Category Archives: ปกิณกะธรรม

ความรู้ทางทฤษฎี

ความรู้ทางทฤษฎี

คำถามที่ ๑๓ : กระผมตระหนักดีว่า ความรู้ที่ได้มาจากตำราเรียน สามารถเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม มีส่วนใดบ้างที่สามารถอ่านได้ในระหว่างที่กลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน?

ตอบ : ถูกแล้ว ความรู้ที่ได้มาจากตำราเรียนนั้น บางครั้งก็เป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เป็นเพราะเราอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสภาวะที่เป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติ กับที่มีอิบายไว้ในตำรา มันนำเราไปสู่ความคิดพิจารณาวิเคราะห์วิจารณ์ แล้วเราก็สูญเสียความมีสติที่จะกำหนดรู้สิ่งที่กำลังประสบอยู่เฉพาะหน้า

ถ้าเธอรู้ตัวว่านี่เป็นความคิดนึก เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์หาเหตุผล นี่กำลังสาธยายธรรมะอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค เป็นตัวทำลายสมาธิได้เท่า ๆ กับเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดปัญญาญาณ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เธอต้องรีบกำหนด เฝ้าดูมัน เมื่อสามารถทำได้ดังนี้แล้ว อุปสรรคตัวทำลายสมาธิก็จะหมดไป เพราะมีความรู้เท่าทันธรรมชาติของอุปสรรคเหล่านี้

เธอสามารถตัดบทได้โดยไม่ไปคิดถึงความรู้ที่ประสบมาหรือไม่ ไปคิดถึงเทคนิคของวิปัสสนา ด้วยความสามารถในการตกลงใจได้เช่นนั้น เธอก็จะสามารถปฏิบัติวิปัสสนาฝ่าด่านอุปสรรคนี้ออกมาได้ ถึงแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในใจเธอ เธอก็จะสามารถเอาชนะมันได้โดยง่าย โดยการมุ่งเอาใจใส่กำหนด

อันตรายของผู้ปฏิบัติธรรมก็คือความไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือ อุปสรรค ตัวฉุดรั้งความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าเธอไม่ตระหนักว่าจะต้องเพียรเฝ้าดูมันทันทีที่เกิดขึ้นในใจ มันก็จะกลายเป็นตัวอุปสรรคขึ้นมาทันที ถ้าเธอเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือตัวกันไม่ให้สำเร็จ และเธอไม่รับมันมาไว้ในใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอกำหนดรู้เท่าทันหมด แล้วมันก็จะหายไปเอง

ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาอะไร ในการกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน เธอต้องพยายามปฏิบัติต่อที่บ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความรู้จากหนังสือนี้เป็นสุตมยปัญญา เรียนรู้แล้วไปคิดต่อเป็นจินตมยปัญญา เธอต้องไม่นำไปประยุกต์ใช้ต่อในขณะปฏิบัติอยู่ เวลาใดที่ว่างจากการปฏิบัติวิปัสสนา เธอก็สามารถหยิบหนังสือนั้นขึ้นมาอ่านตรวจตราดูผลการปฏิบัติได้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
คำถามที่ ๑๓ จากภาค ๒ คำถามและคำตอบ
ในหนังสือ เมตตาภาวนา (ทารุกขันโธปมสูตร)
โดย ท่านเชมเย สยาดอ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การคิดไม่ใช่ศัตรู : การคิดคือเพื่อนของโยคีทุกคน

การคิดไม่ใช่ศัตรู

ไม่ควรถือว่าการคิดเป็นศัตรู ตรงกันข้าม การคิดคือเพื่อนของโยคีทุกคน เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติรังเกียจการคิด ให้รู้ไว้ว่าเผลอไปยึดติดมันเข้าแล้ว เพราะทุกครั้งที่คิด ผู้ปฏิบัติจะเสียใจ ผิดหวัง “..โธ่..คิดอีกแล้ว…สมาธิมันถึงไม่ดีสักที…” แบบนี้ ก็ไปยึดติดการคิดในรูปของความเกลียด ผู้ปฏิบัตินึกว่าเกลียดการคิด แต่ที่จริงแล้วกลับชอบ การคิดนั้นจึงมาเยี่ยมผู้ปฏิบัติบ่อยขึ้นๆ…

ให้ทำความเข้าใจใหม่ว่าการคิดไม่ใช่ศัตรูของการปฏิบัติ แต่เป็นเพื่อน ถ้าไม่มีการคิด ผู้ปฏิบัติก็ไม่มีโอกาสฝึกกำหนดรู้ให้ทันการคิดจนเข้าไปเห็นแจ้งในธรรมชาติที่แท้จริงของการคิดได้ หากยังไม่สามารถเข้าไปเห็นแจ้งว่าการคิดนั้นเป็นเพียงอาการของจิตที่ ไม่เที่ยง ไม่คงทน…เป็นทุกข์ ไม่น่าพึงพอใจ… และ ไม่มีตัวตน บุคคล วิญญาณ ใดๆ ผู้ปฏิบัติก็จะยังหลงยึดถือไปว่า มีเรา ตัวตนของเรา ที่กำลังคิดอยู่…” ฉันกำลังคิด..ฉันชอบความคิดนี้”…

ขอเพียงกำหนดรู้การคิดให้ทัน ก็จะเข้าไปเห็นแจ้งและประจักษ์ว่าการคิดเป็นเพียงอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ ตัวตน บุคคล ที่ไหนทั้งนั้น

+–+–+–+–+–+–++–+–+–+–+–+–+

ผู้ปฏิบัติจึงควรเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการคิดให้ถูกต้อง มองการคิดอย่างมิตร เพราะหากเห็นการคิดเป็นศัตรู จะเกิดการต่อต้าน และกำหนดรู้อย่างรังเกียจ รัวเร็วถี่ยิบว่า “คิดหนอ..คิดหนอ..คิดหนอ”….

ที่ถูกแล้ว ทุกๆครั้งที่การคิดมาเยือน เราควรยินดีต้อนรับการคิดอย่างเป็นมิตร ด้วยความสงบหนักแน่น มั่นคง และกำหนดรู้จนการคิดนั้นดับไป แล้วจึงกลับมากำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานหลักตามปกติต่อไป

แน่นอน การคิดจะมาเยี่ยมเยือนเราอีกบ่อยๆ เราก็เพียงแต่กำหนดรู้ให้ทัน จดจ่อ หนักแน่น เที่ยงตรงแล้วการคิดนั้นๆก็จะดับไปเอง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐานไม่ยากอย่างที่คิด
โดย ท่านเชมเย สยาดอ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เหตุแห่งทุกข์ (โลภะ การยึดติด)

เหตุแห่งทุกข์

อะไรคือเหตุแห่งทุกข์? โลภะ-การยึดติด คือเหตุแห่งทุกข์ แม้กระทั่งการยึดติดกับประสบการณ์ดีๆจากการปฏิบัติธรรมก็คือทุกข์

กรรมฐานคือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติเข้าไปประสบและเรียนรู้ แต่ไม่พึงยึดติด หากเผลอไปเกาะเกี่ยวยึดติดกับประสบการณ์ดีๆ การปฏิบัติเมื่อวันก่อน พอมาวันนี้ การปฏิบัติไม่น่าพึงพอใจ สมาธิอ่อนลง ผู้ปฏิบัติก็เสียอกเสียใจแทบร้องไห้ พาลหงุดหงิดเพราะอยากได้ประสบการณ์ดีๆ แบบวันก่อนอีกครั้ง แต่ยิ่งพยายามมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งฟุ้งซ่านหงุดหงิดมากขึ้น เกิดทุกข์มากขึ้น ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ประสบในกรรมฐาน แต่เกิดจากความเกาะเกี่ยวยึดติด ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การเกาะเกี่ยวยึดติดคือ สมุทะยะสัจจะ (สมุทัย แปลว่า ที่มา หรือ ต้นเหตุ, สัจจะ แปลว่า ความจริง รวมแปลว่า ความจริงว่าด้วยต้นเหตุแห่งทุกข์นั่นเอง )

(จากธรรมบรรยายในการอบรมกรรมฐานที่เมืองเซนต์ปอล ปีพ.ศ. 2533)

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จากหนังสือ วิปัสสนากรรมฐานไม่ยากอย่างที่คิด
โดย ท่านเชมเย สยาดอ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

โยคีควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกว่าประสบการณ์ภาวนาของตนชะงักงันไม่ก้าวหน้าเป็นเวลานานและศรัทธาของตนก็เริ่มเสื่อมถอยลง

๐ ปุจฉา
โยคีควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกว่าประสบการณ์ภาวนาของตนชะงักงันไม่ก้าวหน้าเป็นเวลานานและศรัทธาของตนก็เริ่มเสื่อมถอยลง

๐ วิสัชชนา
การปฏิบัติจะก้าวหน้าหรือไม่มิใช่หน้าที่ของโยคีที่จะตัดสิน การนึกคิดดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่โยคีควรกระทำ สิ่งที่โยคีพึงกระทำคือ ต้องตระหนักว่าโยคีสามารถกำหนดรู้หรือมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ ขณะที่เจริญสติโยคีสามารถสังเกตุอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ สติของโยคีมีพลังหรือมีคุณภาพในระดับใด แม้โยคีจะคิดว่าการภาวนาของตนกำลังเป็นไปด้วยดี วิปัสสนาจารย์ก็อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกับโยคีก็ได้ หรือแม้โยคีคิดว่าการปฏิบัติของตนไม่ก้าวหน้าเลย วิปัสสนาจารย์ก็อาจเห็นเป็นอย่างอื่นได้

จุดมุ่งหมายของสติปัฏฐานภาวนา
ไมว่าจะทำอะไรเราต้องทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย ในการภาวนาก็เช่นเดียวกัน จุดมุ่งหมายของการเจริญสติปัฏฐานภาวนาคือ การล่วงพ้นจากสิ่งเศร้าหมองทั้งปวง เมื่อสิ่งเศร้าหมองหรือความไม่บริสุทธิ์เหล่านี้ปรากฏขึ้นในจิตใจ ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ หากเราปรารถนาความสุขและความบริสุทธิ์หมดจดแห่งจิตใจ เราก็เพียงแต่ขจัดสาเหตุแห่งความทุกข์เหล่านี้ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นสำรวมระวังกายใจหรือต่อสู้เอาชนะจนกระทั่งสามารถกำจัดเครื่องเศร้าหมอง ต่างๆ ได้อย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามใคร่ครวญถึงจุดมุ่งหมายดังกล่าวนั้นไม่ควรให้เกิดขึ้น ในขณะปฏิบัติภาวนา เพียงแต่ให้มีไว้ก่อนปฏิบัติได้

หน้าที่ของโยคี
นอกจากนี้ โยคีไม่ควรจดจ่อหรือตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติมากเกินไป หากโยคีมีความรู้สึกเช่นนี้โยคีควรกำหนดรู้ความรู้สึกนี้ด้วย

บ่อยครั้งโยคี อาจจะคิดหรือวิเคราะห์มากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติของตน โดยเฉพาะโยคีที่ต้องการความก้าวหน้า อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อโยคีพากเพียรปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าโยคีก็มักจะเสียใจ ท้อใจ จนอาจถึงกับหมดศรัทธาที่จะปฏิบัติต่อไป ความรู้สึกเช่นนี้แก้ไขได้ด้วยการมีสติเข้าไปกำหนดความรู้สึกนั้นๆ

หากเราพยายามวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบว่าเรากำลังก้าวหน้าในการภาวนาหรือไม่ ทัศนคติเช่นนี้ จะทำให้การปฏิบัติของเราล่าช้า หรืออาจถึงกับทำลายการปฏิบัติของเราได้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่โยคีต้องกระทำคือ กำหนดรู้อารมณ์ที่เด่นชัดในปัจจุบันขณะอย่างเที่ยงตรงและมีพลัง นอกนั้นก็ไม่มีอะไรอื่นที่โยคีจะต้องทำ หากโยคีสามารถทำเช่นนี้ได้จริงๆ กล่าวคือสามารถกำหนดรู้อารมณ์ทุกอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพโยคีย่อมประสบความก้าวหน้าในการเจริญภาวนา

การเจริญภาวนา เหมือนการลับมีดบนแผ่นหิน
การเจริญสมาธิและปัญญานั้น อุปมาเหมือนการลับมีดที่ทื่อให้คมบนแผ่นหิน มีสองสิ่งที่ ต้องกระทำคือ วางมีดในตำแหน่งที่ทำมุมพอดีกับแผ่นหิน และใส่พลังเข้าไปอย่างสม่ำเสมอในการลับมีด หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราก็ไม่อาจลับมีดให้คมได้เช่น ตั้งมีดไม่ถูกกับตำแหน่งหิน หรือใส่พลังไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นต้น

การเจริญภาวนาก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องสังเกตและ ระลึกรู้อารมณ์ต่างๆ โดยมีใจจดจ่อที่อารมณ์นั้นอย่างเที่ยงตรงและพากเพียรรักษาความจดจ่อ ต่อเนื่องในการระลึกรู้ หากปราศจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราก็มิอาจลับปัญญาญาณให้แหลมคมได้ ถ้าขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างแม้จะปฏิบัติจนตลอดชีวิตก็ไม่สามารถจะเจริญก้าวหน้าได้

การเจริญภาวนาที่ก้าวหน้าอยู่เสมอ
อันที่จริงโยคีสามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า โยคีมีความก้าวหน้าในการภาวนาหรือไม่ หากโยคีสามารถกำหนดรู้อารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เริ่มจากอารมณ์หลักในการภาวนา เช่น การพอง-ยุบ ของท้อง หรืออารมณ์อื่นใดที่ปรากฏเด่นชัดในความรู้สึกในขณะนั้น หากโยคีมีสติระลึกรู้อารมณ์ ต่างๆ โดยตลอด และตระหนักได้ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของอารมณ์เหล่านั้น ก็นับว่าใช้ได้ ไม่ต้องห่วงหรือกังวลเลยว่า การปฏิบัติภาวนาก้าวหน้าหรือไม่ หากมีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างถูกต้อง โยคีก็กำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

การเจริญภาวนานั้นคือ การพัฒนา หรือปลูกฝัง พฤติกรรมทางกาย วาจา ใจให้บริสุทธ์หมดจด ละเมียดละไม อ่อนโยนและงดงาม การรักษาตนให้บริสุทธิ์ปราศจากความด่างพร้อยนับเป็นการเกื้อกูลผู้อื่นด้วย เนื่องจากเราจะมิได้ก่อเวรภัยให้แก่ใคร นอกจากนี้ มีสิ่งที่ควรปฏิบัติ ซึ่งจะสนับสนุนให้การเจริญภาวนาของโยคีก้าวหน้า ไดแก่ การฟัง (ธรรมหรือคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์) อย่างตั้งใจ และการพากเพียรปฏิบัติด้วยความเคารพ และเอาใจใส่

โยคี ๔ ประเภท
ประสบการณ์ในชีวิตการเป็นครูผู้สอนและเป็นผู้เจริญภาวนากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อาตมาอยู่ที่สำนักรรมฐานและประพฤติปฏิบัติตามโอวาทของท่านอาจารยมหาสีสยาดอ ผู้มีพระคุณอย่างสูงยิ่งนั้นอาตมาได้พบโยคี ๔ ประเภท คือ

๑.โยคีที่พูดเก่งและชัดเจน คือ โยคีเหล่านี้จะเจริญภาวนาด้วยความเคารพและระมัดระวัง ไม่จงใจคิดวิเคราะห์ใดๆ และสามารถรายงานผลการปฏิบัติได้ชัดเจน อาตมาถือว่า เป็นโยคีที่ดีที่สุด มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนาและสามารถจะได้รับข่าวดีภายในเวลาเพียง ๓ สัปดาห์

๒.โยคีที่พูดเก่งแต่ไม่ชัดเจน คือรายงานผลการปฏิบัติสับสนไม่ชัดเจน โยคีเหล่านี้ไม่สามารถรายงานผลการปฏิบัติได้อย่างกระจ่างชัด แม้จะก้าวหน้าในการเจริญสมาธิและปัญญาไปด้วยดีก็ตาม

๓. โยคีที่พูดน้อยแต่ชัดเจน คือ แม้จะพูดน้อยแต่สามารถรายงานผลการปฏิบัติได้ชัดเจน โยคีเหล่านี้จะรายงานผลการเจริญภาวนาได้ชัดเจนดีมากและอาจได้ยินข่าวดีในการปฏิบัติภายใน ๖-๙ สัปดาห์ สำหรับโยคีประเภทนี้ ครูบาอาจารย์จะไม่มีภาระที่จะต้องแนะนำมาก เพราะจะสามารถแก้ไขวิธีการปฏิบัติของโยคีได้ง่ายและหากโยคีปฏิบัตตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ โยคีก็จะสามารถพัฒนาการปฏิบัติของตนต่อไปได้

๔. โยคีที่พูดน้อยและรายงานผลการปฏิบัติสับสน โยคีเหล่านี้จะให้คำแนะนำได้ยากลำบากมาก

ดังนี้ โยคีทั้งหลายคงสามารถแจกแจงได้ว่าตนเองเป็นโยคีประเภทใด อย่างไรก็ตามโปรดระลึกว่าโยคีไม่ควรตั้งความปรารถนาในความก้าวหน้ามากเกินไป สิ่งที่โยคีต้องทำมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ มีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้การเกิดขึ้นของอารมณ์ในทุกๆ ขณะนี่คือหน้าที่หรือความรับผิดชอบประการเดียวของโยคี

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 
จากหนังสือ ปุจฉา-วิสัชชนา วิปัสสนา
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง

ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง
ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมหมดจดด้วยตนเอง

ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว
คนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่

บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสื่อม
เพราะประโยชน์ของผู้อื่นแม้มาก

บุคคลรู้จักประโยชน์ของตนแล้ว
พึงขวนขวายในประโยชน์ของตน ฯ

**************************
จากคาถาธรรมบท
อัตตวรรคที่ ๑๒
**************************

จิตที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่ อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำทุกข์มาให้ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำทุกข์มาให้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
จิตที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ ฯ

*********************************
 จากอังคุตตรนิกาย
เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
อกัมมนิยวรรคที่ ๓

*********************************

ภัทเทกรัตตสูตร : ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผลัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแล ว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

จากภัทเทกรัตตสูตร  >>>  คลิกอ่าน

พึงเป็นคนอาจหาญสามารถปฏิบัติได้

พึงเป็นคนอาจหาญสามารถปฏิบัติได้

ว่าโดยสรุปก็คือ บุคคลผู้รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หากประสงค์จะบรรลุพระนิพพานอันเป็นแดนสงบ จะต้องอบรมสิกขาสามคือ ศีล สมาธิ และปัญญา กล่าวคือ ต้องสามารถปฏิบัติด้วยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญา โดยไม่กังวลถึงร่างกาย และแม้ชีวิตก็สละได้

อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสุขทางโลกที่คนทั่วไปอาจแสวงหามาได้ด้วยการประกอบอาชีพต่างๆ เช่น ทำไร่ทำนา ค้าขาย หรือรับราชการ หรือทรัพย์สินเงินทองที่มีประโยชน์ในการดำรงชีพ มีประโยชน์ สำหรับคนทั่วไป ฉันใด ศีล สมาธิ และปัญญา ก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการเดินทางออกจากสังสารวัฏ ฉันนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้เจริญขึ้น อย่างน้อยถ้าทำศีลให้บริบูรณ์ ก็จะไม่ตกอบาย ได้มาเกิดในโลกมนุษย์หรือเทวโลกอันเป็นสุคติภูมิ คือภูมิที่มีความเป็นอยู่ที่ดีเป็นส่วนมาก ถ้าบรรลุฌานสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง ก็จะได้เลื่อนชั้นไปอยู่ในพรหมภูมิที่มีความสุขมากขึ้น และมีอายุที่ยืนยาวหลายกัป ถ้าบรรลุวิปัสสนาปัญญาถึงขั้นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ก็จะพ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ โดยเด็ดขาด และจะได้บรรลุอรหัตตผลหลังจากที่เกิดในสุคติภูมิอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ถ้าบรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผลในชาตินี้ก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในสังสารวัฏ ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป นี้คือเหตุที่ทำให้ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นสิ่งสำคัญที่สุด มีประโยชน์ที่สุดในสังสารวัฏนี้

ผู้ที่เข้าใจประโยชน์ของการอบรมสิกขาสาม คือ ศีล สมาธิและปัญญาแล้ว จะต้องเป็นคนอาจหาญสามารถบำเพ็ญศีลเป็นต้นได้ โดยไม่กังวลถึงความยากลำบากในการปฏิบัติ จะต้องไม่รู้สึกผิดหวัง หรือท้อแท้ว่า การรู้แจ้งธรรมะนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อม จะต้องไม่เพ่งโทษของการปฏิบัติ หรือรู้สึกว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีความสุข เลิกปฏิบัติจะ ดีกว่า เห็นว่าการเจริญสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่ยากลำบากและน่าเบื่อหน่ายจะต้องไม่ล้มเลิกการปฏิบัติเพราะความเกียจคร้านและอ่อนแอ และจะต้องมีคติประจำใจว่า

“ประโยชน์ที่แท้จริงของศีล สมาธิ และปัญญา จะได้มาก็ด้วยความเพียรที่แรงกล้า เมื่อเข้าใจแล้วจึงควรปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์เหล่านั้น”

ประโยคว่า “ประโยชน์ที่แท้จริงของศีล สมาธิ และปัญญาจะได้มาก็ด้วยความเพียรที่แรงกล้า” นั้น คล้อยตามคำว่า อตฺถกุสเลน(ผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์) บุคคลจึงต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการปฏิบัติ คือ มีศรัทธา (ความเชื่อมั่นเลื่อมใสอย่างแรงกล้า) และมีวิริยะ (ความเพียรในการปฏิบัติ) เพราะผู้ที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติเท่านั้นจึงจะสามารถทุ่มเทความพยายามให้กับการปฏิบัติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

หากบุคคลใดปราศจากศรัทธาในคำสอนของพระบรมศาสดาก็จะไม่สามารถอบรม ศีล สมาธิ และปัญญาได้ บางคนอ้างตนเป็นชาวพุทธ แล้วกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติในสิกขาสาม เพราะมีแต่จะทำให้ลำบาก การพูดเช่นนี้ เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมจึงไม่มีความพอใจในการอบรมศีล สมาธิ และปัญญา และเนื่องจากพระพุทธองค์ทรงสอนว่า กรณียํ (พึงอบรม) หมายถึง เป็นสิ่งควรกระทำจะเว้นเสียมิได้ และ สกฺโก หมายถึง จะต้องมีความอาจหาญสามารถที่จะปฏิบัติ ดังนั้น จึงถือว่าผู้ที่ไม่สามารถหรือไม่พอใจจะปฏิบัตินั้นมีความเห็นผิดจากคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค และเป็นผู้ที่ขาดศีล สมาธิ และปัญญา จึงไม่ต่างจากคนยากจนที่ไม่มีเงินทองติดตัวและย่อมจะต้องมีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

นอกจากนี้ ความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อเป็นสิ่งสำคัญมากถ้าไม่พยายามก็จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ยาก และเมื่อศีลไม่บริสุทธิ์การบำเพ็ญสมาธิและปัญญาก็ย่อมเป็นไปได้ยากด้วย บางคนยังลังเลหรือเกียจคร้านที่จะฟังพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับคนที่มีวิริยะมาก จะพยายามอย่างไม่ย่อท้อที่จะกระทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ การชำระศีลให้บริสุทธิ์ ต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุด ผู้ปฏิบัติจึงต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว การปฏิบัติให้ถึงระดับนี้ได้ ต้องอาศัยศรัทธาและวิริยะอย่างแรงกล้า ดังนั้นจึงต้องปลูกฝังคุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้ในจิตใจ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การพิจารณาเพื่อระงับความโกรธ

การพิจารณาเพื่อระงับความโกรธ ๑๐ ประการ

๑) แม้ศัตรูต้องการจะทำให้เธอเป็นทุกข์ ก็ทำได้แต่ทุกข์ทางกายเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ใจต้องทุกข์ได้ เหตุใดเธอจึงทำในสิ่งที่ ศัตรูต้องการโดยทำใจของเธอเองให้เป็นทุกข์ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ศัตรูไม่สามารถทำได้

๒) เหตุใดจึงยังไม่สามารถละทิ้งความโกรธที่จะนำมาแต่ความหายนะโดยไม่ได้ประโยชน์อันใด ทั้งที่เธอได้ละทิ้งมิตรสหายที่สามารถให้ประโยชน์มากมาย มาครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วบวชเป็นพระภิกษุ

๓) เหตุใดจึงยังคบหากับความโกรธที่สามารถทำให้เธอละทิ้งความกลัวและละอายต่อบาป ทิ้งความอดกลั้น ความเมตตา และกรุณา ซึ่งเป็นมูลรากของศีลที่เธอได้รักษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะหาคนโง่เช่นนี้ได้ที่ไหน (หมายความว่า เป็นคนโง่ที่สุด เพราะคบหาความโกรธที่อาจทำลายศีลให้พินาศลงได้)

๔) เธอโกรธบุคคลที่ทำผิดต่อเธอ แต่เธอเองที่กำลังโกรธอยู่ ก็กำลังวางแผนทำร้ายบุคคลที่ทำให้เธอโกรธให้สาสมกันมิใช่หรือ

๕) ศัตรูทำสิ่งที่เธอไม่ชอบเพื่อพยายามให้เธอโกรธ แล้วเหตุใดจึงยอมทำความปรารถนาของเขาให้สำเร็จด้วยการปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นด้วยเล่า

๖) เมื่อโกรธขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าเธอจะทำความทุกข์ให้แก่ศัตรู หรือไม่ก็ตาม แต่เธอก็ได้ทำความทุกข์ให้เกิดกับตัวเธอเองด้วยอาการ โกรธนั้นแล้ว

๗) เมื่อศัตรูได้เดินทางผิดด้วยความโกรธที่ไม่ก่อประโยชน์อันใด ถ้าเธอยังโกรธเขาอยู่ ก็เท่ากับได้เดินตามเขาไปในทางที่ผิด

๘) ถ้าศัตรูได้ทำผิดต่อเธอด้วยความโกรธ เธอควรระงับหรือขับไล่ความโกรธนั้นเสีย เหตุใดจึงต้องทำให้ตนเองเดือดร้อนด้วยการ โกรธตอบเล่า

๙) รูปและนาม หรือกายและจิต มีลักษณะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ตั้งอยู่ได้เพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว รูปนามที่ได้ทำผิดต่อเธอนั้นได้ดับไปหมดแล้ว จะไปหารูปนามที่ทำให้เธอโกรธได้ที่ไหนเล่า รูปนามที่เกิดมาใหม่ก็ไม่ใช่รูปนามที่ทำผิดต่อเธอ แล้วจะหลงโกรธรูปนามที่เกิดมาใหม่นี้ทำไมกัน

๑๐) ถ้าผู้ใดทำความผิดต่อผู้อื่น บุคคลทั้งสองนั้นต่างก็มีส่วนร่วมกระทำความทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อทั้งสองฝ่ายมีส่วนในการก่อให้เกิดความทุกข์ ตัวเธอเองก็ต้องรับผิดชอบด้วย เหตุใดจึงโกรธแต่คนอื่น ไม่โกรธตัวเองเล่า

ข้อความข้างต้นเป็นการสรุปความในคาถา ๑๐ บทที่กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคด้วยภาษาง่ายๆ แต่เป็นการพิจารณาที่ลึกซึ้งยิ่งนักผู้ปฏิบัติจึงควรนำมาเป็นแนวทางพิจารณาเพื่อระงับความโกรธ

วิธีระงับความโกรธด้วยการพิจารณาว่า บุคคลมีกรรมเป็นของตน

หากความโกรธยังไม่ระงับไป แม้ว่าจะได้พิจารณาตามวิธีที่กล่าวไว้ ผู้ปฏิบัติก็อาจพิจารณาถึงกรรมว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนและจะต้องได้รับผลของกรรมทั้งที่ดีและไม่ดีที่ตนเองได้กระทำไว้ ผู้ปฏิบัติ พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า

“ขณะนี้กำลังเจริญเมตตาภาวนาอยู่ ถ้าโกรธแล้วจะมีประโยชน์อะไร การทำกรรมที่มีโทสะเป็นเหตุ ย่อมให้ผลเป็นความทุกข์แก่ตัวเองมิใช่หรือ กรรมคือเจตนาในการกระทำความดีและความชั่ว กรรมเท่านั้นที่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา เราย่อมเป็นทายาทของกรรม คือเจตนาที่ก่อให้เกิดการกระทำทางกาย วาจา และใจ ทั้งดีและชั่ว เราย่อมมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ และเป็นที่พึ่งที่อาศัย กรรมที่เกิดจากความโกรธไม่เป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุมรรคผลได้ และไม่เป็นปัจจัยให้ไปเกิดในโลกมนุษย์หรือเทวดาซึ่งเป็นสุคติภูมิ กรรมที่ทำไปเพราะโกรธนอกจากจะไม่ช่วยให้มีความสุขแล้ว ยังเป็นเหตุให้ได้รับทุกข์อย่างใหญ่หลวงในนรกเป็นต้น ถ้าทำกรรมชั่วเพราะความโกรธ ก็จะเหมือนคนที่เผาตนเอง แล้วถือถ่านเพลิงไว้ในมือหรือจับอุจจาระด้วยมือทั้งสอง เพื่อทำร้ายคนอื่น”

หลังจากนั้น ให้พิจารณาถึงผู้ที่เป็นศัตรูว่า เขาก็มีกรรมเป็นของตนเช่นกัน เขาทำความชั่วเพราะความโกรธแล้วจะได้ประโยชน์อะไร ความโกรธย่อมทำให้เขาเป็นทุกข์เอง เขามีกรรมทั้งดีและชั่วเป็นของตน ย่อมเป็นทายาทของกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ เขาทำกรรมชั่วเพราะความโกรธเป็นเหตุ ย่อมได้รับผลชั่ว เช่นเดียวกับคนที่โปรยธุลีทวนลมใส่คนอื่น ธุลีนั้นจะถูกลมพัดเข้าตนเอง สมจริงดังพระพุทธดำรัสว่า

“ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่มีความผิด ผู้บริสุทธิ์ บาปจะส่งผลให้ผู้ที่กระทำนั้นเอง เหมือนธุลีที่ซัดทวนลม”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

โทษของความโกรธ

โทษของความโกรธ

ครั้งหนึ่ง ปริพาชกชื่อฉันนะได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ และได้เรียนถามท่านว่า

“พวกท่านเห็นโทษอย่างไรในราคะ โทสะ และโมหะ จึงได้บัญญัติให้ละราคะ โทสะ และโมหะเหล่านี้”

ท่านพระอานนท์ได้ตอบชี้แจงดังต่อไปนี้

“ผู้มีอายุ บุคคลผู้โกรธแล้วถูกความโกรธครอบงำ มีใจไม่งามย่อมมุ่งเบียดเบียนตน มุ่งเบียดเบียนผู้อื่น มุ่งเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น เขาย่อมประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจ”

ใจความของข้อความข้างต้น คือ ผู้ปฏิบัติควรพิจารณาตรึกตรองและสำรวมตนตามแนวทางที่ได้แสดงไว้ในพระธรรมคำสอน โดยให้
พิจารณาและสำรวมจิตใจดังนี้

เมื่อบุคคลถูกความโกรธครอบงำ ก็จะตกอยู่ในความทุกข์ ความสุขเบิกบานใจที่เคยมีก็พลันเหือดแห้งไป มีความทุกข์ใจเข้ามาแทนที่ ทำให้ใบหน้าเศร้าหมองบึ้งตึง กลายเป็นคนกระสับกระส่ายยิ่งโกรธมากเท่าใด ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น ทั้งยังมีความลำบากทั้งทางกายและใจ ความโกรธอาจทำให้บุคคลถึงกับฆ่าคนหรือกล่าวคำหยาบได้ หากภายหลังมาหวนระลึกถึงกรรมชั่วที่ได้ทำลงไป อย่างน้อยก็ต้องรู้สึกเสียใจและอับอายเพราะความสำนึกผิด และหากได้ก่ออาชญากรรมด้วยความโกรธ ก็จะต้องรับโทษทางกฎหมายอีกด้วยยิ่งกว่านั้น ในภพชาติต่อไปก็ยังจะต้องไปเกิดในอบาย ได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส นี้เป็นเพียงการสรุปย่อให้เห็นภัยของความโกรธพวกเราเองก็คงเคยประสบมาแล้วทั้งนั้น เพียงคิดย้อนกลับไปก็คงพอจะจำได้

ความโกรธมีโทษให้เราเห็นได้ชัดเจน อย่างน้อยก็ทำให้ผู้อื่นเสียใจเพราะคำพูด คนที่ถูกดุด่าว่ากล่าวย่อมรู้สึกเสียใจ เจ็บใจ อารมณ์โกรธอาจผลักดันให้คนเราสามารถฆ่าคนได้ หรือมิฉะนั้นก็อาจทำให้มีความทุกข์ใจอย่างรุนแรง แต่ถึงแม้โทษของความโกรธจะไม่ได้ปรากฏในชาตินี้ คนโกรธก็จะต้องตกไปสู่อบายภูมิในชาติถัดไป หรือหากได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกด้วยอำนาจของกุศลกรรม ก็จะต้องเกิดมาเป็นคนพิกลพิการ หรืออายุสั้น มีโรคภัยเบียดเบียน หรือมีหน้าตา น่าเกลียด ความโกรธให้โทษทั้งแก่ผู้โกรธและผู้ที่ถูกโกรธ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

พรหมวิหาร ๔ ประการ

พรหมวิหาร ๔ ประการ ประกอบด้วย

เมตตา ซึ่งแปลสั้นๆ ว่า ความรัก
กรุณา คือ ความสงสาร
มุทิตา คือ ความยินดี
อุเบกขา คือ ความวางเฉย

ใน ๔ คำนี้ มีเพียงคำว่า “สงสาร” ที่แปลความได้ตรงกับคำว่า “กรุณา” โดยไม่มีความหมายอื่นเข้ามาปน ส่วนคำว่า “ความรัก” นอกจากหมายถึง “ความเมตตา” แล้ว อาจหมายถึงความผูกพันที่ประกอบด้วยกามราคะก็ได้ และคำว่า “ความยินดี” อาจหมายถึง ความยินดีเมื่อได้รับสิ่งที่ปรารถนาก็ได้ ไม่ได้หมายถึง “มุทิตา” อย่างเดียว คำว่า “วางเฉย” ก็อาจหมายถึงความไม่สนใจใยดีก็ได้ ดังนั้น หากเราจะกล่าวถึง “เมตตา มุทิตา อุเบกขา” โดยใช้คำว่า “ความรัก ความยินดี ความวางเฉย” มาแทนตามลำดับ ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายไม่ถูกต้อง ดังนั้น ในการแสดงธรรมเทศนานี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรใช้ศัพท์ภาษาบาลี คือ “เมตตาภาวนา” “กรุณาภาวนา” “มุทิตาภาวนา” และ “อุเบกขาภาวนา” เพื่อ ให้สื่อความหมายได้โดยไม่ผิดเพี้ยน

เมตตาภาวนา หมายถึง การพัฒนาจิตด้วยการแผ่ความปรารถนาดีให้แก่ผู้อื่น หรือในขณะที่เรามีความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ก็นับได้ว่าเป็นการเจริญเมตตาภาวนาเช่นเดียวกัน

กรุณาภาวนา หมายถึง การพัฒนาจิตด้วยการแผ่ความกรุณาสงสารให้แก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ หรือในขณะที่เห็นคนกำลังได้รับความทุกข์แล้วรู้สึกสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ ก็เรียกได้ว่าเป็นการเจริญกรุณา ภาวนาเช่นเดียวกัน

มุทิตาภาวนา หมายถึง ความพลอยยินดีกับความสุขของผู้อื่นและปรารถนาให้เขามีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองตลอดไป

อุเบกขาภาวนา หมายถึง ความวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย ไม่กังวลใจกับทุกข์สุขของผู้อื่น เป็นการทำใจเป็นกลางด้วยคิดว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปตามอำนาจของกรรมดีหรือกรรมชั่วที่แต่ละคนได้ทำไว้

คุณธรรมที่เหมาะสมกับคนทุกชาติทุกศาสนา

พรหมวิหารเป็นคุณธรรมที่เหมาะสมกับคนทุกชาติทุกศาสนาทำให้โลกนี้สงบสุขไม่วุ่นวาย ลองคิดดูว่า ถ้ามีคนมาช่วยเหลืองานของเราให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เราจะปฏิเสธหรือไม่ คงไม่มีใครปฏิเสธเจตนาดีของคนอื่นเช่นนี้ ถ้าเรายิ้มแย้มทักทายผู้อื่นด้วยไมตรีจิต ผู้อื่นก็จะทักทายตอบด้วยไมตรีจิตเช่นกัน เมตตาจึงเป็นสิ่งที่คนทุกชาติทุกศาสนาควรประพฤติแก่กันและกัน เพื่อทำให้สังคมสงบสุข นอกจากนั้นถ้าเราช่วยเหลือคนอื่นที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่ให้พ้นจากทุกข์ เขาย่อมจะยอมรับความกรุณาสงสารของเราโดยไม่ปฏิเสธ หรือถ้าเราสนับสนุนคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือทรัพย์สมบัติเพื่อให้เขามั่นคงในความสำเร็จนั้น เขาย่อมยอมรับโดยไม่ปฏิเสธความหวังดีของเรา เหล่านี้เป็นตัวอย่างของกรุณาและมุทิตาที่คนทุกชาติทุกศาสนาควรประพฤติแก่กันและกัน

ส่วนอุเบกขาเป็นการวางเฉยเมื่อไม่อาจช่วยเหลือผู้อื่นได้ เช่นเมื่อเห็นคนอื่นต้องโทษทางกฎหมาย แม้เราจะช่วยเหลือด้วยเมตตา และกรุณาจนสุดความสามารถแล้ว ก็ยังไม่อาจช่วยเหลือได้ จึงควรวางอุเบกขาโดยคิดว่าเป็นกรรมที่เขาก่อขึ้นเอง เขาก็ต้องชดใช้ด้วยตนเอง แม้หากว่าเขาจะไม่ได้ทำกรรมนั้นในปัจจุบัน ก็อาจเป็นผลของกรรมเก่าที่ทำให้เขาต้องมาชดใช้ผลกรรมในขณะนี้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือพรหมวิหาร
โดย พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ฐานสูตร : ฐานะ ๕ ประการควรพิจารณาเนืองๆ

ฐานสูตร : ฐานะ ๕ ประการควรพิจารณาเนืองๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ

๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

๐ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ๑

๐ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑

๐ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑

๐ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑

๐ เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากฐานสูตร >>> คลิกเปิดอ่าน
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ นิวรณวรรค

มาลุงกยปุตตเถรคาถา : สุภาษิตสอนให้ละตัณหา

มาลุงกยปุตตเถรคาถา : สุภาษิตสอนให้ละตัณหา

ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่าฉะนั้น

บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ย่อมเร่ร่อนไปในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนวานรอยากได้ผลไม้ เร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น

ตัณหาอันชั่วช้า ซ่านไปในโลก ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกเชยแล้วฉะนั้น

ส่วนผู้ใดครอบงำตัณหาอันชั่วช้านี้ ซึ่งยากที่จะล่วงได้ในโลก ความโศกทั้งหลายย่อมตกไปจากบุคคลนั้น เหมือนหยาดน้ำตกไปจากในบัวฉะนั้น

เพราะฉะนั้นเราขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายที่มาประชุมกันอยู่ในสมาคมนี้ทั้งหมด

ท่านทั้งหลายจงขุดรากแห่งตัณหา ดุจบุคคลผู้มีความต้องการด้วยแฝก ขุดแฝกอยู่ฉะนั้น

มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายบ่อยๆ ดังกระแสน้ำพัดพานไม้อ้อฉะนั้น

ท่านทั้งหลายจงทำตามพระพุทธพจน์ ขณะอย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้มีขณะอันล่วงแล้ว ย่อมยัดเยียดกันในนรกเศร้าโศกอยู่

ความประมาทดุจธุลี ธุลีเกิดขึ้นเพราะความประมาท

ท่านทั้งหลายพึงถอนลูกศรอันเสียบอยู่ในหทัยของตน ด้วยความไม่ประมาทและด้วยวิชชาเถิด.

จากมาลุงกยปุตตเถรคาถา
ขุททกนิกาย เถรคาถา

สังเกตลมหายใจเข้าออกอย่างไรจึงจัดเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา

สังเกตลมหายใจเข้าออกอย่างไรจึงจัดเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา ?

ไม่ว่าโยคีจะเจริญฌานได้หรือไม่

๐ หากโยคีสังเกตลมหายใจเข้าออกในลักษณะรูปทรงสัณฐานก็จัดเป็นสมถภาวนา

๐ แต่ถ้าสังเกตความรู้สึกที่ลมกระทบสัมผัส หรือความสั่นไหวที่เกิดขึ้นก็จัดเป็นวิปัสสนาภาวนา

(“วิปัสสนานัย” โดย มหาสีสยาดอ)


จากหนังสือสงสัยหนอ

เรียบเรียงโดย Tharmanaykyaw (สามเณรจ่อ)

บุคคลผู้กลืนกินกาลเวลา

บุคคลผู้กลืนกินกาลเวลา

กาลเวลาที่เราทั้งหลายต้องประสบพบอยู่ตลอดเวลานี้ มีทั้งคุณและโทษ โดยขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง เหมือนกระจกเงาที่มี ๒ หน้า หน้าหนึ่งใส สะท้อนภาพได้ อีกหน้าหนึ่งทึบ กาลเวลาก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์สำหรับผู้ที่รู้จักคุณค่า และบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนาภาวนาซึ่งเหมือนกับเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมรรคผลต่อไป

ส่วนคนที่ปล่อยกาลเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ มิได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน กาลเวลาก็เปรียบเสมือนพยัคฆ์ร้ายที่กลืนกินเขาไปทุกๆ ขณะ วินาทีกินนาที นาทีกินชั่วโมง ชั่วโมงกินวัน วันกินเดือน เดือนกินปี บุคคลที่หลุดพ้นจากการกลืนกินของกาลเวลาได้ มีเพียงพระอรหันต์เท่านั้น ผู้กระทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่พึงกระทำเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านจึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดของกาลเวลา

พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ชาดก (ขุ. ชา. ๒๗.๑๙๐.๗๑) ว่า

กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา
โย จ กาลฆโส ภูโต ส ภูตปจินึ ปจิ.

กาลเวลาย่อมกลืนกินเหล่าสัตว์ พร้อมทั้งตนเองโดยแท้ บุคคลใดเป็นผู้กลืนกินกาลเวลา บุคคลนั้นได้เผาตัณหาที่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ได้แล้ว

ในสมัยหนึ่งมีสองสามีภรรยาต้องการจะเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างหมู่บ้าน จึงออกจากบ้านเดินทางไป พวกเขามิได้นำเสบียงกรังติดตัวไปเพราะคิดว่า จะเดินทางไปถึงในเวลาเช้า ในระหว่างทางพบทางสองแพร่ง จึงเดินไปทางแยกด้านซ้ายมือ พวกเขาเดินทางผิดอย่างนี้จึงหลงทางอยู่ในป่า ทั้งหิวกระหาย ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สักครู่หนึ่งพบต้นไม้จึงไปนั่งพัก บังเอิญผลไม้หล่นมา พวกเขาไม่รู้ว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร ผลไม้เป็นอย่างไร คิดว่าจะเอาผลไม้เป็นเสบียงในระหว่างทาง พอพักหายเมื่อยแล้วจึงออกเดินทางต่อ คนหนึ่งเอาผลไม้ทูนหัวเดินไป คนหนึ่งแบกขึ้นบ่าไป เมื่อเดินสักระยะหนึ่งก็หิว จึงทุบผ่าผลไม้ แต่พบเพียงเปลือกหนา ไม่มีเนื้อหรือน้ำเลย ยิ่งเดินไปเรื่อยๆ แดดร้อนมากขึ้น พวกเขาเห็นพยับแดดก็สำคัญว่าเป็นน้ำ เมื่อวิ่งไปหาก็ไม่พบอะไร ตกค่ำลงได้ยินเสียงคำรามพวกเขาไม่ทราบว่าเป็นสัตว์อะไร ก็พบว่าเป็นเสือร้ายในที่สุดทั้งสองคนถูกเสือกิน ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้สำเร็จ

ผู้ที่เดินทางอยู่ในสังสารวัฏบางคนก็เหมือนกับสามีภรรยาคู่นี้ คือ มิได้สะสมเสบียงคือทานในการเดินทางไกลอย่างเพียงพอ และเดินทางผิดที่เหมือนกับการไม่ประพฤติศีลอย่างหมดจด การไปพักใต้ต้นไม้ที่ไม่รู้จักชื่อ ก็เหมือนการเกิดในภพที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่รู้คุณค่าของภพที่สั่งสมบารมีได้ ผลไม้ที่มีแต่เปลือกที่คู่สามีภรรยาทั้งแบกทั้งหามเป็นเวลานานเหมือนทรัพย์สมบัติและเกียรติคุณที่ชาวโลกยกย่องให้ความสำคัญ

เมื่อถึงเวลาใกล้ตายจึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แก่นสารในชีวิตของเรา เพราะติดตามไปสู่ภพหน้าไม่ได้ ส่วนการพบกับเสือร้ายเหมือนกับการตกไปในอบายภูมิอันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ได้รับความทุกข์ทรมานในภพเหล่านั้นเพราะการไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล และสำคัญสิ่งที่ไม่มีแก่นสารว่ามีแก่นสาร

จะเห็นได้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์ได้พบกับพระพุทธศาสนามีคุณค่าเป็นอันมาก ทำให้เรามีสติรู้จักคุณประโยชน์ของกาลเวลา และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรม คือ ทาน ศีล และภาวนา อันเปรียบเหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นน้ำฝนในฤดูฝน ทำให้ไม่เปียกน้ำได้รับความทุกข์ในขณะฝนตก

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ฉตฺตํ มหนฺตํ ยถ วสฺสกาเล
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ
น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี.
(เนตฺติ. หน้า ๔๕)

ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ในฤดูฝน ข้อนี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ

จากหนังสือประกายส่องใจ
โดยพระคันธสาราภิวงศ์

การเจริญวิปัสสนาเป็นการอบรมจิตให้หมดจดจากนิวรณ์ ๕

นิวรณ์ ๕

การเจริญวิปัสสนาเป็นการอบรมจิตให้หมดจดจากนิวรณ์ที่ทำให้จิตขุ่นมัว ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันทะ ความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “ชอบหนอ” หรือ “โลภหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ผสมสีต่างๆ

๒. พยาบาท ความหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ปองร้าย ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “โกรธหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ถูกต้มจนเดือดมีฟองผุดขึ้น

๓. ถีนมิทธะ ความง่วงซึมเซา ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “ง่วงหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ถูกจอกแหนปกคลุมอยู่

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “คิดหนอ” “ฟุ้งหนอ” หรือ “ร้อนใจหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดจนเกิดคลื่นเป็นระลอก

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติธรรมควรกำหนดว่า “สงสัยหนอ” นิวรณ์นี้เหมือนน้ำในที่มืดและผสมด้วยโคลนตม

นิวรณ์เหล่านี้เป็นเครื่องกั้นความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็จริง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมสามารถกำหนดรู้เท่าทันได้ ก็จะทำให้สติต่อเนื่อง ไม่ถูกรบกวนด้วยนิวรณ์เหล่านี้ ข้อสำคัญ คือ ผู้ปฏิบัติธรรมควรเจริญสติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ นิวรณ์ก็จะเกิดขึ้นครอบงำจิตไม่ได้ เพราะจิตมีธรรมชาติรู้อารมณ์เดียวในขณะเดียวเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเราคิดถึงเรื่องอย่างเดียวในขณะเดียว ไม่มีใครคิดเรื่องสองเรื่องในขณะเดียวกันได้

โดยเหตุที่จิตเกิดดับเร็วมากถึงแสนโกฏิขณะ ดังนั้น คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าสภาวะเห็นและได้ยินเกิดร่วมกัน ความจริงสภาวะทั้งสองเกิดทีละขณะกันเมื่อสภาวะหนึ่งดับไปแล้วจึงเกิดสภาวะอื่นขึ้นแทนที่ เหมือนกระแสไฟเข้าสู่หลอดนีออน ๔๘ ครั้งต่อ ๑ วินาทีแต่คนทั่วไปไม่อาจรู้เห็นความเกิดดับของกระแสไฟได้เพราะมีความรวดเร็วมาก

จากหนังสือประกายส่องใจ
โดย พระคันธสาาราภิวงศ์

นิพพาน คือ อะไร

หนังสือ นิพพานกถา
โดย…พระมหาสีสยาดอ
ดาวน์โหลดหนังสือคลิกที่นี่ >>> หนังสือนิพพานกถา



นิพพาน คือ อะไร

นิพพาน หมายถึง การดับหรือการหมดสิ้นไปของสังสารทุกข์ อันเป็นวนเวียนของกิเลส (กิเลสวัฏ) เป็นวนเวียนของกรรม (กรรมวัฏ) และวนเวียนของวิบาก (วิปากวัฏ)

วนเวียนของกิเลส ประกอบด้วย
๐ อวิชชา (ความไม่รู้)
๐ ตัณหา (ความอยาก)
๐ อุปาทาน (ความยึดมั่นหรือผูกพัน)

วนเวียนของกรรม ประกอบด้วย
กรรมทั้งดีและชั่วที่ชักนำให้เกิดภพใหม่ต่อเนื่องไปไม่รู้จบ

วนเวียนของวิบาก ซึ่งมักเรียกว่า
กรรมวิบาก หมายถึงผลของกรรมทั้งดีและชั่ว

การประกอบกรรมทุกชนิดทั้งที่ดีและชั่ว เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป อายตนะ ๖ และเวทนา เป็นต้น การเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการคิดนึกที่ปรากฏในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลหรือวิบากของกรรมทั้งสิ้น

ผู้ที่ไม่ได้ฝึกเจริญวิปัสสนาญาณเพื่อการหยั่งรู้สภาวธรรม การเห็นหรือการได้ยินตามความเป็นจริงจัดเป็นผู้โง่เขลา เมื่อเขากล่าวว่าเขาเห็นหรือได้ยินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาย่อมคิดผิดๆ ว่าเขาเป็นผู้เห็นหรือเป็นผู้ได้ยิน แท้จริงนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนหรือบุคคลที่เห็นหรือได้ยิน ความเห็นผิดอย่างนี้ทำให้ผู้นั้นหลงเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เที่ยงแท้ถาวร และน่าปรารถนาพอใจ จึงเป็นการก่อให้เกิดความทะยานอยากขึ้น ซึ่งจะพอกพูนเพิ่มมากจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นในเวลาต่อมา และนี่คือกระบวนการขยายอาณาจักรของกิเลส

ทันทีที่ความยึดมั่นเกิดขึ้น คนเราจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับอารมณ์ที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสังขารหรือความพยายามทำกรรม ในที่นี้เราอาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรุงแต่งการกระทำต่างๆ และหากบุคคลตายไปในขณะที่ประกอบกรรมนั้นอยู่ ก็จะส่งผลให้เขาไปเกิดใหม่ เนื่องจากปฏิสนธิจิต (จิตที่เกิดในภพใหม่) ย่อมเกิดต่อจากจุติจิต (จิตในขณะตาย) เมื่อมีการตายก็มีการเกิดในภพใหม่ติดตามมา จึงกล่าวได้ว่าการทำกรรมเป็นเหตุให้เกิดวิบาก และวิบากนั้นเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ฯลฯ ต่อเนื่องกันไป

ดังนั้น วิปากวัฏจึงส่งผลให้เกิดกิเลสวัฏ และกิเลสวัฏส่งผลให้เกิดกรรมวัฏ การหมุนเวียนของวัฏฏะ ๓ นี้ หมุนไปอย่างต่อเนื่องไม่มีทีสิ้นสุด ตราบใดที่เรายังไม่ได้กำหนดรู้การเกิดดับของขันธ์ ๕ บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ตามลำดับ จนถึงมรรคญาณ ผลญาณ และนิพพาน การบรรลุนิพพานจะทำลายอวิชชาและสหายสนิทคือกิเลส ทำให้ไม่สามารถเกิดการปรุงแต่งกรรมใหม่ขึ้นได้อีก ส่วนกรรมเก่าที่ได้ทำมาก่อนก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล) ไม่ส่งผลให้เกิดภพใหม่อีกต่อไป สำหรับพระอรหันต์จึงไม่มีการเกิดใหม่หลังจากจุติจิตได้ดับลง เป็นการตัดเชือกแห่งภพให้ขาดลงอย่างสิ้นเชิงในขณะบรรลุนิพพาน

ในรัตนสูตรพบข้อความว่า นิพฺพนฺติ ธีรา ยถยํ ปทีโป (ท่านเหล่านั้นเป็นปราชญ์ ดับสิ้นไปเหมือนประทีปดวงนี้) ซึ่งกล่าวการดับขันธ์ของพระอรหันต์ว่าเป็นเหมือนการดับไปของเปลวไฟ กรรมเก่าของพระอรหันต์กลายเป็นกรรมที่ไม่ให้ผล และไม่มีกรรมใหม่ที่จะให้ผลปฏิสนธิอีก จึงเท่ากับเป็นการดับไฟแห่งภพทั้งปวง

จากหนังสือนิพพานกถา (บทที่ ๑ นิพพานคืออะไร)
โดย พระมหาสีสยาดอ
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์

วิสาขบูชา

 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง


ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่กำจัดภัยได้จริง ตลอดชีวิต จนกว่าจะถึงกาลอันมีภพ เป็นสุดรอบ

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่กำจัดภัยได้จริง จนกว่าจะถึงกาลอันมีการแทงตลอดสัจจะ ๔ เป็นสุดรอบ


13 พฤษภาคม 2557

วันวิสาขบูชา


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

 

วันวิสาขบูชา


อภิสวาจา : วันประสูติ

“เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี”


ทรงเปล่งอุทาน : วันตรัสรู้

“เราเมื่อแสวงหานายช่าง (คือตัณหา) ผู้กระทำเรือน เมื่อไม่ประสบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสงสารมิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์. ดูก่อนนายช่างผู้กระทำเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนไม่ได้อีกต่อไป ซี่โครงทั้งปวงของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือนเรากำจัดแล้ว จิต (ของเรา) ถึงวิสังขาร (นิพพาน) แล้ว เราได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว.”


ปัจฉิมวาจา : วันปรินิพพาน

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ

ข้อความบางส่วน จากอัมพสักขรเปตวัตถุ
ในขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรค
ว่าด้วยพระเจ้าอัมพสักขระทรงสนทนากับเปรตเปลือย
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้ มีร่างกายเปื้อนด้วยเลือดตัวทะลุเป็นช่องๆ ชีวิตของบุรุษนี้จักดับไปในวันนี้พรุ่งนี้เหมือนหยาดน้ำค้างอันติดอยู่บนปลายหญ้า ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้

เพราะเหตุไร ท่านจึงพูดกะบุรุษผู้ถึงความลำบากอย่างยิ่ง นอนหงายอยู่บนหลาวไม้สะเดาเช่นนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นของประเสริฐ.

บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้ มีร่างกายเปื้อนด้วยเลือดตัวทะลุเป็นช่องๆ ชีวิตของบุรุษนี้จักดับไปในวันนี้พรุ่งนี้เหมือนหยาดน้ำค้างอันติดอยู่บนปลายหญ้า ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้

เพราะเหตุไร ท่านจึงพูดกะบุรุษผู้ถึงความลำบากอย่างยิ่ง นอนหงายอยู่บนหลาวไม้สะเดาเช่นนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นของประเสริฐ.

เปรตนั้นกราบทูลว่า

ข้าแต่พระราชา บุรุษนี้เป็นสายโลหิตของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ระลึกชาติก่อน ข้าพระองค์เห็นแล้วมีความกรุณาแก่เขาว่าขออย่าให้บุรุษผู้เลวทรามนี้ไปตกนรกเลย

ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ จุติจากอัตภาพนี้แล้ว จักเข้าถึงนรกอันยัดเยียดไปด้วยสัตว์ผู้ทำบาป เป็นสถานร้ายกาจ มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อนให้เกิดความน่ากลัว

หลาวนี้ประเสริฐกว่านรกนั้นตั้งหลายพันเท่า ขออย่าให้บุรุษนี้ไปตกนรกอันมีแต่ความทุกข์โดยส่วนเดียว เผ็ดร้อน ให้เกิดความน่ากลัวมีความทุกข์กล้าแข็งอย่างเดียว

บุรุษนี้ฟังคำของข้าพระองค์อย่างนี้แล้ว ประหนึ่งว่าข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่ทุกข์ในนรกนั้น จะพึงสละชีวิตของตนเสีย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขา ด้วยหวังว่า ชีวิตของบุรุษนี้อย่าได้ดับไปเสียเพราะคำของข้าพระองค์เลย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงพูดว่า “ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ”.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
อัมพสักขรเปตวัตถุ อ่านต่อ >>>> คลิกเปิดอ่าน

เรื่องของสันตติอำมาตย์

เรื่องของสันตติอำมาตย์
จากบทนำในหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร
โดยพระมหาสีสยาดอ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ตรัสสอนสันตติอำมาตย์ พบในคัมภีร์สุตตนิบาตว่า

“ยํ ปุพฺเพ ตํ วิโสเสหิ ปจฺฉา เต มาหุ กิญฺจนํ มชฺเฌ เจ โน คเหสฺสสิ อุปสนฺโต จริสฺสสิ”

“เธอจงทำกิเลสในอดีตให้เหือดแห้ง กิเลสในอนาคตอย่าได้มีแก่เธอ ถ้าเธอไม่ยึดมั่นในปัจจุบัน ก็จักเป็นผู้สงบไปได้


ข้อความของพระคาถานี้มี ดังนี้ คือ

คำว่า “ยํ ปุพฺเพ ตํ วิโสเสหิ” (เธอเธอจงทำกิเลสในอดีตให้เหือดแห้ง) หมายความว่า กิเลสย่อมเกิดจากการระลึกเรื่องในอดีตที่เคยเห็น ได้ยิน สัมผัส หรือรู้ทางใจ และบุคคลควรรับรู้สภาวธรรมปัจจุบันเพื่อมิให้กิเลสดังกล่าวเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อบุคคลระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันอยู่ เขาไม่อาจคิดถึงอดีตได้ เพราะจิตรู้อารมณ์เดียวในขณะเดียวเท่านั้น และกิเลสที่เกิดจากการคิดถึงอดีตก็เกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากนี้ แม้ในขณะที่หวนระลึกถึงอดีตก็ควรระลึกรู้จิตที่คิดฟุ้งซ่านไปอีกด้วย เมื่อสันตติอำมาตย์ฟังธรรมแล้วก็เจริญสติปัฏฐานในขณะฟัง โดยกำหนดรู้รูปนามปัจจุบัน คือ สภาวะเห็น ได้ยิน ความเข้าใจ ความตรึก ความปีติยินดี ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดรู้จิตที่คิดถึงอากัปกิริยาของหญิงนักฟ้อนที่เพิ่งดับไปโดยความเป็นสันตติปัจจุบัน

คำว่า “ปจฺฉา เต มาหุ กิญจนํ” (กิเลสในอนาคตอย่าได้มีแก่เธอ) หมายความว่า กิเลสมีความปรารถนาและความวิตกกังวลเป็นต้น ย่อมเกิดจากการคิดถึงเรื่องอนาคต ผู้ปฏิบัติธรรมควรรับรู้สภาวธรรมปัจจุบันเพื่อมิให้กิเลสดังกล่าวเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อนักปฏิบัติกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันอยู่ เขาไม่อาจคิดถึงอนาคตได้ และกิเลสที่เกิดขึ้นจากการคิดถึงอนาคตก็เกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากนี้ แม้ในขณะที่หวนระลึกถึงอนาคตก็ควรระลึกรู้จิตที่คิดฟุ้งซ่านไปอีกด้วย เมื่อสันตติอำมาตย์ฟังธรรมแล้วก็เจริญสติปัฏฐานในขณะฟัง โดยกำหนดรู้รูปนามปัจจุบัน พร้อมทั้งกำหนดรู้จิตที่ต้องการจะอยู่ร่วมกับหญิงนักฟ้อนต่อไป หรือจิตที่เศร้าโศกเพราะการพลัดพรากจากหญิงนักฟ้อนนั้น

ข้อความว่า “มชฺเฌ เจ โน คเหสฺสสิ” (ถ้าเธอไม่ยึดมั่นในปัจจุบัน) หมายความว่า นักปฏิบัติพึงเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันว่าเป็นเพียงรูปนาม ไม่ใช่บุคคล เรา ของเรา บุรุษ หรือ สตรี เพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนที่เที่ยง เป็นสุข บังคับบัญชาได้ และสวยงาม

เมื่อสันตติอำมาตย์ฟังธรรมพร้อมทั้งเจริญสติปัฏฐาน โดยกำหนดรู้รูปนามปัจจุบันที่กำหนดชัด จึงไม่เกิดกิเลสที่หวนคิดถึงอดีต หรือใฝ่ฝันอนาคต และหยั่งเห็นสภาวธรรมรูปนามที่เกิดดับตามความเป็นจริงจนกระทั่งบรรลุมรรคญาณทั้ง ๔ ตามลำดับ ในที่สุดได้บรรลุอรหัตผล ไม่ยึดมั่นด้วยตัณหาและทิฏฐิ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสข้อความว่า “อุปสนฺโต จริสฺสสิ” (ก็จักเป็นผู้สงบไปได้)

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อินทรีย์ ๕ เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

สติ เหมือนการสีไม้อย่างต่อเนื่อง
สมาธิ เหมือนความร้อนที่ได้รับจากการสีไม้
ปัญญา เหมือนไฟที่เกิดจากความร้อน

กล่าวคือในอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา

ศรัทธา เป็นเหตุให้เกิดวิริยะ
วิริยะ เป็นเหตุให้เกินสติ
สติ เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ
สมาธิ เป็นเหตุให้เกิดปัญญา
ดังนี้เป็นต้น

อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน การเจริญสติจึงมีประโยชน์ทำให้จิตตั้งมั่นมีสมาธิ เพื่อพัฒนาปัญญาต่อมา

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร
โดย พระมหาสีสยาดอ

ธรรมที่เกิดร่วมกับสติ

ธรรมที่เกิดร่วมกับสติ

ในการเจริญสติปัฏฐานนั้นมิใช่มีเพียงสติอย่างเดียว ต้องมีธรรมอื่นประกอบร่วม อันได้แก่ วิริยะและปัญญา ในพระสูตรนี่จึงตรัสธรรมทั้ง ๓ ประการที่เกิดร่วมกับสติว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา (มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติ)

นอกจากธรรม ๓ ประการนั้น พระพุทธองค์ยังแสดง สมาธิ ไว้โดยอ้อมด้วย เพราะสมาธิเกิดจากสติที่ต่อเนื่อง และเป็นเครื่องพัฒนาปัญญาให้แก่กล้าขึ้นตามลำดับ

ธรรม ๔ ประการ คือ วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เป็นองค์ประกอบในการเจริญสติปัฏฐาน กล่าวคือ

วิริยะ ทำให้นักปฏิบัติจดจ่อในรูปนามปัจจุบันด้วยความเพียรทางกายและใจ

สติ เป็นเครื่องระลึกรู้ตามกำหนดรูปนามอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง

สมาธิ ทำให้จิตแนบชิดตั้งมั่นอยู่ในสภาวธรรมที่กำหนดรู้ด้วยสติ จัดว่าเป็นวิปัสสนาขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะในวิปัสสนา

ปัญญา ทำให้หยั่งเห็นลักษณะพิเศษของสภาวธรรมแต่ละอย่างได้ชัดเจนว่ามีเพียงรูปนามที่ไม่ใช่บุคคล เรา ของเรา บุรุษ หรือ สตรี และมีสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่สวยงาม

ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ เหมือนกล้องจุลทรรศน์ที่ช่วยให้เหล่าสัตว์รู้เห็นตามความเป็นจริงดังกล่าว

จากหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร
โดย พระมหาสีสยาดอ

สมาธิ สติ และความเพียร (๒)

ในการเจริญกรรมฐานครูบาอาจารย์จะสอนให้มีสติระลึกรู้อารมณ์ (กรรมฐาน) อยู่ ๒ อย่าง อย่างแรกอาจเป็นลมหายใจเข้าออกหรืออาการพองยุบของท้อง อย่างที่สองคือหากมีสิ่งอื่นที่ชัดเจนกว่าปรากฏขึ้นมาในปัจจุบันขณะก็พึงเอาสติไประลึกรู้สิ่งนั้นจนกว่าจะดับหรือหายไป แล้วจึงกลับมาระลึกรู้ที่ลมหายใจหรืออาการเคลื่อนไหวของท้องต่อไป เพราะฉะนั้น พื้นฐานของการเจริญกรรรมฐานก็คือ การมีสติระลึกรู้ ๒ สิ่ง คือลมหายใจหรืออาการเคลื่อนไหวของท้อง และสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วดึงความสนใจเราไป


เหตุใดเราจึงต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์ถึง ๒ อย่าง จะระลึกรู้อยู่เพียงอารมณ์เดียวไม่ได้หรือ หรือมิฉะนั้น เหตุใดจึงไม่ระลึกรู้ให้มากกว่า ๒ ถ้าเราต้องมีสติระลึกรู้อารมณ์มากกว่า ๒ อย่างจิตจะถูกกระตุ้นให้เกิดความเพียรมากเกินไปจนทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย แต่หากจะตามรู้อยู่แค่อารมณ์เดียว เอาใจจดจ่ออยู่แค่อารมณ์นั้น ก็เป็นวิธีที่ครูบาอาจารย์ไม่แนะนำเช่นกัน ในกรณีหลังนี้แม้ว่าสมาธิจะสามารถเกิดได้ แต่สมาธินั้นอาจมากเกินไป


ดังนั้น เพื่อให้เรามีความเพียรในระดับพอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป ครูบาอาจารย์จึงแนะนำให้เอาสติกำหนดรู้อารมณ์เพียง ๒ อย่างเพื่อประคองสติให้มีกำลังสม่ำเสมอ บริบูรณ์ ไม่ฝืนบังคับไม่วุ่นวาย การมีสติระลึกรู้แค่ ๒ อย่างจะช่วยให้ความเพียร และสมาธิของเราสมดุลกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ในการเจริญกรรมฐานความเพียรและสมาธิจะต้องสมดุลกัน และจะต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะไม่มากและไม่น้อยเกินไป


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ สีลวันตสูตร

โดย พระสีลานันทาภิวงศ์

สมาธิ สติ และความเพียร (๑)

เราจำเป็นต้องมีธรรมข้อใด จึงจะเห็นแจ้งได้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรคฯ คำตอบก็คือ เราจำเป็นต้องมี “สมาธิ” หากปราศจากสมาธิ เราจะไม่มีทางได้เห็นว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นต้น สมาธิเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ว่าการปฏิบัติของเราจะเป็นแบบสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม เราก็อาศัยสมาธิอย่างยิ่ง

เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีสมาธิ คำตอบก็คือ เราต้อง “ฝึกเจริญสติ” หากปราศจากสติเราจะไม่สามารถมีสมาธิได้ เพราะสติคือ “การระลึกรู้อย่างสมบูรณ์” หากปราศจากการระลึกรู้อย่างสมบูรณ์นี้ก็ไม่สามารถเกิดสมาธิในจิตได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกเจริญสติ เพื่อให้มีสมาธิ

เราต้องอาศัยอะไรในการฝึกเจริญสติ เราต้อง “อาศัยความเพียร” หากปราศจากความเพียรเราจะไม่สามารถฝึกเจริญสติได้ ในการเจริญกรรมฐานมีสิ่งสำคัญยิ่ง ๓ ประการ คือ สมาธิ สติ และความเพียร เริ่มแรกเราทำความเพียรเพื่อให้เกิดสติจนกลายเป็นผู้มีสติ จากนั้นด้วยความเกื้อหนุนของความเพียรและสติ ก็จะเกิดสมาธิ เมื่อเรามีสมาธิหรือความตั้งมั่นแห่งจิต จิตจะเป็นอิสระจากสิ่งเศร้าหมอง หรือเครื่องกีดขวางของจิต (นิวรณ์) เมื่อนั้นเราจะเริ่มเห็น อุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นต้น

การมีสติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดใน ๓ ขั้นตอนของการปฏิบัติกรรมฐาน เพราะการเจริญกรรมฐานทุกประเภทต้องอาศัยสติ สติไม่มีมากเกินไป หรือแรงเกินไป เราต้องการสติที่มีกำลัง สติที่มีกำลังมากกว่าย่อมเป็นสติที่มีคุณภาพกว่า แต่เราต้องระมัดระวังในอีก ๒ ขั้นตอนคือ ความเพียรและสมาธิ ความเพียรอาจมีได้ทั้งน้อยเกินไปหรือมากเกินไป สมาธิก็เช่นกัน อาจมีได้ทั้งน้อยเกินไปหรือมากเกินไป

หากมีความเพียรน้อยเกินไปเราจะไม่สามารถเจริญสติได้ และหากมีความเพียรมากเกินไปเราก็ไม่สามารถเจริญสติได้เช่นกัน การมีความเพียรมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการกระสับกระส่ายและฟุ้งซ่าน อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จในบางอย่าง เช่น ความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะบรรลุความรู้แจ้ง หรือ ความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะได้รับผลสำเร็จ ด้วยความประสงค์เหล่านี้เรามักจะเพียรพยายามเกินพอดี และเมื่อทำความเพียรมากเกินพอดี จิตจะถูกแทรกแซงหรือทำให้กระเพื่อมและกระสับกระส่าย จิตที่กระสับกระส่ายก็จะตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น ในการเจริญกรรมฐาน เราจึงควรหลีกเลี่ยง การมีความเพียรมากเกินไป

ผู้ปฏิบัติก็สามารถมีสมาธิมากเกินไปได้เช่นกัน เมื่อมีสมาธิมากเกินไป ความเพียรของเรามักย่อหย่อนหรือลดลง จากนั้นหากสมาธิเพิ่มขึ้นอีก ระดับความเพียรของเราก็จะลดลงไปอีก ส่งผลให้เกียจคร้านหรือง่วงนอน เมื่อขาดความเพียร สมาธิซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการเจริญกรรมฐานจึงได้รับผลกระทบไปด้วย

หากต้องการให้การเจริญกรรมฐานของเราดำเนินไปอย่างราบรื่นก็ควรหลีกเลี่ยงวงจรนี้ ความเพียรและสมาธินั้นเราต้องการแค่เพียงพอในระดับหนึ่งและต้องสมดุลกัน ความเพียรและสมาธินี้จะสมดุลกันอย่างไร ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องกังวล ครูบาอาจารย์ท่านทราบปัญหานี้ดี หากพวกเราทำตามคำแนะนำสั่งสอนของท่านความเพียรและสมาธิของเราจะไม่มากเกินไปอย่างแน่นอน


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐ 
จากหนังสือ สีลวันตสูตร

โดย พระสีลานันทาภิวงศ์

หนทางสามแพร่ง

ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เปรียบเสมือนกับหนทางใหญ่ซึ่ง ตามประทีปไว้ หนทางใหญ่ซึ่งตามประทีปไว้นี้ทำให้บุคคลที่เดินทางได้เห็นหนทางที่เดิน ไป และทราบได้ว่าหนทางที่เดินไปนี้ เมื่อเดินไปแล้วจะสามารถบรรลุถึงความสุขได้

หนทางที่จะเดินไปนั้นมีอยู่สามแพร่งด้วยกัน

ทางแพร่งแรกเป็นทางที่สว่าง ผู้เดินจะเห็นได้ว่าถ้าเดินไปตามทางนี้แล้วจะบรรลุถึงความสุข หมายถึง เป็นหนทางที่ทำให้เราได้บรรลุถึงสุคติภูมิ คือเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เกิดเป็นเทวดาบ้าง หรือเกิดเป็นพรหมบ้าง

ทางแพร่งที่สองเป็นทางมืด ซึ่งดวงประทีปนี้ก็ได้แสดงให้ผู้เดินทางได้ทราบว่า ทางนี้เป็นทางมืด หากเดินตามทางนี้ไปก็จะบรรลุถึงความมืด-หมายความว่าจะตกไปสู่อบายภูมิ จะบรรลุถึงความทุกข์ในอนาคต

ยังมีทางอีกแพร่งหนึ่ง มีประทีปที่ตามไว้ส่องสว่างอยู่ ทำให้บุคคลผู้เดินทางได้ทราบว่า ถ้าดำเนินไปตามทางนี้แล้วจะบรรลุถึงความหลุดพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏ คือบรรลุถึง “พระนิพพาน” นั่นเอง

จากหนังสือ ธรรมบรรยาย ภาคปฏิบัติ
โดย พระกุณฑลาภิวงศ์

เมื่อเกิดศรัทธา

กุลบุตรเกิดสัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยหูลง เมื่อเงี่ยหูลงแล้วย่อมฟังธรรม.

ครั้นฟังธรรมแล้วย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนซึ่งความพินิจ. เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด

เมื่อเกิดฉันทะแล้วย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้วย่อมไตร่ตรอง.ครั้นไตร่ตรองแล้วย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งชัดซึ่งปรมัตถสัจจะนั้นด้วยกาย และเห็นแจ้งแทง ตลอดซึ่งปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา ดังนี้.

จากคันถารัมภกถา อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค

ลักษณะของศีล จากมิลินทปัญหา

ลักษณะของศีล จากมิลินทปัญหา
สีลปติฏฐายลักขณปัญหา ที่ ๙
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐


“สีลํ” อันว่าศีลนี้ “ปติฏฺฐานลกฺขณํ” มีลักษณะ “เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง” นี้แหละศีลนี้ประเสริฐใหญ่หลวง เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง คืออินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ ฌาน ๔ วิโมกขธรรม ๘ สมาธิ ๑ สมาบัติ ๘ ประการ บุคคลจะไม่ถอยไม่เสื่อมจากกองการกุศลธรรมทั้งปวงนี้ ก็อาศัยศีลเป็นที่ตั้ง

………………………………….

อนึ่งเล่าก็สมด้วยพระพุทธฎีกา สมเด็จพระบรมโลกนายกยิ่งบุคคลทศพลญาณตรัสประทานธรรมเทศนาไว้ดังนี้ว่า

สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏนฺติ
อยํ ปติฏฺฐา ธรณีว ปาณีนํ อิทญฺจ มูลํ กุสลาภิวุฑฺฒิยา
มูลมิทํ สพฺพชินานุสาสเน สสีลกฺขนฺโธ วรปาติโมกฺขิโยติ ฯ

ในกระแสพระพุทธฎีกา ตรัสว่า ฝูงชนคนใดมีใจศรัทธา สีเล ปติฏฺฐาย ตั้งอยู่ในศีลรักษาศีลไว้ ผู้นั้นแหละได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ จำเริญไปในสมาธิจิตและสมาธิปัญญา ก็ยังสมาธิจิตแลสมาธิปัญญาให้จำเริญ นิปโก ก็จะมีปัญญาแก่กล้า เหตุว่ามีเพียรให้กิเลสเร่าร้อน ก็จะถึงธรรมวิเศษกำจัดเสียซึ่งกิเลสตัณหาภายนอกภายใน ให้ขาดไปจากสันดาน

ศีลเป็นเหตุที่จะให้ถาวรเป็นผลเป็นรากเหง้าเป็นลำเป็นต้น ที่จะให้เกิดก่อกองกุศล ธรณีว ดุจปฐพีดลพื้นภูมิภาคแผ่นธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ อันเป็นที่ตั้งแห่งโขดเขาลำเนาที อันเป็นที่พึ่งแก่นาคครุฑมนุษยนิกรอมรภูตปีศาจสรรพสัตว์ทุกชาติย่อมอาศัยทั่วทิศแดนธรณี มีครุวนาฉันใด ศีลที่รักษาไว้ก็เหมือนกัน

ศีลนั้นคือศีลขันธ์ได้แก่พระปาติโมกข์อันประเสริฐ อันจะบังเกิดตั้งมั่นไปในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นที่สั่งสอนสืบมา สพฺพชินานํ แห่งสมเด็จพระชิเนนทรสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้น นี่แหละคำอาตมาอันวิสัชนาก็สมด้วยพระพุทธฎีกาโปรดไว้ฉะนี้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ชฏาสูตร : ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้

เทวดา

“หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว”
ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถามพระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้ ฯ


พระพุทธองค์

“นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอดภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้

ราคะก็ดี โทสะก็ดี อวิชชาก็ดีบุคคลทั้งหลายใด กำจัดเสียแล้ว บุคคลทั้งหลายนั้น เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหาเป็นเครื่องยุ่งอันบุคคลทั้งหลายนั้นสางเสียแล้ว

นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญาและรูปสัญญาก็ดี ย่อมดับหมดในที่ใด ตัณหาเป็นเครื่องยุ่งนั้น ย่อมขาดไปในที่นั้น ฯ”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากชฏาสูตร

การจงใจจำแนกอารมณ์ที่ปรากฏ ช่วยให้เกิดนามรูปปริจเฉทญาณได้หรือไม่

การจงใจจำแนกอารมณ์ที่ปรากฏ ช่วยให้เกิดนามรูปปริจเฉทญาณได้หรือไม่

การวิเคราะห์แจกแจงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่อาจทำให้เกิด นามรูปปริจเฉทญาณ ขึ้นได้เลย ต่อเมื่อได้เฝ้าดูปรากฏการณ์ของใจและกายในทันทีที่เกิดขึ้นเท่านั้น โยคีจึงจะสามารถแยกแยะนามและรูปได้เองโดยปราศจากการจงใจใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นแหละคือนามรูปปริจเฉทญาณที่แท้จริง

(“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)

วิปัสสนาญาณที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสังเกตปัจจุบันอารมณ์เท่านั้น มิใช่ด้วยการใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ เทียบเคียง หรือแจกแจงจาระไนสภาวธรรม เช่นว่า โลกิยจิตจำแนกได้ ๘๑ ประเภท, องค์ประกอบของจิต (เจตสิก) มี ๕๒ ชนิด หรือ รูปแบ่งเป็น ๒๘ จำพวก ฯลฯ ความรู้เช่นนั้นเป็นเพียงความจำจากการเล่าเรียน (สัญญา) ไม่ใช่ปัญญาจริง ๆ ที่เกิดขึ้นเองจากประสบการณ์ตรง

ลองคิดดูว่าโลกิยจิต ๘๑ ประเภท มีอะไรบ้าง และเกิดกับเราได้ทั้งหมดหรือไม่ ? ยกตัวอย่างเช่น มหัคคตาจิตย่อมเกิดกับผู้ทรงฌานเท่านั้น ส่วนกิริยาจิตแม้จะเป็นฝ่ายโลกิยะก็เกิดกับพระอรหันต์เท่านั้น แล้วเราจะประสบกับอารมณ์ที่ไม่เกิดกับเราได้อย่างไรเล่า ? นอกจากนี้ในรูป ๒๘ จำพวก ความเป็นหญิงมีในผู้หญิง ส่วนความเป็นชายก็มีในผู้ชาย เราไม่อาจประสบกับภาวรูปของอีกเพศได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การแจกแจงสภาวะที่เราไม่เคยประสบจะจัดเป็นปัญญาในการรู้แจ้งปรมัตถธรรมไปได้อย่างไร ? มิใช่ความรู้ด้วยสมมติบัญญัติเท่านั้นหรอกหรือ ?

หากตอบตามตรงก็ต้องบอกว่า “ใช่ นั่นเป็นเพียงความรู้ตามบัญญัติเท่านั้น” และแน่นอนว่า แค่ความจำได้หมายรู้หรือสัญญาจากการจดจำร่ำเรียนเช่นนั้น ย่อมไม่อาจทำให้เกิดนามรูปปริจเฉทญาณได้เลย ที่จริงแล้ว หากไม่ได้ระลึกรู้รูปนามก็ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาเสียด้วยซ้ำ

(“สัลเลขสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ สงสัยหนอ
เรียบเรียงโดย Tharmanaykyaw (สามเณรจ่อ)

 

การกำหนดรู้อาการพอง ยุบ เป็นสมมติสัจจะหรือปรมัตถสัจจะ

การกำหนดรู้อาการพอง ยุบ งอ หรือเหยียด เป็นเพียงสมมติสัจจะ หรือเป็นปรมัตถสัจจะ

ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติอย่างจริงจังมักมีข้อข้องใจต่าง ๆ เช่นเกรงว่า การกำหนดว่า “งอหนอ เหยียดหนอ” จะทำให้หลงติดอยู่แค่เพียงรูปทรงสัณฐานของมือ, การกำหนดว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” จะทำให้รับรู้ได้เพียงรูปร่างของเท้าที่กำลังเคลื่อนไปอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นความรู้ตามสมมติ หรือการสังเกตอาการพองและยุบจะทำให้หลงจินตนาการถึงรูปทรงของท้อง เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้อาจเกิดได้กับโยคีใหม่ ๆ แต่ก็มิใช่ว่าจะเกิดเฉพาะความรู้ตามสมมติบัญญัติตลอดเวลา ในเบื้องต้นของการปฏิบัติ ความรู้ตามสมมติจะปรากฏสลับกันกับความหยั่งรู้อารมณ์ปรมัตถ์ เช่น อาการเคลื่อนไหว หรือสั่นสะเทือน แต่ก็มีวิปัสสนาจารย์บางท่านสอนให้รับรู้เฉพาะอาการเคลื่อนไหวเท่านั้น ซึ่งผู้ที่เพิ่งเริ่มภาวนาย่อมไม่อาจทำเช่นนั้นได้ เพราะในเบื้องต้นเราจะยังไม่สามารถเว้นจากการรับรู้สมมติบัญญัติได้เลยทีเดียว

การหยั่งรู้ปรมัตถสัจจะสามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยความรู้ตามบัญญัติภาษาที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แม้พระบรมศาสดาเองก็ตรัสสอนด้วยภาษาธรรมดา ๆ เช่น “เมื่อเดินก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน” “กำลังงอ” หรือ “กำลังเหยียด” เป็นต้น พระองค์มิได้ทรงใช้ภาษาตามสภาวะปรมัตถ์เลย เช่นว่า “พึงรับรู้ความแข็งเกร็ง” หรือ “พึงรับรู้การเคลื่อนไหว” ถึงโยคีจะภาวนาโดยอาศัยภาษาพื้น ๆ เช่น “งอหนอ เหยียดหนอ” ก็สามารถหยั่งรู้สภาวธรรมที่แท้จริง อาทิ ความแข็งเกร็ง และการเคลื่อนไหว ซึ่งซ่อนอยู่ในรูปทรงสัณฐานนั้น ๆ ได้เมื่อสมาธิและสติของโยคีมีกำลังพอ

(“หนทางแห่งวิปัสสนา” โดย มหาสีสยาดอ)

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ สงสัยหนอ
เรียบเรียงโดย Tharmanaykyaw (สามเณรจ่อ)

อนุคคหสูตร : ธรรมเป็นเครื่องอนุเคราะห์ ๕ ประการ

ข้อความจากพระสูตร : อนุคคหสูตร


[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิ อันองค์ ๕ อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเป็นธรรมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และเป็นธรรมมีปัญญาวิมุติเป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์

องค์ ๕ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้

สัมมาทิฐิ
๐ อันศีลอนุเคราะห์แล้ว
๐ อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว
๐ อันการสนทนาธรรมอนุเคราะห์แล้ว
๐ อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว
๐ อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิอันองค์ ๕ เหล่านี้แล อนุเคราะห์แล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และมีปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญาวิมุติเป็นผลานิสงส์

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><><>

ข้อความจากอรรถกถา : อรรถกถาอนุคคหสูตรที่ ๕


พึงทราบวินิจฉัยในอนุคคหสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิขั้นวิปัสสนา.

ในบทว่า เจโตวิมุตฺติผลา เป็นต้น สมาธิขั้นมรรคผล ชื่อว่าเจโตวิมุตติ. ผลญาณ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ.

บทว่า สีลานุคฺคหิตา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิอันศีลสนับสนุนตามรักษา.

บทว่า สุตานุคฺคหิตา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิอันพาหุสัจจะสนับสนุน.

บทว่า สากจฺฉานุคฺคหิตา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิอันธรรมสากัจฉาสนับสนุน.

บทว่า สมถานุคฺคหิตา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิอันเอกัคคตาจิตสนับสนุน.

แต่เพื่อให้ความนี้แจ่มแจ้ง พึงยกตัวอย่างบุรุษปลูกเมล็ดมะม่วงหวาน ปักเขตไว้โดยรอบรดน้ำตามเวลา ชำระรากตามเวลา นำสัตว์ที่ตกลงไปออกตามเวลา ดึงใยแมลงมุมออกตามเวลา แล้วบำรุงมะม่วง.

สัมมาทิฏฐิขั้นวิปัสสนาพึงเห็นดุจการปลูกเมล็ดมะม่วงหวานของบุรุษนั้น. การที่ศีลสนับสนุนพึงเห็นดุจการปักเขต การที่สุตะสนับสนุนดุจการรดน้ำ. การที่การสนทนาธรรมสนับสนุนก็ดุจการชำระราก. การที่สมถะสนับสนุนด้วยการขจัดอันตรายของญาณและวิปัสสนาดุจการนำสัตว์ออก. การที่วิปัสสนามีกำลังสนับสนุนก็ดุจการดึงใยแมลงมุมออก.

ความที่สัมมาทิฏฐิมีมูลอันคุณมีศีลเป็นต้นเหล่านี้สนับสนุนแล้วจำเริญด้วยทิฏฐิเป็นมรรคแล้ว อำนวยซึ่งเจโตวิมุตติผลและปัญญาวิมุตติผลเร็วพลัน พึงเห็นดุจความที่ต้นไม้อันบุรุษอุดหนุนอย่างนี้เจริญงอกงามแล้วให้ผลเร็วพลัน.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ธรรมเป็นเครื่องอนุเคราะห์ ๕ ประการ

สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาที่ได้รับอนุเคราะห์จากธรรม ๕ ประการย่อมมีผลเป็นเจโตวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นทางใจ อันได้แก่สมาธิในอรหัตตผล และปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นทางปัญญา อันได้แก่ ปัญญาในอรหัตตผล

ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อนุคคหิตธรรม คือ ธรรมเป็น เครื่องอนุเคราะห์ ตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย อนุคคหิตสูตร (องฺ. ปญฺจก. ๒๒.๒๕.๑๘) มี ๕ ประการ คือ

๑. ศีล การสำรวมกายและวาจาเพื่อมิให้เบียดเบียนตนและผู้อื่น ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีใจผ่องใสไม่เศร้าหมองด้วยการผิดศีล เหมือนรั้วกั้นไม่ให้สัตว์เข้ามากินเมล็ดพืชในไร่

๒. การสดับ ส่งผลให้เข้าใจหลักการปฏิบัติเหมือนการรดน้ำต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้ดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงลำต้นและส่วนอื่นๆ

๓. สากัจฉา คือ การสนทนาธรรม การสอบอารมณ์ ส่งผลให้ขจัดความสงสัยและเกิดกำลังใจในการปฏิบัติ เหมือนการพรวนดิน

๔. สมถะ คือ การทำใจให้สงบ ส่งผลให้จิตมีสมาธิที่เกื้อหนุนให้วิปัสสนาก้าวหน้าได้เร็ว เหมือนการกำจัดศัตรูพืชคือนิวรณ์

๕. วิปัสสนา คือ การหยั่งเห็นสภาวธรรมรูปนาม ส่งผลให้เกิดปัญญารู้แจ้งไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง เหมือนการปัดกวาดหยากไย่ของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดและอากาศเต็มที่เพื่อการเติบโตต่อไป

จากหนังสือประกายส่องใจ
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

เครื่องตามรักษา ๕ ประการ

เครื่องตามรักษา ๕ ประการ

เมื่อเราเป็นชาวสวน เราต้องสร้างรั้วรอบสวนของเราเพื่อป้องกันสัตว์ใหญ่ทั้งหลาย กวางและกระต่ายที่อาจจะเข้ามากินต้นอ่อนทันทีที่ต้นอ่อนนั้นโผล่ขึ้นจากพื้นดิน

เครื่องตามรักษาประการแรก คือ “ศีลานุคคหิต” ซึ่งหมายถึงการกระทำอันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม อันเป็นเครื่องป้องกันความประพฤติที่หยาบกระด้างทางกายและวาจา อันรบกวนจิตใจและเป็นตัวปิดกั้นสมาธิและปัญญามิให้เกิดขึ้น

ประการที่สอง เราต้องรดน้ำ ซึ่งเปรียบได้กับ “การฟังธรรมและอ่านพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำสิ่งที่เราเข้าใจมาประยุกต์ใช้อย่างใส่ใจและระมัดระวัง” อย่างไรก็ตาม หากรดน้ำมากเกินไปเมล็ดก็จะเน่าเสีย เช่นเดียวกัน เป้าหมายในการอ่านและฟังธรรมก็เพียงเพื่อเกื้อกูลให้เกิดความกระจ่างในการประพฤติปฏิบัติเท่านั้น **มิใช่เพื่อทำให้เราตื่นตาตื่นใจ จนหลงทางอยู่ในข้อธรรมะอันพิสดาร** เครื่องตามรักษาประการที่สองนี้เรียกว่า “สุตานุคคหิต”

เครื่องป้องกันประการที่สาม เป็นเรื่องที่อาตมาจะกล่าวถึงในช่วงนี้ ซึ่งได้แก่ “สากัจฉานุคคหิต” หรือ “การสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์” ซึ่งเปรียบได้กับกระบวนการหลายอย่างในการปลูกต้นไม้ ต้นไม้ต้องการสิ่งที่แตกต่างกันในช่วงเวลาที่ต่างกัน อาจจำเป็นที่จะต้องพรวนดินให้ร่วนรอบๆ รากของต้นไม้ แต่ก็ต้องไม่มากเกินไป มิฉะนั้นรากจะไม่สามารถเกาะยึดดินได้เราจะต้องตัดแต่งใบด้วยความระมัดระวังเช่นกัน และเราต้องตัดต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านมาบดบังต้นอ่อนมากเกินไปด้วย เช่นเดียวกัน

**เมื่อเราปรึกษาเรื่องการประพฤติปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ ท่านจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจำเป็นต้องใช้สิ่งใดช่วยในการปฏิบัติของเราดำเนินไปถูกทาง

เครื่องตามรักษาประการที่สี่ ได้แก่ “สมถานุคคหิต” คือเครื่องป้องกันอันได้แก่ “สมาธิ” ซึ่งปกป้องจิตจากอกุศล อันเปรียบได้กับแมลงและวัชพืช ขณะที่เราเจริญภาวนา

เราใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะมีสติตามรู้สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏที่อายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจตามความเป็นจริงในปัจจุบันขณะ เมื่อสภาวะจิตมีความตั้งมั่นและมีพลังเช่นนี้ โลภะ โทสะ และโมหะ ก็ไม่มีโอกาสที่จะเยื้องกรายเข้ามาได้ ดังนั้น สมาธิ อาจเปรียบได้กับการกำจัดวัชพืชรอบๆต้นไม้ หรือการใช้ยากำจัดแมลงสูตรที่บริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง

หากเครื่องตามรักษาสี่ประการแรกนี้ดำรงอยู่ญาณทัศนะย่อมมีโอกาสที่จะเจริญงอกงามได้

**อย่างไรก็ตาม โยคีมักจะติดอยู่กับญาณขั้นต้นๆ และประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาอันเกิดจากสมาธิที่แรงกล้า ซึ่งจะปิดกั้นการปฏิบัติมิให้ก้าวหน้าต่อไปถึงวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น

โยคีจึงจำเป็นต้องประกอบด้วยเครื่องตามรักษาประการที่ห้า อันได้แก่ “วิปัสสนานุคคหิต” ซึ่งหมายถึงการเจริญภาวนาอย่างมีพลังที่สืบเนื่องต่อไปในระดับสูงโดยไม่หยุดร่ำไรเพลิดเพลินกับความสงบสุข หรือ อิฏฐารมณ์อื่นๆ อันเกิดจากสมาธิ ความปรารถนาให้ได้มาซึ่งความสุขเหล่านี้เรียกว่า “นิกันติตัณหา” ซึ่งมีความสุขุมลุ่มลึก เปรียบได้กับใยแมงมุม แมลงศัตรูพืชตัวจิ๋ว เชื้อรา แมงมุมตัวเล็กๆ หรือ อินทรีย์สารเล็กๆ ที่เป็นโทษและสามารถหยุดยั้งการเติบโตของต้นไม้ได้

**อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโยคีจะถูกกับระเบิดดังกล่าวเข้าแล้ว วิปัสสนาจารย์ผู้ชำนาญจะทราบได้จากการสอบอารมณ์และจะหนุนนำโยคีให้กลับสู่ทางอันถูกตรงได้นี้คือเหตุผลว่าเหตุใดการเล่าประสบการณ์ของโยคีให้ครูบาอาจารย์ฟัง จึงเป็นเครื่องตามรักษาที่สำคัญยิ่งนักในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

จากหนังสือรู้แจ้งในชาตินี้
พระกัมมัฏฐานาจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ

ลักษณะที่จะได้พระนิพพานไม่เกิดอีกนี้อาศัยเหตุอย่างไร

ลักษณะที่จะได้พระนิพพานไม่เกิดอีกนี้อาศัยเหตุอย่างไร

บุคคลที่ไม่เกิดใหม่ไปพระนิพพานนั้นด้วยเหตุ ๓ประการ คือ

๐ กุศลอันหนึ่งได้แก่บารมีสร้างมานั้นแก่กล้าอย่าง ๑

๐ มีมนสิการอุตสาหะยึดหน่วงถือมั่นซึ่งตัวกุศลอย่าง ๑

๐ เอาปัญญาตัดตัวอกุศลให้ขาดในสันดานอย่าง ๑


จากมิลินทปัญหา

สีลปติฏฐายลักขณปัญหา ที่ ๙

ฝึกว่ายน้ำก่อนจะจมน้ำ

ในชีวิตหนึ่งของทุกคน เราต้องจมน้ำ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานในเวลาเสียชีวิต ขณะที่จิตจะเคลื่อนจากภพนี้ไปภพหน้า จิตมีลักษณะเหมือนนกแร้งขย่มต้นตาลก่อนจะบินขึ้นไป โดยทั่วไปต้นตาลที่นกแร้งอาศัยอยู่มักเหี่ยวเฉาตายไป เพราะนกแร้งมักขย่มต้นตาลก่อนจะบินขึ้นเสมอ

คนส่วนใหญ่จึงมักได้รับความเจ็บปวดในเวลาใกล้ตาย แม้คนที่ตายอย่างกระทันหันด้วยอุบัติเหตุจะได้รับความเจ็บปวดไม่นาน แต่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ทราบว่าเวลาไม่กี่วินาทีของคนธรรมดา คนป่วยจะรู้สึกยาวนานมาก

ดังนั้น เราทุกคนต้องฝึกว่ายน้ำก่อนจะจมน้ำ นั่นคือการเจริญสติปัฏฐานเพื่ออดทนต่อทุกขเวทนาในเวลาใกล้เสียชีวิต เพื่อไม่ให้จิตเศร้าหมองได้รับความทุกข์ทรมานในเวลานั้น มีผู้หญิงท่านหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง ท่านตะโกนโวยวายว่าฉันไม่อยากตาย ต่อมาถูกหามเข้าห้องไอซียูแล้วเสียชีวิตในที่นั้น ด้วยเหตุนี้ การเจริญสติปัฏฐานจึงมีคุณค่ามากต่อชีวิตของทุกคน

นอกจากนั้น การเจริญสติปัฏฐานยังเป็นการสั่งสมเมล็ดพันธุ์แห่งวิปัสสนาในกระแสจิต ซึ่งจะผลิดอกออกผลเป็นมรรคผลนิพพานต่อไป บุคคลผู้มิได้เจริญสติปัฏฐานย่อมไม่อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารได้ ในคัมภีร์อรรถกถา (ที. อ. ๑.๑๕๑) เรียกว่า “วัฏฏขาณุ” แปลว่า “ตอแห่งวัฏฏะ” หมายถึง ตอไม้ที่แห้งตายไม่เจริญงอกงามเป็นต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญการปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเกิดปัญญาหยั่งเห็นความเกิดดับว่าทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ แม้มีชีวิตอยู่วันเดียวก็ดีเลิศกว่าคนที่มีชีวิตอยู่ร้อยปีโดยมิได้ปฏิบัติธรรม ดังพระพุทธดำรัสว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.
(ขุ. ธ. ๒๕.๑๑๓.๓๗)

ผู้หยั่งเห็นความเกิดดับแห่งสังขาร มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปีของผู้ไม่หยั่งเห็น

จากหนังสือประกายส่องใจ
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

การกำหนดดูรู้ตาม

งานทางโลกกับงานทางธรรมชื่อว่างานเหมือนกันแต่วิธีการทำต่างกัน งานทางโลกเป็นไปเพื่อหาข้าวกิน หาสมบัติใช้ แต่งานทางธรรมเป็นไปเพื่อรู้แจ้งแห่งพระสัจธรรม

๐ มาพูดถึงตัวงานตัวการในทางธรรมก็คือ กายกับใจ หรือรูปกับนาม

๐ ผู้ที่เข้าไปทำงานก็คือ ใจ

๐ ทำโดยวิธีไหน? โดยการกำหนดดูรู้ตาม ทั้งสภาพที่เป็นไปของรูป นาม

๐ กำหนดดูรู้ตามอย่างไร? กำหนดดูรู้ตามอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่กำหนดเพื่อจะให้เขาเป็น

อุปมา อุปมัย….เหมือนเราไปดูหนาม..หนามมันแหลมอยู่แล้วเราจำเป็นต้องเอามีดไปเหลาไหม? ยกตัวอย่าง เวลาเราดูพอง ยุบ ถ้าพอง ยุบ ไม่ชัดเราจำเป็นต้องตะเบ็งให้ชัดไหม? เพราะอะไร? เพราะดูอย่างที่เขาเป็นไง เขาปรากฏเบาก็รู้ไปตามเบาๆๆ แต่ถ้าไม่ชัดก็ไปดูตัวอื่น นั่งหนอ ถูกหนอ ก็ยังมี

เพราะธรรมทั้งหลายองค์สมเด็จพ่อทรงตรัสไว้ว่าแม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาไม่อุบัติขึ้นมาเขาก็มีอยู่เป็นประจำแต่เมื่อตรัสรู้แล้วก็เห็นตามความเป็นจริงในธัมมนิยามสูตร ว่า

อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา ธัมมะนิยามะตา สัพเพ สังขารา อะนิจจาติฯ ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ อะภิสะเมติ อะภิสัมพุชฌิตวา อะภิสะเมตวา อาจิกขะติ เทเสติปัญญะเปติ ปัฏฐะเปติ วิวะระติ วิภะชะติ อุตตานีกะโรติ สัพเพ สังขารา อะนิจจาติฯ สัพเพ สังขารา ทุกขาติฯ สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติฯ

ภิกษุ ทั้งหลาย ทั้งที่พระตถาคต คือ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จักเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธาตุคือสิ่งทรงตัวเองอยู่ได้อันนั้น ดำรงอยู่ได้โดยธรรมดาของมันอย่างนั้น สิ่งที่ถูกกำหนดมาตามธรรมดาของมันว่า จะเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นตถาคต ตรัสรู้ธาตุนั้น ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ได้หยั่งรู้แล้ว จึงนำมาบอกกล่าว นำมาแสดง บัญญัติตั้งไว้ เปิดเผยให้ทราบ จำแนกแยกแยะ ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา”

หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

บรรพชาของพระนาคเสน

เถรัสสติกขปฏิภาณปัญหา ที่ ๓

ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้าอันว่าบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้านี้ มีประโยชน์อันอุดมดีอย่างไร ประโยชน์ด้วยสิ่งอันใดจึงบรรพชา พระผู้เป็นเจ้าจงวิสัชนาแก้ไขให้แจ้งก่อน

พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในสิริราชมไหศวรรย์

บรรพชาของอาตมานั้นเป็นประโยชน์ดับเสียซึ่งทุกข์ที่มีในสันดาน แล้วมิให้ทุกข์ประการอื่นบังเกิดได้ ประการหนึ่ง

บรรพชาของอาตมานี้ประเสริฐยิ่งนัก จักให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์นิกรเทวดา มนุษย์นิกรเทวดาไหว้นบเคารพบูชาถวายไทยทาน บรรดาที่จะให้เกิดผลเมื่อสิ้นชนม์มรณกาลแล้ว เดชะผลที่ได้กระทำสักการถวายทานแก่รูปอันบรรพชาก็จะปิดเสียซึ่งประตูจตุราบาย ก็จะได้ไปชมสมบัติ ๓ ประการ คือมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เหตุฉะนี้รูปจึงว่า บรรพชาของรูปนี้โสด จะให้เป็นประโยชน์แก่นิกรมนุษย์เทวดาทั้งหลาย

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ปัพพชาปัญหา ที่ ๕

ขณะนั้นกรุงมิลินท์ปิ่นประชากรมีสุนทรพจนารถราชโองการ ตรัสถามปัญหาเหมือนอันถามแล้วในวันก่อนนั้นว่า

ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บรรพชาของพระผู้เป็นอุดมอย่างไรบรรพชานี้จะให้ประโยชน์อะไร

พระนาคเสนก็แก้ไขเหมือนอันวิสัชนาในวันก่อนว่า ขอถวายพระพร

บรรพชานี้เพื่อจะให้ระงับทุกข์คือทุกข์ ๔ กอง มีชาติทุกข์เป็นต้นให้ระงับดับไป มิให้ทุกข์อื่นบังเกิด คือ จะเกิดอีกนั้นมิให้มีประการ ๑

อีกประการหนึ่งเล่า “ปรมตฺโถ” มีอรรถอันอุดมคือ จะให้ได้ “พระนิพพาน” “อนุปาทาโน” หาเชื้อกิเลสตัณหามิได้

ขอถวายพระพร
สิ้นคำวิสัชนาพระนาคเสนเท่านี้

พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี เอาปัญหาที่ถามแล้ว กลับเอามาถามอีก หวังจะตั้งเป็นเหตุจะได้ถามลักษณะแห่งบุคคลบรรพชา เหตุฉะนี้พระองค์จึงมีพระราชปุจฉาถามพระนาคเสน ฉะนี้ว่า

ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ลักษณะบุคคลจะเข้าบรรพชาบวชในพระพุทธุบาทศาสนานี้มีประโยชน์อย่างไร

พระนาคเสนถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในสิริมไหศวรรย์ คนทั้งหลายคิดต่างกัน

๐ บางพวกนั้น ราชวินีตา คือ ท้าวพระนาเบียดเบียนใช้สอย หนีออกไปบวชในพระพุทธศาสนาก็มี ราชาโนวงฺกตตฺถาย
๐ บางทีบรรพชาเพื่อจะให้คุ้นเคยท้าวพระยารู้จักมักใคร่ก็มี อิสฺสริยตฺถาย
๐ บางทีบวชเพื่อจะได้อิสริยยศเป็นที่ทางอันใหญ่ ชีวิกตฺถาย
๐ บางทีบวชเพื่อจะได้อาหารเลี้ยงชีวิต ภยภีตาย
๐ บางทีคิดกลัวภัยโจรจะคอยฆ่า กลัวภัยท้าวพระยาจะฆ่าตี กลัวภัยเจ้าหนี้จะตามทวงกลัวทั้งปวงนี้ก็หนีเข้าบรรพชา
๐ ที่ว่าจะคิดถึงตัวกลัวภัยในสงสาร ออกบรรพชาปรารถนาพระนิพพานก็มี

ขอถวายพระพร

พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลนคร จึงมีพระราชโองการย้อนถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าพระผู้เป็นเจ้านี้มาบรรพชาจะปรารถนาอย่างไร นิมนต์วิสัชนาให้แจ้งก่อนพระนาคเสนถวายพระพรว่า

ดูรานะมหาบพิตร
อาตมานี้บรรพชาแต่ยังเป็นทารกได้ ๗ ขวบก็หารู้ไม่ ครั้นจำเริญใหญ่ขึ้นมา ท่านสมณะที่เป็นสากยบุตรพุทธชิโนรสผู้ใหญ่ฝึกสอน อาตมาโดยให้มีสติปัญญารู้ซึ่งพุทธาธิบาย บัดนี้อาตมาบรรพชาก็หมายจะใคร่ได้พระนิพพาน

ขอถวายพระพร

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
ข้อความบางส่วน จากมิลินทปัญหา
เถรัสสติกขปฏิภาณปัญหา ที่ ๓ และ ปัพพชาปัญหา ที่ ๕

ความเกียจคร้านในการบำเพ็ญความดีไม่พึงมี

ความเกียจคร้านในการบำเพ็ญความดีไม่พึงมี โดยเราคิดว่าเราไม่มีโอกาสในวันนี้ เราจักประพฤติธรรมในวันพรุ่ง เพราะนรชนผู้พ้นจากความตาย ย่อมไม่มีในกาล ๓ และ ภูมิ ๓ โดยแท้

จากเตลกฎาหคาถา คาถาที ๑๐

สุขทุกข์อยู่ที่ใจ

ใจของทุกคนมักตอบสนองสิ่งที่มากระทบในเชิงลบหรือบวกโดยมีการปรุงแต่งว่าดีหรือไม่ดีซึ่งมีตัวเราเป็นแกนกลาง ถ้าตอบสนองในเชิงบวกก็จะรู้สึกว่าเป็นสุข หรือถ้าตอบสนองในเชิงลบ ก็จะรู้สึกเป็นทุกข์

ที่จริงแล้วคำว่าสุข และทุกข์ มาจาก สุ หรือ ทุ + ข ศัพท์ สุ แปลว่า ดี ส่วน ทุ แปลว่า ไม่ดี ศัพท์ว่า ข แปลว่า เสวย, รู้สึก ดังนั้น สุข จึงแปลว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าดี ส่วนทุกข์ แปลว่า สิ่งที่เรารู้สึกไม่ดี นั่นคือ เราตอบสนองโดยมีตัวเองเป็นแกนกลางว่าดีหรือไม่ดี ก็เป็นสุขและทุกข์ตามความรู้สึกของเราเอง

แต่ถ้าเรารักษาใจให้สงบ ไม่รู้สึกยินดีหรือยินร้ายต่อสิ่งที่มากระทบใจ เมื่อนั้น จะไม่เกิดเวทนาเพราะผัสสะ คือ เมื่อเกิดสุขเวทนา ก็มีความโลภประกอบร่วม เมื่อเกิดทุกขเวทนา ก็มีความโกรธประกอบร่วม หรือเมื่อมีอุเบกขาเวทนา ก็มีความโลภติดตามมา เพราะทุกคนอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น จึงเกิดตัณหาติดตามมาทันที

และเมื่อมีตัณหา ก็มีอุปาทาน มีภพคือการทำกรรมที่ดีหรือไม่ดีเพื่อให้ครอบครองสิ่งที่ตนต้องการ หรือเพื่อรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ ตลอดไป ส่งผลให้เกิดชาติ ชรา และมรณะเป็นต้นต่อไป

ดังนั้น จงหยุดใจอยู่ที่ผัสสะ สักแต่รู้สิ่งที่กระทบด้วยสติ ไม่ปรุงแต่งว่าดีหรือไม่ดี และไม่ตอบสนองในเชิงลบหรือบวก ก็จะทำให้ เราไม่ถูกโลกธรรมคือสุขทุกข์กระทบจนโอนไปเอนมา เกิดความรู้สึกผิดหวังเสียใจ ไม่สบายใจ เครียด โกรธ เกลียด ปองร้าย ฯลฯ

จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

ภิกษุติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ ร้องประกาศว่าแม้เราก็เป็นภิกษุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ลาติดตามไปเบื้องหลังฝูงโค มันร้องว่า แม้เราก็เป็นโค แต่สี เสียงและรอยเท้าของมันหาเหมือนของโคไม่ มันเป็นแต่เดินตามหลังฝูงโคร้องว่า แม้เราก็เป็นโคๆ ดังนี้เท่านั้น แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุๆ แต่ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของเรา หาเหมือนของภิกษุทั้งหลายไม่ เขาเป็นแต่ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุๆ ดังนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาว่า
๐ เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา
๐ เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา
๐ เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล ฯ

จากคัทรภสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔

มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่าอารามและรุกขเจดีย์ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดถึง *พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง* ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

จากขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรค
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

โทษของมิฏฐาทิฏฐิ

จากพระสูตร อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี

[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง

[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป

[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฐิเป็นอย่างยิ่ง

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ข้อความจากอรรถกถา

บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ นี้ มีวิเคราะห์ว่า มิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่งของโทษเหล่านั้น เหตุนั้น โทษเหล่านั้น ชื่อว่า มิจฺฉาทิฏฐิปรมานิ โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง.

อธิบายว่า อนันตริยกรรม ๕ ชื่อว่ากรรมมีโทษมาก. มิจฉาทิฏฐิเท่านั้น ชื่อว่ามีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม ๕ แม้เหล่านั้น.

ถามว่า เพราะเหตุไร.
ตอบว่า เพราะอนันตริยกรรม ๕ นั้นมีเขตกำหนด. ด้วยว่า ท่านกล่าวอนันตริยกรรม ๔ อย่างว่า ให้เกิดในนรก. แม้สังฆเภทก็เป็นกรรมตั้งอยู่ในนรกชั่วกัปเท่านั้น. อนันตริยกรรมเหล่านั้นมีเขตกำหนดที่สุดก็ยังปรากฏด้วยประการอย่างนี้.

ส่วนนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดอันดิ่ง ไม่มีเขตกำหนด เพราะนิยตมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นรากเหง้าของวัฏฏะ. การออกไปจากภพ ย่อมไม่มีสำหรับคนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น แม้ชนเหล่านั้นก็ย่อมปฏิบัติผิด.

อนึ่ง ทั้งสวรรค์ ทั้งมรรค ย่อมไม่มีแก่คนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น ในคราวกัปพินาศ เมื่อมหาชนพากันเกิดในพรหมโลก บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ไม่เกิดในพรหมโลกนั้น (แต่กลับ) เกิดที่หลังจักรวาล.

ถามว่า ก็หลังจักรวาลไฟไม่ไหม้หรือ.
ตอบว่า ไหม้. บางอาจารย์กล่าวว่า ก็เมื่อหลังจักรวาลแม้ถูกไฟไหม้อยู่ คนผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐินี้ ก็ถูกไฟไหม้อยู่ในโอกาสแห่งหนึ่งในอากาศ.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้

จากคาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒

หากว่าบุคคลพึงรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้
พึงรักษาตนนั้นไว้ ให้เป็นอัตภาพอันตนรักษาดีแล้ว

บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ตลอดยามทั้งสาม

***********************************************
บางส่วนจากอรรถกถา อัตตวรรควรรณนา เรื่องโพธิราชกุมาร

พระศาสดาทรงแสดงทำวัยทั้ง ๓ วัยใดวัยหนึ่งให้ชื่อว่า ยาม เพราะความที่พระองค์ทรงเป็นใหญ่ในธรรม และเพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดในเทศนาวิธี เพราะเหตุนั้น ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า

ถ้าบุคคลทราบตนว่า เป็นที่รัก, พึงรักษาตนนั้น ให้เป็นอันรักษาดีแล้ว คือพึงรักษาตนนั้น โดยประการที่ตนเป็นอันรักษาดีแล้ว

บรรดาชนผู้รักษาตนเหล่านั้น ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์คิดว่า ‘จักรักษาตน’ ดังนี้แล้ว เข้าไปสู่ห้องที่เขาปิดไว้ให้เรียบร้อย เป็นผู้มีอารักขาสมบูรณ์ อยู่บนพื้นปราสาทชั้นบนก็ดี, ผู้เป็นบรรพชิตอยู่ในถ้ำอันปิดเรียบร้อย มีประตูและหน้าต่างอันปิดแล้วก็ดี ยังไม่ชื่อว่ารักษาตนเลย.

แต่ผู้เป็นคฤหัสถ์ “ทำบุญทั้งหลายมีทาน ศีลเป็นต้นตามกำลังอยู่” หรือผู้เป็นบรรพชิต “ถึงความขวนขวายในวัตร ปฏิวัตร ปริยัติ และการทำไว้ในใจอยู่” ชื่อว่าย่อมรักษาตน.

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อไม่อาจ (ทำ) อย่างนั้นได้ใน ๓ วัย (ต้อง) ประคับประคองตนไว้ แม้ในวัยใดวัยหนึ่งก็ได้เหมือนกัน. ก็ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์ ไม่อาจทำกุศลได้ในปฐมวัย เพราะความเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในการเล่นไซร้, ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญกุศล. ถ้าในมัชฌิมวัย ยังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ไม่อาจบำเพ็ญกุศลได้ไซร้ ในปัจฉิมวัย พึงบำเพ็ญกุศลให้ได้.

ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนต้องเป็นอันเขาประคับประคองแล้วทีเดียว. แต่เมื่อเขาไม่ทำอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่า ไม่เป็นที่รัก. ผู้นั้น (เท่ากับ) ทำตนนั้นให้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทีเดียว.

ก็ถ้าว่า บรรพชิต ในปฐมวัยทำการสาธยายอยู่ ทรงจำ บอก ทำวัตรและปฏิวัตรอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาท, ในมัชฌิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม.

อนึ่ง ถ้ายังสอบถามอรรถกถาและวินิจฉัย และเหตุแห่งพระปริยัติอันตนเรียนแล้วในปฐมวัยอยู่ ชื่อว่าถึงความประมาท ในมัชฌิมวัย. ในปัจฉิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญสมณธรรม.

ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนย่อมเป็นอันบรรพชิตนั้น ประคับประคองแล้วทีเดียว. แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่า ไม่เป็นที่รัก, บรรพชิตนั้น (เท่ากับ) ทำตนนั้นให้เดือดร้อน ด้วยการตามเดือดร้อนในภายหลังแท้.

ในกาลจบเทศนา โพธิราชกุมารตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

พระธรรมเทศนาได้สำเร็จประโยชน์ แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ว่าด้วย เหตุให้เกิดความรัก

อะไรหนอแลเป็นเหตุให้

๐ บุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าเท่านั้น หัวใจก็สงบนิ่งสนิท คือเยือกเย็นดังเอาน้ำหอมพันหม้อมารด บางคนไม่สงบ

๐ บางคนพอเห็นกันเข้าเท่านั้นก็มีจิตผ่องใส อ่อนละมุนละไม เยื่อใยต่อกัน ด้วยอำนาจความรัก บางคนก็ไม่เยื่อใยต่อกัน.

ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการ คือ

๐ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑

๐ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑

เหมือนดอกอุบลเมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุสองประการ คือ “น้ำและเปือกตม” ฉะนั้น.

เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ธรรมดา ความรักนี้ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการ คือได้เป็นมารดาบิดา ธิดาบุตร พี่น้องชายพี่น้องหญิง สามีภรรยา หรือสหายมิตรกันในภพก่อน เคยอยู่ร่วมที่เคียงกันมา ความรักนั้นย่อมไม่ละ คงติดตามไปแม้ในภพอื่น เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อนอย่างหนึ่ง.

อีกอย่างหนึ่ง ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะความเกื้อกูลกันในปัจจุบันอันได้ทำในอัตภาพนี้.

ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการฉะนี้ เปรียบเหมือนอุบลในน้ำฉะนั้น คือเหมือนอุบลและบุปผชาติที่เกิดในน้ำต่างๆ เกิดในน้ำ ก็ได้อาศัยเหตุสองอย่าง คือน้ำและเปือกตมฉันใด ความรักก็ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการนี้ฉะนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากอรรถกถา สาเกตชาดก : ว่าด้วย เหตุให้เกิดความรัก

ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ ไว้ในใจโดยแยบคาย

ข้อความบางส่วนจาก สีลสูตร (สีลวันตสูตร)
พระมหาโกฏฐิตะสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร
*******************************************

ดูกรท่านพระสารีบุตร ภิกษุผู้มีศีลควรกระทำธรรมเหล่าไหนไว้ในใจโดยแยบคาย?

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านโกฏฐิตะ ภิกษุผู้มีศีล “ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็นดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นของแปรปรวนเป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นของไม่ใช่ตัวตน”

อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ
อุปาทานขันธ์ คือรูป ๑ อุปาทานขันธ์ คือเวทนา ๑ อุปาทานขันธ์ คือสัญญา ๑ อุปาทานขันธ์คือสังขาร ๑ อุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ ๑.

ดูกรท่านโกฏฐิตะ
ภิกษุผู้มีศีล ควรกระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังฝี เป็น ดังลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นของแปรปรวน เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญเป็นของไม่ใช่ตัวตน.

ดูกรท่านโกฏฐิตะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ ภิกษุผู้มีศีล กระทำอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ไว้ในใจโดยแยบคาย ฯลฯ เป็นของไม่ใช่ตัวตน พึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล


ข้อความจากอรรถกถา

**********************

อุปาทานขันธ์ ๕

๐ ภิกษุพึงใส่ใจว่าไม่เที่ยง โดยอาการที่มีแล้วกลับไม่มี (เกิดแล้วดับ)
๐ พึงใส่ใจว่าเป็นทุกข์ โดยอาการที่เบียดเบียน บีบคั้น
๐ พึงใส่ใจว่าเป็นโรค เพราะหมายความว่าเจ็บป่วย
๐ พึงใส่ใจว่าเป็นฝี เพราะหมายความว่าเสียอยู่ข้างใน
๐ พึงใส่ใจว่าเชือดเฉือน เพราะเป็นปัจจัยของฝีเหล่านั้น หรือเพราะหมายความว่า ขุด
๐ พึงใส่ใจว่าโดยยาก เพราะหมายความเป็นทุกข์
๐ พึงใส่ใจว่าเป็นผู้เบียดเบียน เพราะหมายความว่าเป็นปัจจัยให้เกิดอาพาธอันมีมหาภูตรูปที่เป็นวิสภาคกันเป็นสมุฏฐาน
๐ พึงใส่ใจว่าเป็นอื่น เพราะหมายความว่าไม่ใช่ของตน
๐ พึงใส่ใจว่าทรุดโทรม เพราะหมายความว่าย่อยยับ
๐ พึงใส่ใจว่าว่าง เพราะหมายความว่าว่างจากสัตว์
๐ พึงใส่ใจว่า เป็นอนัตตา เพราะไม่มีอัตตา.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

รักกันอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้

ข้อความบางส่วนที่พระโพธิสัตว์กล่าวกับพระราชา
ในอรรถกถา : ชวนหังสชาดก
ว่าด้วย รักกันอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้
******************************************

ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายก็ดี ของนกทั้งหลายก็ดี รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากกว่านั้น.

อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้.

ใจจดจ่ออยู่ในบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ไกลก็เหมือนกับอยู่ใกล้ ใจเหินห่างจากบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ใกล้ก็เหมือนกับอยู่ไกล.

ถ้ามีจิตเลื่อมใสรักใคร่กัน ถึงแม้จะอยู่กันคนละฝั่งสมุทรก็เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน ถ้ามีจิตประทุษร้ายกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน ก็เหมือนกับอยู่คนละฝั่งสมุทร.

ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ คนที่เป็นศัตรูกันถึงจะอยู่ร่วมกันก็เหมือนกับอยู่ห่างไกลกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งรัฐ คนที่รักกันถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกัน ก็เหมือนกับอยู่ร่วมกันด้วยหัวใจ.

ด้วยการอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกันย่อมกลายเป็นคนไม่รักกันก็ได้ ข้าพระองค์ขอทูลลาพระองค์ไป ก่อนที่ข้าพระองค์จะกลายเป็นผู้ไม่เป็นที่รักของพระองค์.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สิ่งที่ควรกล่าว สิ่งที่ไม่ควรกล่าว

ดูกรพราหมณ์
๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

๐ เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

ดูกรพราหมณ์
๐ แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว

๐ แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้นเรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว

๐ ดูกรพราหมณ์ เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด … สิ่งที่ได้ทราบอันใด … สิ่งที่รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้นกุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น … สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น … สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว

๐ แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาอันใด … สิ่งที่ได้ทราบมาอันใด … สิ่งที่รู้แจ้งอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไปกุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้ฟังมาเห็นปานนั้น … สิ่งที่ได้ทราบมาเห็นปานนั้น … สิ่งที่รู้แจ้งเห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว

โยธาชีววรรค
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา

อย่าเลยวักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร

ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม.

จากวักกลิสูตร
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อย่าเลยวักกลิ ประโยชน์อะไรในรูปที่น่าเกลียดซึ่งชนพาลชอบเล่า

ก็บัณฑิตใดเห็นสัทธรรม บัณฑิตนั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ไม่เห็นสัทธรรมถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น

กายมีโทษไม่สิ้นสุด เปรียบเสมอด้วยต้นไม้มีพิษ เป็นที่อยู่ของโรคทุกอย่าง ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์เพราะฉะนั้น ท่านจงเบื่อหน่ายในรูป พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย จักถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้โดยง่าย

จากวักกลิเถราปทาน
ขุททกนิกาย อปทาน
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

จงเห็นประโยชน์ของเวลา

สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดในชีวิตมนุษย์ คือ การผลาญเวลาอย่างไร้ค่า ซึ่งก็คือ การใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์นั่นเอง ในวันใดถ้าเราไม่ใช้เวลาเพื่อแสวงหาทรัพย์ ความรู้ หรือบุญ นั่นคือ เราผ่านวันนั้นไปอย่างไร้ค่า ทำให้กำลังความสามารถของเราหมดสิ้นไปอย่างไร้คุณประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้น จงเห็นประโยชน์ของเวลา อย่าปล่อยให้มันผ่านไปอย่างไร้ค่าแก่ตัวเอง เพราะเวลาไม่ให้โอกาสใครเป็นครั้งที่สอง

จากเพจ : พระอาจารย์ทองมั่น สุทธฺจิตโต

เวลาคนเราเป็นทุกข์ เรามักจะต้องการธรรมะแบบปฐมพยาบาล

ท่านอาจารย์สอนว่า เวลาคนเราเป็นทุกข์ เรามักจะต้องการธรรมะแบบปฐมพยาบาล ทั้งๆ ที่เราควรฝึกจิตเสียตั้งแต่เมื่อเรายังไม่ทุกข์มาก จิตมันจึงจะมีกำลัง แต่เรามักจะชอบเบี้ยวที่จะไปทำอย่างอื่นเสียมากกว่า

โยมคนหนึ่งไปหาพระที่สอนเรื่องการปฏิบัติภาวนา

พระ “แล้วนี่ได้ภาวนาทุกวันมั้ย”
โยม “ก็….เกือบจะทุกวันครับ”
พระ “ดีจริง…อนุโมทนาสาธุนะ”
โยม “ครับ…คือ…วันจันทร์ผมก็เกือบจะนั่งสมาธิครับ วันอังคารผมก็เกือบจะอีกเหมือนกัน ผมเกือบจะทุกวันเลยครับ”
พระ “งั้นอย่างนี้…การภาวนาของโยมก็ เกือบจะ ได้ผลน่ะสิ”

ท่านอาจารย์ว่า มันก็เหมือนกับคนตกรถไฟตกเครื่องบิน แล้วบ่นว่าเกือบจะทัน …เกือบจะทันก็คือตกนั่นแหละ….

เรื่องเล่าโดยพระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
จากหนังสือ เรื่องท่านเล่า โดยคุณศรีวรา อิสระ

อัจฉราสูตร : ราชรถสู่พระนิพพาน

จากพระสูตร
***********

ข้อความจาก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อัจฉราสูตรที่ ๖

เทวดาทูลถามว่า
ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง

ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น

เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นสารถี

ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพานด้วยยาน นี้แหละ ฯ

………………………………………………….

จากอรรถกถา : อัจฉราสูตรที่ ๖
************************

๐ ทางตรง
มรรคประกอบด้วยองค์แปด ชื่อว่าทางตรง เพราะความที่ทางนั้นไม่มีการคดทั้งหลายมีการคดทางกาย เป็นต้น

๐ ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย
บทว่า อภยา นาม สาทิสา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาพระนิพพาน.

จริงอยู่ ในพระนิพพานนั้น ภัยอะไรๆ ก็ไม่มี หรือว่าภัยนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อภยา นาม สาทิสา แปลว่า ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย.

๐ รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง
เมื่อเพลาแห่งรถไม่มีน้ำมันหยอด หรือว่าเมื่อคนขึ้นมากเกินไป ธรรมดารถก็ต้องมีเสียงดัง คือย่อมส่งเสียงดังฉันใด รถคืออริยมรรคฉันนั้น หามิได้.

จริงอยู่ รถคืออริยมรรคนั้นแม้สัตว์ตั้งแปดหมื่นสี่พันขึ้นอยู่โดยการนำไปคราวเดียวกัน ย่อมไม่ดัง ย่อมไม่ส่งเสียง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อกุชฺชโน แปลว่า ไม่มีเสียงดัง.

๐ ล้อคือธรรม
ประกอบพร้อมแล้วด้วยล้อคือธรรมทั้งหลาย กล่าวคือความเพียรอันเป็นไปทางกายและทางใจ.

๐ หิริเป็นฝาของรถนั้น
เมื่อนักรบทั้งหลายยืนอยู่บนรถอันมีในภายนอก ย่อมมีฝาที่ทำด้วยไม้เพื่อต้องการแก่อันมิให้ตกไปฉันใด หิริแลโอตตัปปะแห่งรถคือมรรคนี้อันมีทั้งภายในและภายนอกเป็นสมุฏฐาน เป็นเครื่องป้องกันฉันนั้น.

๐ สติเป็นเกราะกั้น
“สติอันสัมปยุตด้วยรถคือมรรค” แม้นี้เป็นเกราะกำบัง ราวกะรถของนักรบที่หุ้มด้วยวัตถุทั้งหลายมีหนังสีหะเป็นต้น.

๐ ธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นสารถี
ธมฺมํ ได้แก่ โลกกุตรมรรค. สัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนานำหน้าไป คือเป็นเครื่องดำเนินไปก่อน (เป็นประธาน) แห่งมรรคนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐินำหน้า.

ธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้านั้น คือเหมือนอย่างว่า เมื่อราชบุรุษทั้งหลายทำหนทางให้สะอาดโดยการนำชนทั้งหลายมีคนบอดคนง่อยเป็นต้นออกไปก่อน แล้วพระราชาจึงเสด็จมาในภายหลังฉันใด ครั้นเมื่อธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นอันสัมมาทิฏฐิแห่งวิปัสสนาชำระให้หมดจดแล้วด้วยสามารถแห่งความเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น สัมมาทิฏฐิแห่งมรรคอันกำหนดรู้อยู่ซึ่งวัฏฏะได้แล้วในภูมิ จึงเกิดขึ้นในภายหลังฉันนั้นนั่นแหละ.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ธมฺมาหํ สารถึ พฺรูมิ สมฺมาทิฏฺฐิปุเร ชวํ” แปลว่า เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่า เป็นสารถี.

ราชรถสู่พระนิพพาน

 

ดูกรเทพ หนทางที่ท่านดำเนินอยู่นี้ถูกตรงแล้ว และย่อมนำท่านไปสู่ภูมิที่ปลอดจากภัยเป็นอิสระจากความหวาดกลัวใด ๆ อันเป็นจุดมุ่งหมายของท่าน

ท่านจงขับยานอันสงัดเงียบ

๐ ล้อทั้งสองจะเป็นความพากเพียรทางกายและใจ
๐ หิริจะเป็นพนักพิง
๐ สติเป็นเกราะป้องกำบัง
๐ และสัมมาทิฏฐิจะเป็นสารถี

บุคคลไม่ว่าหญิงหรือชายผู้ครอบครองยานนี้และขับยานนี้ไปด้วยดี ย่อมดำเนินถึง “พระนิพพาน” เป็นแน่แท้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

หากอริยมรรคสามารถประกอบได้สำเร็จรูปเหมือนรถยนต์ที่มาจากสายการผลิตที่โรงงานก็คงจะดีไม่น้อย

ทว่ามันมิได้เป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติที่น่าสงสารอย่างเรา ๆ จึงต้องลงมือสร้างยานนี้เอง เราต้องติดเครื่องมืออาวุธให้ตัวเราเองด้วยศรัทธาและความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

เราต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติในทุกสถานการณ์ ฝ่าฟันความยากลำบาก ความเหนื่อยล้าความเบื่อหน่าย และความตึงเครียดจากการดิ้นรนที่จะประกอบยานของเราขึ้นมาเอง

เมื่อประกอบเสร็จแล้ว
๐ เราต้องทุ่มเทความเพียรเพื่อให้ล้อของยานนี้หมุนไป
๐ พยายามดำรงเกราะกำบังแห่งสติไว้ให้มั่นคง
๐ ตั้งมั่นอยู่ในหิริและโอตตัปปะ อันเป็นเสมือนพนักพิงที่จะให้เราอิงอาศัยได้
๐ ฝึกสัมมาทิฏฐิอันเป็นสารถีของเราให้ขับเคลื่อนไปตามทางที่ถูกต้อง

ในที่สุด หลังจากที่ผ่านญาณลำดับต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว เราก็จะได้ครอบครองราชรถแห่งโสดาปัตติมรรค เมื่อราชรถดังกล่าวเป็นของเราแล้วเราจะสามารถดำเนินสู่พระนิพพานได้อย่างสะดวกและง่ายดายเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อราชรถแห่งการเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็จะไม่มีวันเสื่อมค่าหรือมีสมรรถภาพลดลง ซึ่งแตกต่างจากยานพาหนะอื่น ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เราไม่ต้องหยอดน้ำมันเครื่อง ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วน ยิ่งใช้ก็ยิ่งแข็งแรงและมีความประณีตยอดเยี่ยมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นยานพาหนะที่ปลอดอุบัติเหตุอย่างสิ้นเชิง เมื่อเราเดินทางบนยานพาหนะนี้ รับประกันได้ว่าจะมีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

ตราบเท่าที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เราจะยังต้องเผชิญกับความขึ้นลง และความผันผวนของชีวิตนานัปการ

บางครั้งอะไร ๆ ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยดี แต่บางครั้งกลับต้องประสบกับความผิดหวัง ความท้อถอย ความทุกข์และโทมนัสต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้ครอบครองยานพาหนะสู่พระนิพพานแล้ว จะสามารถขับเคลื่อนผ่านเวลาแห่งความทุกข์ยากไปได้อย่างราบรื่น และไม่เสียสมดุลจนเกินไปในยามที่มีความสุข ประตูสู่อบายได้ปิดตายลงแล้ว และบุคคลผู้นั้นสามารถดำเนินไปสู่พระนิพพานอันเป็นที่ที่ปลอดจากทุกข์ภัยทั้งปวงได้ตลอดเวลา

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือ รู้แจ้งในชาตินี้ : บทที่ ๖ ราชรถสู่พระนิพพาน
โดย พระกัมมัฎฐานจริยะ อู บัณฑิตาภิวังสะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

กิเลสเกิดจากใจ ละได้ด้วยใจ

กิเลสเกิดจากใจ ละได้ด้วยใจ

กิเลสเกิดจากใจของเราที่คิดปรุงแต่งด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ ถ้าเราปรุงแต่งด้วยความพอใจ ความโลภย่อมเกิดขึ้น ถ้าเราปรุงแต่งด้วยความไม่พอใจ ความโกรธย่อมเกิดขึ้น แต่ถ้ามีอารมณ์มากระทบแล้วเราสามารถรักษาความเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่รับรู้ โดยกำหนดว่า “เห็นหนอ” หรือ “ได้ยินหนอ” นั่นคือการเจริญสติอย่างแท้จริง

แม้กิเลสจะเกิดจากใจของเรา ก็เป็นสิ่งที่ละได้ด้วยใจของเราเอง เปรียบเสมือนตมเกิดจากน้ำ ย่อมถูกล้างให้สะอาดด้วยน้ำ ดังข้อความที่โบราณาจารย์กล่าวว่า

ชเลน ภวติ ปงฺกํ ชเลเนว วิสุชฺฌติ
จิตฺเตน ภวติ ปาปํ จิตฺเตเนว วิสุชฺฌติ.
(มณิทีป. หน้า ๓๖)

ตมเกิดจากน้ำ ย่อมสะอาดด้วยน้ำ ฉันใด
บาปเกิดจากจิต ย่อมสะอาดด้วยจิต ฉันนั้น

จากหนังสือ ประกายส่องใจ
เรียบเรียงโดย พระคันธสาราภิวงศ์

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร ๕ อย่าง

องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร ๕ อย่าง

๑. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะนี้ๆ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ฯ

๒. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย ประกอบด้วยเตโชธาตุอันมีวิบากเสมอกัน ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นอย่างกลางๆ ควรแก่ความเพียร ฯ

๓. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เปิดเผยตนตามเป็นจริงในพระศาสดา หรือสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ฯ

๔. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อจะละอกุศลธรรมเพื่อจะยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังใจ มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดธุระในบรรดาธรรมที่เป็นกุศล ฯ

๕. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นเกิดและดับ เป็นปัญญาอย่างประเสริฐ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส จะให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ฯ

จากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๒๙๓
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

โดยสรุป องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร ๕ อย่าง

๑. ศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๒. มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย (ร่างกายแข็งแรง)
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลและทำกุศล
๕. เป็นผู้มีปัญญา เห็นเกิดและดับ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

สัมมัปปทาน ๔

สัมมัปปทาน หมายถึง ความเพียรโดยชอบ คือ ความเพียรที่ต่อเนื่องไม่ลดละ มีความหมายเหมือน “สัมมาวายามะ” ในอริยมรรคมีองค์ ๘

สัมมัปปทาน ๔ ประกอบด้วย

๑. ความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่
๒. ความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า
๓. ความเพียรทำอกุศลใหม่
๔. ความเพียรเพิ่มพูนกุศลเก่า

<><><><><><><><><><><>><><><><>><><>

บทสรุป สัมมัปปทาน ๔ :
จากหนังสือ โพธิปักขิยธรรม
โดยพระคันธสาราภิวงศ์
***********************

บุคคลที่จะเจริญสติปัฏฐาน ตามรู้สภาวธรรมปัจจุบัน ต้องเพียบพร้อมด้วยสัมมัปปทาน ๔ เพราะสัมมัปปทาน ๔ จัดเป็นความเพียร ผู้ที่ไม่มีความเพียรจะแจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ขณะที่ “กำหนดรู้” สภาวะพองยุบ สภาวะเคลื่อนไหวของเท้า เวทนา จิต หรือสภาวธรรม จัดว่า

๐ มีความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า เพราะในขณะนั้นเราไม่ได้ทำอกุศลเก่า คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ฯลฯ

๐ มีความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ เพราะในขณะนั้นเราไม่ได้ทำอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เมื่อความโลภหรือความโกรธเกิดขึ้น นักปฏิบัติควรกำหนดว่า “โลภหนอ” หรือ “โกรธหนอ” เมื่อนักปฏิบัติรับรู้สภาวะของความโลภหรือความโกรธตามความเป็นจริงว่า “ความโลภเป็นสภาวะพอใจ” “ความโกรธเป็นสภาวะดุร้าย” ก็จะไม่ถูกความโลภหรือความโกรธครอบงำ

๐ ความเพียรเพื่อทำกุศลใหม่เพราะการเจริญสติปัฏฐานเป็นกุศลที่เราไม่เคยบำเพ็ญมาก่อน

๐ มีความเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า เพราะนักปฏิบัติย่อมประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ตามลำดับของวิปัสสนาขั้นต่างๆ จัดว่าได้เพิ่มพูน ภาวนากุศลที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งสม “สติ” “สมาธิ” และ “ปัญญา” ให้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม

ศรัทธา ๔ ประการ

ศรัทธา ๔ คือ

๑. กรรมศรัทธา เชื่อในเรื่องกรรม
๒. วิบากศรัทธา เชื่อในเรื่องผลของกรรม
๓. กัมมัสสกตาศรัทธา เชื่อในเรื่องความมีกรรมเป็นของ ๆ ตน
๔. ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า

ข้อสุดท้ายมีความคล้ายคลึงกับศาสนาเทวนิยม คือเชื่อพระเจ้า แต่ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้กล่าว แต่เพื่อประโยชน์สุขของผู้สดับ

ให้ผู้ฟังมีความเชื่อ ยอมรับสมาทานก่อน ถ้าไม่เชื่อเลยจะไม่ยอมรับสมาทาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระองค์ก่อนเข้าสู่การปฏิบัติ แต่มิให้ปักใจเชื่อทันที ยังเปิดโอกาสให้ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ (โยนิโสมนสิการ) มีปัญญาไต่สวนตรวจสอบ

ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงชื่อว่า ญาณสัมปยุตคือความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีศรัทธาเดียว ๆ โดด ๆ แต่มีปัญญามาประกอบการพิจารณาอยู่ด้วย ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาจึงเอื้อให้เกิดการพัฒนาปัญญาเพื่อไต่เต้าเข้าไปสู่ความรู้แจ้งทว่าในเบื้องต้นจะต้องมีศรัทธาเป็นแกนนำก่อน มาด้วยความสงสัย อาจจะกลับไปด้วยความฟุ้งซ่าน มาด้วยศรัทธาจะกลับไปด้วยปัญญา เพราะไม่มาเชื่ออย่างเดียว แต่มาประพฤติปฏิบัติด้วย

ดังนั้นขอให้ท่านสาธุชนที่มาประพฤติปฏิบัติมีศรัทธา น้อมใจเชื่อก่อน จึงค่อยนำหลักการและวิธีการปฏิบัติไปฝึกปฏิบัติดูว่าจะเป็นอย่างไร ฝึกทำไม เพื่อประโยชน์อันใด ก็ฝึกปฏิบัติเพื่อพักผ่อน ระงับความทุกข์ ให้เกิดความสงบสุข เพราะชีวิตนี้มีแต่การดิ้นรนจึงทุกข์ร้อน

จากหนังสือ วิปัสสนาวิถี : พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์

วิปัสสนากรรมฐาน ศาสตร์การมองรูป-นาม

ร่างกายอันยาววาหนาคืบมีวิญญาณครอง เรียกว่า “รูป-นาม” นี้เป็นแหล่งกำเนิดสภาวะต่าง ๆ นานัปการ ศาสตร์ศิลป์และวิทยาการหลากหลายนี้ ก็ล้วนเริ่มจากแหล่งกำเนิดนี้ก่อนแผ่ขยายออกไปปรากฏเป็นรูปธรรม

รูป-นามนับว่ามีกลไกอันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ถูกสร้างเสริมแต่งโดยธรรมชาติอย่างประณีต มีกิริยาอาการเคลื่อนไหว ไออุ่นสัมพันธ์กับสภาพสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ นี้คือความงดงามที่เป็นมาและเป็นไปตามธรรมชาติจริง ๆ

การมอง “รูป-นาม” อย่างเพ่งพินิจ เป็นข้อควรคิดพิจารณาว่าน่าศึกษากลไกของรูป-นามนั้นเพียงใดศิลปะการมองอย่างเป็นระบบ และพบความประณีตงดงาม (ปรมัตถ์) นั้น คือ “วิปัสสนา”

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นศาสตร์มีศิลปะการมองรูป-นามโดยเฉพาะ ผู้ค้นพบศาสตร์และศิลป์นี้โดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน นั่นคือ พระพุทธเจ้า หลังการค้นพบพระองค์ทรงดำริว่า

“ธรรมนี้เป็นสภาพอันสุขุมลุ่มลึกละเอียดลออประณีต ยากที่จะรู้เห็นแจ่มกระจ่าง เป็นวิสัยของบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ทั้งธรรมที่เข้าไปสงบระงับสังขาร ไร้กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งมวล ก็ล้ำเลิศประเสริฐยิ่งนัก ยากแสนที่จะรู้แจ้งแจ่มชัด กระไรเลยเราจะลำบากเหนื่อยเปล่า หากแสดงธรรมเพราะผู้ด้อยปัญญาจะไม่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมนั้นได้”

ทรงท้อพระทัยที่จะถ่ายทอด ก็น้อมไปสู่ความขวนขวายน้อย แต่ด้วยความเปี่ยมล้นแห่งพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์จึงตัดสินพระทัยนำศาสตร์และศิลป์นี้มาถ่ายทอดแสดงเปิดเผยแก่ชาวโลก วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่ครานั้น

พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากคำนำ โดย พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์

ในหนังสือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔
โดยพระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภเถระ
ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

แนวทางปฏิบัติ เมื่ออยู่ที่บ้าน

การที่เรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นทางดี เป็นหลักใหญ่เลย เราได้มาฝึกจิตฝึกใจรู้วิธีระงับจิตระงับใจ

วิธีการคือต่อไปอยู่บ้านตื่นมารีบกำหนดก่อน รู้ว่าเราต้องเปิดหูเปิดตาเปิดจมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว พอเปิดแล้วการได้เห็น การได้ยิน การได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส ทั้งที่ดีและไม่ดี มันจะไหลเข้ามาเป็นแถว เราอย่าเอาเราเข้าไปยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น เราต้องตั้งใจกำหนดก่อน

เวลาจะทำอะไรเราต้องตั้งใจกำหนดก่อน จะติดต่อหนอๆ แล้วก็ตั้งสติติดต่อๆ ไปเลย จะไปหนอต่อไม่ได้ เดี๋ยวฟังไม่รู้เรื่องเลย จะเขียนจะทำอะไรก็ตั้งจิต กำหนด เขียนหนอๆ เสร็จแล้วก็ลงมือเขียนเลย นอกจากนั้นถ้าเราเดินไปไหน ก็กำหนด ขวาย่าง ซ้ายย่าง ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดไปตามเท่าที่เราจะทำได้ โอกาสมีอยู่

ถ้าเราทำงานเสร็จแล้วว่าง ติดต่อใครเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรจะทำแล้ว ว่าง เราก็นั่งพัก ไม่ต้องเอามือมาประสานกัน วางมือพัก น้อมใจกำหนดดูอาการสัก 5-10 นาที ดีกว่าเราไม่ได้ทำ

วันหนึ่งๆ เราก็หาเวลาให้กับตัวเองว่าภายใน 20 กว่าชั่วโมงที่เราตื่นมาจนถึงเราจะนอนหลับเรามีเวลาไหน ตอนไหนที่ว่าง ปลอดจากการงานจริงๆ แล้วก็หาเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ให้ได้เป็นกิจลักษณะ

แต่อย่างอื่นก็ให้กำหนดไปพอที่เราจะทำได้ คือ การกำหนดก็คือ การตั้งสตินั่นเอง แล้วเราก็ได้สติทุกเวลาที่เรากำหนด ไม่เสียสตางค์ด้วย บางทีมีกิเลส แต่สู้อำนาจของกระแสกิเลสไม่ได้ เราก็ไม่ได้กำหนด พอไม่ได้กำหนดก็ไม่ได้สติ กุศลกรรมเขาก็ไม่ได้ง้อเรา มีแต่เราไปง้อให้เขาเกิด

โยคีของเราต้องเพียรพยายามกำหนดในชีวิตประจำวัน เราอย่าไปทิ้ง จะซักผ้าก็ซักหนอๆ จะล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ อะไรๆ เราก็ไวๆ ได้ แต่กำหนดไปตามนั้น เราจะเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือทำกิจกรรมการงานอะไรก็แล้วแต่ เราก็มีสติไปตามอาการนั้น ตามสมควรแก่การงานนั้นๆ

นี่เราได้วิธีแล้วนี่ คือ การกำหนดนั่นเอง เป็นตัวสำคัญ เป็นหัวใจ เรากำหนดได้เมื่อไรสติก็เกิดเมื่อนั้น ฉะนั้นเห็นหนอ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส เราเข้าห้องน้ำห้องส้วม จะทำอาการใดๆ เรากำหนดได้หมด ไม่มีปัญหา เรากำหนดได้หมด ยิ่งเราอาบน้ำยิ่งสบาย แต่อย่าไปหนอนาน ห้องน้ำห้องส้วมมีน้อย แต่พระไม่เป็นไร ถ้าเรามีห้องน้ำเป็นอิสระส่วนตัวไม่เป็นไร เราจะอาบอย่างไร นั่งอย่างไร นอนอย่างไร
ไม่มีปัญหา แต่ว่าสำหรับที่ต้องใช้หลายๆ คนไปหนออย่างนั้น คนอื่นเขาเดือนร้อน

อันนี้คิดว่าโยคีคงเข้าใจและนำวิธีการและพุทธวิธีที่องค์สมเด็จพ่อท่านตรัสไว้ พยายามนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา

พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

อกุศลธรรมมีอยู่ตราบใดการประหารกิเลสของเราก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น

วันนี้เป็นวันสุดท้าย หลังจากทำพิธีอะไรกันแล้วก็จะเข้าสู่ที่ปกติ ก็คงจะเข้าใจกันแล้ว ทุกอย่างก็เป็นทาสเหมือนเดิม เราก็หมดอิสรภาพแล้ว ต่อไปก็กลับไปรับภาระอะไรทุกอย่าง

การมาปฏิบัติของเราคราวนี้ถึงแม้ว่าจะเสร็จสิ้นไปตามกำหนดวันที่เราได้กำหนดไว้ แต่ว่าโยคีก็ต้องเข้าใจว่าเรายังไม่สิ้นสุดการปฏิบัติ การปฏิบัติจริงๆ ไม่สิ้นสุด เพราะอกุศลธรรมมันยังอัดแน่นเต็มหัวใจของเราอยู่ ฉะนั้นเมื่ออกุศลธรรมมีอยู่ตราบใดการประหารกิเลสของเราก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น เราก็ต้องเพียรพยายามทำลายกิเลสของเราต่อๆ ไป

ทีนี้การทำลายกิเลสของเราที่อยู่ทางบ้านที่เป็นไป องค์สมเด็จพ่อท่านอุปมาเหมือนช่างไม้ที่เขาจับด้ามมีดทุกๆ วันรอยมือของเขา เขาไม่ต้องคิดว่า เมื่อไรหนอรอยมือของเราจะประทับอยู่บนด้ามมีดที่เราถือ ไม่ต้องคิดถึงเลยพอจับนานๆ เข้า ด้ามมีดมันก็กร่อนไปๆ รอยมือของเราก็ประทับอยู่ในด้ามมีดนั้น

อันนี้ฉันใดการประหารกิเลส เราได้แนววิธีขององค์สมเด็จพ่อไว้ตามนัยหลักสติปัฏฐานสี่ เราได้พุทธวิธีนี้แล้ว ก็เพียรพยายามกำหนดต่อไปได้วันละนิดวันละหน่อย เหมือนนายช่างไม้ที่จับด้ามมีด นานๆ เข้า ผลที่สุดมันก็กร่อนๆ จนหมดสภาพรอยมือของเราก็ประทับอยู่ด้ามมีดนั้นฉันใด การประหารกิเลสของเราก็เหมือนกัน เราเพียรพยายามกำหนดวันละหน่อยๆ เขาจะหมดเมื่อไรก็ไม่ต้องพูดถึงหรอก กำหนดไปๆ ภายหลังมันก็หมดไปเอง

พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

จงเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส

เราไปเห็นกิเลสโดยความเป็นคน มันถึงยุ่ง ถ้าเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลสละไม่ยุ่ง เพราะอะไร

เพราะเราดูว่าโทสะที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าเกิดกับเรากับเขามันก็มีสภาพเหมือนกัน มันไม่ได้ต่างกัน แต่ตอนนี้กิเลสโทสะได้โอกาสเกิดกับรูปนามนั้นมันก็ต้องแสดงกาย วาจา ใจ ไปตามลักษณะของเขา เวลาคนอื่นเขาโกรธ เขาด่าฉอดๆๆๆ นี่ เราเห็นว่าเขาไม่ดีแต่เวลาที่เราโกรธขึ้นมา เราด่าคนอื่นฉอดๆๆ เราว่ายังไง ว่าเราดีนะ ” แหม เขาด่าคำ เราด่าสอง เราเก่งกว่าเขาอีก ” คนในโลกเขาถือกันอย่างนั้นนะ

ที่นี้พอเรารู้จักธรรมะแล้วว่า อ๋อ สภาพของกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ความอิจฉา ความริษยา ก็แล้วแต่ ได้โอกาสเกิดกับใคร มันก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น มันต้องทำให้จิตใจ รูปนามของคนนั้นเป็นไปอย่างนั้น เกิดกับเราก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเราต้องเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส อย่าเห็นกิเลสโดยความเป็นคน

พระครูปลัดประจาก สิริวณฺโณ

ความเพียรทางกายใจเหมือนล้อเกวียนคู่หนึ่ง

เมื่อจิตถูกกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ครอบงำอยู่ ก็ตกไปในอำนาจของกิเลส คล้อยตามอำนาจของกิเลสนั้น ชอบสิ่งใดก็จะพยายามขวนขวายให้ได้สิ่งนั้น ไม่ชอบสิ่งใดก็จะพยายามผลักไสปฏิเสธสิ่งนั้น หรืออาจเกิดความหลงในสิ่งนั้น เพราะโมหะเกิดพร้อมกับความโลภและความโกรธอยู่เสมอ โดยทำหน้าที่ปกปิด “โทษ” ของสิ่งเหล่านั้น ทำให้เรา “พอใจ” ใน …“ความโลภและความโกรธ”

เมื่อเป็นดังนี้ จิตของเราเหมือนเมืองขึ้นของประเทศอื่น ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ และความหลง ไม่มีปัญญาหยั่งเห็นความจริงของชีวิต คือ “ไตรลักษณ์” อันได้แก่ “ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน” ดังนั้น “วิริยะ” ที่จัดเป็น “อินทรีย์” จึงเป็น “ความเพียรในการอบรมจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลส” ไม่ใช่ความเพียรในการแสวงหาโภคทรัพย์ หรือความเพียรในการเรียนรู้ศิลปวิทยา

“จงเห็นกิเลสโดยความเป็นกิเลส อย่าเห็นกิเลสโดยความเป็นตัวตน”

พระพุทธองค์ตรัสความเพียรในการปฏิบัติธรรมว่าเหมือนล้อเกวียนคู่หนึ่ง คือ ความเพียรทางกายทั้ง ๒ อย่าง คือ “ความเพียรทางกาย” และ “ความเพียรทางใจ” เหมือนเกวียนที่แล่นไปจะต้องมีล้อทั้งคู่ ถ้ามีล้อเพียงข้างเดียว เกวียนจะไม่อาจเคลื่อนที่ไปได้

“ความเพียรทางกายและใจ เหมือนล้อเกวียนคู่หนึ่ง ที่ทำให้เกวียนขับเคลื่อนไป”

จากหนังสือ โพธิปักขิยธรรม : พระคันธสาราภิวงศ์   จากเรื่องวิริยินทรีย์

พิจารณาด้วยปัญญาแล้วฉันอาหาร

จากขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ : ๑๔.ตุวฏกสุตตนิทเทส

[๗๓๔] ชื่อว่า รส ในคำว่า ไม่พึงติดใจในรส ได้แก่รสที่ราก รสที่ลำต้น รสที่เปลือก รสที่ใบ รสที่ดอก รสที่ผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ดร้อน รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน รสฟาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน.

มีสมณพราหมณ์บางพวก ติดใจในรส เที่ยวแสวงหารสอันเลิศด้วยปลายลิ้น. ได้รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว ฯลฯ ได้รสเย็นแล้วก็แสวงหารสร้อน ได้รสร้อนแล้วก็แสวงหารสเย็น.

สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้รสใดๆ แล้วย่อมไม่พอใจด้วยรสนั้นๆ ย่อมเที่ยวแสวงหารสอื่นๆเป็นผู้กำหนัด ปรารถนา ยินดี ติดใจ หลงไหล เกี่ยวข้อง พัวพัน ในรสที่ชอบใจ. ความอยากในรสนั้น อันภิกษุใดละ ตัดขาด ฯลฯ เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ

ภิกษุนั้นพิจารณาด้วยปัญญาแล้วย่อมฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อเมา ไม่ฉันเพื่อตบแต่ง ไม่ฉันเพื่อประดับ ฉันเพื่อดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้น ฯลฯ ความอยู่สบายของเราจักมีด้วยอุบายดังนี้.

บุคคลทาแผลเพื่อให้แผลหายหยอดน้ำมันเพลาเกวียนเพื่อจะขนภาระ กินเนื้อบุตรเพื่อจะออกจากทางกันดาร อย่างเดียวเท่านั้นฉันใด ภิกษุพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จึงฉันอาหาร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉันเพื่อเล่น ฯลฯความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีด้วยอุบายดังนี้ภิกษุพึงละ บรรเลา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความอยากในรส คือ เป็นผู้งด เว้น เว้นขาด ออก สละ พ้นไป ไม่เกี่ยวข้อง ด้วยความอยากในรส พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ไม่พึงติดใจในรส.

<><><><><><><><><><><><><><>
<><><><><><><><><><><><><><>

ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง (นิพพาน)

ปารสูตร : ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง (นิพพาน)

สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่ง (นิพพาน) จากที่มิใช่ฝั่ง (วัฏฏะ)

ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน? คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจชอบ ธรรม ๘ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง.

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

ในพวกมนุษย์ ชนที่ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมวิ่งไปตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ชนเหล่านั้นข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามไปถึงฝั่งได้

บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำเสียเจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยธรรมอันไม่มีความอาลัยแล้ว พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวก ที่สัตว์ยินดีได้ยากบัณฑิตพึงยังตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิต ชนเหล่าใดอบรมจิตดีแล้วโดยชอบในองค์เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในความสละคืนความถือมั่น ชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรืองปรินิพพานแล้วในโลกนี้.

<><><><><><><><><><><><><><><>
<><><><><><><><><><><><><><><>

ธรรมเครื่องรองรับจิต

กุมภสูตร : ธรรมเครื่องรองรับจิต

[๗๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก.

[๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเครื่องรองรับจิต อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เป็นเครื่องรองรับจิต.

[๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่ายที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก.

<><><><><><><><><><><><><>
<><><><><><><><><><><><><>

ธัมมปทัฏฐกถา ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

คำกล่าวนมัสการของพระอรรถกถาจารย์

ธัมมปทัฏฐกถา
ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

คำนมัสการ

ข้าพเจ้า (๑-) อันพระกุมารกัสสปเถระ (๒-) ผู้ฝึกตนเรียบร้อยแล้ว ประพฤติสม่ำเสมอโดยปกติ มีจิตมั่นคง ใคร่ความดำรงมั่นแห่งพระ สัทธรรม หวังอยู่ว่า

“พระอรรถกถา อันพรรณนาอรรถแห่งพระธรรม บทอันงาม ที่พระศาสดาผู้ฉลาดในสภาพที่เป็นธรรม และมิใช่ธรรม มีบท คือพระสัทธรรมถึงพร้อมแล้ว มีพระอัธยาศัย อันกำลังแห่งพระกรุณาให้อุตสาหะด้วยดีแล้ว ทรงอาศัยเหตุนั้นๆ แสดงแล้ว เป็นเครื่อง เจริญปีติปราโมทย์ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นคำที่สุขุม ละเอียด นำสืบๆ กันมา ตั้งอยู่แล้วในตามพปัณณิทวีป (๓-) โดยภาษา ของชาวเกาะ ยังไม่ทำความถึงพร้อมแห่งประโยชน์ ให้สำเร็จแก่ สัตว์ทั้งหลายที่เหลือได้. ไฉนพระอรรถกถาแห่งพระธรรมบทนั้นจะ ทำประโยชน์ให้สำเร็จแก่โลกทั้งปวงได้” ดังนี้

อาราธนาโดยเคารพแล้ว จึงขอนมัสการพระบาทแห่งพระสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสิริ ทรงแลเห็นที่สุดโลกได้ มีพระฤทธิ์รุ่งโรจน์ ทรงยังประทีป คือพระสัทธรรมให้รุ่งโรจน์ ในเมื่อโลกอันมืด คือโมหะใหญ่ปกคลุมแล้ว,

บูชาพระสัทธรรมแห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และทำอัญชลีแด่พระสงฆ์แห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว

จักกล่าวอรรถกถาอันพรรณนาแห่งพระธรรมบทนั้น ด้วยภาษาอื่นโดยอรรถไม่ให้เหลือเลย ละภาษานั้น และลำดับคำ อันถึงพิสดารเกินเสีย ยกขึ้นสู่ภาษา อันเป็นแบบที่ไพเราะ (๔-) อธิบายบทพยัญชนะแห่งคาถาทั้งหลาย ที่ท่านยังมิได้ อธิบายไว้แล้วในอรรถกถานั้นให้สิ้นเชิง นำมาซึ่งปีติปราโมทย์แห่ง ใจ อิงอาศัยอรรถและธรรมแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย.
——————————————————
(๑-) พระพุทธโฆษาจารย์
(๒-) เป็นนามพระสังฆเถระองค์หนึ่งในสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ ไม่ใช่พระกุมารกัสสปในสมัยพุทธกาล.
(๓-) เกาะเป็นที่อยู่ของชาวชนที่มีฝ่ามือแดง คือ เกาะลังกา [Ceylon].
(๔-) มโนรมํ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหาต่อพระศาสดา ด้วยความรักในพระศาสดา

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหาต่อพระศาสดา ด้วยความรักในพระศาสดา เกรงว่าพระองค์จะทรงลำบาก

ข้อความจากอรรถกถา คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑ เรื่องพระจักขุปาลเถระ
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหา

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหาต่อพระศาสดา จนวันเดียว.

ได้ยินว่า ท่านคิดว่า “พระตถาคตเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ละเอียดอ่อน เป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อน เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ด้วยทรงพระดำริว่า ‘คฤหบดีมีอุปการะแก่เรามาก’ ดังนี้ จะทรงลำบาก” แล้วไม่ทูลถามปัญหาด้วยความรักในพระศาสดาเป็นอย่างยิ่ง.

ฝ่ายพระศาสดา พอท่านเศรษฐีนั่งแล้ว ทรงพระพุทธดำริว่า

เศรษฐีผู้นี้รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา, เหตุว่า เราได้ตัดศีรษะของเราอันประดับประดาแล้ว ควักดวงตาของเราออกแล้ว ชำแหละเนื้อหัวใจของเราแล้ว สละลูกเมียผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของเราแล้ว บำเพ็ญบารมีอยู่ ๔ อสงไขยกับแสนกัลป์ ก็บำเพ็ญแล้วเพื่อแสดงธรรมแก่ผู้อื่นเท่านั้น เศรษฐีนี่รักษาเราในที่ไม่ควรรักษา

(ครั้นทรงพุทธดำริ) ฉะนี้แล้ว ก็ตรัสพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งเสมอ.

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การกำหนดทุกขเวทนา

การกำหนดทุกขเวทนา

กล่าวถึงวิธีการกำหนดทุกขเวทนา มีวิธีการกำหนดอย่างไร พระวิปัสสนาจารย์ได้ให้คำแนะนำในเชิงปฏิบัติการไว้ว่า

๑. “ปฏิบัติการแบบขุนพลประจัญบาน” ขุนพลประจัญจานที่ออกไปรบ เจอข้าศึกแล้วก็ไม่หลบเลี่ยงเลย ยิงกราดรัวเปรี้ยง ๆ ใครดีใครอยู่สู้กันชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ตายกันไปข้างหนึ่ง การกำหนดทุกขเวทนาก็ดังนั้น คือกำหนดอย่างไม่ลดราวาศอกไม่ให้คลาดสายตาแบบซึ่งหน้าชนกันจะๆ อย่างถนัดถนี่ ปะทะกันจัง ๆ ไม่ยั้งมือ กำหนดอาการปวดอย่างหนัก เน้นว่า “ปวดหนอ ๆ ๆ”

๒. “ปฏิบัติการแบบกองโจร” หน่วยลาดตระเวนออกไปสำรวจพื้นที่ พบข้าศึกศัตรูก็แอบซุ่มเหมือนกองโจร คอยดูลาดเลายังไม่เข้าไปโจมตีในทันทีทันใด แน่ใจแล้วจึงเรียกกองกำลังหนุนบุกเข้าไปโจมตี เข้าไปโจมตีแล้วเห็นท่าไม่ดีก็ถอยฉากออกมาหลบซุ่มหาทางเข้าบุกโจมตีใหม่ สู้บ้างถอยบ้าง การกำหนดทุกขเวทนาก็ดังนั้น คือกำหนดบ้าง ถอยบ้าง ออกมาดูบ้าง กำหนดห่าง ๆ แบบทิ้งระยะว่า “ปวดหนอ…ปวดหนอ…” แต่ว่าคอยดูอยู่ ไม่เบี่ยงเบนความสนใจไปที่อื่น

๓. “ปฏิบัติการแบบคุมเชิง” นักกีฬาลงสู่สนาม จะมีโค้ชอยู่นอกสนามคอยดูคุมเกมการเล่นของนักกีฬา ไม่เข้าไปร่วมแข่งขันด้วย การกำหนดทุกขเวทนาก็ดังนั้น จะไม่เข้าไปคลุกวงในกับทุกขเวทนา อยู่วงนอกคอยดูว่าจะเป็นอย่างไร จะปวดขนาดไหน ไม่กำหนดคำว่า “ปวดหนอ ๆ” สำทับเข้าไป เพียงแต่ดูตามอาการปวดที่ก่อตัวขึ้นมาเท่านั้น

ทั้ง ๓ ประการนี้ ให้เลือกใช้ตามแต่กรณีพอเหมาะแก่ความหนักเบาของทุกขเวทนา ถ้าทุกขเวทนามาเบาแบบบาง ๆ ก็กำหนดแบบขุนพลประจัญบาน ถ้าทุกขเวทนามาแรงพอทนไหวก็กำหนดแบบกองโจร ถ้าทุกขเวทนา กล้ามาอย่างหนักหน่วง ทนไม่ไหว ก็กำหนดแบบคุมเชิง

จากหนังสือวิปัสสนาวิถี
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์

เมื่อเดินอยู่ก็รู้ว่าเดินอยู่ ที่ถอนอัตตสัญญา

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐาน โดยพระมหาสีสยาดอ

เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ว่าเดินอยู่

พระพุทธดำรัสว่า “เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ว่าเดินอยู่” แสดงถึงการรับรู้สภาวะเดิน ที่เป็นการยกย่างและเหยียบ ซึ่งเกิดในปัจจุบันขณะ โดยปราศจากตัวตน เรา ของเรา

ความจริงแล้วคนทั่วไปที่มิได้เจริญสติปัฏฐาน หรือแม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขป่า เป็นต้น ก็รู้ตัวว่าเดิน แต่รับรู้ในลักษณะอัตตาตัวตน เป็นเราที่เดินอยู่ การเดินมีความเที่ยงไม่แปรปรวน เพราะกิริยาเดินดำรงอยู่เหมือนเดิม มิได้ปรากฏความเป็นสภาวธรรม คือ รูปที่กำลังเคลื่อนไหว จิตที่รับรู้สภาวะเคลื่อนไหว และสภาวะเกิดดับของรูปที่เคลื่อนไหวพร้อมทั้งจิตที่กำหนดรู้

ความรู้สึกของคนทั่วไป และสัตว์ดิรัจฉานจึงมีอัตตสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นตัวตน ความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่กรรมฐาน ในความหมายที่ว่า “ที่ตั้งแห่งการเจริญภาวนา” เพราะไม่จัดเป็นวิปัสสนาที่หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่กรรมฐานในความหมายว่า “การเจริญภาวนาที่เป็นเหตุใกล้แห่งภาวนายิ่งๆ ขึ้นไป” เพราะไม่ก่อให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ


**************************************************************

จากอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=131&p=3

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ถึงสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้. เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา.

แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูปลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา.

ความจริง การรู้นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาการรู้สึกตัวอย่างนี้ว่า ใครเดิน? การเดินของใคร? เดินเพราะเหตุอะไร? ถึงในการยืนก็นัยนี้เหมือนกัน.

ใครเดิน ความว่า ไม่ใช่สัตว์ตัวไหนหรือคนคนไหนเดิน.
การเดินของใคร ความว่า ไม่มีการเดินของสัตว์ตัวไหน
เดินเพราะเหตุอะไร ความว่า เดินไป โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต

**************************************************************

การตามรู้สภาวะพองยุบของท้องจัดเป็น “ธาตุกรรมฐาน”

พองยุบ

การตามรู้สภาวะพองยุบของท้องที่สอนกันแพร่หลายในปัจจุบันนั้น จัดเป็น “ธาตุกรรมฐาน” เพราะสภาวะพองยุบเป็นลักษณะตึงหย่อนของลมในท้องนอกสำไส้ที่เรียกว่า “กุจฉิสยวาโย” ความจริงลมหายใจที่สูดเข้าไปในปอดมิได้เคลื่อนไปในท้องดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

การหายใจนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อกะบังลม ทรวงอก และกระดูกซี่โครง กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องอกและช่องท้อง โดยอยู่ด้านล่างของปอด

ตามปกติเมื่อเราหายใจเข้า กะบังลมจะหดตัวกดอวัยวะในช่องท้องส่งผลให้ลมในท้องพองออกมา และเมื่อหายใจออก กะบังลมจะยืดขึ้น ส่งผลให้ลมในท้องยุบลงพร้อมกับดันลมจากปอด

ดังนั้น สภาวะพองยุบจึงเป็นลมในท้องที่มีอยู่เดิม และเป็นอารมณ์กรรมฐานอย่างหนึ่งตามหลัก “กายานุปัสสนา”

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร
โดย พระมหาสีสยาดอ

อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้น้อย แต่เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม

หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมี ประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้วไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้ เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโคนับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น

หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ เขาละราคะโทสะและโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้วหมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล

จากอรรถกถา คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
<><><><><><><><><><><>><><><><><><>

สามัญผล = ผลแห่งความเป็นสมณะ
ปัญจโครส = ของ ๕ อย่างที่เกิดจากโค คือนมสด นมส้ม เปรียง๑ เนยข้น เนยใส.
<><><><><><><><><><><>><><><><><><>

บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด

ดูกรอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้

ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็น ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด

เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า

“เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้”

จากมหาปรินิพพานสูตร

ธรรม ๔ ประการ ไม่มีผู้ใดรับรองได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครๆ จะเป็นสมณะพราหมณ์ เทวดา มารพรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ที่จะรับรองธรรม ๔ ประการได้ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

๐ ไม่มีใครๆ … ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่

๐ ไม่มีใครๆ … ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้

๐ ไม่มีใครๆ … ที่จะรับรองว่า สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตาย

๐ อนึ่ง ไม่มีใครๆ … ที่จะรับรองว่า วิบากแห่งกรรมอันลามก เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก มีชาติ ชราและมรณะต่อไป อย่าบังเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้หนึ่งผู้ใดในโลก ที่จะรับรองธรรม ๔ ประการนี้แล

จากโยธาชีววรรค [อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต]

มรณานุสสติ

 

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ปริจเฉทที่ ๘ อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ ได้กล่าวถึง มรณานุสสติ คือ ความระลึกถึงเนืองซึ่งมรณะ [ ความระลึกเนือง ๆ เกิดขึ้นปรารภมรณะ ชื่อว่า “มรณานุสสติ” คำนี้เป็นชื่อของ “สติอันมีความขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิตเป็นอารมณ์” ]

ได้กล่าวถึงการพิจารณามรณะว่า หากพิจารณามรณะโดยไม่แยบคายแล้ว เป็นอย่างไร

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><<><<><><>><><><<><><<<><><>

ข้อความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค

เพราะว่าเมื่อพระโยคาวจรยังมนสิการให้เป็นไปโดยไม่แยบคาย

๐ เวลาระลึกถึงความตายของคนที่ชอบกันจะเกิดความโศกเศร้า ดุจเวลามารดาผู้บังเกิดเกล้าระลึกถึงความตายของบุตรที่รักฉะนั้น

๐ เวลาที่ระลึกถึงความตายของคนที่ไม่ชอบกันจะเกิดความปราโมทย์ ดุจคนมีเวรกันระลึกถึงความตายของคนที่มีเวรกันฉะนั้น

๐ เวลาระลึกถึงความตายของคนที่เป็นกลาง ๆ จะไม่เกิดความสลดใจ ดุจสัปเหร่อเห็นซากคนตายฉะนั้น

๐ เวลาระลึกถึงคามตายของตนจะเกิดความสะดุ้งหวาดกลัว ดุจคนที่มีชาติขลาดเพราะเห็นเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบฉะนั้น

ความเกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นต้นแม้ทั้งหมดนั้น ย่อมมีแก่ผู้ปราศจากสติ, ความสังเวช และญาณ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรเห็นสัตว์ที่ถูกฆ่าตายและตายเองในที่นั้น ๆ แล้ว พึงพิจารณาถึงความตายของหมู่สัตว์ที่ตายไปซึ่งที่เป็นสมบัติที่ตนเคยเห็นมา ประกอบสติ, ความสังเวช และญาณ แล้วยังมนสิการให้เป็นไปโดยนัยมี อาทิว่า มรณํ ภวิสฺสติ ความตายจักมี ดังนี้

ด้วยว่าพระโยคาวจรเมื่อให้มนสิการเป็นไปอย่างนั้น ชื่อว่าให้เป็นไปโดยแยบคาย อธิบายว่าให้เป็นไปโดยอุบาย จริงอยู่สำหรับพระโยคาวจรบางพวกที่ยังมนสิการให้เป็นไปอยู่อย่างนั้นนั่นแล นิวรณกิเลสทั้งหลายย่อมระงับลง สติมีมรณะเป็นอารมณ์ย่อมตั้งมั่น กัมมัฏฐานขึ้นถึงอุปจารฌานทีเดียวก็เป็นได้

<><><><><><><><><><><><><><><><><><><<><<><><>><><><<><><<<><><>

สัทธรรมสัมโมสสูตร : ความลบเลือนเสื่อมสูญ และความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๐ ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
๐ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๐ ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑
๐ เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
๐ ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
๐ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

สัทธรรมสัมโมสสูตร

ความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

 

ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอัปปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้ ฯ

[๕๓๔] ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
๐ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
๐ ในพระธรรม ๑
๐ ในพระสงฆ์ ๑
๐ ในสิกขา ๑
๐ ในสมาธิ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ

[๕๓๕] ดูกรกัสสป เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
๐ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
๐ ในพระธรรม ๑
๐ ในพระสงฆ์ ๑
๐ ในสิกขา ๑
๐ ในสมาธิ๑

เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ
 
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จาก สัทธรรมปฏิรูปกสูตร : >>> เปิดอ่าน
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

อักขณสูตร : ชนเหล่าใด ไม่เข้าถึงขณะ ชื่อว่า ล่วงขณะ

ชนเหล่าใด เกิดในมนุษยโลกแล้ว เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรม “ไม่เข้าถึงขณะ” ชนเหล่านั้นชื่อว่า “ล่วงขณะ” ชนเป็นอันมาก กล่าวเวลาที่เสียไปว่า กระทำอันตรายแก่ตน

๐ พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาลบางครั้งบางคราวการที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑
๐ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑
๐ การแสดงสัทธรรม ๑
ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก

ชนผู้ใคร่ต่อประโยชน์ จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้จะเข้าใจสัทธรรมได้ ขณะ อย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปพากันยัดเยียดในนรก ย่อมเศร้าโศกอยู่ หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้ เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน เหมือนพ่อค้าผู้ปล่อยให้ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น

คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรมจักเสวยแต่สงสาร คือ ชาติและมรณะสิ้นกาลนาน

ส่วนชนเหล่าใดได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อพระตถาคตประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จักกระทำ หรือกระทำอยู่ ตามพระดำรัสของพระศาสดา ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ประสบขณะคือ การประพฤติพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมในโลก

ชนเหล่าใดดำเนินไปตามมรรคา ที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้วสำรวมในศีลสังวรที่พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว คุ้มครองอินทรีย์ มีสติทุกเมื่อ ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ตัดอนุสัยทั้งปวงอันแล่นไปตามกระแสบ่วงมาร ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะถึงฝั่ง คือ นิพพานในโลกแล้ว

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
เปิดอ่าน >> อักขณสูตร
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เราเป็นผู้มีตัณหาและกำลังเป็นผู้เพียร

ความเป็นไปในสังสารวัฏนั้นยังมีอยู่ เพราะเรายังเป็นผู้มีตัณหา ยังเป็นผู้มีอวิชชาครอบงำ

แต่เรานั่นแหละ “กำลังเป็นผู้เพียร” ที่จะทำให้อวิชชาคือความโง่ ความหลง ในความเป็นอัตตาตัวตน เรากำลังที่จะเพียรทำให้ ทิฏฐิ คือความเห็นผิดในอัตตาตัวตนของเรานี้ว่า เป็นเรา เป็นของของเรา เรากำลังทำสิ่งนี้ให้หมดให้สิ้นไป เรากำลังเพียรลดละ โดยความเป็นตัณหา มานะ ทิฏฐิ ของเรา เพื่อวันหนึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมปรากฏ

จากบทเรียนพระอภิธรรม (ทางไปรษณีย์) ชุดที่ 6

ชีวิตนี้น้อยนัก

ชีวิตนี้น้อยนัก … โดย..อาจารย์ปราณีต ก้องสมุทร
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn05.html
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก
การได้ฟังพระสัทธรรมก็แสนยาก
การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็แสนยาก

เราท่านได้พบสิ่งที่แสนยากนั้นครบ ๓ ประการแล้วในปัจจุบัน แต่ว่าเราท่านได้ทำตามที่พระบรมศาสดาตรัสสอนแล้วหรือ คือได้ปฏิบัติเพื่อออกจากวัฏฏทุกข์กันแล้วหรือ

ในเมื่อ “ชีวิตนี้น้อยนัก”

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ควรเริ่มทำความเพียรเพื่อให้ถึงความหลุดพ้นในชาตินี้

เมื่อชาวพุทธทำบุญครั้งใด ก็มักอธิษฐานขอให้บรรลุนิพพานโดยเร็วพลัน แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดนี้ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการตั้งความปราถนาอย่างเดียว เพราะกุศลส่วนใหญ่มักจะส่งผลให้ไปเกิดในภพที่สูงขึ้น

เพื่อให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางสายเดียวที่จะนำไปสู่พระนิพพานได้ เราไม่ควรรอให้ถึงชาติหน้า แต่ควรเริ่มทำความเพียรเพื่อให้ถึงความหลุดพ้นในชาตินี้

จากหนังสือธัมมจักกัปปวัตนสูตร :
ประพันธ์โดย พระอาจารย์มหาสีสยาดอ (โสภณมหาเถระ)
แปลโดย พระคันธสาราภิวงศ์

สติคุ้มครองจิต..

สติคุ้มครองจิต..

ทุกขณะที่จิตของเราไม่ประกอบด้วยสติ กิเลสที่เหมือนกบฎ โจร หรือขโมย จะเข้าแทรกเข้าในจิตทันทีเพื่อรบกวนให้ขุ่นมัว คนที่ไม่เข้าใจสภาวธรรมมักมัวโทษคนอื่นว่า เราไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือผิดหวังเพราะคนนั้นคนนี้ แต่ความจริงตัวเราเป็นหลักสำคัญ คนอื่นเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ถ้าเรารักษาจิตด้วยสติไม่ได้ เราจะไม่รู้จักวิธีทำใจให้สบาย ตราบเท่าที่กิเลสยังรบกวนจิตอยู่ แม้เราจะปรารถนาว่า ขอให้เราเป็นสุข พ้นทุกข์ ก็ไม่อาจสมหวังได้ตามต้องการ

ดังนั้น เราต้องคุ้มครองจิตด้วยสติ จึงจะอยู่อย่างสบายใจ เพราะจิตของเราไม่เป็นสุขตามธรรมชาติที่ไหลลงต่ำสู่กิเลส 

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
จากหนังสือประกายส่องใจ ๒
พระคันธสาราภิวงศ์
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
<> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <>

อ่านเพิ่มเติม >> ภาวนาสูตร

จิตไม่หลุดพ้นจากอาสวะแม้จะพึงปรารถนา เพราะเหตุไร
จิตหลุดพ้นจากอาสวะแม้จะไม่พึงปรารถนา เพราะเหตุไร
<> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <> <>

สัมมาวาจา (การกล่าวชอบ)

สัมมาวาจา (การกล่าวชอบ)

“ภิกษุทั้งหลาย การกล่าวชอบเป็นอย่างไร คือ การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ การงดเว้นดังกล่าวเรียกว่า การกล่าวชอบ”

การกล่าวชอบในความหมายที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ เจตนางดเว้นจากการกล่าว “มิจฉาวาจา”

ถึงแม้ว่าในบางโอกาส เราอยากจะพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ หากเรายับยั้งตนเองไว้ได้ ก็ถือว่ากำลังได้เจริญ “สัมมาวาจา”

สิ่งสำคัญในการเจริญสัมมาวาจา คือ เจตนางดเว้นวจีทุจริต จึงถือเป็นการรักษาศีล ผู้ที่สมาทานศีลข้อ มุสาวาท ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ หรือ ศีล ๑๐ ก็ควรงดเว้นมิจฉาวาจาอึก ๓ อย่างไปพร้อมกัน

เมื่อผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานระลึกรู้อยู่กับรูปนามทั้งหมดที่พบในขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือคิดนึก แล้วหยั่งเห็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และบังคับบัญชาไม่ได้ของสภาวะเหล่านั้น กิเลสที่เป็นเหตุให้กล่าวมิจฉาวาจาก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นการระงับอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตได้ชั่วขณะ (ตทังคปหาน) ด้วยอำนาจของวิปัสสนา

เมื่อวิปัสสนาญาณได้พัฒนาแก่กล้าจนเต็มรอบ ผู้ปฏิบัติธรรม ก็จะเห็นประจักษ์พระนิพพานด้วยมรรคญาณ สามารถละมิจฉาวาจาได้โดยเด็ดขาด (สมุทเฉทปหาน) ด้วยสัมมาวาจา

สรุป : การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ เป็น “มิจฉาวาจา” ส่วนการงดเว้นจากมิจฉาวาจา เป็น “สัมมาวาจา

จากหนังสือธัมมจักกัปปวัตนสูตร
พระมหาสีสยาดอ

ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ

ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ
และมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ
ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร
ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ

ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ
และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้ โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้
ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร
ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ

จากคาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑

น้ำตาที่หลั่งเพราะความเศร้าโศก ยังมากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้งสี่

ดูก่อนปฏาจารา เจ้าอย่าคิดไปเลย เจ้ามาหาเราซึ่งสามารถจะเป็นที่พึ่งของเจ้าได้

ก็บัดนี้เจ้าหลั่งน้ำตา เพราะความตายของลูก เป็นต้น เป็นเหตุฉันใด ในสังสารวัฏที่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายตามไปไม่รู้แล้วก็ฉันนั้น น้ำตาที่หลั่งเพราะความตายของลูกเป็นต้นเป็นเหตุยังมากกว่าน้ำของมหาสมุทรทั้งสี่อีก.

เมื่อทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาว่า

น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ยังมีปริมาณน้อย ความ เศร้าโศกของนรชนผู้ถูกทุกข์กระทบแล้ว น้ำของน้ำตามิใช่น้อย มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้นเสียอีก แม่เอย เหตุไร เจ้าจึงยังประมาทอยู่เล่า.

จากอรรถกถาปฏาจาราเถรีคาถา

จิตที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่ อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมนำทุกข์มาให้ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ทำให้มากแล้ว ย่อมนำทุกข์มาให้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ เหมือนจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
อกัมมนิยวรรคที่ ๓

ในฐานะของครูบาอาจารย์

ตามปกติครูบาอาจารย์จะเข้าใจสภาวะของศิษย์ดี
แต่ในฐานะของครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่ที่จะต้องเคี่ยวเข็ญ

พระอาจารย์ทองมั่น สุทธฺจิตโต

เมื่อมีทางตรงพระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้แล้ว

เมื่อมีทางตรงพระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้แล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงดำเนินไปเถิด อย่าพากันกลับ
จงตักเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าไปสู่นิพพาน

จากโสณโกฬิวิสเถรคาถา

จงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด

ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล

เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

จากมหาราหุโลวาทสูตร

จงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ จงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ

พ ดูกรโสณะ ก็สมัยใด สายพิณของเธอไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในขนาดกลาง สมัยนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะ หรือย่อมควร แก่การใช้หรือไม่ ฯ

ส. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรโสณะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเพียรที่ปรารภมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ เกียจคร้าน

ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ จงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น

จากโสณสูตร

กิเลสในฐานะของนักปฏิบัติ

ลูกต้องไม่ปล่อย คนอื่นเวลาที่เค้ามีกิเลสเค้าจะไหลไปตามกิเลสยังไงมันเรื่องของเค้า แต่ลูกในฐานะของนักปฏิบัติ เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ลูกต้องไม่พุ่งออกไป ลูกต้องกลับเข้ามาหาตัว จัดการกับกิเลสของตัวเอง

คำสอน หลวงพ่อประจาก สิริวณฺโณ

การกำจัดกิเลสของนักปฏิบัติ

ในทุกขณะที่เจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน นักปฏิบัติย่อมกำจัดกิเลสโดยความเป็น “ตทังคประหาน” คือ “ละได้ชั่วขณะ” หมายความว่า ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะกิเลสที่เป็นอกุศลเหมือนความมืด ส่วนสติเป็นกุศลเหมือนความสว่างที่ซับความมืดให้หายไป

นอกจากนี้ นักปฏิบัติย่อมกำจัดกิเลส โดยความเป็น “วิกขัมภนปหาน” คือ “ละได้ด้วยการข่ม” หมายความว่า สมาธิที่ได้รับการอุปถัมภ์จากวิริยะ สติ และปัญญา ย่อมทำให้จิตละเอียดอ่อน แม้นักปฏิบัติจะมิได้เจริญสติในบางขณะก็ไม่เกิดความโลภหรือความโกรธเหมือนในเวลาที่มิได้ปฏิบัติธรรม แม้ในบางขณะที่ขาดสติเผลอคิดถึงเรื่องในอดีตหรืออนาคตก็ไม่เกิดกิเลสดังกล่าว เพราะสมาธิจะข่มกิเลสไว้

จากหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตร
พระมหาสีสยาดอ

อย่างไรจึงชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

อย่างนี้แลอานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ดูกรอานนท์ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง

มหาปรินิพพานสูตร

ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ

ความจริงอันประเสริฐนั้นมี ๔ ประการ

๑. ทุกขสัจ ความจริงเกี่ยวกับทุกข์
๒. สมุทยสัจ ความจริงเกี่ยวกับเหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธสัจ ความจริงเกี่ยวกับความดับทุกข์
๔. มรรคสัจ ความจริงเกี่ยวกับทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ผู้ที่ต้องการจะพ้นไปจากทุกข์จะต้องเข้าใจความจริงเกี่ยวกับทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์เสียก่อน และผู้ที่ต้องการจะดับทุกข์ก็ต้องเข้าใจว่าความดับทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร และการดับทุกข์จะทำไม่ได้หากไม่รู้จักวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับความจริงทั้ง ๔ ประการนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง

จาก หนังสือธัมมจักกัปปวัตนสูตร
พระมหาสีสยาดอ

บาปเกิดจากจิต ย่อมหมดจดด้วยจิต

ชเลน ภวติ ปงฺกํ ชเลเนว วิสุชฺฌติ
จิตฺเตน ภวติ ปาปํ จิตฺเตเนว วิสุชฺฌติ

โคลนเกิดจากน้ำ ย่อมสะอาดด้วยน้ำ ฉันใด
บาปเกิดจากจิต ย่อมหมดจดด้วยจิต ฉันนั้น

พระจันทิมา ประเทศเมียนม่าร์

ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว

ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง
ไม่ทำชั่วด้วยตนเอง ย่อมหมดจดด้วยตนเอง
ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว
คนอื่นพึงชำระคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่

คาถาธรรมบท อัตตวรรค

สัมมัปปทาน ๔

สัมมัปปทาน หมายถึง ความเพียรโดยชอบ คือ ความเพียรที่ต่อเนื่องไม่ลดละ มีความหมายเหมือน “สัมมาวายามะ” ในอริยมรรคมีองค์ ๘

สัมมัปปทาน ๔ ประกอบด้วย

๑. ความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่
๒. ความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า
๓. ความเพียรทำอกุศลใหม่
๔. ความเพียรเพิ่มพูนกุศลเก่า

อารมณ์ที่พึงกำหนดรู้

อารมณ์ที่เป็นอดีตหรืออนาคตไม่ใช่สิ่งที่นักปฎิบัติพึงกำหนดรู้ เพราะอดีตเหมือนความฝันไม่มีจริง อนาคตก็เป็นเหมือนจินตนาการที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ความจริงของชีวิตมีปรากฏในปัจจุบันขณะเท่านั้น เปรียบดั่งคนที่แหงนหน้ามองท้องฟ้าเมื่อสายฟ้าแลบอยู่ ฉะนั้น

จากหนังสือ มหาสติปัฏฐานสูตร
พระมหาสีสยาดอ

ปัญญาย่อมเกิดเพราะความเพียร

โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
เอตํ ทฺวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.

ปัญญาย่อมเกิดเพราะความเพียร
เสื่อมไปเพราะไม่พากเพียร
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว
พึงบำเพ็ญตนในวิถีทางที่ปัญญาจะเจริญ


(ขุ.ธ.๒๕.๒๘๒.๖๕)

ความอิสระจากความทุกข์อย่างแท้จริง

ความเป็นอิสระจากความทุกข์อย่างแท้จริง จะเกิดได้ต่อเมื่อตัณหาได้ถูกกำจัดให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น การหลีกเลี่ยงจากความทุกข์ด้วยวิธีอื่นๆ เป็นการบรรเทาความทุกข์ได้ชั่วขณะ ไม่อาจทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง


จากหนังสือธัมมจักกัปปวัตตสูตร
พระมหาสีสยาดอ

เมื่อเจริญในองค์มรรค

เมื่อเจริญในองค์มรรค จักรู้ชัดทุกข์ทั้งหลาย
รู้ทุกข์กระจ่างคลาย ละเหตุร้ายสมุทัย
ละสมุฯดับทุกข์ไป เข้าถึงในพระนิพพาน


พระอาจารย์สว่าง ติกขวีโร

การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ
สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง

อรรถกถากินททสูตร