัง

เช่นเดียวกันกับการที่เราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ตามดูอาการเคลื่อนไหวของเท้า ยกขึ้นมารู้สึกหนักเบาอย่างไร เวลาย่างรู้สึก มีลมพัดผ่านอย่างไร เหยียบลงสัมผัส รู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็งอย่างไรเราก็เล่าตามที่เราไปรู้ไปเห็นมาให้ครูบาอาจารย์ฟัง ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไร

ฉะนั้น การส่งอารมณ์จึงไม่ใช่เรื่องต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องที่เราไปรู้ไปเห็นมา แล้วมาเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟังเท่านั้นเอง

คำว่า ‘สอบอารมณ์ เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์ ท่านจะสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติของโยคีว่าเป็นอย่างไร กำหนดอย่างไร กำหนดแล้วมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นอย่างไรบ้าง ครูบาอาจารย์จะสอบถาม เพื่อสอบทานว่าเราปฏิบัติได้ถูกผิดอย่างไร จะได้ช่วยแก้ไขหรืออธิบายเพิ่มเติม หากเรายังเข้าใจไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ก็เพื่อเกื้อหนุนการปฏิบัติของเรานั่นเอง เมื่อครูบาอาจารย์สอบถามมา เราก็ตอบท่านไป มีเท่านั้นเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ศรัทธากับปัญญา

ในการบรรยายที่แห่งหนึ่ง ผมได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมชาวพุทธไทยเราส่วนมากจึงต้องการกันนัก ต้องการหนาเรื่องเหรียญหรือวัตถุมงคล ซึ่งต้องทำต้องซื้อหาด้วยราคาแพง

เช่นวัตถุหรือเหรียญที่ทำด้วยทองคำ เป็นต้น เขานับถืออะไรกันแน่ เขานับถือทองคำหรือว่าคำสอน

ทำไมชาวพุทธเราจึงชวนกันหลงใหล ในวัตถุมงคลในรูปเคารพ เครื่องรางของขลัง ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาของเราทรงปฏิเสธ ไม่สนับสนุน เพราะว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอทางจิตใจ

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><><>

เราต้องสำรวจตัวเอง ต้องตระหนักว่าต้องนับถือศาสนาด้วยปัญญาไม่ใช่ด้วยศรัทธาเพียงอย่างเดียว เพราะว่าปัญญาเป็นหัวใจของบัณฑิตหรือผู้รู้ผู้ฉลาดทั้งหลาย

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><><>

ฟังธรรมบรรยาย
ศรัทธากับปัญญา
อาจารย์วศิน อินทสระ

สัทธาสูตร : ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก

อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใส ในตถาคตอริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต

ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
สัทธาสูตร
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อ่านเพิ่มเติม >> คลิก สัทธาสูตร

ที่พึ่งอันเกษม

มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่าอารามและรุกขเจดีย์ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ขุททกนิกาย
คาถาธรรมบท พุทธวรรค

อิทรีย์ ๕

อินทรีย์ ๕

ความหมายของ อินทรีย์

คำว่า อินฺทริย มีรูปวิเคราะห์ (คำจำกัดความ) ว่า อินฺทสฺส กมฺมํ อินฺทริยํ (การกระทำของผู้เป็นใหญ่ ชื่อว่า อินทรีย์) การกระทำของผู้เป็นใหญ่ คือ การกระทำของผู้ควบคุมจิตของตัวเองได้ ตัวอย่างเช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่สามารถควบคุมจิตหรือผู้ที่เป็นใหญ่แก่จิตของตน ส่วนผู้ที่ยอมแพ้ต่ออำนาจของกิเลส ไม่สามารถควบคุมจิตได้ ก็จะไม่อาจบำเพ็ญธรรมทั้ง ๕ ประการนั้นได้ กล่าวคือ

– ไม่อาจเจริญศรัทธา เพราะประกอบด้วยความไม่เชื่อถือ
– ไม่อาจเจริญความเพียรเพราะมีความเกียจคร้าน
– ไม่อาจเจริญสติ เพราะคิดถึงอารมณ์ที่เป็นอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ไม่อยากอยู่กับปัจจุบัน
– ไม่อาจเจริญสมาธิ เพราะชอบการซัดส่ายฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ
– ไม่อยากที่จะเจริญปัญญา เพราะพอใจที่จะถูกความหลงครอบงำจิตของตน

อินทรีย์ ๕ เหล่านี้เปรียบเหมือนพระราชา พระราชาเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในสมัยก่อนเป็นสมัยที่พระราชาปกครองประเทศ ทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้พระราชอำนาจ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน หากเข้าถึงความเป็นอินทรีย์ คือ เข้าถึงความเป็นใหญ่ในในขณะใด ขณะนั้นก็เหมือนพระราชาปกครองประเทศ เพราะมีกำลังมากในการประกอบกิจของตน เช่น

๐ ศรัทธาที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (ศรัทธินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการเชื่อมั่นเลื่อมใสในคุณของ พระรัตนตรัย กรรม และผลกรรม โดยไม่หวั่นไหวหรือเกิดความสงสัยสิ่งเหล่านั้น

๐ วิริยะที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (วิรยินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในความเพียรที่ไม่ย่อท้อ ไม่ให้เกิดความเกียจคร้านในการปฏบัติธรรม

๐ สติที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (สตินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการยังจิตให้รู้ทันสภาวธรรมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

๐ สมาธิที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (สมาธินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการตั้งมั่นในสภาวธรรมปัจจุบัน ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่นจากอารมณ์ที่กำหนดรู้อยู่

๐ ปัญญาที่เข้าถึงความเป็นอินทรีย์ (ปัญญินทรีย์) ย่อมเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่หลงงมงายในสภาวธรรมเหล่านั้น

จิตที่ไม่ประกอบด้วยอินทรีย์ ๕ ก็เปรียบเหมือนประเทศที่ขาดพระราชาปกครอง ย่อมเป็นประเทศที่ไม่มีความสงบมีสงครามอยู่เสมอ แต่จิตที่มีอินทรีย์ ๕ เหล่านี้เหมือนประเทศที่มีพระราชาปกครอง ย่อมมีแต่ความสงบร่มเย็นจิตที่ประกอบด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะเป็นจิตที่สงบร่มเย็น ไม่ถูกกิเลสต่างๆ รบกวนจิต ส่วนจิตที่ไม่มีอินทรีย์เหล่านี้ย่อมถูกกิเลสต่างๆ รบกวน อุปมาเหมือนการโดยสารเรือข้ามฟาก ถ้าเรือรั่ว น้ำก็จะไหลเข้าในเรือ เรือก็จะจมลง น้ำเหมือนกิเลสที่ไหลเข้ามาในเรือ และเรือก็คือ “จิต”

“เมื่อกิเลสครอบงำจิต ย่อมทำให้จิตตกต่ำ เหมือนเรือที่จมลงไม่อาจข้ามฟากได้”

อินทรีย์ ๕
จากหนังสือ โพธิปักขิยธรรม
โดยพระคันธสาราภิวงศ์

มรณสติ [REPOST]

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ปริจเฉทที่ ๘ อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ ได้กล่าวถึง มรณานุสสติ คือ ความระลึกถึงเนืองซึ่งมรณะ [ ความระลึกเนือง ๆ เกิดขึ้นปรารภมรณะ ชื่อว่า “มรณานุสสติ” คำนี้เป็นชื่อของ “สติอันมีความขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิตเป็นอารมณ์” ]

ได้กล่าวถึงการพิจารณามรณะว่า หากพิจารณามรณะโดยไม่แยบคายแล้ว เป็นอย่างไร

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><<><<><><>><><><<><><<<><><>

ข้อความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค

เพราะว่าเมื่อพระโยคาวจรยังมนสิการให้เป็นไปโดยไม่แยบคาย

๐ เวลาระลึกถึงความตายของคนที่ชอบกันจะเกิดความโศกเศร้า ดุจเวลามารดาผู้บังเกิดเกล้าระลึกถึงความตายของบุตรที่รักฉะนั้น

๐ เวลาที่ระลึกถึงความตายของคนที่ไม่ชอบกันจะเกิดความปราโมทย์ ดุจคนมีเวรกันระลึกถึงความตายของคนที่มีเวรกันฉะนั้น

๐ เวลาระลึกถึงความตายของคนที่เป็นกลาง ๆ จะไม่เกิดความสลดใจ ดุจสัปเหร่อเห็นซากคนตายฉะนั้น

๐ เวลาระลึกถึงคามตายของตนจะเกิดความสะดุ้งหวาดกลัว ดุจคนที่มีชาติขลาดเพราะเห็นเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบฉะนั้น

ความเกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นต้นแม้ทั้งหมดนั้น ย่อมมีแก่ผู้ปราศจากสติ, ความสังเวช และญาณ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรเห็นสัตว์ที่ถูกฆ่าตายและตายเองในที่นั้น ๆ แล้ว พึงพิจารณาถึงความตายของหมู่สัตว์ที่ตายไปซึ่งที่เป็นสมบัติที่ตนเคยเห็นมา ประกอบสติ, ความสังเวช และญาณ แล้วยังมนสิการให้เป็นไปโดยนัยมี อาทิว่า มรณํ ภวิสฺสติ ความตายจักมี ดังนี้

ด้วยว่าพระโยคาวจรเมื่อให้มนสิการเป็นไปอย่างนั้น ชื่อว่าให้เป็นไปโดยแยบคาย อธิบายว่าให้เป็นไปโดยอุบาย จริงอยู่สำหรับพระโยคาวจรบางพวกที่ยังมนสิการให้เป็นไปอยู่อย่างนั้นนั่นแล นิวรณกิเลสทั้งหลายย่อมระงับลง สติมีมรณะเป็นอารมณ์ย่อมตั้งมั่น กัมมัฏฐานขึ้นถึงอุปจารฌานทีเดียวก็เป็นได้

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><<><<><><>><><><<><><<<><><>

ความสิ้นกิเลสเป็นธงชัยของเรา

ตราบใดที่ยังไม่สิ้นกิเลส ตราบนั้นควรนำชีวิต พุ่งไปสู่คุณค่าที่สูงกว่าอยู่เนืองนิตย์ ไม่ควรติดอยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่ง

การกระทำต่างๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ละช่วงนั้น ควรถือเพียงเป็นพื้นฐานเพื่อให้ก้าวต่อไป

ไม่ใช่ย่ำเท้าอยู่กับที่ อันเป็นเหตุให้เสียเวลานานเกินไป

ความสิ้นกิเลส (อาสวักขยญาณ) เป็นธงชัยของเรา

เราต้องก้าวไปสู่จุดนั้น

อนุทินทรรศนะชีวิต
อาจารย์วศิน อินทสระ
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๑
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จากหนังสือ อนุทินทรรศนะชีวิต
อาจารย์วศิน อินทสระ

ทางให้พบสิ่งอันเป็นสาระ

ทางให้พบสิ่งอันเป็นสาระ
จากหนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี เล่ม ๑
โดย… อาจารย์วศิน อินทสระ

พุทธภาษิต
อสาเร สารมติโน สาเร จ อสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา
สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา

คำแปล
บุคคลใดเห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ บุคคลนั้น มีความดำริผิดประจำใจ ย่อมไม่อาจพบสาระได้

ส่วนบุคคลใดเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าเป็นสาระ สิ่งอันไม่เป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริถูกประจำใจ ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ

อธิบายความ

หากจะตั้งปัญหาถามก่อนว่า อะไรคือทางให้พบสาระ? ก็ตอบโดยอาศัยพระพุทธภาษิตนี้เป็นหลักว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นถูก อธิบายว่า ความเห็นชอบย่อมนำไปสู่การกระทำชอบและพูดชอบ ตลอดถึงความพยายามชอบ

มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น

บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิประจำใจจึงเหมือนมีกุญแจไขเข้าไปในห้วงอันเต็มไปด้วยสาระ ส่วนคนมีมิจฉาทิฏฐิประจำใจ หาเป็นเช่นนั้นไม่ มีแต่จะเดินเข้ารกเข้าพง นำชีวิตไปสู่ความล่มจมล้มเหลว

เปรียบด้วยเรือ สัมมาทิฏฐิก็เป็นหางเสือให้เรือแล่นไปในทางอันถูกต้อง หลีกหินโสโครกและอันตรายต่างๆ

คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน ถ้ารู้จักเลือก และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้

หากจะตั้งปัญหาถามว่า อะไรคือทางให้พบสาระ? ก็ตอบโดยอาศัยพระพุทธภาษิตนี้เป็นหลักว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นถูก อธิบายว่า ความเห็นชอบย่อมนำไปสู่การกระทำชอบและพูดชอบ ตลอดถึงความพยายามชอบ

มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน ถ้ารู้จักเลือก และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้

เรื่องประกอบ : เรื่องอาจารย์สัญชัย

สัญชัยเป็นคณาจารย์คนหนึ่ง บรรดาคณาจารย์มากมายในกรุงราชคฤห์ สัญชัยพอใจเป็นนักพรตประเภทปริพพาชก ดังนั้น บางคราวเราจะได้ยินคำว่า สัญชัยปริพพาชก เขาเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ ในสมัยที่ท่านทั้งสองยังเป็นหนุ่มชื่อ อุปติสสะ และโกลิตะ อยู่

ขอกล่าวเรื่องของท่านทั้งสองเล็กน้อยก่อน เพื่อให้เรื่องเชื่อมกันสนิท

ในสมัยเป็นฆราวาส อุปติสสะ และโกลิตะ เป็นเพื่อนรักกันและมั่งคั่งด้วยกันทั้งสองคน บิดาของอุปติสสะ เป็นผู้ใหญ่บ้านในอุปปติสสคาม บิดาของโกลิตะ ก็เป็นผู้ใหญ่บ้านในโกลิตคาม สองตระกูลนี้มีความสัมพันธ์เป็นสหายกันมา ๗ ชั่วอายุคนแล้ว

เมื่อเติบโต ทั้งสองได้ศึกษาศิลปศาสตร์อันเป็นทางเลี้ยงชีพและทางนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงสำเร็จทุกประการ เขาชอบไปดูมหรสพบนยอดเขา ย่อมหัวเราะในที่ควรหัวเราะ เศร้าสลดในที่ควรเศร้าสลด และให้รางวัลแก่ผู้แสดงที่ตนชอบใจ

ต่อมาวันหนึ่ง อุปติสสะ มีอาการแปลกไป คือนั่งเฉยเหมือนคิดอะไรอย่างหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ว่า คนเหล่านี้ ไม่ถึงร้อยปีก็คงจักต้องตายกันหมด จะเพลิดเพลินอะไรกันอยู่ เราน่าจะแสวงหาโมกขธรรม

โกลิตะ เห็นด้วย จึงพากันออกแสวงหาโมกขธรรม (ธรรมอันเป็นทางให้พ้นทุกข์) ทั้งสองตกลงกันแล้ว พร้อมด้วยบริวารคนละ ๕๐๐ ออกบวชในสำนักของอาจารย์สัญชัย

ตั้งแต่ทั้งสองสหายบวชแล้ว สัญชัยก็เป็นผู้เลิศด้วยลาภและบริวาร ล่วงไปเพียง ๒-๓ วัน อุปติสสะ และโกลิตะก็สามารถเรียนจบคำสอนของอาจารย์ เมื่อทราบจากอาจารย์สัญชัยว่า ไม่มีคำสอนอื่นใดอันยิ่งกว่านี้แล้ว เขาทั้งสองคิดกันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของอาจารย์สัญชัย ไม่มีประโยชน์อะไร เราทั้งสองออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม แต่ไม่สามารถพบได้ในสำนักของอาจารย์ผู้นี้ อันชมพูทวีปนี้ กว้างใหญ่นัก เราเที่ยวไปในคามนิคม ชนบทราชธานี คงจักได้อาจารย์ผู้แสดงโมกขธรรมเป็นแน่แท้

ตั้งแต่นั้น ใครพูดว่าที่ใดมีสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต, ทั้งสองก็ไปทำการสากัจฉากับสมณพราหมณ์นั้น ปัญหาที่เขาถาม, อาจารย์เหล่านั้นไม่อาจแก้ได้ เขาเที่ยวสอบหาอาจารย์ทั่วชมพูทวีป แต่ไม่ประสบ จึงกลับมาสู่สำนักเดิม นัดหมายกันว่าใครได้บรรลุอมตธรรมก่อนขอจงบอกแก่กัน

สัญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตรและโมคคัลลานะในสมัยที่ท่านทั้งสองยังเป็นหนุ่มชื่อ อุปติสสะ และโกลิตะ พากันออกไปแสวงหาโมกขธรรม เมื่อทราบจากอาจารย์สัญชัยว่า ไม่มีคำสอนอื่นใดอันยิ่งกว่านี้แล้ว เขาทั้งสองจึงคิดว่า ไม่ควรอยู่ในสำนักนี้ต่อไป

ระยะนั้น พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ เวฬุวัน อันพระราชาพิมพิสารทูลถวาย

พระสาวกรูปหนึ่ง ในจำนวนปัญจวัคคีย์ คือพระอัสสชิ ออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ในเช้าวันหนึ่ง อุปติสสะบริโภคอาหารเช้าแล้วก็ออกแต่เช้าเหมือนกัน เขาได้เห็นพระอัสสชิแล้ว รำพึงว่า “นักบวชอย่างนี้ เราไม่เคยพบเลย คงจักเป็นรูปหนึ่งรูปใด บรรดาผู้บรรลุแล้วซึ่งพระอรหัตตผลในโลก ไฉนหนอเราจักเข้าไปสอบถามความสงสัยของเราได้”

เขากลับคิดว่า เวลานี้ ยังไม่ควรก่อน เพราะพระกำลังบิณฑบาต จึงติดตามไปข้างหลัง เขาเห็นพระเถระได้อาหารบิณฑบาตพอสมควรแล้ว ไปสู่ที่แห่งหนึ่งเพื่อฉัน เขาเห็นพระเถระแสดงอาการว่าจะนั่ง จึงได้จัดตั้งของปริพพาชกสำหรับตนถวาย เมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วก็ได้รินน้ำในกุณโฑของตนถวายแล้วถามว่า

“อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน? ท่านชอบใจธรรมของใคร?”

พระอัสสชิ คิดว่า “โดยปกติ ปริพพาชก ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพพาชกนี้” แต่ได้กล่าวถ่อมตนก่อนว่า

“ผู้มีอายุ! ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก ยังเป็นผู้ใหม่อยู่ ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้”

ปริพาชกเรียนว่า “ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวธรรมตามสามารถเถิด จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ การแทงตลอดธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น”

พระอัสสชิจึงแสดงหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาทั้งปวง อันรวมเอาหลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาทไว้ด้วย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หลักแห่งเหตุผล ดังนี้

“สิ่งทั้งปวง ย่อมมีเหตุ เกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสบอกเหตุ และวิธีดับไว้ด้วย พระมหาสมณะ (พระพุทธเจ้า) มีปกติตรัสอย่างนี้”

อุปติสสปริพพาชกฟังแล้วเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เมื่อพระเถระกล่าวจบลง เขาได้เรียนท่านว่า “ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป แต่ว่า ข้าพเจ้าอยากทราบว่า พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด”

พระอัสสชิตอบว่า เวลานี้พระศาสดาประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปะ

ปริพพาชกเรียนว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ขอท่านได้โปรดล่วงหน้าไปก่อนเถิด ข้าพเจ้ามีเพื่อนอยู่คนหนึ่งได้ทำสัญญากันไว้ว่า ผู้ใดได้บรรลุธรรมก่อน จงบอกกัน ข้าพเจ้าจักไปบอกเพื่อนแล้วพากันไปสู่สำนักของพระศาสดา”

เขาหมอบลงแทบเท้าของพระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กระทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วไปสู่อารามของปริพพาชกเพื่อบอกธรรมแก่โกลิตะผู้สหาย

โกลิตะเห็นสหายมา สังเกตสีหน้าและอาการแล้วรู้ว่า อุปติสสะคงได้บรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้ จึงถามอุปติสสะบอกความทั้งปวงแล้ว โกลิตะก็ได้สำเร็จ โสดาปัตติผลเหมือนกัน

ทั้งสองชวนกันไปเฝ้าพระศาสดา แต่อุปติสสะ ระลึกถึงอาจารย์ จึงเข้าไปหาอาจารย์เล่าความทั้งปวงให้ฟัง แล้วชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดาด้วย แต่สัญชัยไม่ยอมไป อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ชั้นครูบาอาจารย์แล้ว ไม่ควรไปเป็นศิษย์ของใครอีก

เมื่อสองสหายคะยั้นคะยอหนักเข้า สัญชัยจึงถามว่า ในโลกนี้มีคนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก สองสหายตอบว่า มีคนโง่มาก สัญชัยจึงสรุปว่า ขอให้พวกฉลาดๆ ไปหาพระสมณโคดมเถิด ส่วนพวกโง่ๆ จงมาหาเราและอยู่ในสำนักของเรา

เมื่อเห็นว่าชักชวนอาจารย์ไม่สำเร็จแน่แล้ว สองสหายก็จากไป ศิษย์ในสำนักของสัญชัยได้ตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก ประหนึ่งว่าอารามนั้นจะว่างลง สัญชัยเห็นดังนั้น เสียใจจนอาเจียนออกมาเป็นเลือด ศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คน คงจะสงสารอาจารย์จึงกลับเสียในระหว่างทาง คงติดตามสองสหายไป ๒๕๐ คน

เมื่อเขาทั้งสองถึงเวฬุวันนั้น เป็นเวลาที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางบริษัท ทอดพระเนตรเห็นสองสหายกำลังมา จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! สองสหาย คืออุปติสสะ และโกลิตะกำลังมา เขาทั้งสองจักเป็นอัครสาวกของเรา”

สองสหายถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาแล้ว

พระศาสดาทรงขยายพระธรรมเทศนาพุ่งเอาอุปนิสัยของบริวารแห่งสหายทั้งสองเป็นเกณฑ์ เพื่อให้ได้สำเร็จมรรคผลก่อน เมื่อจบเทศนา บริวารทั้งหมด ๒๕๐ คนได้สำเร็จอรหัตตผล ส่วนสองสหายยังไม่ได้บรรลุ เพราะเหตุไร?

ท่านว่าสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่ ต้องมีคุณาลังการมากมาย เหมือนการเสด็จของพระราชาย่อมต้องมีการเตรียมการมากกว่าสามัญชน อนึ่งคนมีปัญญามาก ย่อมต้องไตร่ตรองมาก มิได้ปลงใจเชื่อสิ่งใดโดยง่าย แล้วใคร่ครวญให้เห็นเหตุ เห็นผลด้วยตนเองก่อนแล้วจึงเชื่อ แต่คนพวกนี้พอสำเร็จอะไรแล้วก็ประดับด้วยคุณาลังการทุกประการอันเป็นบริวารธรรมแห่งสิ่งอันตนได้สำเร็จนั้น

หลังจากบวชแล้ว อุปติสสะได้นามใหม่ว่า “พระสารีบุตร-บุตรของสารีพราหมณี” ส่วนโกลิตะได้นามใหม่ว่า “โมคคัลลานะ-เพราะเป็นบุตรของโมคคัลลีพราหมณี”

พระโมคคัลลานะบวชแล้ว ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตะในแคว้นมคธนั่นเอง โงกง่วงอยู่ พระศาสดาทรงแสดงธรรม บรรเทาความง่วงแล้ว ทรงแสดงธาตุกัมมฐาน จนพระโมคคัลลานะได้บรรลุพระอรหัตตผล

ฝ่ายพระสารีบุตร บวชแล้วได้ครึ่งเดือน ไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา กับพระศาสดา ถ้ำนี้อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อพระศาสดาทรงแสดงธรรม ชื่อเวทนาปริคคหสูตร (สูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา) แก่ทีฆนขปริพพาชก หลานของตนอยู่ ได้ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตตผล ประดับด้วยคุณาลังการทั้งปวงมีปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ เป็นต้น

ในเวลาบ่ายวันนั้นเอง พระศาสดาทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ แล้วทรงแสดงพระปาฏิโมกข์

ภิกษุทั้งหลายติเตียนพระศาสดาว่า ทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกอย่างเห็นแก่หน้า ไม่ยุติธรรม ตำแหน่งอัครสาวกควรตกแก่พระปัญจวัคคีย์รูปใดรูปหนึ่ง มีพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น หรือมิฉะนั้นก็พวกพระยสะ พวกภัททวัคคีย์ ๓๐ หรือคณะชฏิล ๓ พี่น้องมีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น เพราะท่านเหล่านี้บวชก่อน แต่พระศาสดาละเลยภิกษุเหล่านั้นเสีย ทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ผู้บวชใหม่เพียง ๑๕ วัน ไม่ควรเลย

พระศาสดาทรงทราบเรื่องนั้นแล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! เราให้ตำแหน่งอัครสาวกแก่สารีบุตรโมคัลลานะ เพราะอคติเห็นแก่หน้าก็หาไม่ เราให้ตามมโนปณิธานของเขาทั้งสอง อนึ่งโกณทัญญะ และภิกษุเหล่าอื้น มิได้ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อความเป็นอัครสาวก”

เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามจึงตรัสเล่า ปุพพกรรมและปณิธานของภิกษุนั้น มีของพระอัญญาโกณทัญญะ เป็นต้น จนถึงปณิธานของพระสารีบุตรที่ตั้งไว้สมัยเป็นสรทดาบส ภิกษุทั้งหลายได้ฟังแล้วก็หายข้องใจ

เรื่องปุพพกรรมและปณิธานของท่านเหล่านี้มีพิสดารพอสมควรในอรรถกถาธรรมบท ท่านผู้ปรารถนาโปรดหาอ่านจากที่นั้นเถิด ข้าพเจ้าไม่นำมากล่าวในที่นี้เพราะเกรงจะยาวเกินไป

รวมความว่า ทุกท่านได้ตำแหน่งอันเหมาะสมแก่บุญบารมี และมโนปณิธานของตน

เมื่อพระศาสดาตรัสจบแล้ว พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ทูลเล่าเรื่องปัจจุบันของตน ตั้งแต่การได้ความสังเวชสลดจิตในการไปดูมหรสพบนภูเขา จนถึงได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ แล้วชวนอาจารย์สัญชัยมาเฝ้าพระศาสดา

แต่อาจารย์สัญชัยหามาไม่ เพราะอ้างว่าเคยเป็นอาจารย์ของคนเป็นอันมากแล้ว ไม่สามารถเป็นศิษย์ของใครได้อีก

พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย! สัญชัย ถือสิ่งอันไม่มีสาระว่า มีสาระ ถือสิ่งอันมีสาระ ว่าไม่มีสาระ เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนเธอทั้งสองรู้จักสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ สิ่งไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เพราะเธอเป็นบัณฑิต ละทิ้งสิ่งอันไม่เป็นสาระ ถือเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นสาระ”

ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธภาษิต ซึ่งยกขึ้นกล่าวไว้แล้วแต่เบื้องต้น นั่นแล

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เสียงอ่าน : ทางให้พบสิ่งอันเป็นสาระ

เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ

รื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ
สำคัญที่ว่า…จะเตรียมรับมือกับมันอย่างไร
โดย…ปิยสีโลภิกขุ – พระภูวดล ปิยสีโล

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้ความผันแปร ไม่มีอะไรที่เราจะวางใจได้อย่างแท้จริง ผู้มีปัญญาจึงหมั่นฝึกใจตนเองให้พร้อมรับมือกับทุกสิ่ง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งอาจจู่โจมเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ วิกฤตการณ์ต่างๆ ความผิดหวังและสูญเสียอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีใครเชื้อเชิญ

แต่เราสามารถเลือกได้ว่า จะจมอยู่ในความทุกข์ไปเรื่อยๆ หรือพยายามยอมรับมันให้ได้ แล้วใช้ชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข

ทักษะในการยอมรับความผิดหวังสูญเสีย ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีการฝึกฝน บางคราวก็อาจต้องฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรืออาจต้องฝึกจนตัวเรารู้สึกเบื่อว่าจะฝึกกันไปทำไมมากมาย

แต่แล้วจู่ๆ เราก็ได้พบว่าสิ่งที่ฝึกเอาไว้นั้น ช่วยประคับประคองใจเราได้จริงๆ และในช่วงเวลานี้เองที่เราจะได้ค้นพบ ….

“ความหมายลึกซึ้งของการปฏิบัติธรรม”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ที่มา : เพจปิยสีโลภิกขุ – พระภูวดล ปิยสีโล

สักการะเคารพธรรมแล้วอาศัยอยู่

ว่าด้วยสักการะเคารพธรรมแล้วอาศัยอยู่
สรุปคัดย่อจากพระสูตร : คารวสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธแถบฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตอุรุเวลาประเทศ ฯ ครั้งนั้น ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดแก่พระผู้มีพระภาคผู้เสด็จเข้าที่ลับ ทรงพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า

บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะ เคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า

๐ เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่

=> เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์
=> เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์
=> เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์
=> เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์
=> เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์

แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่ถึงพร้อมด้วย …(ด้วยศีล)..(ด้วยสมาธิ)..(ด้วยปัญญา)..(ด้วยวิมุตติ)..(ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ)….ยิ่งกว่าตน ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

๐ อย่ากระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้นแหละ แล้วอาศัยอยู่ ฯ
……………………………………….

ลำดับนั้น สหัมบดีพรหม ทราบความปริวิตกแห่งพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว ก็อันตรธานไปในพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดได้มีมาแล้วตลอดกาลอันล่วงแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเองแล้วอาศัยอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดจักมีตลอดกาลไกลอันยังไม่มาถึงแม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็จักทรงสักการะเคารพธรรมนั่นเองแล้วอาศัยอยู่ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ขอจงทรงสักการะเคารพธรรมนั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่ ฯ

สหัมบดีพรหม ได้กราบทูลดังนี้แล้ว ครั้นแล้วได้กล่าวนิคมคาถาอีกว่า

พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ยังไม่มีมาก็ดี และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในบัดนี้ผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายก็ดีพระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่แล้ว ยังอยู่ และจักอยู่ต่อไป ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักตนหวังความเป็นผู้ใหญ่
เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
“พึงเคารพพระสัทธรรม”

จากสังยุตตนิกาย สคาถวรรค
พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
คารวสูตรที่ ๒
=> คลิกอ่าน

กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย

กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย

ดูกรน้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว บริโภคอาหาร ไม่บริโภคเพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อประดับ บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อระงับความหิวกระหาย เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า ด้วยการบริโภคนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าได้ด้วย และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิด ความดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษ และความผาสุก จักมีแก่เรา สมัยต่อมา ภิกษุนั้นอาศัยอาหาร แล้วละอาหารเสียได้

ดูกรน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหารอาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว

จากอังคุตตรนิกาย
จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
อินทรียวรรคที่ ๑ ข้อ ๑๕๙
=> คลิกอ่าน

ความหมายของคำว่าสติปัฏฐาน

ความหมายของคำว่าสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน เป็นศัพท์สมาสที่มาจากศัพท์ ๒ ศัพท์ คือ “สติ” + “ปัฏฐาน

คำว่า สติ มีรากศัพท์มาจากคำว่า สํสรติ ซึ่งมีความหมายว่า การจำ แต่เมื่อกล่าวโดยนัยของ “สติเจตสิก”

สติ จะ หมายถึง การระลึกได้ในอารมณ์ การจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ การระลึกรู้ความตื่นตัว ทั่วพร้อม และความใส่ใจไม่ประมาท มากกว่าการจดจำเรื่องในอดีต

สติ แปลว่า การระลึกรู้อารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว ระลึกรู้อารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง หรืออาจเป็นการระลึกรู้อกุศลกรรมซึ่งเคยธรรมมาก่อน การระลึกรู้เช่นนี้ไม่จัดเป็นสติตามหลักการปฏิบัติธรรม เพราะสติตามนัยนี้เป็นสภาวธรรมฝ่ายดี หมายถึง การระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันภายในร่างกายที่ ยาวว่า หนาคืบ กว้างศอก มีใจครอง การระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันขณะ จัดว่าเป็นสภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับเราในปัจจุบันขณะและเป็นอารมณ์ของการเจริญสติปัฏฐาน เช่นสภาวธรรมทางจิตที่ประกอบด้วยความโกรธ ความฟุ้ง หรือสภาวธรรมทางกายเช่นการเคลื่อนไหวของเท้า การปฏิบัติธรรม พึงจดจ่อตามรู้ปัจจุบันอารมณ์อย่างเดียว

สติมีลักษณะ ทำให้จิตใจไม่เลื่อนลอย (อปิลาปนลักขณา) หมายถึง จิตไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่นจากปัจจุบันที่กำหนดอยู่ โดยไม่คิดถึงอดีตหรืออนาคต

ปัฏฐาน แปลว่า เข้าไปตั้งไว้ หมายถึง ความจดจ่ออย่างต่อเนื่อง การสร้างขึ้น การนำมาใช้ การทำให้ปรากฏขึ้นและตั้งอยู่อย่างแนบแน่นและมั่นคง ความจดจ่อ หมายถึง การกำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานโดยละเอียด ความต่อเนื่องคือ การตามรู้สภาวธรรมปัจจุบันโดยไม่ขาดจังหวะ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเกิดขึ้นทางทวารใดก็กำหนดรู้ได้ทันปัจจุบัน

คำว่า สติปัฏฐาน จึงหมายถึง การทำให้สติเกิดขึ้น และ ดำรงอยู่อย่างแน่นแฟ้นมั่นคง และ แนบสนิทกับอารมณ์ที่กำลังกำหนดรู้อยู่การระลึกรู้เช่นนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า สุปฺปติฏฺฐิต สติ หรือ สติที่ตั้งมั่นด้วยดี

เป็นการกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันโดยจดจ่อสภาวธรรมปัจจุบันในแต่ละขณะอย่างต่อเนื่อง ความจดจ่อมีลักษณะเพ่งจิตลงไปที่อารมณ์กรรมฐาน และกำหนดรู้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์

คำว่าสติปัฏฐาน เป็นไวพจน์ของสัมมาสติ คือ การระลึกชอบ พระพุทธองค์ตรัสว่า สัมมาสติมีอารมณ์ ๔ ประเภท คือ กองรูป เวทนา จิต และสภาวธรรม

ฐานทั้งสี่ของสติ
การดำรงสติไว้ที่ฐานทั้งสี่มีสาระสำคัญเหมือนกันเพียงประการเดียวก็คือ การน้อมจิตมาระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างมีสติฐานทั้งสี่นี้จำแนกออกตามอารมณ์หรือ สิ่งที่จิตไปกำหนดรู้ ๔ อย่าง คือ

๑ ร่างกาย (กาย)
๒ ความรู้สึก (เวทนา)
๓ สภาวะการระลึกรู้ของจิต (จิต)
๔ อารมณ์ที่จิตเข้าไประลึกรู้ (ธรรม) หมายรวมถึงสภาพธรรมต่างๆ เช่น นิวรณ์ทั้งห้า ขันธ์ห้า อายตนะภายในทั้งหกอายตนะภายนอกทั้งหก โพชฌงค์เจ็ด และอริยสัจสี่)

สรุปสติ และสติปัฏฐาน ๔ ในแนวทางของการปฏิบัติธรรม

สติ คือ การระลึกรู้ในอารมณ์ปัจจุบัน ระลึกรู้ในสภาวธรรมที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันขณะ

สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ในอารมณ์ปัจจุบัน ระลึกรู้ในสภาวธรรมที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันขณะ เป็นการกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันโดยจดจ่อสภาวธรรมปัจจุบันในแต่ละขณะอย่างต่อเนื่อง ความจดจ่อมีลักษณะเพ่งจิตลงไปที่อารมณ์กรรมฐาน และกำหนดรู้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ น้อมระลึกไปในฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
รวมรวมและสรุปความหมายของคำว่าสติปัฏฐาน ๔
จากหนังสือ :
๑. โพธิปักขิยธรรม พระคันธสาราภิวงศ์
๒. หนังสือความหมายของคำว่าสติปัฏฐาน ท่านอูบัณฑิต

ลักษณะของสติ

ลักษณะของสติสรุปจาก : มิลินทปัญหาสติลักขณปัญหา ที่ ๑๒

สติมีลักษณะ ๒ ประการ คือ อปิลาปนลักขณะสติ และ อุปคัณหณลักขณาสติ

อปิลาปนลักขณาสติ

“อปิลาปนลักขณาสติ” นั้น คือ อารมณ์ให้ระลึกไปในธรรมทั้งหลาย คือ

๐ เตือนว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนั้นชั่ว สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนี้เป็นโทษ สิ่งนี้เป็นคุณ สิ่งนี้ขาวสิ่งนี้ดำ
๐ เตือนอารมณ์ให้ระลึกในธรรมทั้งหลายนี้ว่า ธรรมสิ่งนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ธรรมสิ่งนี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ธรรมสิ่งนี้เป็นอิทธิบาท ๔ ธรรมสิ่งนี้เป็นอินทรีย์ ๕ ธรรมสิ่งนี้เป็นพละ ๕ ธรรมสิ่งนี้โพชฌงค์ ๗ ธรรมสิ่งนี้เป็นอัฏฐังคิกมรรค ๘ประการ ธรรมสิ่งนี้เป็นสมถกรรมฐาน ธรรมสิ่งนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ธรรมสิ่งนี้เป็นฌาน เป็นสมาบัติ เป็นวิชชา เป็นวิมุตติ เป็นกองจิตกองเจตสิก

เมื่อโยคาวจรได้อปิลาปนลักขณาสติ เตือนอารมณ์ให้ระลึกถึงธรรมดังนี้ ก็มิได้ส้องเสพซึ่งธรรมอันมิควรจะส้องเสพ กลับส้องเสพซึ่งธรรมควรจะส้องเสพดังนี้ ชื่ออปิลาปนลักขณาสติ

เปรียบปานดุจภัณฑาคาริกบุรุษผู้หนึ่งเป็นชาวคลังของบรมจักร ย่อมทูลบรมจักรตักเตือนให้ ระลึกถึงสมบัติทุกเช้าเย็น ทูลว่าเครื่องประดับช้างเท่านั้น ม้าเท่านั้น รถเท่านั้น พลเดินลำลองเท่านั้น ทองเท่านั้น เงินเท่านั้น ฉันใด

อปลาปนลักขณาสตินี้ไซร้ เมื่อบังเกิดก็เตือนอารมณ์ให้ระลึกถึงปฏิภาคธรรมทั้งหลาย คือกุศลอกุศลบาปบุญคุณโทษเปรียบดุจสีขาวกับดำ และเตือนอารมณ์ให้ระลึกว่า ธรรมสิ่งนี้คือสติปัฏฐาน เป็นอาทิฉะนั้น ก็ย่อมส้องเสพซึ่งธรรมอันควรจะเสพ อปิลาปนลักขณาสตินี้เตือนอารมณ์ให้ระลึกไปในเบื้องหน้าเบื้องหลัง เหมือนชาวคลังระลึกทูลเตือนบรมจอมจักรพรรดิให้ระลึกถึงสมบัตินั้น

อุปคัณหณลักขณาสติ

อุปคัณหณลักขณาสตินั้น เมื่อจะบังเกิดในสันดานนี้ ชักชวนให้ถือเอาคติในธรรมอันดี พระโยคาวจรเจ้าเมื่ออุปคัณหณลักขณาสติบังเกิดในสันดาน ย่อมพิจารณาว่า

ธรรมสิ่งนี้มีอุปการธรรม สิ่งนี้หาอุปการมิได้
๐ ก็นำเสียซึ่งธรรมอันมิได้เป็นประโยชน์ ถือเอาธรรมอันเป็นประโยชน์
๐ นำเสียซึ่งธรรมอันมิได้เป็นอุปการ ถือเอาแต่ธรรมอันเป็นอุปการ
๐ อุปคัณหณลักขณาสตินั้นมีลักษณะละเสียซึ่งสิ่งอันชั่ว ถือเอาแต่สิ่งอันดี

เปรียบปานดุจนายประตูของบรมกษัตริยาธิราช
๐ ถ้าเห็นผู้ใดประหลาดเข้าไปสู่ประตูพระราชวังนั้น ก็ห้ามเสียมิให้เข้าไป
๐ ผู้ใดที่เป็นอุปการแก่บรมกษัตริย์เจ้า คือ ข้าเฝ้าผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้นก็ปล่อยให้เข้าไปสู่พระราชฐาน

“อุปคัณหณลักขณาสติ” ถือเอาแต่ธรรมอันเป็นคุณ เว้นเสียซึ่งธรรมอันมิได้เป็นคุณ ดุจนายประตูอันห้ามเสียซึ่งคนใช่ข้าเฝ้า ถือเอาแต่ข้าเฝ้าที่คุ้นเคยให้เข้าไปสู่พระราชฐาน

สติเป็นอุปคัณหณลักขณาสติเว้นสียซึ่งสิ่งอันเป็นโทษถือเอาซึ่งธรรมอันเป็นประโยชน์เป็นคุณ ชื่อว่ามีสติเป็นอุปคัณหณลักขณาสติ

สมด้วยพระพุทธฎีกา สมเด็จพระบรมนายกโลกนาถศาสดาจารย์ประทานพระสัทธรรมเทศนา ว่า
สติ จ โข อหํ ภิกฺขเว สพฺพตฺถิกํ วทามิ พระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว

ดูรานะภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตนี้สรรเสริญว่า
สติให้สำเร็จประโยชน์นำเสียซึ่งโทษ นี่แหละพระพุทธฎีกาโปรดไว้ฉะนี้

เพิ่มเติม : จากมิลินทปัญหา มักกฏกวรรค ที่ ๖

ผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริยฺอันประเสริฐ ธรรมดาว่าแมงมุมนั้นย่อมชักใยเป็นข่ายเป็นเพดานไว้ สัตว์ทั้งหลายคือแมลงหวี่แหละแมลงวัน บินไปติดอยู่ที่ข่ายที่เพดานนั้น แมงมุมก็บริโภคสัตว์ที่ติดข่ายนั้นเป็นภักษาหาร

ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้านั้น ก็ขึงเพดานคือ สติปัฏฐาน และปิดทวารทั้ง๖ ไว้ มาตรว่าแมลงวันคือกิเลสได้เข้าไปติดอยู่ในเพดานนั้น ก็พึงจับฆ่าเสียฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์อัน ๑ แห่งแมงมุมชักใย

ยุติด้วยคำอันพระอนุรุทธเถรเจ้ากล่าวไว้ว่า
วิตานํเยว ฉทฺวาเรสุ สติปฏฺฐานวรุตฺตมํ
กิเลสา ตตฺถ ลคฺเคตฺวา หนฺตพฺพา เต วิปสฺสกา

แปลความว่า ธรรมดาโยคาวจรเจ้า อันเรียนวิปัสสนาพึงขึงเพดานคือสติปัฏฐาน ปิดทวารนั้น ๖ ไว้ เมื่อกิเลสเข้าไปอยู่ก็จับฆ่าเสียดังนี้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากมิลินทปัญหา

สัมมาสติ

สัมมาสติ

สัมมาสติ คือ การระลึกถูก หมายถึง ความรำลึกประจำใจที่ถูกต้อง คือ มีการตื่นตัวอยู่เสมอ เราต้องรู้ตัวในทุก ๆ อิริยาบถอยู่เสมอ มีความตื่นตัวต่อหน้าที่ พร้อมเสมอที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เมื่อดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ ก็ให้รู้ตัวว่ากำลังดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ

การระลึกแต่ในเรื่องการทำบุญทำกุศล ระลึกถึงทาน ศีล ภาวนา ที่เคยได้ทำมาแล้วหรือตั้งใจว่าจะทำอีก องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

สติ นอกจากจะหมายถึง ระลึกได้ จำได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอยด้วย

สติ จึงเป็นธรรมสำคัญ เพราะเป็นตัว ควบคุม เร้า เตือน การปฏิบัติหน้าที่ และคอยป้องกันยับยั้งตนเองที่จะไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว หรือไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาในจิตใจได้ เตือนตนเองในการทำความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว หรือเรียกในทางธรรมว่าเป็น อัปปมาทธรรม

อัปปมาทธรรม เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่ง สาหรับความก้าวหน้า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ ซึ่งขยายความได้ว่า การระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำ และต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามก้าวรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา

มีคำเปรียบเทียบว่า สติ เหมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ หรือเหมือนนายประตู เพราะเฝ้าอายตนะต่าง ๆ ที่เป็นทางรับอารมณ์ ตรวจดูอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา เพื่อพิจารณาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากบทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๘ ตอนที่ ๒

อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

ในร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ

ในร่างกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ

ในขณะปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรมควรเจริญสติอยู่ตลอดเวลา การเจริญสติปัฏฐานเหมือนเดินมุ่งหน้าไปสู่พระนิพพานทีละก้าว ทุกขณะที่เราย่างเท้าด้วยสติ เราได้มุ่งหน้าไปสู่พระนิพพานอยู่เสมอ ดังนั้น การเจริญสติจึงไม่มีการพักหยุดกำหนด อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติธรรมพักผ่อนในเวลา ๕ โมงเย็น มีประโยชน์เพื่อให้ทำอิริยาบถย่อยแทนการเดินและนั่งตลอด ๓ ชั่วโมงในช่วงบ่าย มิฉะนั้นแล้วจะรู้สึกเหนื่อยจนเกินไปอย่างไรก็ตาม แม้ในเวลาพักดื่มน้ำปานะและอาบน้ำ ก็ต้องเจริญสติตามรู้สภาวธรรมปัจจุบันตลอดเวลา

การเจริญสติเป็นการรับรู้สภาวธรรมปัจจุบัน ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรใส่ใจต่อการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่อารมณ์กรรมฐาน ในสมัยก่อนมีพระเถระรูปหนึ่งนำไม้ไปเขี่ยอุจจาระของท่าน ไม่ทราบว่าควานหาอะไรอยู่โยมอุปัฏฐากถามว่า “ท่านอาจารย์ทำอะไรอยู่” ท่านตอบว่า “อาตมกำลังแสวงหาความเกิดดับในสิ่งนี้อยู่” ความจริงความเกิดดับซึ่งเป็นไตรลักษณ์นั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้แสวงหาในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ไม่ใช่ไปแสวงหาภายนอกร่างกาย เพราะอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เกิดขึ้นภายในร่างกายที่ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ ไม่ได้เกิดภายนอกร่างกายของเรา กล่าวคือ

๑. ทุกข์ สภาวะที่ไร้แก่นสาร คือ ขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในร่างกายนี้

๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดของทุกข์ คือ ตัณหา ที่เกิดขึ้นในใจของเรา เป็นความพอใจเพลิดเพลินติดใจในอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖

๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ คือ ความดับแห่งสภาวธรรมทางกายและใจทั้งหมด กล่าวคือ ตราบใดที่นั่งกรรมฐานแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถรับรู้สภาวะตึงหย่อนของท้อง หรือรับรู้สภาวะเบา ผลักดัน และหนักในขณะเดินจงกรมก่อน ต่อมาสภาวธรรมทางกายและใจทั้งหมดได้ถึงความดับสูญ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมได้รับรู้ถึงความดับสูญนั้น การรับรู้อย่างนี้เป็นทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ ปรากฏอยู่ภายในร่างกายนี้เช่นเดียวกัน

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางแห่งความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นภายในร่างกายนี้ เพราะเราจะต้องเจริญศีล สมาธิ ปัญญา โดยเจริญสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เป็นต้น ภายในร่างกายนี้เท่านั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใดที่บุคคลยังไม่อาจหยั่งรู้อริยสัจ ตราบนั้นเขาจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ ดังพระพุทธดำรัสในสังยุตตนิกาย มหาวรรค (สํ. มหา. ๑๙.๑๐๙๑.๓๗๖) ว่า

จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา เอวมิทํ ทีฆมทฺธานํ สนฺธาวิตํ สํสริตํ มมญฺ เจวตุมฺหากญฺ จ.

ระยะทางอันยาวไกลอย่างนี้ อันเราและท่านเร่ร่อนไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว เพราะมิได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การเจริญสติเพื่ออยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ

การเจริญสติเพื่ออยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ

ผู้ประสงค์เป็นศิษย์ผู้ฉลาดหลักแหลมเหมือนสุเมธ จะต้องปฏิบัติด้วยการเจริญสติระลึกรู้รูปนามในปัจจุบันขณะ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติมาก่อน พึงปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ ซึ่งจะเป็นไปตามข้อความในอริยาวาสสูตรว่า

อิธ ภิกฺขเว ภิกขุ สตารกฺเขน เจตสา สมนฺนาคโต โหติ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยใจ ที่คุ้มครองด้วยสติ

ในทุกขณะที่มีความคิดผุดขึ้นในใจ จะต้องมีสติคุ้มครองจิต การมีสติอยู่เสมอจะเสมือนว่าท่านกำลังอยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ หรือมีธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ กล่าวคือมีความปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ มาแผ้วพาน ทุกครั้งที่ความคิดเกิดขึ้นในจิต จะต้องกำหนดรู้ และถ้าสามารถกำหนดรู้ได้เท่าทันทุกครั้งที่คิด ก็เท่ากับได้อยู่ในที่อยู่ของพระอริยะ ซึ่งจะคุ้มครองให้พ้นจากอันตรายที่จะต้องตกไปในอบาย และถ้าสามารถกำหนดรู้ได้อย่างต่อเนื่องก็จะบรรลุอริยมรรค ซึ่งจะปกป้องให้พ้นจากความทุกข์ และภัยอันตรายในสังสารวัฏ

ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ความคิดที่เกิดขึ้นทุกครั้งด้วยสติ ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่บรรลุอริยมรรค เขาก็จะพ้นจากทุกข์ภัยในอบายทั้งสี่ ถ้าหากต้องสิ้นชีวิตลงในขณะกำลังเจริญสติ ก็จะไม่ตกไปในอบายภูมิอย่างแน่นอน การมีสติกำหนดรู้ความคิดที่เกิดขึ้นอย่างระมัดระวังอยู่ทุกขณะนี้เรียกว่า “อริยาวาสะ” คือ ที่อยู่ของพระอริยะ

“จงเจริญสติ กำหนดรู้จิตทุกขณะ” เป็นคติพจน์ที่ขอมอบให้ทุกท่าน อธิบายความได้ว่า ทุกครั้งที่จิตรับรู้การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ก็ให้กำหนดรู้จิตนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อัยยิกาสูตร : สัตว์ทั้งหลายต้องตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด

หากหม่อมฉันจะพึงได้สมหวังว่า ขอพระอัยยิกาเจ้าของเราอย่าได้เสด็จทิวงคตเลย ดังนี้ แม้ด้วยใช้ช้างแก้วแลกไซร้ หม่อมฉันพึงให้แม้ซึ่งช้างแก้วเพื่อให้ได้สมหวัง ดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า [แม้ด้วยใช้ .. ม้าแก้ว, บ้านส่วย, ชนบท]
…………………………………………………….……

ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น มหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย

ดูกรมหาบพิตร ภาชนะดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งที่ดิบทั้งที่สุก ภาชนะดินเหล่านั้นทั้งหมด มีความแตกเป็นธรรมดามีความแตกเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความแตกไปได้เลย แม้ฉันใด ดูกรมหาบพิตรสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล

จากอัยยิกาสูตร
=> คลิกอ่าน
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

กิเลสไม่กลัวความรู้ของใคร แต่กลัวธรรมะ

กิเลสไม่กลัวความรู้ของใคร แต่กลัวธรรมะ

ถ้าคนมีความรู้แต่ไม่มีธรรมะ กิเลสยิ่งชอบ เพราะใช้เป็นเครื่องมือได้ดี เป็นเครื่องมือให้ทำความชั่วได้มาก

การประพฤติธรรมคล้ายกับการขับรถ พอคล่องแล้วก็สบาย จะให้ไปให้หยุดอย่างไรก็ได้ คนที่ยังขับรถไม่คล่อง ย่อมมีปัญหามากกระทบกระทั่งกันมาก ผู้ที่ประพฤติธรรมยังไม่คล่องก็เหมือนกัน ย่อมมีปัญหาในการประพฤติธรรมนั่นเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ อนุทินทรรศนะชีวิต

อาจารย์วศิน อินทสระ

สิ่งที่จิตรับรู้เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน

การเจริญสติไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ยากเลย ทุกขณะที่เรารู้ตัวว่ายืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ เคลื่อนไหวร่างกายอยู่ รู้ตัวว่าเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส นึกคิด ก็จัดว่าเจริญสติแล้ว

จิตของเรา เหมือนแก้วน้ำมีฝุ่นธุลีขุ่นอยู่ ถ้าตั้งแก้วน้ำไว้นิ่งๆ น้ำจะใสเอง ในกรณีเดียวกัน ถ้าเราเฝ้าดูอาการปรากฏทางกายกับจิตด้วยสติที่วางใจเป็นกลางไม่ปรุงแต่ง เมื่อนั้น จิตก็จะเกิดสมาธิตั้งมั่นเอง แม้ว่าเราจะกำหนดจิตอยู่ที่ปัจจุบัน แต่จิตเราไม่อยู่นิ่ง มักซัดส่ายเคลื่อนไปเหมือนการฉายภาพสไลด์ บางภาพเป็นเหตุการณ์ในอดีต บางภาพเป็นความคิดในอนาคต

ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งที่จิตรับรู้ที่เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน จำแนกได้ดังนี้

๑. ปัจจุบัน คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะ อดีตนั้นไม่มีจริงเหมือนความฝัน อนาคตก็เป็นจินตนาการที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ ความจริงของชีวิตจึงมีปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น เปรียบดั่งคนที่แหงนหน้ามองท้องฟ้าเมื่อสายฟ้าแลบออกอยู่ จะเห็นประจักษ์ความแปรปรวนนั้นได้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ตามรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันว่า อดีตดับไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง จึงไม่ควรคำนึงถึงอดีต ไม่มุ่งหวังอนาคต พึงเจริญวิปัสสนาญาณที่รู้แจ้งสภาวธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ อันไม่ถูกตัณหาทิฏฐิฉุดรั้ง และไม่วิบัติ [เพราะตัณหาทิฏฐิ]

ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นอยู่จะสักแต่เห็นเมื่อได้ยินอยู่จะสักแต่ได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย จะสักแต่รู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ จะสักแต่รู้อารมณ์ทางใจ

๒. อารมณ์ภายใน คือ อาการปรากฏทางกายกับจิตภายในร่างกายที่ ยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้ สิ่งที่มีชีวิตที่เรียกว่าคนสัตว์นั้นมีส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วน คือ

ก) อาการปรากฏทางกาย (รูป) คือ ธาตุทั้ง ๔ อันได้แก่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบรวมกันเข้าเป็นร่างกาย

ข) อาการปรากฏทางจิต (นาม) แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ

– จิต คือ ธาตุรู้ที่รับรู้อารมณ์ ๖ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ (มโนสัมผัส) นั่นคือ การเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส และนึกคิด จิตเหมือนคนอยู่ในบ้านที่ดูสิ่งนอกบ้านโดยผ่านประตูที่เรียกว่า ทวาร ๖ ช่อง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (มโนทวาร)

– เจตสิก คือ สภาวะที่เกิดร่วมกับจิตอันได้แก่ความรู้สึกรัก ชัง ดีใจ เสียใจ ศรัทธาเลื่อมใส เป็นต้น เจตสิกต่างๆ เหมือนสี ทำหน้าที่แสดงภาพให้ปรากฏ จิตเหมือนน้ำ ทำหน้าที่ซึมซับให้สีติดอยู่กับแผ่นผ้า อารมณ์ที่จิตกับเจตสิกรับรู้เหมือนแผ่นผ้า พระพุทธองค์ทรงแนะนำการเจริญสติภายในกายของตนเท่านั้น

ดังมี พระพุทธวจนะว่า

ดูกรภิกษุ ภิกษุในศาสนานี้ย่อมเล่าเรียนธรรม…ไม่ทอดทิ้งที่เงียบสงัด เพียรเจริญความสงบแห่งจิตภายในตน ดูกรภิกษุ ภิกษุชื่อว่าผู้ประพฤติธรรมอย่างนี้ พวกเธอจงหยั่งรู้กายนี้ จงกำหนดรู้อยู่เสมอ เมื่อรู้เห็นสภาวะในกายแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

๓. สภาวธรรม (ปรมัตถ์) คือ สิ่งที่มีอยู่จริงโดยสภาวะ โดยปกติคนทั่วไปมักคิดว่าสมมุติบัญญัติคือมือ เท้า เป็นต้น มีจริง แต่เมื่อพิจารณาดูจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงเลย มีเพียงหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ผูกรวมกันเป็นอวัยวะน้อยใหญ่ที่มีธาตุทั้ง ๔ รวมอยู่เป็นกลุ่ม ทำให้สำคัญผิดว่ามีจริง เปรียบเสมือนเงานกที่บินไป ในน้ำ มีเพียงเงาปรากฏขึ้นเท่านั้น ไม่มีตัวนกอยู่จริงๆ

ธาตุทั้ง ๔ นั้นรวมอยู่เป็นกลุ่มในทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต คือ ธาตุดิน มีลักษณะแข็ง-อ่อน ธาตุน้ำ มีลักษณะไหล-เกาะกุม ธาตุไฟ มีลักษณะเย็น-ร้อน ธาตุลม มีลักษณะหย่อน-ตึง ธาตุดินมีคุณสมบัติทั้งอ่อนทั้งแข็งอยู่ในตัวมัน ธาตุอื่นก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ วัตถุที่แข็งเช่นไม้ ย่อมจะมีความแข็งมากกว่าความอ่อนส่วนวัตถุที่อ่อนเหมือนน้ำ มีความอ่อนมากกว่าความแข็ง ในโต๊ะตัวหนึ่งไม่ใช่มีเพียงธาตุดินอย่างเดียว แต่มีธาตุทั้ง ๔ ประกอบอยู่ร่วมกัน คือ ลักษณะแข็งเป็นธาตุดิน ลักษณะเกาะกุมเป็นรูปโต๊ะ เป็นธาตุน้ำ ลักษณะเย็น เป็นธาตุไฟ ลักษณะตึง เป็นธาตุลม

สรุปความว่า สิ่งที่นักปฏิบัติพึงสังเกตรู้ คืออาการปรากฏทางกายกับจิตในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อคลายความยึดมั่นในตัวตน โดยทั่วไปความทุกข์ มักเกิดจากความยึดมั่น หาใช่เกิดจากอารมณ์ภายนอกที่มากระทบจิตไม่ตัวอย่างเช่น ถ้าไฟไหม้บ้านของเรา เราจะเดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ถ้าไหม้บ้านคนที่ไม่ชอบหรือไม่รู้จัก เรามักวางเฉยไม่เดือดร้อน

ดังนั้น ความทุกข์ทั้งหมดจึงเกิดจากความยึดมั่นในตัวตน ขณะเจริญสติเฝ้าดูอาการทางกายกับจิต จะรู้สึกว่ามีเพียงสภาวธรรมทางกายกับจิตที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่มีตัวเรา ของเรา อยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้น และสภาพธรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ความรู้สึกเช่นนี้คือการคลายความยึดมั่นในตัวตนอย่างแท้จริง

พระพุทธองค์ตรัสสอนให้เพิกถอนความยึดมั่นในตัวตนไว้ว่า

ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะ พึงเจริญสติพากเพียรเพื่อคลายความยึดมั่นในตัวตน เหมือนดั่งบุคคลที่ถูกหอกแทงและถูกไฟเผาศีรษะ

จิตที่อบรมแล้วจนกระทั่งบรรลุความสงบสุข ย่อมจะเป็นอิสระพ้นจากกิเลสได้ชั่วขณะ เหมือนคนมีหนี้แล้วปลดเปลื้องได้ ย่อมจะได้รับความสบายใจ และเมื่อปัญญาพัฒนาจนบรรลุอริยมรรคที่ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง จิตของเราจะเป็นอิสระพ้นจากกิเลสตลอดกาล และหลุดพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสาร

โคลนตมเกิดจากน้ำ ย่อมถูกชำระล้างด้วยน้ำ ฉันใด
กิเลสเกิดจากจิต ย่อมถูกชำระให้หมดจดด้วยการอบรมจิต ฉันนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
พระคันธสาราภิวงศ์

กำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง เท่าทัน ตรงอาการ

หลักการเจริญสติปัฏฐานนั้น เน้นวิธี “กำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง เท่าทัน ตรงอาการ” มีความหมายดังนี้

๑. กำหนด คือ การเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีตหรือใฝ่ฝันอนาคต เปรียบเสมือนบุรุษผู้ถือ หม้อน้ำมันเดินมา ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้น้ำมันไหลหก

๒. จดจ่อ คือ การจ้องจับอารมณ์อย่างแนบแน่น ไม่กำหนดรู้อย่างผิวเผิน เหมือนการเล็งธนูแล้วยิงให้พุ่งเข้าไปสู่เป้าด้วยกำลังแรงจนธนูปักตรึงอยู่กับที่

๓. ต่อเนื่อง คือ การมีสติไม่ขาดช่วงในขณะยืน เดิน นั่ง นอน และเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย โดยเริ่มจากเวลาตื่นนอนเรื่อยไปจนกระทั่งหลับสนิท ทั้งขณะอยู่ในห้องกรรมฐานและนอกห้องกรรมฐาน แม้กระทั่งขณะล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ทานอาหาร ฯลฯ

การมีสติอย่างต่อเนื่องเปรียบเหมือนการหมุนอย่างต่อเนื่องของพัดลมที่ค่อยๆ มีกำลังแรงขึ้น และไม่เหมือนกิ้งก่าที่หยุดชะงักเป็นช่วงๆ ก่อนจะจับเหยื่อ นอกจากนี้ พึงตามรู้อาการปรากฏตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุดในแต่ละอาการ คือ พอง ยุบ ยก ย่าง เหยียบ คู้ เหยียด เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่ควรหยุดเคลื่อนไหวเป็นช่วงๆ ซึ่งจะทำให้สติขาดช่วงไม่ต่อเนื่อง

๔. เท่าทัน คือ การกำหนดอารมณ์ทุกอย่างได้ทันท่วงทีในปัจจุบันขณะ ไม่ปล่อยให้เผลอสติลืมกำหนดรู้ อารมณ์ทุกอย่างนั้นเหมือนผ้าขาวสะอาดที่ปรากฏแก่จิต ส่วนจิตเหมือนมือที่ยื่นไปจับผ้า ถ้าจิตมีสติกำหนดรู้เท่าทัน จะรับอารมณ์นั้นไว้ด้วยความสะอาดคือปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง แต่ถ้าสติกำหนดรู้ไม่ทัน จิตจะรับไว้ด้วยความสกปรกคือความหลงไม่รู้จริง (โมหะ) ความไม่ละอายต่อบาป (อหิริกะ) ความไม่เกรงกลัวต่อผลบาป (อโนตตัปปะ) และความฟุ้งซ่าน (อุทธัจจะ) อยู่เสมอ

๕. ตรงอาการ คือ การสังเกตดูอาการทางกายกับจิตตรงตามสภาวะนั้นๆ โดยที่จิตรับรู้สภาวะจริงๆไม่สักแต่บริกรรมท่องในใจ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
พระคันธสาราภิวงศ์

การอบรมจิตด้วยการเจริญสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง

ศาสนาพุทธสอนให้ชาวโลกบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ด้วยการไม่ทำชั่ว ทำความดี และ ทำใจให้ผ่องใสการทำใจให้ผ่องใส คือการอบรมจิตด้วยการเจริญสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง

โดยปกติมนุษย์มักอยู่กับความคิด คิดไปในอดีตหรือคิดไปในอนาคต ไม่มีเราอยู่ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับสนิท เราอยู่ในภาพลวงตาของอดีตและอนาคตตลอดเวลา เหตุที่เป็นดังนี้ ก็เพราะว่าจิตของเราผูกพันกับอดีต ใฝ่ฝันอนาคต

นอกจากนี้ เมื่อมนุษย์ได้รับการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มักใส่ใจต่อทุกสิ่งที่มากระทบสัมผัส ตามวิถีที่ตนถนัด ตอบสนองด้วยกิเลสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ และเกิดผลเป็นความทุกข์ทางใจ มีอาการเครียด เป็นต้น จิตของเราจึงมีแต่ความเศร้าหมอง เร่าร้อน วิตกกังวลอยู่เสมอ

ในขณะที่เราเจริญสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ความคิดถูกแทนที่ด้วย “การระลึกรู้” จิตจึงมีความสงบไม่ซัดส่ายเป็นสุข และเมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสก็นำเอาปัญญาเข้าไปรับรู้ ส่งผลให้ไม่ตอบสนองด้วยกิเลส

ปัญญาดังกล่าวนี้เรียกว่า วิปัสสนา คือปัญญาหยั่งเห็นที่เกิดจากการเจริญสติจนกระทั่งมีสมาธิตั้งมั่นแล้วจึงเกิดปัญญา หาใช่ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้หรือวิเคราะห์ตามทฤษฎีไม่

สมจริงดังพระพุทธวจนะว่า

“สมาธิที่อบรมด้วยศีล มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่อบรมด้วยสมาธิ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตที่อบรมด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

การเจริญสตินั้นเป็นการเรียนรู้ความจริงของชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์ ด้วยการสำรวจตัวเราเอง ความจริงดังกล่าว คืออาการปรากฏทางกายกับจิต เมื่อใด เรารับรู้ว่ามีรูปกับนามเท่านั้นที่เกิดตามเหตุปัจจัยในแต่ละขณะ ไม่มีบุคคล ตัวเราของเรา เมื่อนั้น สติจะเห็นธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ นั่นคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน

สิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการเจริญสติ สติทำให้เราเห็นว่าสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ว่าเป็นทุกข์และทุกสิ่งไม่จีรังยั่งยืน สติในการปฏิบัติธรรมเป็นการสังเกตดูสภาวะล้วนๆ (Bare Attention) เห็นสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตตามความเป็นจริง โดยปราศจากการตัดออก ต่อเติม โยกย้าย หรือวิเคราะห์ทางทฤษฎี เช่นกับคนดูสายน้ำที่สักแต่ดูการไหลของสายน้ำที่เร็วบ้าง ช้าบ้าง บางครั้งเป็นน้ำใสสะอาด บางครั้งมีสิ่งสกปรกเจือปน เขาพึงวางใจเป็นกลางไม่ปรุงแต่งสายน้ำให้เป็นไปตามความต้องการของตน

สตินำไปสู่ความเห็นแก่ตัวไม่ได้ เพราะสติไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ของเรา จึงไม่เห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม สติมองดูตัวเรา เตือนเราให้หลีกออกมาระลึกรู้เท่าทันความต้องการ ความเกลียดชัง ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้และรู้จักตัวเอง เมื่อมีสติ เราจะเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง โดยไม่โกหกตัวเอง เห็นความเห็นแก่ตัว ความทุกข์ และเหตุเกิดทุกข์ เห็นว่าเราทำให้คนอื่นเจ็บปวดบ้าง โกหกตัวเองบ้าง สติจึงก่อให้เกิดปัญญาเพื่อพัฒนาชีวิต

ผู้ที่เจริญสติอย่างบริบูรณ์ จะเป็นอิสระไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลก หลุดพ้นจากความอ่อนแอของมนุษย์ มีใจมั่นคง ไม่โลเล สติจะป้องกันและทำลายอุปสรรคทั้งหมดที่เกิดในตัวเรา เราจะยืนหยัดในโลกด้วยความสุขโดยไม่ถูกกระทบจากอารมณ์ภายนอกใดๆ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ศึกษาวิธีเจริญสติด้วยภาษาง่ายๆ
พระคันธสาราภิวงศ์

ถ้าสามารถรักษาเพียงสิ่งหนึ่งได้ ก็จะไม่มีอะไรที่ต้องคอยระวังอีก

ภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐี

ในสมัยพุทธกาล มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่งได้ไปหาพระเถระที่ตนเคารพ และอุปัฏฐากอยู่เป็นประจำ แล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมใครจะพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ อยากจะบรรลุพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ดับกิเลสและทุกข์ทั้งมวล กระผมควรปฏิบัติเช่นไร”

พระเถระจึงแนะนำให้เขาถวายภัตตาหารและจีวร เป็นต้น และทำกุศลอื่นๆ อีก เมื่อเขาได้ปฏิบัติตามแล้วได้ไปหาพระเถระอีก กล่าวว่า “กระผมได้ถวายทานและทำกุศลอื่นๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่พบธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์”

พระเถระจึงให้เขารับไตรสณคมน์ และรักษาศีลห้า หลังจากรักษาศีลห้าแล้วก็ไปหาพระเถระอีก กล่าวว่า “กระผมได้รักษาศีลห้าด้วยความเคารพ แต่ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์”

พระเถระจึงให้รักษาศีลสิบ และแม้ว่าจะได้ประกอบกุศลทั้งหมดนี้แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์ พระเถระจึงแนะนำให้ออกบวช

เมื่อบวชแล้ว ภิกษุนั้นต้องเปลี่ยนจากเสื้อผ้าของคฤหัสถ์ ต้องโกนผมและหนวด ครองผ้ากาสาวพัสตร์ตามหลักพระวินัย พระอุปัชฌาย์สอนข้อวินัยต่างๆ พระอาจารย์อีกรูปหนึ่งสอนพระสูตร อีกรูปหนึ่งสอนพระอภิธรรม และสอนให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

พอท่านเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ก็ถูกแนะนำให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด กฏเกณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย ทำให้ภิกษุนั้นคิดว่า

“ช่างยากเย็นจริงหนอ เราบวชเพื่อให้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ แต่กลับมาเจอกฏระเบียบที่เข้มงวดมาก จนแทบกระดิกตัวไม่ได้ (ไม่มีอิสระที่จะคิดทำอะไรได้) มาจนมุมเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถอยู่ เป็นพระต่อไปได้ เราสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ แล้วพยายามให้ทาน รักษาศีล ก็อาจจะพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏได้”

โชคดีที่เกิดเหตุในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ได้ยินว่าเขาจะลาสิกขา จึงพาภิกษุนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อได้กราบทูลเรื่องทั้งหมดแล้ว พระองค์ตรัสถามสาเหตุที่จะลาสิกขา

ภิกษุนั้นได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องจดจำกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายทั้งวินัยและอภิธรรม ข้าพระองค์เป็นทุกข์ทั้งกายและใจ ไม่อาจขยับเขยื้อนแม้แต่น้อย เพราะพระวินัยนั้นเข้มงวดกวดขันมาก ข้าพระองค์จึงตกลงใจจะลาสิกขากลับไปเป็นคฤหัสถ์ พระเจ้าข้า”

ภิกษุนั้นคงเกิดความกังวล และรู้สึกถึงความยากลำบากที่จะต้องคอยระวัง เพราะกลัวว่าจะทำผิดวินัย และจะเป็นอันตรายต่อสมาธิและวิปัสสนาปัญญา

เมื่อพระพุทธองค์ได้สดับตำตอบของเขา จึงตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าเธอสามารถรักษา เพียงสิ่งหนึ่งได้เท่านั้น ก็จะไม่มีอะไรที่ต้องคอยระวังอีก” ภิกษุนั้นทูลถามว่า “สิ่งนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสว่า “เธอจะสามารถรักษาเฉพาะจิตของเธอได้ไหม” ภิกษุนั้นทูลตอบว่า “รักษาได้ พระพุทธเจ้าข้า” เพราะคิดว่าหากต้องระวังเพียงจิตของเขา ก็ไม่มากเกินกว่าจะดูแลได้ เมื่อเทียบกับวินัยของภิกษุ

พระพุทธองค์จึงประทานจิตตานุปัสสนากรรมฐาน ด้วยคาถาดังต่อไปนี้

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถกามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.

“จิตเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก มักใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่ ผู้มีปัญญาจึงควรควบคุมจิตไว้ให้ดี เพราะจิตที่ควบคุมได้แล้วนำสุขมาให้”

ความหมายคือ ผู้มีปัญญาพึงเฝ้ารักษาจิตที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมักโน้มเอียงไปในอารมณ์ที่มากระทบ จิตที่สามารถระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ ย่อมมีคุณสมบัติที่จะนำผู้นั้นไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หลังจากได้เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานตามเนื้อความของคาถาไม่นาน ภิกษุนั้นก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ คนทั่วไปเห็นว่าพระวินัยมีกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมากเกินไป และในการเจริญสมถกรรมฐาน จะต้องป้องกันจิตไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ ดังนั้น คนทั่วไปจึงอาจคิดว่า การเจริญสมถกรรมฐานก็เป็นการปฏิบัติที่เข้มงวดเกินไป

มีอีกเรื่องเล่าว่า ภิกษุรูปหนึ่งได้เทศน์เรื่องวิปัสสนากรรมฐานแก่ทายกของตน และสอนให้กำหนดรู้จิต ที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะ และจะต้องกำหนดทุกครั้งที่มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส เดิน เคลื่อนไหว และคิดนึก โดยสอนว่า วิปัสสนาปัญญาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกำหนดรู้อย่างนี้

ทายกตอบว่า ตนไม่สามารถกำหนดรู้ตามที่สอนได้ เพราะสิ่งที่ต้องกำหนดรู้นั้นมีมากมายหลายประการเกินไป และในการปฏิบัติวิปัสสนายังต้องกำหนดรู้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ให้ขาดช่วง ดังนั้น จึงมีคนสรุปว่า การเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติที่เข้มงวดมากเกินไป

พระบรมศาสดา ทรงสอนการปฏิบัติวิปัสสนา เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามวิธีที่ทรงแสดง ก็ไม่อาจหวังได้เลยว่าจะสามารถก้าวหน้าไปถึงขั้นพ้นจากภัยในอบายภูมิ แม้ว่าจะให้ทาน และรักษาศีลอย่างบริบูรณ์แล้วก็ตาม หากผู้นั้นยังไม่บรรลุมรรคผล ก็ยังไม่พ้นจากการเกิดในอบายภูมิ ในกรณีที่อกุศลวิบากในอดีตได้โอกาสส่งผล

ดังนั้น จึงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรารักษาศีล เจริญสมาธิและปัญญา เพื่อให้พ้นจากอบายภูมิทั้งสี่ และหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ

คำสอนของพระองค์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์ รวมถึงเทวดาและพรหม ซึ่งได้สั่งสมบารมีมาเพียงพอที่จะมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพเป็นต้นมา

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

มุทุลักขณชาดก : ว่าด้วยความต้องการไม่มีสิ้นสุด

ครั้งก่อน อาตมภาพยังไม่ได้รับพระราชทานพระเทวีมุทุลักขณาของมหาบพิตรองค์นี้ อาตมภาพมีความปรารถนาอย่างเดียว เกิดความต้องการขึ้นอย่างเดียวเท่านั้นว่า โอหนอ เราพึงได้พระนาง

แต่พออาตมภาพได้รับพระราชทานพระนางผู้มีพระเนตรแวววาว มีพระเนตรกว้าง มีดวงพระเนตรงามขำเข้าแล้ว ทีนั้น ความปรารถนาข้อแรกของอาตมา ช่วยให้กำเนิดเกิดความปรารถนาสืบต่อเนื่องขึ้นไป เช่นความปรารถนาเรื่องเรือน ความปรารถนาในเครื่องอุปกรณ์ ความปรารถนาในเครื่องอุปโภคเป็นต้น

ก็ความปรารถนาของอาตมานั้นเล่า เมื่อพอกพูนเข้าอย่างนี้จักไม่ยอมให้อาตมภาพยกศีรษะขึ้นได้จากอบาย

พอกันทีสำหรับพระนางนี้ที่จะเป็นภรรยาของอาตมภาพ ขอมหาบพิตรจงรับมเหสีของมหาบพิตรคืนไป. ส่วนอาตมภาพจักไปหิมพานต์.

จากอรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อิตถีวรรค
มุทุลักขณชาดก
=> คลิกอ่าน


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง

ในการปฏิบัติธรรม การเจริญมรณานุสสติด้วยการคำนึงถึงความตายที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเวลานั้นทำให้เกิดผลดีมากมาย พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ระลึกถึงความตายอย่างนี้ว่า

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชัญฺญา มรณํ สุเว
น หิ โน สงฺครํ เตน มหาเสเนน มัจฺจุนา

บุคคลควรทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะเราไม่อาจผ่อนผันกับมัจจุราชผู้มีกองทัพมากนั้นได้

ความเพียรชอบ หรือสัมมัปปทาน ๔ ได้แก่
๑ ความพยายามกำจัดบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๒ ความพยายามป้องกันบาปอกุศล ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
๓ ความพยายามทำกุศล เช่น ทาน ศีล สมถะ วิปัสสนา และมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔ ความพยายามเพิ่มพูนกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้มากยิ่งขึ้น

การทำความเพียรอย่างยิ่งยวดประกอบด้วยสัมมัปปทาน ๔ อย่างนี้ โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนา เป็นสิ่งที่จะต้องทำในวันนี้ ไม่ควรผัดผ่อนเป็นวันพรุ่ง หรือวันต่อๆ ไป พระผู้มีพระภาคทรงย้ำ ให้ปฏิบัติวิปัสสนาทันทีเดี๋ยวนี้ แต่อุบาสกอุบาสิกาของเรา ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตาม แม้ในบรรดาพระสงฆ์ ก็ยังมีภิกษุบางรูปเห็นว่า การปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดาเป็นเรื่องยาก แม้ว่าพระองค์ จะได้ทรงย้ำเตือนอย่างจริงจังด้วยพระกรุณา

ทั้งนี้เนื่องจากเราไม่ทราบว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร อาจเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ หรือวันใดวันหนึ่งในอนาคตก็ได้ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราจะตายเมื่อไร อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักจะคิดว่าความตายจะยังมาไม่ถึงภายในวันนี้ วันพรุ่งนี้ หรือในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นจริงโดยทั่วไป

แต่ถ้าลองสืบค้นหรือสำรวจดูก็จะพบได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ตายไปโดยไม่ถึงเวลาอันควร กล่าวได้ว่าไม่มีใครรู้แน่ว่า ความตายจะมาถึงตัวเมื่อไร ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า น หิ โน สงฺครํ เตน มหาเสเนน มัจฺจุนา (เพราะเราไม่อาจผ่อนผันกับมัจจุราชผู้มีกองทัพมากนั้นได้) หมายความว่า เราไม่มีโอกาสที่จะผูกมิตรกับพญามัจจุราช (ความตาย) เพื่อจะขอกำหนดวันตายที่แน่นอน ขอติดสินบน หรือสู้รบปรบมือเพื่อผัดผ่อนเลื่อนวันที่จะต้องตาย กับพญามัจจุราชซึ่งมีกองทัพใหญ่ ประกอบด้วยอาวุธที่ร้ายแรง ซึ่งได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และยาพิษเป็นต้นได้เลย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือวัมมิกสูตร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

หากเราพิจารณาดูงานที่ทำกันทางโลก จะพบว่างานที่ทำในปัจจุบันสำคัญที่สุด แม้การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน

คนที่กำลังกินข้าวอยู่ การกินข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาด้วยการระลึกรู้สภาวธรรมรูปนามที่ปรากฏในขณะกินข้าวด้วยสติ และหยั่งเห็นสภาวธรรมนั้นด้วยปัญญา การกินข้าวนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องรอให้ว่าง ถ้าเราตั้งใจจริงทุกขณะคือการปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติระลึกรู้ปัจจุบัน เพื่อการหลีกเลี่ยงจากบาป และสั่งสมบุญอยู่ตลอดเวลา

ในกรณีเดียวกัน คนที่กำลังหุงข้าวอยู่ การหุงข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาเข้าไปด้วย การหุงข้าวของเขาก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แม้คนที่กำลังเดินอยู่ ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเพิ่มสติและปัญญาเข้าไปในขณะเดิน การเดินของเขาก็เป็นการปฏิบัติธรรม

บางท่านที่เคยเข้ากรรมฐานมาแล้ว พอกินข้าวคนเดียวก็จะกำหนดตลอดเวลา เธอรู้สึกว่ามีความสุขในขณะเจริญสติระลึกรู้สภาวะเบาหนักที่ปรากฏในขณะยกมือ เหยียดมือ ฯลฯ บางคนหุงข้าว ถูบ้าน ฯลฯ ก็สามารถกำหนดได้ด้วยความสุข

ดังนั้น ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่เราตลอดเวลา ทุกขณะจึงเป็นเวลาที่เจริญสติปัฏฐานได้ แม้ว่าการปฏิบัติในขณะอยู่บ้านจะไม่ต่อเนื่องเหมือนเวลาที่อยู่ในคอร์สปฏิบัติ ก็เป็นการสั่งสมสติทีละน้อยเพื่อก่อให้เกิดมหาสติในโอกาสต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หมั่นสีไม้ให้เกิดเปลวไฟ

หมั่นสีไม้ให้เกิดเปลวไฟ

การเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันด้วยการเดินจงกรม การนั่งกรรมฐาน และตามรู้อิริยาบถย่อย มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เรารับรู้สภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยวางใจเป็นกลางปราศจากการปรุงแต่งหรือคิดถึงอดีตอนาคต เมื่อสติดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่นนี้สมาธิคือความตั้งมั่นในสภาวธรรมก็จะปรากฏขึ้น แล้วปัญญาที่หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนการสีไม้สองท่อนอย่างต่อเนื่อง จะเกิดความร้อนและเปลวไฟ การสีไม้เหมือนสติ ความร้อนเหมือนสมาธิ และเปลวไฟเหมือนปัญญา

ปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติธรรมนี้ มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การรับรู้สภาวธรรมเบาหนักนั่นคือปัญญาขั้นแรก แล้วต่อไปปัญญานี้จะพัฒนามากขึ้นจนกระทั่งหยั่งเห็นความเกิดดับของสภาวธรรมเบาหนักได้ นั่นคือเราได้สั่งสมเมล็ดพันธุ์แห่งวิปัสสนาไว้ในกระแสจิต เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป

การเจริญสตินั้นเหมือนการเดินบนสะพานแคบๆ กว้างเพียงหนึ่งฝ่ามือ ถ้าคนเดินไม่ระมัดระวังก็อาจเดินตกสะพานได้ ผู้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนคนเดินบนสะพาน ถ้าขาดสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันก็จะเกิดความฟุ้งซ่านครอบงำจิตทันที เมื่อใด จิตประกอบด้วยสติ เมื่อนั้นกิเลสจะเกิดขึ้นรบกวนจิตไม่ได้ เพราะจิตมีสภาวะรับรู้อารมณ์เดียวในขณะเดียว เหมือนเมื่อปรากฏแสงสว่าง ความมืดก็จะปรากฏขึ้นไม่ได้

การกำหนดรู้อิริยาบถย่อยที่นอกเหนือจากอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ อันได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอน คือการเหยียด คู้ ขึ้น ลง เป็นต้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้อิริยาบถย่อยน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้น และผู้ปฏิบัติธรรมจะพูดกับตัวเองอยู่เสมอ ความฟุ้งซ่านนี้เปรียบเสมือนน้ำที่รั่วเข้ามาในเรือ ผู้ปฏิบัติธรรมเหมือนคนที่พายเรือไปด้วย วิดน้ำที่รั่วเข้ามาในเรือไปด้วย ส่งผลให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะการทำอิริยาบถย่อยดีย่อมส่งผลให้การเดินจงกรมมีคุณภาพ การเดินจงกรมที่มีคุณภาพย่อมส่งผลให้การนั่งมีคุณภาพ แล้วการนั่งที่มีคุณภาพก็ส่งผลให้การทำอิริยาบถย่อยมีคุณภาพไปด้วยเช่นเดียวกัน

ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมจิต จัดว่าเป็นการฝึกฝนตนเพื่อสำรวจตัวเราเองอย่างแท้จริง เมื่อเรารู้จักตัวเราแล้วก็จะปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นจนเกินพอดี และเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส ไม่เห็นกิเลสโดยความเป็นตัวตน

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสกิเลสที่เพลิดเพลินกับอารมณ์ที่ดีที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราจึงต้องอดทน แล้วฝึกตนที่ฝึกได้ยาก ดังพระพุทธดำรัสใน คัมภีร์ธรรมบท (ขุ. ธ. ๒๕.๑๕๙.๔๕) ว่า อตฺตาหิ กิร ทุทฺทโม (ตัวเองฝึกได้ยากโดยแท้)

นอกจากนี้เราต้องอดทนกับการกำหนดความฟุ้งซ่านโดยไม่หงุดหงิด อดทนต่อการกำหนดทุกขเวทนาด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากให้หายหรือไม่อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับที่พึ่งซึ่งได้รับโดยยาก คือ พระนิพพาน ดังสาวกภาษิตในคัมภีร์เถรคาถา (ขุ. เถร. ๒๖.๑๑๗๔.๔๒๒) ว่า

นยิทํ สิถิลมารพฺภ นยิทํ อปฺเปน ถามสา
นิพฺพานมธิคนฺตพฺพํ สพฺพคนฺถปโมจนํ.

พระนิพพานที่ปลดเปลื้องเครื่องร้อยรัดทุกอย่างนี้ จะบรรลุด้วยความเพียรที่ย่อหย่อน ด้วยความบากบั่นเพียงเล็กน้อย หาได้ไม่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีบุรุษคนหนึ่งถูกหอก ๓๐๐ เล่มแทงร่างกายตลอด ๑๐๐ ปี ถ้าเขาอดทนต่อความทุกข์ในการโดนหอกแทง แล้วบรรลุพระนิพพานได้ การอดทนของเขานับว่าคุ้มค่า เพราะว่าสังสารวัฏน่ากลัวและเป็นทุกข์มากกว่าการถูกหอก ๓๐๐ เล่มแทงตลอด ๑๐๐ ปี

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

วัมมิกสูตร : ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

ข้อความจากวัมมิกสูตร : ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

เจ้าจงใช้ ปัญญาเพียงดั่งศาตรา
ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย.

เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา
ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธเสีย จงขุดมันเสีย.

เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา 
ก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมัน เสีย

เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา
ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา
ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา
ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย
คือ จงละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย.

เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา
ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นเสีย

นาคนั้น เป็นชื่อของ ภิกษุผู้ขีณาสพ
นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาค

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
โอปัมมวรรค
วัมมิกสูตร
อ่านพระสูตร คลิกที่นี่ >>>> วัมมิกสูตร

หนังสือ “วัมมิกสูตร ปริศนาแห่งจอมปลวก”
โดย.. พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ >>>> หนังสือวัมมิกสูตร

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ฟังธรรมบรรยาย วัมมิกสูตร
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ
:
ตอนที่ ๑

วัมมิกสูตร : ประวัติพระกุมารกัสสปะ
:

:
:
ตอนที่ ๒
:

:
:
ตอนที่ ๓
:

:
:
ตอนที่ ๔
:

:
:
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 

หนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้

หนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
ดาวน์โหลดหนังสือ (ฉบับรวมเล่ม) : คลิกที่นี่ => ฉบับรวมเล่ม

ดาวน์โหลดหนังสือ (เล่มเล็ก) มี 5 เล่ม
เล่ม 1 : บทที่ 1 การอบรมศีล และเจริญภานาเบื้องต้น และ บทที่ 5 วิปัสสนาญาณ
: คลิกที่นี่ => เล่ม 1

จัดพิมพ์โดย ชมรมกัลยาณธรรม 4 เล่ม
เล่ม 2 : บทที่ 2 รู้แจ้งปรมัตถธรรมด้วยการเจริญพละ 5 : คลิกที่นี่ => เล่ม 2
เล่ม 3 : บทที่ 3 กองทัพทั้งสิบของมาร : คลิกที่นี่ => เล่ม 3
เล่ม 4 : บทที่ 4 โพชฌงค์  : คลิกที่นี่ => เล่ม 4
เล่ม 5 : บทที่ 6 ราชรถสู่พระนิพพาน  : คลิกที่นี่ => เล่ม 5

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หลวงพ่อ อูบัณฑิตา ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ว่า

“แรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ควรมาจากความเชื่อที่ว่า ที่สุดของทุกข์มีอยู่ และเราสามารถทำให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม”

ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะสามารถสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของหลวงพ่อ ในการสร้างกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติไม่ย่อท้อที่จะเดินตามทางสายเอก คือ สติปัฏฐานวิปัสสนาภาวนา เพราะผู้ปฏิบัติถูกตรงย่อมสามารถรู้แจ้งธรรมได้ในชาตินี้ ลีลาในการสอนของหลวงพ่อ แม้จะดูง่ายๆ อ่อนโยน ตรงไปตรงมา เปี่ยมด้วยเมตตา แต่ก็แฝงด้วยความจริงจัง คมชัด ลุ่มลึก และงดงามเป็นอย่างยิ่ง

ข้อความส่วนหนึ่งจากคำนำ โดยผู้แปล
พิชิต – วิธัญญา ภัทรวิมลพร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง

หนังสือ “รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง”
พระพรหมคุณาภรณ์

ดาวน์โหลดหนังสือ คลิกที่นี่ =>  รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง
  
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปรารภ

หนังสือนี้ถือว่าเขียนพอเสร็จให้อ่านไปพลางก่อน เพราะเรื่องที่ปรารภเกิดขึ้นนานแล้วจึงทราบ ควรเร่งให้ความรู้กันไปขั้นหนึ่งก่อนไม่ให้เป็นความประมาท เมื่อใดทราบเรื่องราวที่เป็นไปละเอียดขึ้น ถ้าเวลาอำนวยและร่างกายยังไหว อาจจะได้ต่อได้เติม

เรื่องราวจำพวกปัญหาที่เกิดทยอยมาระยะนี้ แสดงชัดถึงสภาพของพุทธบริษัท ที่คนไทยเหินห่างจากเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ขาดความรู้หลักธรรมวินัย ไม่รู้จักคำพระคำวัดที่พูดจาคุ้นกันมาจนกลายเป็นคำพูดสามัญในสังคมไทย มีแต่ความเข้าใจผิดพลาดเพี้ยนกันไป เมื่อมีเรื่องจำพวกปัญหาเกิดขึ้น ถ้าไม่ถึงกับหลงไปตามเขา ก็มองไม่ออก ตัดสินไม่ได้

จำเป็นต้องรีบตื่นกันขึ้นมา ข้อสำคัญที่สุดอยู่ที่ต้องหาต้องให้ความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง คือต้องศึกษา เมื่อรู้เข้าใจเพียงพอแล้ว มีอะไรเกิดขึ้นมา ก็สามารถพิจารณา มองออกและบอกได้ทันที

หนังสือ รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง นี้ มิใช่จะตอบโต้ใครแต่มุ่งรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยให้ปลอดพ้นความรู้ผิดเข้าใจพลาดที่เป็นภัยสำคัญ หลายอย่างคงจะยากสักหน่อย แต่ว่าด้วยเรื่องที่จำ เป็นต้องรู้ เพื่อมีคุณสมบัติสมกับที่ได้นับถือพระพุทธศาสนา จึงพึงอดทนศึกษา เหมือนเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นพุทธศาสนิกชน

ผู้เขียน (พระพรหมคุณาภรณ์)
๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เครื่องประดับที่งดงาม

อันที่จริงแล้ว ในโลกนี้ไม่มีเครื่องประดับอันใดที่จะงดงามไปกว่าความประพฤติอันบริสุทธิ์หมดจด ไม่มีที่พึ่งที่ยิ่งใหญ่อันใด และไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นบาทฐานให้ปัญญาฌานเจริญงอกงามได้เทียบเท่ากับศีล ศีลก่อให้เกิดความงามที่มิได้ฉาบทาเพียงภายนอก แต่เป็นความงดงามจากใจที่สะท้อนให้เห็นได้ในตัวบุคคล

เครื่องประดับนี้เหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย ในทุกสถานะและทุกฤดูกาล ดังนั้นจึงโปรดรักษาความบริสุทธิ์หมดจดแห่งความประพฤติของท่านไว้ให้รุ่งเรืองต่อเนื่องอยู่เสมอ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ข้อความจากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๑ การอบรมศีลและเจริญภาวนาเบื้องต้น
โดย… ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ

สำนึกเบื้องต้นแห่งความเป็นมนุษย์

สำนึกเบื้องต้นแห่งความเป็นมนุษย์

ศีลมิใช่ข้อบัญญัติที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้และมิได้จำกัดอยู่แต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น อันที่จริงศีลมีรากฐานมาจากสำนึกเบื้องต้นแห่งความเป็นมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราเกิดอารมณ์โกรธและต้องการทำร้ายผู้อื่น หากเราลองเอาใจเขามาใส่ใจเราและพิจารณาสิ่งที่เราอยากจะทำอย่างซื่อตรง เราจะตอบได้ทันทีว่า “เราไม่ต้องการให้คนอื่นทำเช่นนั้นกับเรา การทำร้ายคนอื่นเป็นสิ่งที่โหดร้ายและไม่ยุติธรรม” หากเรารู้สึกเช่นนี้กับสิ่งที่เราคิดอยากจะทำ ก็เชื่อได้ว่าการกระทำนั้นไม่ดีงาม

หากพิจารณาในแง่นี้อาจมองได้ว่าการรักษาศีล คือ การแสดงออกถึงสำนึกแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตอื่นๆ เราต่างรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกทำร้ายและด้วยความเมตตาและเกื้อกูลต่อผู้อื่น เราจึงตั้งใจจะหลีกเลี่ยงการทำร้ายผู้อื่น เราควรยึดมั่นในการกล่าวแต่สิ่งที่เป็นความจริงและหลีกเลี่ยงคำพูดที่ประทุษร้ายหลอกลวงและกล่าวโทษผู้อื่น

เมื่อเราฝึกฝนที่จะหลีกเลี่ยงคำพูดและการกระทำที่เป็นไปด้วยความโกรธภาวะจิตที่หยาบกระด้างและไม่หมดจดงดงามนี้อาจค่อยๆ หมดไป หรืออย่างน้อยก็อาจจะอ่อนกำลังลงหรือเกิดขึ้นน้อยลง แน่นอน ความโกรธมิใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เราทำร้ายผู้อื่น ความโลภก็อาจทำให้เราหยิบฉวยสิ่งของใดๆ โดยผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมได้ หรือความปรารถนาทางกามสุขอาจทำให้เราเอาใจไปผูกพันเกี่ยวเกาะกับคู่ของบุคคลอื่น หากเราพิจารณาว่า เราอาจทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดได้มากเพียงไรแล้ว เราย่อมจะพยายามข่มใจไม่ให้ตกเป็นทาสของกามตัณหานั้น

แม้บริโภคเป็นจำนวนน้อย สิ่งเสพย์ติดมึนเมาก็อาจทำให้เราระมัดระวังตัวน้อยลง และประพฤติผิดทำนองคลองธรรมเพราะถูกครอบงำด้วยความโกรธและความโลภได้ง่ายขึ้น บางคนกล่าวว่าการใช้ยาที่มีสารเสพย์ติดหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากนัก

ตรงกันข้าม การบริโภคสิ่งเหล่านี้มีอันตรายมาก เพราะอาจทำให้คนที่มีจิตใจดีกลายเป็นคนหลงลืมไร้สติได้ สิ่งเสพย์ติดและของมึนเมานั้นไม่ต่างจากผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมซึ่งเปิดประตูสู่ปัญหานานาประการ เริ่มตั้งแต่การพูดเพ้อเจ้อไปจนถึงการแสดงอารมณ์รุนแรง หรือความประมาทที่อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของตนเองและผู้อื่น การเว้นจากการบริโภคสิ่งเสพย์ติดมึน เมาจึงเป็นทางหนึ่งที่จะปกป้องมิให้ศีลข้ออื่นด่างพร้อยด้วย

ผู้ที่มีศรัทธาทุ่มเทต้องการรักษาศีลมากขึ้น หากเป็นฆราวาสอาจรักษาศีลแปดและศีลสิบแม่ชีรักษาศีลสิบ และพระภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ข้อความจากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๑ การอบรมศีลและเจริญภาวนาเบื้องต้น
โดย… ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ

เราฝึกเจริญภาวนาเพื่อ….

เรามิได้ฝึกเจริญภาวนาเพื่อให้ผู้ใดยกย่อง แต่เพื่อมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สันติสุขในโลก เราพากเพียรปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและน้อมรับการอบรมชี้นำจากครูบาอาจารย์ผู้ควรแก่การบูชา

ด้วยหวังว่าเราสามารถจะเข้าถึงพุทธภาวะแห่งความบริสุทธิ์อันสูงสุดนี้แล้ว เราย่อมสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นและช่วยให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากพระธรรมหรือความจริงอันสูงสุดนี้ได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ข้อความจากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๑ การอบรมศีลและเจริญภาวนาเบื้องต้น

โดย… ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

อาการเมื่อปฏิบัติผิด

โยคีบางท่านกำหนดใจซ้อนกันก็มี ส่งใจไปกำหนดขวาย่างหนอ ใจหนึ่งก็จะไปดูรูปธรรมอยู่แล้ว อีกใจหนึ่งก็ยังแอบไปดูว่าใจที่เราส่งไปมันถึงหรือเปล่า กลายเป็น๒ อย่างซ้อนกันไปเลย ผลที่สุดปวดสมอง เกิดอาการเครียด ทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่าไปทำ มันซ้อนกัน

ถ้าเราจะไปดูรูปธรรมก็ไปดูอาการขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อาการของรูปธรรมเลย อย่าไปตามนามธรรม คือใจที่เราส่งไปกลัวมันจะไปไม่ถึงบ้าง อย่าไปดูใจที่ตามไปหา ตามไปดูรูปธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการเครียดขึ้นมา ทีนี้อาการที่โยคีบางท่านเป็นอยู่ เช่น กำหนด ๆ ไปเกิดอาการปวดหลังขึ้นมา เสร็จแล้วก็ขึ้นมาบนหัว มาเวียนหัว อาเจียน สาเหตุที่ให้เกิดอาการอย่างนี้ เหตุใหญ่ ๆ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑) โยคีพยายามบังคับใจให้อยู่กับอาการ เช่น ขวาย่างหนอ ใจของเราก็ส่งไปที่เท้าอยู่ อีกส่วนหนึ่งต้องการจะให้ใจมันอยู่ที่เท้า กลัวมันจะฟุ้งออกไปข้างนอก คือไประแวง ตัวหนึ่งอยากให้ใจอยู่ตรงนี้ อีกใจก็ระแวง กลัวใจจะฟุ้งออกไปข้างนอก ทำให้ทำงาน ๒ อย่าง พอมันทำ งาน ๒ อย่าง มันก็เกิดอาการเครียดขึ้นมา เมื่อความเครียดมันไล่ ๆ ขึ้นมาข้างหลัง ทำให้เวียนหัวและอาเจียนได้

๒) เมื่อเรายืนแล้วเราลดสายตาประมาณวาหนึ่ง พอสายตาไปตกตรงไหน โยคีบางท่านไม่เข้าใจจ้องพื้นใหญ่เลย บางทีเห็นเป็นรูปร่างอะไรต่ออะไร ถ้าไปจ้องอย่างนั้นก็จะเกิดอาการเวียนหัวขึ้นมาทันที อย่าไปทำอย่างนั้น เวลากำหนด อย่าไปบังคับใจให้อยู่กับอาการถ้าไปบังคับเขาจะเกิดปฏิกิริยาปวด เวียนหัว อาเจียน ถ้าเป็นอยู่ให้รีบแก้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

วิธีส่งใจในการกำหนด

วิธีส่งใจในการกำหนด

การกำหนดเป็นหัวใจในการปฏิบัติ ให้ส่งใจไปกำหนดดูอาการความเป็นไปของกาย เวทนา จิต และธรรม ฟังแล้วดูเหมือนง่าย ๆ แต่ว่าเวลาทำจริง ๆ มันไม่ค่อยถึง การส่งใจถ้าไม่ถึงอาการแล้ว มันก็ไม่สามารถรู้สภาวะนั้นได้ชัด

วิธีการส่งใจอุปมาให้เห็นง่าย ๆ เหมือนอย่างที่เรานั่งอยู่บ้านหรืออยู่ที่วัด นั่งคุยกับเพื่อนเรื่องอะไรต่าง ๆ ไม่เกี่ยวกับกรรมฐาน เกิดมีอะไรตกข้าง ๆ เรา เราไม่สนใจแล้วคู่สนทนา หรือเรื่องราวที่สนทนาอยู่เราก็ไม่สนใจ หันไปเลยว่าอะไรตกมา ส่งใจไปเต็มที่เลย วิธีส่งใจก็คือย่างนี้เอง ในตัวเราจะมีหัว มีตัว มีขา อะไรก็แล้วแต่ เราละทิ้งความสนใจสิ่งเหล่านั้น

ขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็มุ่งน้อมใจไปหาอาการของท้องที่พอง-ยุบ ที่ปรากฏอยู่ ส่งใจไปให้แนบอยู่กับอาการจริง ๆ พอเริ่มพองขึ้นมาก็บริกรรมพองหนอ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น เวลาเขาเริ่มยุบก็บริกรรมยุบหนอจนสุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เช่นเดียวกัน คอเราจะมี แขน หรือขาเราจะมีก็ตามเราไม่ใส่ใจ ให้เราส่งใจไปดูอาการของเท้าที่กำลังยกขึ้น ที่กำลังเคลื่อนไป ที่กำลังเหยียบลงอย่างนี้ ส่งใจไปแนบอยู่กับอาการนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ แนวทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
โดย พระครูภาวนาสมณวัตร (ประจาก สิริวณฺโณ)

อวิชชาสูตร

อวิชชาสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขาเมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยที่เต็มย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

จากอวิชชาสูตร
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต
ทุติยปัณณาสก์ ยมกวรรค
คลิกอ่าน >>>> อวิชชาสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สามัญญานุโมทนาคาถา

สามัญญานุโมทนาคาถา

สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

คำแปล

ความจัญไรทั้งปวง จงบำราศไป โรคทั้งปวง (ของท่าน) จงหาย อันตรายอย่ามีแก่ท่าน ท่านจงเป็นผู้มีความสุข มีอายุยืน

ธรรมสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อม (ต่อผู้ใหญ่) เป็นนิตย์ฯ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อนุโมทนารัมคาถา

อนุโมทนารัมคาถา

ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ

อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ

สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

คำแปล

ห้วงน้ำที่เต็มยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วในโลกนี้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ ฉันนั้น

ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้ว จงสำเร็จโดยฉับพลัน

ขอดำริทั้งปวงจงเต็มที่ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนดังแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อนิจจา วต สงฺขารา

อนิจจา วต สงฺขารา อุปปทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การสงบสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
หมายเหตุ : จากมหาปรินิพพานสูตร
เป็นคาถาสุภาษิต แสดงธรรมสังเวชของท้าวสักเทวราช เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ซึ่งต่อมาพระสงฆ์นิยมนำมาใช้สวดในพิธีบังสุกุล

ทางแห่งการบรรลุสุขอันไพบูลย์

ทางแห่งการบรรลุสุขอันไพบูลย์ในที่นี้ คือความไม่ประมาท ความประมาท คืออาการนอนใจ ไว้ใจว่า ไม่เป็นไรๆ ส่วนความไม่ประมาทตรงกันข้าม ได้แก่ ความระวัง ความมีสติรอบคอบ

คนพาล ชอบหมกมุ่นอยู่ในความประมาท เช่น การทำความชั่วแล้วชื่นชมในความชั่วอันตัวทำนั้น ทะนงตนว่าเก่งที่สามารถทำความชั่วไว้ ส่วนบัณฑิต มีปัญญาดี ย่อมคุ้มครองรักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ

เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายเห็นคุณค่าของทรัพย์ ว่าเป็นเครื่องค้ำจุนให้ตนดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของความสุขแล้ว คุ้มครองรักษาทรัพย์ด้วยดี ฉันใด คนมีปัญญาก็ฉันนั้น เห็นคุณค่าของความไม่ประมาทว่า เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมนานาประการ ตั้งแต่อย่างต่ำไปถึงอย่างสูงแล้ว ย่อมรักษาความไม่ประมาทนั้นไว้ เพื่อความสุขอันไพบูลย์

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี เล่ม ๑
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ

กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนพราหมณ์ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน

ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว. และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว.

จากสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
พราหมณสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ธรรม ๕ ประการ เป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๐ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
๐ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

จาก สัทธรรมสัมโมสสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้

ที่แท้ “โมฆบุรุษ” ในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป

เปรียบเหมือนเรือจะอัปปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้ ฯ

ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรง

ในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑
ในสิกขา ๑
ในสมาธิ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ

จากสัทธรรมปฏิรูปกสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สรณคมน์ อันเป็นที่กำจัดภัยได้จริง

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่กำจัดภัยได้จริง จนกว่าจะถึงกาลอันมีการแทงตลอดสัจจะ ๔ เป็นสุดรอบ

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรม ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่กำจัดภัยได้จริง จนกว่าจะถึงกาลอันมีการแทงตลอดสัจจะ ๔ เป็นสุดรอบ

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่กำจัดภัยได้จริง จนกว่าจะถึงกาลอันมีการแทงตลอดสัจจะ ๔ เป็นสุดรอบ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคต

อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต

ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

จากสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

อุปสิงฆปุปผกชาดก : ว่าด้วยคนดีไม่ควรทำชั่วแม้นิดหน่อย

ข้อความบางส่วนจาก อรรถกถาอุปสิงฆปุปผกชาดก

ชายคนนี้ใด ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบุณฑริก ชายคนนี้นั้น ผู้มีการงานเลอะเทอะอย่างนี้ แต่เหตุไรจึงไม่มีใครว่า?

ชายผู้มีกรรมหยาบดาดดื่นแล้ว เปรอะเปื้อนบาป เหมือนผ้าอ้อม ข้าพเจ้าจึงไม่มีคำพูดอะไรในเรื่องนั้น แล้วข้าพเจ้าควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาได้

สำหรับคนผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดเป็นนิจ บาปประมาณเท่าปลายขนทราย จะปรากฏแก่เขาประมาณเท่ากลีบเมฆทีเดียว.

คนนี้จะเป็นผู้เปื้อนไปด้วยบาปทีเดียว เหมือนกับผ้านุ่งของพี่เลี้ยงที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก มูตรและคูถ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่มีการว่าอะไรในเรื่องนั้น.

แต่สมณะทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักเป็นผู้ใคร่ต่อโอวาท ข้าแต่สมณะ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงควรเพื่อจะว่ากล่าวเขาผู้ทำสิ่งที่ไม่สมควรแม้มีประมาณน้อย.

บาปจะปรากฏเป็นสิ่งมีประมาณเท่าเมฆก้อนใหญ่ บัดนี้ เหตุไฉนท่านจึงจะทำโทษแบบนี้ให้เป็นอัพโภหาริก เป็นเหมือนไม่มีโทษไป.

คลิกอ่าน >>> อุปสิงฆปุปผกชาดก

คนบ้าเพราะโกรธ (โกธุมมัตตกะ)

คนบ้าเพราะโกรธ (โกธุมมัตตกะ) ผู้ที่ไม่พอใจในสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่น หรือริษยาเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ ขาดความเมตตา กรุณา ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น

บางคนคิดว่าการควบคุมจิตใจตนเองเป็นทุกข์ เมื่อถูกตำหนิก็หาว่าถูกลิดรอนเสรีภาพส่วนบุคคล คนพวกนี้จะรู้สึกเป็นสุขในการที่ไม่ต้องควบคุมตัวเอง ทำตามความอยากของตนเอง ไม่ละเว้นสิ่งที่ควรละเว้น ดังนั้นโทสะจึงเกิดขึ้นต่อจากความสุขนั้น สุดท้ายก็ต้องประสบกับปัญหา เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของการควบคุมตนเอง และคิดว่าการไม่ควบคุมตนเอง ทำตามอำเภอใจเป็นสิ่งดี จึงกระทำทุจริตด้วยความหลงผิด เป็นบ้าเพราะความหลง

เมื่อเกิดโลภะ โทสะ โมหะ จิตใจย่อมผิดปกติ ร่างกายก็ผิดปกติตามไปด้วย ทำให้การไหลเวียนของโลหิตผิดปกติ ทำให้บุคคลนั้นดูน่าเกลียด ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนไปด้วย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ๖๐ ชั่วโมงกับเทศนาธรรม
ของพระกัมมัฏฐานาจริยะ พระปัณฑิตาภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ประเภทของโยคี

ประเภทของโยคี

ขณะที่โยคีรับประทานอาหารโดยไม่กำหนดรู้ เมื่อรับรู้ว่าอาหารอร่อย กิเลสย่อมเกิดขึ้น โยคีเดินทางมาจากแดนไกล ควรปฏิบัติธรรมให้ไดรับประโยชน์อย่างเต็มที่ กล่าวคือโยคีต้องมีความเพียรจึงจะได้รับรสแห่งพระธรรม ถ้าโยคีพยายามอย่างหนัก แม้ในเวลาเพียง 2-3 วัน หรือแม้ 1-2 สัปดาห์ ก็ก้าวหน้าได้ แต่ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ โดยขาดความเพียรพยายามก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ จากการปฏิบัติธรรม

ตัวอย่างเช่นคนป่วยไข้ก็ต้องกินยา ถ้ากินแล้วไม่หายป่วยอาจคิดว่ายาไม่ดีพอ เช่นเดียวกับโยคี ถ้ามีความเพียรไม่พอ การฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ก็จะเกิดความสงสัยในวิธีการปฏิบัติ ดังนั้นคนป่วยต้องกินยาตามแพทย์แนะนำ เช่นเดียวกันกับโยคีที่เดินทางมาจากแดนไกล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องปฏิบัติด้วยความเพียรตามคำแนะนำของวิปัสสนาจารย์อย่างเคร่งครัด

โยคีอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. โยคีโดยชื่อ คือโยคีที่ไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ปฏิบัติให้ละเอียดลึกซึ้งตามคำแนะนำ จึงเกิดความสงสัยในวิธีการปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะประสบการณ์จะเกิดจากการปฏิบัติมิใช่เกิดจากความนึกคิดเอาเอง

2. โยคีท่าดีทีเหลว คือโยคีที่ปฏิบัติอย่างช้าๆ อย่างขยันขันแข็ง แต่ขาดการมีสติตามรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ จึงไม่ประสบความสำเร็จ

3. โยคีที่ดี คือ ผู้ฟังคำแนะนำอย่างตั้งอกตั้งใจ มีความเพียรจดจ่ออยู่ที่รูปหรือนามอย่างต่อเนื่อง และรายงาน (ส่งอารมณ์) ให้วิปัสสนาจารย์อย่างซื่อสัตย์ทั้งจุดอ่อนหรือจุดแข็ง ก็จะมีประสบการณ์ในเวลาอันสั้น

จากปกรณ์และการปฏิบัติกล่าวได้ว่า โยคีคือผู้ที่ตั้งเป้าหมายปฏิบัติอย่างพากเพียร ที่จะกำหนดรู้อารมณ์ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับสนิท โดยใช้เวลาทุกเสี้ยววินาทีในการมีสติตามรู้รูปและนามอย่างต่อเนื่อง เล่นโยคีมีสติกำหนดรู้อาการพองหรือยุบ จะต้องมีความเพียรให้สติพุ่งตรงไปที่พองหรือยุบ ด้วยความตั้งใจ จิตที่กำหนดรู้จะแนบแน่นกับพองหรือยุบ ซึ่งเป็นอารมณ์หลัก ทำให้จิตบริสุทธิ์ จิตจะพัฒนาขึ้นโยคีจะเห็นการเกิดดับของรูปนาม ความรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้เรียกว่า “ภาวนา” ความเพียรจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญสติ เพราะสติที่เกิดขึ้นจะป้องกันมิให้กิเลสเกิด เมื่อสมาธิแก้กล้า จะทำให้เกิดปัญญา โยคีพึงพัฒนาจิตให้ก้าวหน้าขึ้นไป

แต่ถ้าโยคีขาดสติ เพราะปฏิบัติแบบง่ายๆ ขาดความเพียร จะปราศจากกุศลจิตและปัญญา เช่น ถ้าขาดสติใน 1 วินาที ก็จะขาดกุศลจิตและปัญญา 1 ครั้ง ภายใน 5 นาที ก็จะขาดกุศลจิตและปัญญา 300 ครั้ง ดังนั้น โยคีจึงต้องมีความเพียรให้มากและต่อเนื่อง ถ้ามีความเพียรมากแม้ปัญญาไม่เกิด แต่กุศลจิตก็จะพัฒนาขึ้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ๖๐ ชั่วโมงกับเทศนาธรรม
ของพระกัมมัฏฐานาจริยะ พระปัณฑิตาภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ความหัวดื้อและลบหลู่คุณท่าน

กองทัพที่แปด : ความหัวดื้อและลบหลู่คุณท่าน

หลังจากที่เอาชนะความสงสัยได้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเห็นแสงแห่งพระธรรม แต่ทว่ายังมีกองทัพที่แปดของมารซุ่มรออยู่ในรูปของ ความหัวดื้อ อวดดี และความลบหลู่บุญคุณท่าน ความทะนงอวดดีจะเกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มประสบกับความสุข ปีติ ความพึงพอใจ และประสบการณ์ที่ดีอื่น ๆ จากการปฏิบัติ ณ จุดนี้ ผู้ปฏิบัติอาจคิดไปว่า พระอาจารย์จะเข้าถึงสภาวะที่วิเศษนี้แล้วหรือยังและผู้ปฏิบัติอื่น ๆ จะมีความเพียรเท่าตนหรือเปล่า ฯลฯ

ความหัวดื้อถือดีมักจะเกิดขึ้นในขั้นที่ผู้ปฏิบัติมีญาณประจักษ์เห็นการเกิดดับของสภาวธรรมต่าง ๆ นับเป็นความรู้สึกที่วิเศษที่สามารถอยู่กับปัจจุบันโดยสมบูรณ์ เห็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไปทุกขณะที่สติตามกำหนดรู้อยู่ ในขั้นนี้อาจมีเครื่องเศร้าหมองแทรกซ้อนเข้ามาได้มากมายสิ่งเหล่านี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า วิปัสสนูปกิเลส

เนื่องจากวิปัสสนูปกิเลสอาจกลายเป็นอุปสรรคที่อันตรายมากต่อการเจริญกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกิเลสเหล่านี้ให้แจ่มแจ้ง

พระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า มานะหรือความทะนงตนมีสภาพฟูฟ่อง มีความปรารถนาสูง และกระตือรือร้นอย่างแรงกล้า ผู้ปฏิบัติจะมีพลังล้นเหลือและถือความคิดของตนเองเป็นหลัก มีแต่ความคิดชื่นชมตนเอง เช่น “ฉันเยี่ยมมาก ไม่มีใครเทียบฉันได้”

ลักษณะเด่นของมานะก็คือ ความแข็งกระด้าง จิตจะรู้สึกกระด้าง และฟูฟ่อง เหมือนงูเหลือมที่เพิ่งกลืนเหยื่อเข้าไป อาการของมานะอีกประการหนึ่ง จะแสดงให้เห็นในลักษณะที่เป็นเคร่งตึงของร่างกายและอิริยาบถต่าง ๆ ผู้ที่เป็นเหยื่อของมานะจะกลายเป็นคนหัวสูงและคอแข็ง ยากที่จะก้มศีรษะทำความเคารพผู้อื่น

การลืมบุญคุณท่าน
มานะเป็นสภาวจิตที่น่ากลัวโดยแท้ มันทำลายความกตัญญูรู้คุณ ทำให้ไม่อาจยอมรับได้ว่าเราเป็นหนี้บุญคุณผู้อื่น การลืมเลือนความดีงามที่คนอื่นได้ทำไว้ให้แก่เราในอดีต ทำให้เรามองข้ามคุณความดีและลบหลู่คุณธรรมของท่านเหล่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่ประกอบด้วยมานะจะพยายามปิดบังความดีของผู้อื่น เพื่อมิให้ผู้อื่นได้รับความเคารพยกย่อง การลบหลู่คุณท่านเป็นลักษณะที่สองของมานะ อันมีความทรนงแข็งกระด้างเป็นลักษณะแรก

เราทุกคนล้วนมีผู้ที่มีพระคุณต่อเราทั้งสิ้น โดยเฉพาะในวัยเด็กและตอนที่อายุยังน้อยยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่เป็นผู้ให้ความรัก การศึกษาและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ สำหรับชีวิตในช่วงที่เราไม่อาจช่วยตัวเองได้ ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่เรา เพื่อน ๆ ให้ความช่วยเหลือยามเราทุกข์ยากลำบาก

การจดจำบุญคุณที่ผู้อื่นได้ช่วยเหลือเราไว้ ทำให้เรารู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูและมองหาโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณ ด้วยความรู้สึกอันอ่อนโยนนี้เอง เราจะสามารถเอาชนะกองทัพที่แปดของมารได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
กองทัพทั้งสิบของมาร
โดย..ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ

กองทัพทั้งสิบของมาร

การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อาจเปรียบได้กับการทำสงครามระหว่างสภาวจิตที่เป็นกุศลและอกุศล กองทัพฝ่ายอกุศลได้แก่ กิเลส หรือที่รู้จักกันในนามว่า “กองทัพทั้งสิบของมาร”

ในภาษาบาลี คำว่า “มาร” หมายถึงผู้ทำลายหรือผู้สังหาร ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานของพลังที่ทำลายล้างคุณธรรม ตลอดจนสรรพชีวิต กองทัพของมารพร้อมที่จะโจมตีผู้ปฏิบัติได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธองค์ในคืนที่จะตรัสรู้

คัมภีร์สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ไม่แสดงถึงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ที่ ตรัสไว้เกี่ยวกับมาร ดังนี้

๐ กิเลสกามทั้งหลาย เรากล่าวว่า เป็นกองทัพที่หนึ่งของท่าน
๐ ความไม่ยินดีเป็นกองทัพที่สอง
๐ ความหิวกระหายเป็นกองทัพที่สาม
๐ ตัณหา (ความทะยานอยาก) เป็นกองทัพที่สี่
๐ ถีนมิทธะ (ความหดหู่ และเซื่องซึม) เป็นกองทัพที่ห้า
๐ ความกลัวเป็นกองทัพที่หก
๐ วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นกองทัพที่เจ็ด
๐ มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ (ความหัวดื้อ) เป็นกองทัพที่แปด
๐ ลาภ สรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิด ๆ เป็นกองทัพที่เก้า
๐ การยกตนข่มผู้อื่นเป็นกองทัพที่สิบ

ดูก่อน มาร เสนาของท่านมีปกติกำจัดคนซึ่งมีธรรมดำ (อกุศลธรรม) คนขลาดเอาชนะเสนาไม่ได  ส่วนคนกล้าเท่านั้น ย่อมเอาชนะกองทัพของมารแล้วสามารถได้รับสุข”

พลังมืดอันเป็นอกุศลในจิตของเรานี้ จะถูกกำจัดได้ด้วยพลังของกุศลจากการเจริญสติปัฐานวิปัสสนาซึ่งมีสติพร้อมทั้งศรัทธา วิริยะ สมาธิและปัญญา ที่เป็นกลยุทธ์ในการจู่โจมและป้องกันเป็นศาสตราวุธ

เมื่อมารมาท้าทายพระพุทธองค์ เราทราบดีว่าฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ
แต่ในการปฏิบัติของเรา ฝ่ายไหนเล่าจะเป็นฝ่ายชนะ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
กองทัพทั้งสิบของมาร
โดย..ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ

รูปเป็นอนัตตา รูปมิใช่ตัวตน

จากอนัตตลักขณสูตร 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็น “อนัตตา”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักได้เป็น “อัตตา” แล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็น “อนัตตา” ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จากปัญจวัคคิยสูตร : ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย “รูปมิใช่ตัวตน”.

“ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตน” แล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

คลิกอ่านปัญจวัคคิยสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การปลูกฝังสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการ

การที่จะปลูกฝังสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการ มีข้อปฏิบัติดังนี้

๑. ปลูกฉันทะ คือ สร้างความพอใจในการทำกุศล

๒. พยายาม คือ ขะมักเขม้น ตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรในการเจริญกุศลต่าง ๆ

๓. ปรารภความเพียร คือ ต้องเริ่มลงมือปฏิบัติจริง ๆ เพียรทำอย่างมากไม่ท้อถอย

๔. ประคองจิต คือ ต้องประคับประคองใจ ค้ำชูใจไว้ในการทำความเพียรนั้น

๕. ตั้งความเพียรไว้ คือ ตั้งความอุตสาหะ ความบากบั่นไว้ให้มั่นคง

๖. ระลึกอยู่เสมอว่า “คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร”

๗. ระลึกอยู่เสมอว่า “คนเกียจคร้านจะพ้นทุกข์ไม่ได้”

สรุปว่า สัมมัปปธาน เป็นความเพียรชนิดเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ความเพียรนั้นว่าโดยสภาวะก็เป็นเจตสิกธรรมประเภท “ปกิณณกะ” ซึ่งเกิดประกอบกับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลได้ องค์ธรรมได้แก่ “วิริยเจตสิก” อย่างเดียว แต่ความเพียรที่เป็นสัมมัปปธานที่จะเป็นบาทฐานแห่งการพ้นทุกข์ได้นั้นมุ่งเฉพาะความเพียรที่เป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากบทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๘

อริยสัจ ๔ ต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติ

หากท่านจะถามชาวพุทธ หรือนักเรียนนักศึกษาว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เขาจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔
…………………………………….

อริยสัจนั้น เพียงหัวข้อ ๔ ข้อ ก็จำได้ไม่ยาก เด็กเล็กๆ ก็ท่องได้ พร้อมทั้งเข้าใจความหมายด้วย แต่อริยสัจไปยากอยู่ที่ภาคปฏิบัติ คือ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เพื่อละสมุทัยและเพื่อให้ถึงนิโรธนั้น ไม่ง่ายเลย

การจะศึกษาอริยสัจให้สมบูรณ์จึงต้องมีภาคปฏิบัติด้วย คือ เรียนไป ปฏิบัติไป แม้จะได้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ต้องค่อยๆ สะสมบารมีเป็นพื้นฐานขึ้นไปทีละขั้น เพราะจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่แท้จริงของการศึกษา ก็คือการปฏิบัติ ปราศจากการปฏิบัติแล้ว การศึกษาก็ไม่มีรสอะไร

อริยสัจในขั้นปฏิบัตินี้เองแม้คนแก่อายุมาก แตกฉานในวิชาการต่างๆ เป็นปราชญ์ มีคนยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ก็ยากที่จะปฏิบัติได้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงยอมรับว่า เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ นี้เอง จึงต้องทรงท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏเสียเป็นเวลานาน

จากหนังสือ อริยสัจ ๔
โดย อาจารย์วศิน อินทสระ
สำนักพิมพ์ธรรมดา
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อ่านเพิ่มเติม
โรหิตัสสสูตร : พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจ ๔ ไว้ที่ไหน

กีสาโคตมี : แม่ผู้ต้องการชุบชีวิตลูก

ดูก่อนโคตมี
เธอมาที่นี้เพื่อต้องการยานับว่าทำดีมาก เธอจงเข้าไปยังนคร เดินเที่ยวไปตลอดนครนับแต่ท้ายบ้านไป ในเรือนใดไม่เคยมีคนตาย จงนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนนั้นมา

จากอรรถกถา อังคุตตรนิกาย
เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
(อรรถกถาสูตรที่ ๑๒)

คลิกอ่าน

อังคุตตรนิกาย อินทรียวรรค ข้อ ๑๕๙ : กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหา แล้วพึงละตัณหาเสีย

ดูกรน้องหญิง

๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย
๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหา แล้วพึงละตัณหาเสีย
๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย
๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เสตุฆาต (การฆ่ากิเลสด้วยอริยมรรค)

จากอังคุตตรนิกาย
จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
อินทรียวรรคที่ ๑ ข้อ ๑๕๙
คลิกอ่าน

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เพลงทางสัจธรรม

เพลงทางสัจธรรม
ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยคุณ วีระนนท์ รัตนวีระกุล

มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีทุกข์ทางกาย มีทุกข์ทางใจ ยึดติด ปรุงแต่ง เวียนว่าย วนไป เรียนรู้ ภายใน มองเห็นทั่วจักรวาล

พระพุทธองค์ทรงข้ามผ่าน วัฏสงสารที่ยาวไกล พระพุทธองค์ทรงค้นใจ มองเห็นทางแห่งความจริง

เปิดฟ้าผ่านแสงธรรมส่อง ให้เรามองเห็นทุกสิ่ง กิเลสครองหัวใจพ่ายดับสูญ…สิ้น คือนิพพาน

ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หมดทุกข์ทางกาย หมดทุกข์ทางใจ เลิกติดปรุงแต่ง ดับสิ้นภายใน หมดเชื้อปรุงใจ มองเห็นทางสัจธรรม

พระพุทธองค์ทรงข้ามผ่าน วัฏสงสารที่ยาวไกล พระพุทธองค์ทรงค้นใจ มองเห็นทางแห่งความจริง

เปิดฟ้าผ่านแสงธรรมส่อง ให้เรามองเห็นทุกสิ่ง กิเลสครองหัวใจพ่ายดับสูญ…สิ้น คือนิพพาน

แสงทองส่องทาง แสงธรรมส่องใจ เสียงธรรมทรงไว้ หัวใจเบิกบาน
แสงทองส่องทาง แสงธรรมส่องใจ เสียงธรรมทรงไว้ หัวใจเบิกบาน
แสงทองส่องทาง แสงธรรมส่องใจ เสียงธรรมทรงไว้ หัวใจเบิกบาน

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระศาสดา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป
๐ เพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๐ เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
๐ เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
๐ เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๐ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
๐ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคน
เลี้ยงง่าย

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า
**นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ **

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป

๐ เพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
๐ เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
๐ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
๐ เป็นไปเพื่อสันโดษไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
๐ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๐ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า
**นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ**

จากสังขิตตสูตร
ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต
สันธานวรรคที่ ๑

ธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระศาสดา

ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า

๐ ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว

เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่เป็นคำสั่งสอนของศาสดา

อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า

๐ ธรรมเหล่านี้เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว

เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของศาสดา ฯ

จากอังคุตตรนิกาย
สันตกนิบาต ปัณณาสก์
วินัยวรรคที่ ๓

ราคะกับจิต

ราคะกับจิต

พระพุทธภาษิต
ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ ราโค สมติวิชฺฌติ

ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ วุฏฺฐิ น สมติวิชฺฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ ราโค น สมติวิชฺฌติ

คำแปล
เหมือนอย่างว่า เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด
จิตที่ยังมิได้อบรมให้ดี ก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงได้

ส่วนเรือนที่มุงดี ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด
จิตที่อบรมดีแล้วก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงไม่ได้

อธิบายความ

ราคะ ตามตัวอักษร แปลว่า “ย้อม” มาจากรากศัพท์ว่า “รช” หมายความว่า ย้อมจิตให้แปรรูปไป เสียปกติภาพของจิต ทำให้เห็นวิปริตวิปลาสว่างาม แม้ในสิ่งอันไม่งาม เหมือนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสวมแว่นเขียวให้ ทำให้มองเห็นหญ้าแห้ง ฟางแห้งเป็นเขียวสดไปหมด สิ่งที่ไม่งาม คือกายนี้ เพราะเต็มไปด้วยของไม่สะอาด

ในภาษาไทย นิยมแปลราคะว่า “ความกำหนัด” กล่าวคือ ความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ

ราคะ หรือความกำหนัดในกาม มีอิทธิพลต่อชีวิตคนมาก นักจิตวิทยาบางท่าน เช่น ซิกซ์มันด์ ฟรอยด์ ได้มีความเห็นถึงกับว่า พฤติกรรมทั้งปวงของมนุษย์ มีความกำหนัดในกามเป็นแรงกระตุ้น

คนทั่วไปก็มองเห็นว่า ราคะมีแรงผลักดันรุนแรงเพียงใด เป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจให้รุ่มร้อน และกลัดกลุ้มเพียงใด คนส่วนมากไม่สามารถเอาชนะได้ จึงต้องระหกระเหินและบอบช้ำด้วยความทุกข์นานาประการ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สังกัปปราคะ คือความกำหนัด
เพราะ การดำริถึง เป็นกามของบุคคล (สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม)
กามเกิดจากความดำริตริตรึก (สงฺกปฺปา กาม ชายสิ ดูก่อนเจ้ากาม เจ้าเกิดจากความดำรินี่เอง)

ราคะ หรือกาม หรือกามราคะนั้น มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนเป็นอันมาก และขนบธรรมเนียมของโลกแต่บางคนควบคุมไม่ได้ในบางกาละ เทศะ ได้ประกอบกรรมอันน่าบัดสี เพราะกามราคะนั้น ต้องติดคุกบ้าง เสียทรัพย์สินบ้าง เสียชื่อเสียงบ้าง มันได้ทำให้คนเสียคนมามากแล้ว ตกนรกก็มากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ราคะ จะทำพิษ ทำภัย หรือมีอำนาจครอบงำ ก็เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้อบรมจิตด้วยดี ส่วนผู้ที่อบรมจิตดีแล้ว ราคะย่อมไม่สามารถเสียดแทงได้ เหมือนคนอยู่ในเรือนที่มุงบังดี ฝนตกเท่าไรก็ไม่เปียก ส่วนคนที่อบรมจิตไม่ดีหรือไม่ได้รับอบรมมา เมื่อประจวบกับอารมณ์อันน่าใคร่ครั้งใด ราคะก็เสียดแทงใจครั้งนั้น เหมือนเรือนที่มุงบังไม่ดี ฝนตกทีไร คนอาศัยก็เปียกทีนั้น การอบรมจิตจึงเป็นทางลดราคะให้น้อยลง จนสิ้นไปในที่สุด

ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๗๗
ท่านกล่าวว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร?
ตอบว่า เพื่ออบรมจิต
ถามว่า อบรมจิตเพื่ออะไร?
ตอบว่า เพื่อให้ละราคะได้

จึงได้ความว่า วิธีอบรมจิตก็คืออบรมด้วยสมถะ ได้แก่ การทำจิตให้สงบเป็นขั้นๆ ท่านเรียกว่าฌาน ตั้งแต่ฌานที่หนึ่ง (ปฐมฌาน) จนถึงฌานที่ ๘ เป็นภาวะที่จิตสงบประณีตขึ้นไปตามลำดับ เมื่อได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป กามฉันทะคือความพอใจในกาม ก็สงบราบคาบลงชั่วคราว ท่านเปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า แต่กามราคะจะถูกถอนรากถอนเชื้อก็โดยอนาคามิมรรค อันเป็นมรรคชั้นที่ ๓

……………………………………………………………………………………………………………………….
จากหนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี ๑ 
อาจารย์วศิน อินทสระ

ผู้เพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

ผู้เพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

พระพุทธภาษิต
อธิ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ กตปุญโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญญํ เม กตนฺติ นนฺทติ ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต

คำแปล
ผู้ได้ทำบุญไว้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง คือทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เขาย่อมเพลิดเพลินว่า “เราได้ทำบุญไว้แล้ว” เมื่อไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินมากขึ้น

อธิบายความ

ความเพลิดเพลินเป็นความต้องการของคนทุกคน ต่างกันแต่เพียงเรื่องที่จะนำความเพลิดเพลินมาให้เท่านั้น บางคนเพลิดเพลินด้วยการทำชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เป็นต้น บางคนเพลิดเพลินด้วยอบายมุขเช่น เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน

บางคนเพลิดเพลินด้วยดนตรี, บางคนด้วยการค้นหากำไร, บางคนด้วยการเล่นการเมืองหาชื่อเสียง ฯลฯ มากมายเหลือจะจาระไนได้หมด

แต่รวมความว่า คนทุกคนชอบความเพลิดเพลิน ในบรรดาสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินทั้งหลาย “การทำบุญ” และ “การประกอบกรรมดี” ก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของคนดี และดูเหมือนจะเป็นความเพลิดเพลินที่ดีที่สุด เพราะยั่งยืนกว่าบริสุทธิ์กว่า และเป็นทางนำตนไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ด้วย

……………………………………………………………………………………………………………………….
จากหนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี ๑ 
อาจารย์วศิน อินทสระ

ผู้ต้องเดือดร้อนในโลกทั้งสอง

ผู้ต้องเดือดร้อนในโลกทั้งสอง

พระพุทธภาษิต
อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ
ปาปํ เม กตนฺติ ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโต

คำแปล
ผู้ทำบาปไว้ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
คือย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้วก็เดือดร้อนในโลกหน้า
เขาเดือดร้อนว่า “เราได้ทำบาปไว้” และเมื่อไปทุคคติก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น

อธิบายความ

ผู้ทำบาปแล้วเดือดร้อนหรือเศร้าโศก ในทางตรงกันข้าม คนไม่ได้ทำบาปไว้ย่อมไม่เดือดร้อน สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน ทุกนิบาตอังคุตตรนิกาย ๒๐/๖๓ ว่า

“เรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่าง คือ เรื่องที่ได้ทำทุจริตไว้ ๑ เรื่องที่ไม่ได้ทำสุจริต ๑”

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความลับสำหรับคนทำชั่วนั้นไม่มี แม้คนอื่นไม่เห็น ตนเองย่อมเห็น ตนเองย่อมเป็นพยานให้ตนเองได้ว่า จริง หรือ เท็จ ได้ทำหรือไม่ได้ทำ แต่นั้นความเดือดร้อนใจก็ตามเผาผลาญผู้ทำ

ส่วนความเดือดร้อนเพราะไม่ได้ทำสุจริตไว้นั้น เป็นความเดือดร้อนเพราะว้าเหว่ ไร้ที่พึ่งทางใจ

ในชีวิตนี้ไม่มีอะไร เป็นที่พึ่งทางใจของคน ได้ดีเท่าการระลึกถึงความดีที่ตนกระทำ มันให้รู้สึกเอิบอาบในดวงจิตอย่างบอกไม่ถูก ทรัพย์ภายในคือบุญนี้ ให้ความสุขใจทุกครั้งที่ระลึกถึง

ส่วนความชั่วที่บุคคลทำไว้ ย่อมมีผลตรงกันข้าม คือให้ความทุกข์ ความเดือดร้อนทุกครั้งที่ระลึกถึง ยิ่งต้องตกนรกหมกไหม้หลังจากตายไปแล้วอีกยิ่งเดือดร้อนใหญ่ อย่างเรื่องพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง จึงควรกลัวนรกกันไว้บ้าง อย่าเห็นแต่ความสุขปัจจุบันมากเกินไป

……………………………………………………………………………………………………………………….
จากหนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี ๑ 
อาจารย์วศิน อินทสระ

ความสะดุ้งต่อความตาย

ดูกรพราหมณ์

๐ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่

๐ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่

………………………………………………………………………………….

จากโยธาชีววรรคที่ ๔
[ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์]

เปิดอ่าน => พระสูตร โยธาชีววรรค [๑๘๔]

มาลุงกยปุตตสูตร หลวงพ่อประจาก

มาลุงกยปุตตสูตร
หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ
:
:
ตอน ๑

:
:
ตอน ๒

:
:
ตอน ๓

:
:
ตอน ๔

:
:
ตอน ๕

:
:
ตอน ๖

:
:
ตอน ๗

:
:
ตอน ๘

:
:
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ราคะเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรม

เปือกตมคือกามอันผู้ใดข้ามได้แล้ว
หนาม คือกามอันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว
ผู้นั้นบรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ
ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฺฐี สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ ราโค สมติวิชฺฌติ.
ยถา อคารํ สุจฺฉนฺ วุฏฺฐี น สมติวิชฺฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ ราโค น สมติวิชฺฌติ.

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ฉันใด
ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น.
ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด
ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น.

คาถาธรรมบท ยมกวรรค

ทางแห่งความดี

บุคคลแม้ปราถนาความเป็นคนดี แต่เมื่อไม่รู้จักทางแห่งความดี ก็ไม่อาจให้ความปรารถนานั้นบริบูรณ์ได้

ทำนองเดียวกัน บุคคลแม้ต้องการหลีกความชั่ว แต่เมื่อไม่รู้จักความชั่ว ไม่เห็นโทษของความชั่ว เขาจักละเว้นความชั่วได้อย่างไร

จากคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๑
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญมากในการที่จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในทางแห่งความดี ชีวิตจึงจะดีงามและมีความสุขยั่งยืน

ความดีเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ถ้าเราเรียนรู้วิธีทำความดีและรู้จักจุดความพอดีว่าอยู่ที่ใด “คนดี ทำความดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยาก ส่วนคนชั่ว ทำความชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก” (พระพุทธพจน์) ถ้าเราเดินอยู่บนเส้นทางแห่งความดีอยู่เสมอ ด้วยจิตใจที่มั่นคงว่าจะไม่ละทิ้งความดีแล้ว ชีวิตของเราจะราบรื่นผาสุกตามสมควรแก่กำลังแห่งความดีที่จะอำนวยให้ ความทุกข์ย่อมมีบ้างตามธรรมดาของชีวิตที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ แต่ขอให้ถือว่า นั่นเป็นการใช้หนี้เก่าซึ่งมีแต่จะหมดสิ้นไป ถ้าเราไม่ทำเพิ่ม

ชีวิตมนุษย์มีความทุกข์มากโดยสภาพธรรมดาอยู่แล้ว มนุษย์ยังเพิ่มความทุกข์ให้แก่กันโดยการเบียดเบียนกันเข้าอีก พวกเขาจะต้องทนทุกข์ทรมานในการดำรงชีวิตสักเพียงใด

สังคมมนุษย์จะมีความสุขที่แท้จริงได้ก็ด้วยการดำเนินอยู่ในทางแห่งความดี ไม่มีเวรกับใคร ไม่ก่อเวรและไม่ผูกเวร ไม่อาดูรด้วยกิเลส ไม่ขวนขวานเพื่อแสวงหาสิ่งเกินจำเป็น ไม่แพ้ใคร ไม่ชนะใคร เพราะไม่แข่งขันชิงชัยกับใคร สิ่งเหล่านี้แม้จะทำยาก แต่มีตัวอย่างมนุษย์ที่ทำได้อยู่ไม่น้อย

ผู้หวังสันติสุข จึงควรดำเนินชีวิตตามสันติบท ซึ่งท่านผู้ฉลาดได้ดำเนินมาแล้ว และโลกก็ได้ยอมรับว่าเป็นชีวิตที่งดงาม

จากคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๓
ในหนังสือ ธรรมบท ทางแห่งความดี เล่ม ๑
โดยอาจารย์วศิน อินทสระ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 

นิวรณ์ ๕

นิวรณ์ ๕ คือ

๑. กามฉันทะ ความยินดีพอใจในกาม คือ สิ่งที่น่าชอบใจอันได้แก่ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสอ่อนนุ่มเหมือนน้ำที่ผสมสีต่างๆ

๒. พยาบาท ความหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ปองร้าย เหมือนน้ำที่ถูกต้มจนเดือดมีฟองผุดขึ้น

๓. ถีนมิทธะ ความง่วงซึมเซา เหมือนน้ำที่ถูกจอกแหนปกคลุมอยู่

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดจนเกิดเป็นละลอกคลื่น

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง สงสัยในพระธรรมคือมรรค ผล และนิพพาน สงสัยในพรหมวิหาร พระอริยสงฆ์ผู้บรรลุธรรม สงสัยในรูปนามที่เกิดจากเหตุคืออวิชชา สงสัยในแนวทางแห่งการปฏิบัติ หรือสงสัยในคำแนะนำ ของวิปัสสนาจารย์ เป็นต้น เหมือนน้ำในที่มืดและผสมด้วยโคลนตม

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์

เจริญพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ

เจริญพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ

(๑) ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่ามีเวรกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความทุกข์ จงมีความสุข จงรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยเถิด

(๒) ขอสัตว์ทั้งปวง จงพ้นจากทุกข์

(๓) ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าพรากจากสมบัติที่ได้รับแล้ว และจงมีสมบัติและความสุขอย่างนี้ตลอดไป

(๔) สัตว์ทั้งปวง มีกรรมเป็นของตน

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
หมายเหตุ
(๑) เจริญเมตตาภาวนา
(๒) เจริญกรุณาภาวนา
(๓) เจริญมุทิตาภาวนา
(๔) เจริญอุเบกขาภาวนา

จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒๑

พุทฺธาปิ พุทฺธกมลามลจารุเนตฺตา
พาตฺตึสลกฺขณวิราชิตรูปโสภา
สพฺพาสวกฺขยกราปิ จ โลกนาถา
สมฺมทฺทิตา มรณมตฺตมหาคเชน.

แม้พระพุทธเจ้าผู้มีพระเนตรงามหมดจดดั่งบัวบาน
ทรงมีพระรูปกายบรรเจิดด้วยพระลักษณะ ๓๒
ทรงกำจัดอาสวะทั้งปวงแล้ว
ก็ถูกพญาคชสารตกมันคือมฤตยูย่ำยีแล้ว

เตลกฏาหคาถา คาถาที่ ๒๑

สัตว์โลกถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป

สัตว์โลกถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป

ตณฺหาชาเลน โอตฺถโฏ โลกสนฺนิวาโสติ ปสฺสนฺตานํ ฯเปฯ ตณฺหาโสเตน วุยฺหติ โลกสนฺนิวาโสติ ปสฺสนฺตานํ พุทฺธานํ ภควนฺตานํ สตฺเตสุ มหากรุณา โอกฺกมติ

“พระมหากรุณาย่อมหยั่งลงในสัตว์ทั้งหลายแก่พระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้ทรงเห็นว่า สัตว์โลกถูกข่ายตัณหาครอบไว้ ฯลฯ สัตว์โลกถูกกระแสตัณหาพัดไป”

ศัพท์ว่า ตัณหา หมายถึง ความกระหาย หรือ ความทะยานอยาก ความต้องการจะเห็น หรือความยินดีในรูปที่เห็น และความเพลิดเพลินติดข้องอยู่กับอารมณ์ที่เห็น หรือได้ยิน เป็นต้น

แม้ว่าจะได้เห็นรูปสวยหรือนานมากสักเพียงไร ความกระหายจะได้เห็นก็ยังไม่หมดสิ้นไป ในทำนองเดียวกัน ความต้องการได้ยินเสียงไพเราะน่าปรารถนาอย่างไม่รู้จักพอ ล้วนเป็นตัณหา หรือความกระหายที่จะดมกลิ่นหอม ได้ลิ้มรสอร่อย ได้สัมผัสที่เป็นสุข หรือคิดนึกเรื่องราวที่ชอบก็เป็นตัณหา

อันที่จริงตัณหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น ตัณหาเกิดได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาก็คิดถึงสิ่งที่น่าพอใจอยากได้ คนเราพอใจตนเอง พอใจคนอื่น และทรัพย์สินสิ่งของทุกชนิด เพราะความเพลิดเพลินผูกพันที่มีตัณหาเป็นเหตุนี้ ทำให้คนเราต้องเวียนว่ายตายเกิดชาติแล้วชาติเล่า และเมื่อเกิดในทุกภพทุกชาติก็ยังต้องพบกับวงจรของความแก่ ความเจ็บ และความตาย การต้องคอยแสวงหาสิ่งที่ต้องการ ทำให้เป็นทุกข์ เมื่อได้มาแล้วก็ยังเป็นทุกข์ในการดูแลรักษา

ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้มีเหตุจากตัณหาที่กระหายใคร่จะได้ที่เจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลาเหมือนเถาวัลย์ที่เลื้อยไปไม่หยุด เราไม่สามารถเอาชนะและหลบหนีตัณหาได้พ้น ดังนั้น ตัณหาจึงเป็นเหมือนข่ายยักษ์ขนาดมหึมาที่ครอบคลุมสรรพสัตว์ทั้งหลายไว้ภายใน สัตว์ที่ติดอยู่ในตาข่ายไม่สามารถหนีไปได้ มีแต่ความตายเท่านั้นรอคอยอยู่ข้างหน้า สัตว์ที่ติดอยู่ในตาข่ายตัณหาก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถหนีรอดได้

นอกจากนี้ยังเปรียบได้กับบุคคลที่ล่องลอยอยู่กลางกระแสน้ำย่อมถูกสายน้ำพัดพาไป และในที่สุดก็จะต้องจมน้ำตาย ในทำนองเดียวกัน สัตว์โลกย่อมถูกตัณหาซัดไป พัดพาไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ เนื่องจากการกระทำกรรมชั่ว บางครั้งการกระทำกรรมดีส่งผลให้ไปเกิด เป็นมนุษย์หรือเทวดา แต่ถึงแม้จะได้เกิดในสุคติภูมิก็ยังต้องพบความทุกข์ที่เนื่องด้วยความแก่ ความเจ็บ และความตาย พระพุทธองค์จึงทรงแผ่พระมหากรุณาไปในสัตว์ทั้งปวงที่กำลังติดอยู่และถูกกระแสตัณหาพัดพาไปสู่ความทุกข์

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ละกิเลส ดินพอกหางหมู

ละกิเลส ดินพอกหางหมู

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน คือ รูปนามตามความเป็นจริง โดยสังเกตดูว่ามีสภาวธรรมใดปรากฏในปัจจุบันขณะ วิธีเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นแนวทางในการรับรู้ว่าสิ่งที่พบอยู่คืออะไร ไม่ใช่การรู้ว่าเหตุใดจึงมีสิ่งนั้นปรากฏขึ้น

โดยทั่วไปเมื่อบุคคลรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยการเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และนึกคิดเรื่องราวต่างๆเขามักตอบสนองด้วยความยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา ที่กำลังเห็นหรือได้ยินสิ่งเหล่านั้นอยู่ อีกทั้งพยายามควบคุมให้เป็นไปตามใจของตน มีความพอใจสิ่งที่ชอบ และไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบ การตอบสนองด้วยความยึดมั่นนี้ทำให้กิเลสเพิ่มพูนมากขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นวิธีละความยึดมั่นในตัวตนเมื่อพบกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ

วิธีเจริญสตินี้ไม่ใช่ความคิดด้วยการเรียนรู้ แต่เป็นการรู้จากโลกทัศน์ภายในของตน ไม่ใช่การเรียนรู้จากโลกทัศน์ภายนอก อีกทั้งไม่ใช่การคิดรู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อได้รับข้อมูลใหม่

ความจริงแล้วการรู้เห็นโดยประจักษ์นี้ต้องมาจากประสบการณ์ของตนเท่านั้น เหมือนการไปดูสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ผู้ดูต้องไปดูด้วยตนเอง จึงจะเห็นประจักษ์ได้ ลำพังการอ่านหนังสือหรือคิดถึงสถานที่นั้นไม่อาจทำให้ผู้ดูเห็นประจักษ์อย่างแท้จริง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

โพธิปักขิยธรรม

โพธิปักขิยธรรม

จากคำนำของหนังสือโพธิปักขิยธรรม
โดยพระคันธสาราภิวงศ์

พระบรมศาสดาทรงหลุดพ้นจากบ่วงกิเลสโดยสิ้นเชิง ด้วยวิธีการปฏิบัติธรรมเพื่ออบรมจิตและพัฒนาปัญญา หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็นวิถีทางอบรมจิตและพัฒนาปัญญา ภายใต้ศักยภาพของมนุษย์เพื่อดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยไม่ขึ้นอยู่กับดวงชะตาหรืออำนาจเหนือมนุษย์ใดๆ

หลักธรรมของพระพุทธองค์ จึงเปรียบดั่งอัญมณีทรงค่าที่ควรแก่การชื่นชมสนใจ และโพธิปักขิยธรรมอันนำไปสู่หนทางแห่งการตรัสรู้ก็นับเข้าในธรรมเหล่านั้น ซึ่งประกอบด้วย ๗ หมวด ๓๗ ประการ และจัดว่าเป็นแนวปฏิบัติที่บริบูรณ์เพื่อความดับทุกข์ กล่าวโดยย่อคือ

๑. สติปัฏฐาน ๔ : ว่าด้วยการเจริญสติรับรู้สภาวธรรมปัจจุบันในกองรูป เวทนา จิต และสภาวธรรม เพื่อขจัดความผูกพันด้วยตัณหา และความยึดมั่นด้วยทิฏฐิ

๒. สัมมัปธาน ๔ : ว่าด้วยความเพียรชอบเพื่อละอกุศลเก่า ไม่ทำอกุศลใหม่ ทำกุศลใหม่ และเพิ่มพูนกุศลเก่า

๓. อิทธิบาท ๔ : ว่าด้วยธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา

๔. อินทรีย์ ๕ : ว่าด้วยธรรมที่เป็นใหญ่ ปกครองธรรมอย่างอื่นได้ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

๕. พละ ๕ : ว่าด้วยธรรมที่มีกำลัง สามารถครอบงำธรรมที่ตรงกันข้าม มีศรัทธาเป็นต้น

๖. โพชญงค์ ๗ : ว่าด้วยธรรมอันเป็นองค์ประกอบเพื่อความรู้แจ้ง ได้แก่ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา

๗. อริยมรรค ๘ : ว่าด้วยหนทางอันประสริฐ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สนิมใจ

สนิมใจ

ทุกขณะเราใช้จิตทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับงานบ้านหน้าที่ ธุรกิจ ครอบครัว ญาติพี่น้อง สังคม ฯลฯ เช่น พอมีงานบ้านเกิดขึ้นเราก็ใช้จิตทำงาน เมื่อมีหน้าที่หรือธุรกิจเป็นต้นที่จำเป็นต้องทำ เราก็ใช้จิตนี้ทำงานเช่นเดียวกัน แม้ในขณะสร้างบุญบารมี ก็ใช้จิตเหมือนกัน กระทั่งขณะที่เรานอนหลับสนิท จิตนี้ก็ทำงานตลอดเวลา จึงทำให้สมองทำงานได้ตามปกติ

เมื่อเราใช้จิตทำงานตลอดเวลาเช่นนี้ จิตของเราก็เกิดสนิมซึ่งเหมือนกับภาวะที่จิตอ่อนแอ วิตกกังวลหวาดกลัว เร่าร้อน วุ่นวาย สิ่งที่ขัดสนิมใจได้ก็คือ “สมาธิ”

สมาธินั้นจะทำให้จิตสงบไม่ซัดส่าย เมื่อจิตสงบเราก็จะได้รับสุข และปัญญาที่เกิดจากความสงบ เหมือนน้ำใสเมื่อตะกอนนอนก้นแล้ว

ทุกๆ วันเราต้องล้างจานและซักเสื้อผ้าหลังใช้งานแล้ว การซักล้างนั้นก็ไม่ได้ใช้น้ำเปล่า ต้องใช้น้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้าผสม เพื่อให้จานหรือผ้าสะอาด แต่วันหนึ่งๆ เราไม่ค่อยได้ขัดสีสนิมใจของตัวเอง ปล่อยให้มันสกปรกไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาหมดอายุขัยของตน

ดังนั้น จงขัดสนิมใจให้สะอาด จะเห็นได้ว่า ผ้าสะอาดย่อมเหมาะแก่การรับน้ำย้อม ฉันใด จิตที่สะอาดย่อมเหมาะแก่การบรรลุธรรม ฉันนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ความประมาทเป็นไฉน

ความประมาทเป็นไฉน

ความปล่อยจิต การสนับสนุนความปล่อยจิตในกามคุณ ๕ ด้วยกายทุจริต ด้วยวจีทุจริต หรือด้วยมโนทุจริต หรือการกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำไม่ติดต่อ ความทำอันหาประโยชน์มิได้ ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่อบรม ความไม่ทำให้มาก ซึ่งการอบรมกุศลธรรมทั้งหลาย.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากอรรถกถาอัจฉราสังฆาตวรรค
(เอกธัมมาทิบาลี วรรคที่ ๖)

ทุกข์อันไม่น่ายินดี

ทุกข์อันไม่น่ายินดี
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ายินดี

ทุกข์อันไม่น่ารัก
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ารัก

ทุกข์ย่อมครอบงำ
บุคคลผู้ประมาท
โดยความเป็นสุข

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากสุปปวาสาสูตร

การภาวนาทำจิตที่กระด้างให้อ่อนโยนลง

ทำจิตที่กระด้างให้อ่อนโยนลง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “การเจริญภาวนาสามารถทำให้เกิดความรู้และปัญญามั่นคงและยิ่งใหญ่ดั่งพื้นพสุธาได้” ปัญญาดังกล่าวจะซึมซับเข้าสู่จิตใจ เปิดใจให้กว้างและเบิกบาน หากปราศจากการภาวนาแล้ว จิตก็จะคับแคบและแข็งกระด้าง ถูกครอบงำด้วยกิเลสตลอดเวลา ทุก ๆขณะที่เราขาดสติ กิเลสก็จะแทรกซึมเข้าสู่จิตใจ ทำให้รู้สึกคับข้องใจ ตึงเครียด และกระวนกระวาย

อารมณ์ที่ถาโถมเข้ามากระทบผ่านอายตนะทั้งหกนี้ บางครั้งก็ดี บางครั้งก็ไม่ดี บางครั้งน่ายินดี บางครั้งไม่พึงปรารถนา เมื่อเราเห็นสิ่งที่น่ายินดี จิตที่ขาดสติจะเปี่ยมไปด้วยความทะยานอยาก และเข้าไปยึดมั่นร้อยรัดอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อจิตถูกครอบงำด้วยความตึงเครียด และความกระวนกระวายเช่นนี้ จิตก็จะมุ่งแต่คิดหาทางให้ได้มาซึ่งอารมณ์อันน่าถึงปรารถนายิ่งขึ้น เมื่อความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในใจ การกระทำทางกายและวาจาก็อาจเกิดตามมาด้วย

ถ้าหากอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนามากระทบในขณะที่จิตขาดสติ ความรู้สึกปฏิเสธผลักไสย่อมจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ในทำนองเดียวกันจิตใจก็จะเกิดความกระวนกระวาย และอาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นเช่น ใบหน้าที่ยิ้มแย้มอาจกลายเป็นงอง้ำ หรือเปลี่ยนเป็นคำพูดที่รุนแรงร้ายกาจ หรือแม้แต่การกระทำรุนแรงต่าง ๆ

เมื่อเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีหรือยินร้าย หากจิตขาดสติคุ้มครอง ความหลงจะเข้าครอบงำจิตใจ ทำให้ไม่อาจมองเห็นความเป็นจริงได้ ในเวลานั้น จิตก็จะตึงเครียด และแข็งกระด้างเช่นเดียวกัน

คงเป็นการไม่ฉลาดที่จะคิดว่าเราจะสามารถกำจัดอารมณ์ที่พึงปรารถนา ไม่พึงปรารถนาหรือความรู้สึกเฉย ๆ ให้หมดไปจากชีวิตเราได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องรักษาจิตใจให้อยู่กับอารมณ์เหล่านี้ได้ด้วยดี

บางคนอาจคิดว่าเราอาจจะอุดหูด้วยสำลี เอาผ้าปิดตา แล้วคลำทางไปในขณะรักษาใจให้เป็นสมาธิ แต่แน่นอนว่า เราไม่อาจปิดรูจมูก หรือบังคับลิ้นมิให้รู้รส หรือร่างกายมิให้รับรู้ความร้อน หนาว และความรู้สึกอื่น ๆ ได้ ในขณะนั่งสมาธิ แม้ว่าเราจะพยายามรักษาใจให้อยู่กับอารมณ์หลักเพียงอย่างเดียว แต่เราก็ยังได้ยินเสียงและความรู้สึกต่าง ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างเด่นชัดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าเราจะพยายามอย่างดีที่สุดอย่างไร เราก็ยังเผลอได้เป็นครั้งคราวและความคิดก็อาจเตลิดไปโดยเราไม่สามารถยับยั้งได้เลย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๕ วิปัสสนาญาณ
โดย..ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

รักษาความต่อเนื่องของสติ

การเจริญภาวนาไม่จำเป็นต้องสิ้นสุดลงหลังจากการนั่งสมาธิแล้วหนึ่งชั่วโมง แต่อาจปฏิบัติสืบเนื่องต่อไปตลอดวัน เมื่อเราลุกจากนั่งสมาธิ เราจะต้องกำหนดอย่างระมัดระวัง ตั้งแต่เริ่มแรกที่เกิดความอยากที่จะลืมตา “อยาก (ลืมตา) หนอ อยากหนอ…ลืม (ตา) หนอ…ลืม(ตา) หนอ” เข้าไปรู้สึกความต้องการทางใจที่จะลืมตาและความรู้สึกทางกายของเปลือกตาที่ค่อยๆ เปิดขึ้น

กำหนดรู้ต่อไปอย่างเอาใจใส่และแม่นยำ ด้วยพลังแห่งการกำหนดที่เต็มเปี่ยมตลอดการเปลี่ยนแปรของอิริยาบถจนยืนขึ้นตรงและเมื่อเริ่มจะเดิน เราควรระลึกรู้ และกำหนดการกระทำและอิริยาบถทุกอย่างตลอดวัน เช่น การยืดและงอแขน จับช้อน ใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน ปิดประตู เปิดประตู หลับตา รับประทานอาหาร เป็นต้น

เว้นไว้เพียงช่วงเวลาที่เราหลับสนิทไปแล้ว นอกจากนั้น เราควรรักษาความต่อเนื่องของสติตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ อันที่จริงการกระทำเช่นนี้มิใช่งานที่หนักหนา แต่เป็นเพียงการนั่งและการเดินอย่างต่อเนื่องโดยตามระลึกรู้สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางกายทางใจเท่านั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้
บทที่ ๑ การอบรมศีลและเจริญภาวนาเบื้องต้น
โดย..ท่านอูบัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สละสุขพอประมาณ เพื่อสุขอันไพบูลย์

ถ้าว่าปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์
เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้

เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์
พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

จากคาถาธรรมบท ปกิณณกวรรค

นรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แม้น้อย

หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้มาก แต่เป็นผู้ไม่ทำกรรมอันการกบุคคลพึงกระทำ เป็นผู้ประมาทแล้วไซร้ นรชนนั้นย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ ประดุจนายโคบาลนับโคของชนเหล่าอื่น ย่อมไม่มีส่วนแห่งปัญจโครส ฉะนั้น

หากว่านรชนกล่าวคำอันมีประโยชน์แม้น้อยย่อมประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ทั่วโดยชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกหน้า นรชนนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากคาถาธรรมบท ยมกวรรค

วาจาที่เป็นประโยชน์

สหสฺสมปิ เจ วาจา อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ อตฺถปทํ เสยฺโย ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ.

หากวาจาแม้ตั้งพัน ไม่ประกอบด้วยบทที่เป็นประโยชน์ไซร้
บทที่เป็นประโยชน์บทเดียว ซึ่งบุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่า.

จากคาถาธรรมบท สหัสสวรรค

จงรักษาจิต ธรรมดาจิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก

“เธอจงรักษาจิตของเธอนั่นแหละ
ธรรมดาจิตนี้บุคคลรักษาได้ยาก
เธอจงข่มจิตของเธอไว้ให้ได้
อย่าคิดถึงอารมณ์ อะไรๆ อย่างอื่น
ธรรมดาจิตอันบุคคลข่มได้ยาก”

ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน ยตฺถ กามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

การฝึกจิตอันข่มได้ยาก เป็นธรรมชาติเร็ว
มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ เป็นการดี (เพราะว่า)
จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากอรรถกถาคาถาธรรมบท จิตวรรค

สังเวควัตถุ ๘ ประการ

ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง อธิบายว่า สมัยใด จิตไม่แช่มชื่นเพราะมีปัญญาและความเพียรอ่อนไป หรือเพราะไม่บรรลุสุขที่เกิดแต่ความสงบ สมัยนั้น ก็ทำจิตให้สลดด้วยพิจารณาสังเวควัตถุเรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ
.
เรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ คือ

๑. ชาติ
๒. ชรา
๓. พยาธิ
๔. มรณะ
๕. ทุกข์ในอบาย
๖. ทุกข์ในอดีตมีวัฏฏะเป็นมูล
๗. ทุกข์ในอนาคตมีวัฏฏะเป็นมูล
๘. ทุกข์ในปัจจุบันมีการแสวงหาอาหารเป็นมูล.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากอรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาสติปัฏฐานสูตร

จงเตือนตนด้วยตนเอง

จงเตือนตนด้วยตนเอง
จงสงวนตนด้วยตนเอง

ดูกรภิกษุ
เธอนั้นผู้มีตนอันคุ้มครองแล้ว
มีสติ จักอยู่เป็นสุข

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
ตนแลเป็นคติของตน
เพราะเหตุนั้น
ท่านจงสำรวมตน
เหมือนพ่อค้าระวังม้าดีไว้ ฉะนั้น

จากคาถาธรรมบท ภิกขุวรรค

ภิกษุผู้ยินดีในธรรม

ภิกษุผู้มีธรรมเป็นที่มายินดี
ยินดีแล้วในธรรม
ค้นคว้าธรรม
ระลึกถึงธรรม
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม

จากคาถาธรรมบท ภิกขุวรรค

นิพพานอันเป็นสภาวะดับของใจและสัญญาในธรรมารมณ์

ผู้ที่ไม่เคยรู้จักกับการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เห็นทุกข์ตามสภาพความเป็นจริง มักจะเชิดชูยินดีความคิดและความเชื่อของตน ทั้งมีความหวังอยู่เสมอๆ ว่า จะได้พบความสุขรออยู่ข้างหน้าแม้ว่ากำลังเผชิญกับความทุกข์อยู่ก็ตาม เขาพอใจจะคิดว่าเขามีตัวตนอยู่ในโลกนี้ และหวังอยากจะมีความมั่งคั่งร่ำรวย หลงผิดว่าความทุกข์เป็นความสุข ดังนั้น ความยึดมั่นของเขาจึงเพิ่มพูนขึ้นและทำให้พยายามทุกวิถีทางในการสนองความต้องการของตน จนบางครั้งไม่ลังเลจะฆ่า ลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรือทำชั่วเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ แต่บางคนอาจทำความดีเพื่อประสงค์จะสั่งสมบุญกุศลสำหรับภพข้างหน้าที่ต้องเวียนว่ายต่อไปในสังสารวัฏ

การทำกรรมจึงเกิดขึ้น ตามสังขารที่เป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อเวลาใกล้จะตาย กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต ที่มาปรากฏเป็นอารมณ์ทางมโนทวารจะชักนำให้ไปปฏิสนธิในภพใหม่โดยมีอายตนะภายในและภายนอกชุดใหม่ทำหน้าที่รับอารมณ์เช่นที่ได้ทำมาแล้วในภพก่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดตัณหาและอุปาทานที่ส่งผลให้วนเวียนเกิดต่อไปๆ ในสังสารวัฏอย่างไม่จบสิ้น เพราะความต่อเนื่องเหมือนสายโซ่ตัณหา อุปาทานกรรม และภพ ที่คล้องกันเป็นทุกขสัจ ต่อเมื่อสายโซ่นี้ถูกตัดขาดด้วยปัญญาที่เป็นกลางในสังขาร (สังขารุเปกขาญาณ) แล้วบรรลุถึงความดับของรูปนาม นิพพานสุขจึงจะเกิดมีขึ้นได้

สมจริงดังพระพุทธดำรัสในสฬายตนสังยุตต์ว่า
ยตฺถ มโน จ นิรุชฺฌติ, เส อายตเน เวทิตพฺเพ.

ใจและสัญญาในธรรมารมณ์ดับไป ใน [อารัมมณ] ปัจจัยใด บุคคลพึงรู้ [อารัมมณ] ปัจจัยนั้น
[คือ นิพพานอันเป็นสภาวะดับของใจและสัญญาในธรรมารมณ์]

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือนิพพานกถา
โดย พระมหาสีสยาดอ
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จะรู้ได้อย่างไรว่าการกำหนดรู้ถูกต้องดีแล้ว

ปุจฉา : จะรู้ได้อย่างไรว่าการกำหนดรู้ถูกต้องดีแล้ว

วิสัชนา : เมื่อกำหนดรู้ได้ดี ผู้ปฏิบัติธรรมจะรู้สึกว่า รู้อารมณ์ได้เองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องพยายามมองหาอารมณ์นั้น คล้ายกับเล่นเปียโน ผู้เล่นจะก้าวหน้าถึงขั้นที่ไม่ต้องมีคนคอยแนะนำ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ความงามแห่งจิต
พระปัณฑิตาภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

คงไม่เป็นการเพียงพอที่จะพูดว่า ต่อไปนี้เราจะเป็นคนดี

เราอาจต้องยอมรับว่า คงไม่เป็นการเพียงพอที่จะพูดว่า ต่อไปนี้เราจะเป็นคนดี จะเลิกนิสัยต่างๆ ที่ไม่ดีเสีย เราต้องฝึกอบรมจิต มิฉะนั้น ไม่ช้าก็เร็ว สัญชาตญาณที่เกิดจากอุปนิสัยที่มุ่งร้าย โลภ หรือหลง ก็จะครอบงำอีก และทำให้เราแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมออกไป นี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผู้ปฏิบัติธรรมต้องควบคุมจิตใจของตนเองด้วยการเจริญกรรมฐาน หากปราศจากการกำหนดรู้ที่แม่นยำและมีพลังของการเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานแล้ว เมื่อใดก็ตามอารมณ์ที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนา หรืออารมณ์อื่นที่ไม่ชัดเจนเข้ามากระทบ เมื่อนั้นกิเลสที่เกิดจากอารมณ์นั้น คือ ความโลภ โกรธ หรือความหลง ก็จะปรากฏขึ้นทำให้จิตใจขุ่นมัว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปฏิบัติธรรมทำหน้าที่กำหนดพยายามตามรู้อารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถเห็นอารมณ์เหล่านี้ได้ชัดเจน กิเลสใดๆ จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ปฏิบัติธรรมจะสามารถรักษาจิตให้ตั้งมั่นอยู่ได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ ความงามแห่งจิต
พระปัณฑิตาภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปุถุชนมักจะโน้มเอียงไปในทางอกุศล

ปุถุชนมักจะโน้มเอียงไปในทางอกุศล

การทำความดีต้องอาศัยความศรัทธา กำลังใจ และความพยายาม เพราะเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก การทำความดีเปรียบเหมือนว่ายน้ำทวนกระแส แต่ความชั่วนั้นทำง่ายไม้ต้องพยายามเป็นพิเศษหรือต้องการแรงจูงใจมากนักราวกับเป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงกล่าวว่าการทำความชั่วเหมือนลอยตามกระแสน้ำ เมื่อมีกฎหมายหรือความยับยั้งชั่งใจมาเป็นเครื่องกั้นขวาง การกระทำชั่วก็อาจจะลดน้อยลงบ้าง

สำหรับปุถุชนคนธรรมดามีหนทางให้เลือก ๒ ทางเท่านั้น คือ กระทำความดีสร้างกุศล หรือ ทำความชั่วสร้างอกุศล ตราบใดที่ไม่มีการทำกุศล ตราบนั้นก็จะมีแต่อกุศล สมมติว่าในเวลาทุกๆ ๑๐๐ นาที เราทำความชั่วด้วยอกุศลจิตเสีย ๙๐ นาที ก็จะเหลือเวลาเพียงแค่ ๑๐ นาที ที่จะให้กุศลจิตสามารถทำความดีได้ ถ้าเวลาแห่งการทำกุศลเพียงแค่ ๑๐ นาทีนั้นถูกยกเลิกไป อกุศลจิตก็จะเข้าครอบงำเราตลอดทั้ง ๑๐๐ นาที

คนที่ไม่บำเพ็ญภาวนา อาจไม่สามารถรู้วิธีที่จะควบคุมจิตจากอกุศล เพราะธรรมดาคนเรานั้นเมื่อได้รับอารมณ์ที่น่าพอใจเข้าก็หมดความสามารถที่จะควบคุมจิตใจมิให้ผูกพันอยู่กับกามสุข มักลุ่มหลงเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ที่น่าพอใจ ที่ได้เห็น หรือได้ยิน เป็นต้นนั้น แทบไม่มีใครสามารถยับยั้งชั่งใจไม่ให้ยินดีกับกามสุขได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
หนังสือนิพพานกถา
โดย พระมหาสีสยาดอ
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การปฏิบัติ อย่าไปปรารถนา อย่าไปอยาก

การปฏิบัติ อย่าไปปรารถนา อย่าไปอยาก พยายามตั้งใจกำหนด โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร

สิ่งที่เราควรจะทำให้ดีที่สุด คือ ทำกุศลให้เกิดขึ้น กุศลตัวนี้เขาจะแปรสภาพของเขาเอง ต่อไปเราไม่ต้องไปมัวกังวลว่ารู้อะไร หรือไม่เห็นอะไร พยายามต้อยติดกับปัจจุบันอารมณ์ที่จะเป็นอยู่ ให้ตามติดตัวนั้นให้ได้

อ่านต่อ >>> คลิกที่นี่

การกำหนดในการนั่ง

การกำหนดในการนั่ง

หลักการกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ”
๑. ดูอาการของท้องพองกับท้องยุบเป็นหลัก
๒. อาการพองยาว-ยุบยาว
๓. อาการพองสั้น-ยุบสั้น
๔. อาการพอง-ยุบ ไวๆ
๕.อาการตีแน่นขึ้นหน้าอก

อ่านรายละเอียด >>> คลิกที่นี่

หลักการกำหนด “นั่งหนอ ถูกหนอ”
๑. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กรณี “พองยุบ” หายไป
๒. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กับผู้ที่ทำอาณาปานสติมาก่อน
๓. ใช้ “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” กับพองยุบ ที่ทิ้งช่วง

อ่านรายละเอียด >>> คลิกที่นี่

คนอย่างเราจะเจริญกรรมฐานได้หรือ?

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มักจะคิดว่า คนอย่างเราจะเจริญกรรมฐานได้หรือ ความเห็นจะแตกออกเป็นสองฝ่ายนะ

๐ ฝ่ายหนึ่งว่าคนเช่นเรานี่ไม่จำเป็นต้องเข้ากรรมฐาน ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยคิดร้าย ไม่เคยโกรธ ไม่เคยทำอะไรคนอื่นเค้าเลย อิจฉาริษยาเราก็ไม่มี ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องทำกรรมฐาน คนที่ไปทำคือคนที่มีจิตใจไม่ปกติ อันนี้ประเภทหนึ่งนะ

๐ ประเภทที่สองนี่ก็กลัวกรรมฐาน กลัวว่าคนอย่างเรานี้จะทำกรรมฐานได้หรือ นึกกลัวกรรมฐานซะก่อน

พออาจารย์ได้ทราบก็เลยต้องปรับ ต้องทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย

อ่านต่อ >>> คลิกที่นี่

ใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

ใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

โยคีต้องจำไว้ว่า ปกติใจของเราคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่ ฉะนั้นวันแรก 2 วัน ใจจะต้องดิ้นรนมาก เมื่อมันดิ้นรนเราก็ไม่ต้องกลัว มันเป็นสภาวะหนึ่ง เป็นธรรมดาของใจเรา เพราะว่าเราปล่อยเขามามาก จู่ๆ เราจะมากักขังเขาให้อยู่ เขาจะไม่อยู่อย่างที่เราตั้งใจ เพราะกำลังสติ สมาธิของเรามันน้อย เมื่อน้อยอยู่เอาเขาไม่อยู่ แต่ไม่ต้องหงุดหงิด ไม่ต้องหิ้วกระเป๋า กลับบ้าน ไม่ต้องเอาญาณม้วนเสื่อกลับบ้าน

จะบอกล่วงหน้าให้รู้ไว้ก่อนว่า ถ้าเข้าวันที่ 3 ไปแล้วมันจะดี วันที่ 1 วันที่ 2 จะเป็นนักปฏิบัติเก่า นักปฏิบัติใหม่ก็แล้วแต่ 2 วันนี่จะเป็นวันที่ใจเราจะดิ้นรนกระวนกระวายมาก บอกให้รู้ก่อน เพราะใจมันคุ้นกับการไป ไม่คุ้นกับการอยู่

อ่านต่อ >>> คลิกที่นี่

ขณิกสมาธิ

ใครว่าขณิกสมาธิเกิดเพียงชั่วขณะไม่ตั้งมั่น

สมาธิในวิปัสสนานี้มีกำลังเทียบเท่า อุปจารสมาธิ คือ สมาธิใกล้จะแนบแน่นของสมถภาวนา จึงสามารถข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ แต่สมาธิดังกล่าวเรียกว่า ขณิกสมาธิ หรือ สมาธิชั่วขณะ เพราะหมายถึงมีอารมณ์กรรมฐานที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาในแต่ละปัจจุบันขณะ กล่าวคือรูปนามที่ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อยู่เป็นสภาวะใหม่อยู่เสมอ ดังข้อความในคัมภีร์อรรถกถา (วิสุทธิ. ๒.๓๐๔, ปฏิสํ. อ. ๑.๒๗๕) ว่า

นิจฺจนวาว หุตฺวา สงฺขารา อุปฏฺฐหนฺติ.
สังขารทั้งหลายเป็นของใหม่อยู่เสมอย่อมปรากฏ

ดังนั้น แม้ขณิกสมาธิจะมีกำลังเทียบเท่าอุปจารสมาธิ เพราะสามารถข่มนิวรณ์ได้เหมือนอุปจารสมาธิ ก็มีชื่อเฉพาะว่า “ขณิกสมาธิ” ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ หาใช่เพราะเป็นสมาธิที่เกิดเพียงชั่วขณะไม่ แต่เป็นสมาธิที่มีอารมณ์เพียงชั่วขณะดังที่กล่าวมาแล้ว

วิปัสสนาภาวนาที่ประกอบด้วยขณิกสมาธิย่อมสามารถละกิเลสได้ชั่วขณะ เรียกว่า ตทังคปหาน คือการละได้ชั่วขณะในเวลาที่กำหนดรู้อยู่ และสมาธิที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ทำหน้าที่ข่มกิเลสเป็น วิกขัมภนปหาน คือ การละด้วยการข่มไว้ การละกิเลสทั้งสองอย่างนั้นเหมือนการตัดกิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้ทำให้ต้นไม้อ่อนกำลังไม่มั่นคง ส่วนขณะที่เกิดมรรคปัญญาที่ละกิเลสโดยเด็ดขาดซึ่งเรียกว่า สมุจเฉทปหาน เหมือนการตัดรากเหง้าของต้นไม้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่เสมอเพื่อสั่งสมอุปนิสัยปัจจัยอันจะทำให้เกิดมรรคปัญญาในโอกาสต่อไป

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย…พระคันธสาราภิวงศ์

หัวใจสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

หัวใจสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

ความจดจ่อและความต่อเนื่องมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม มีคำอธิบายว่า

๐ ความจดจ่อ คือ การตั้งใจรับรู้สภาวธรรมอย่างบริบูรณ์ ไม่ขาด ไม่เกิน เช่น การรับรู้เบื้องต้นและที่สุดของสภาวะยก ย่าง เหยียบ เป็นต้น รวมไปถึงการบริกรรมว่า ยก ย่าง เหยียบ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอากัปกิริยานั้นๆ

๐ ความต่อเนื่อง คือ การดำรงสติไม่ให้ขาดช่วงเช่น เมื่อเดินจงกรมแล้วมานั่งกรรมฐาน ก็พยายามประคองสติไว้โดยละเอียด ด้วยการย่อตัวลงนั่งช้าๆ จึงจะทำให้สมาธิที่ได้รับจากการเดินจงกรมสามารถเอื้อประโยชน์แก่การนั่งกรรมฐานได้ หรือการทำอิริยาบถย่อย ก็พยายามทำช้าๆ เพื่อให้รับรู้สภาวะเบาหนักอย่างชัดเจนเหมือนในเวลาเดินจงกรมหรือยกมือและวางมือ

ความจดจ่อและความต่อเนื่องทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญมาก เป็นหัวใจที่ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมประสบความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย..พระคันธสาราภิวงศ์

บุญที่เราสั่งสมไว้ เป็นสิ่งที่เราได้รับดีแล้วหนอ

สงฺขารา มม สงฺกนฺตา วโยวุทฺธิคตา ปุน
ปุรา มรามิ ปุญฺญ ตํ สุลทฺธํ ปสุตํ วต.

สังขารของเราล่วงเลยไป
ถึงความเจริญวัยอีกปีหนึ่ง
ก่อนที่เราจะตาย
บุญที่เราสั่งสมไว้นั้น
เป็นสิ่งที่เราได้รับดีแล้วหนอ

จากคำนำ ในหนังสือประกายส่องใจ ๓
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์

ถ้าว่าปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์
เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้

เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์
พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

จากคาถาธรรมบท ปกิณณกวรรค

ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย

อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย

๐ ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย ย่อมเป็นสภาพหยาบ

๐ ถ้ากิเลสเหล่านี้ มีรูปร่าง อันใครๆ พึงสามารถจะเก็บไว้ได้ในที่บางแห่ง จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป โอกาสของกิเลสเหล่านั้นไม่พึงมี (บรรจุ) เลย

๐ อันกิเลสเหล่านี้ ย่อมทำบุรุษอาชาไนยที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา แม้เช่นกับเราให้มัวหมองได้ จะกล่าวอะไรในเหล่าชนที่เหลือ;

จากอรรถกถา คาถาธรรมบท จิตวรรค
เรื่องพระจิตตหัตถะ